กฎแห่งกรรม มีความสำคัญต่อชีวิตของเราอย่างไร


กฎแห่งกรรม มีความสำคัญต่อชีวิตของเราอย่างไร
------------------------------------


คำตอบ
ANSWER

กฎแห่งกรรมมีรายละเอียดสำคัญอยู่ ๖ ประการ ได้แก่

ประการที่ ๑ มีกรรมเป็นของตน

กรรม แปลว่า การกระทำโดยเจตนา หมายความว่า สิ่งใดก็ตามที่เราทำด้วยเจตนา ถือว่าเป็นกรรมของเราทั้งสิ้น ใครจะมารับกรรมแทนเราไม่ได้

กรรมที่เกิดขึ้นโดยเจตนาของเรานั้น จะไม่สามารถเป็นของคนอื่นได้ เป็นกรรมของเราเพียงผู้เดียว อุปมาเหมือนกับการกินข้าวที่กินแทนกันไม่ได้ ตัวอย่างเช่น ถ้าคนเป็นพ่อไปทำบาปมาไม่ได้หมายความว่าลูกจะต้องมารับบาปแทนพ่อ พ่อเป็นคนทำบาป บาปก็ต้องเป็นของพ่อ ส่วนกรณีที่พ่อเป็นคนทำบาป แต่พ่อตายไปก่อน เขาก็เลยมาด่าลูกแทน แบบนี้จะถือว่าลูกรับบาปแทนพ่อได้หรือไม่?

ในกรณีแบบนี้ต้องแยกแยะให้ดี ลูกที่มาเกิดภายหลัง แล้วต้องมาโดนด่าแทนพ่อที่ตายไปแล้วนั้น ความจริงแล้วไม่ได้โดนด่าแทนกัน แต่เป็นเพราะลูกทำกรรมประเภทนี้มาก่อนแล้ว เขาถึงได้เกิดมาเป็นพ่อลูกกัน พอชาตินี้เกิดมาปุ๊บ ยังไม่ทันได้เห็นหน้าพ่อ ก็โดนด่าก่อนเลย โดนด่าเรื่องเดียวกับที่ตนเคยทำกรรมไว้ในชาติก่อน ๆ นั่นแหละ

แต่ทว่าการสาวไปถึงต้นเหตุตรงนี้ทำได้ยาก จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิดไปว่า กรรมของพ่อแต่ลูกต้องมาเป็นคนรับ ที่จริงทั้งพ่อทั้งลูกต่างทำกรรมชนิดเดียวกันมา แต่ทำกันมาคนละภพชาติคนละช่วงเวลา แล้วมาประจวบเหมาะตอนรับผลกรรมในเวลาเดียวกัน แต่กระนั้นสาเหตุลึก ๆ ก็ยังเป็นกรรมของใครของคนนั้นอยู่นั่นเอง

ประการที่ ๒ มีกรรมเป็นทายาท

หมายความว่า ตนจะต้องเป็นผู้รับมรดกกรรมของตนเอง หรือตนจะต้องเป็นผู้รับกรรมที่ตนทำไว้ ไม่สามารถยกให้ใครได้ และไม่มีใครสามารถแย่งจากเราไปได้

การรับมรดกทางโลก ถ้าหากใครจะยกมรดกให้ ถ้าเราไม่รับ ใครจะมาบังคับให้รับก็ไม่ได้ แต่ในเรื่องของกรรม ไม่ว่าเราเคยทำกรรมใดไว้อย่างไร เมื่อถึงคราวออกผล ใครก็มาแย่งผลกรรมไปจากเราไม่ได้ แล้วเราก็ยกผลกรรมของเราให้คนอื่นไปไม่ได้ด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น เพราะว่าเราขยันเรียนก็เลยทำให้เราเป็นคนฉลาด ไม่มีใครแย่งความฉลาดของเราไปได้ เพราะเราเป็นทายาทผู้รับมรดกจากความขยันเรียน หรือถ้าเราพูดจาไม่ไพเราะ ด่าเก่ง ถึงเวลาที่เราเดือดร้อนขึ้นมา มรดกจากการด่าเก่งของเราอันนี้ เราโยนให้คนอื่นไม่ได้ ต้องรับไปเอง แม้ข้ามภพข้ามชาติก็ต้องรับกันไปเอง

ประการที่ ๓ มีกรรมเป็นกำเนิด

หมายความว่า กรรมนั้นส่งผลข้ามชาติ เมื่อตายไปแล้วกรรมไม่ได้สูญหายไปไหน แต่จะเป็นตัวส่งให้เราไปเกิดในภพภูมิใหม่ ส่วนจะไปเกิดในภพภูมิไหนต่อ จะเป็นที่ดีหรือที่ร้าย ก็ขึ้นอยู่กับกรรมที่เราทำไว้ขณะมีชีวิตอยู่เป็นตัวพาไปเกิด

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า เมื่อใจผ่องใส สุคติเป็นที่ไป เมื่อใจขุ่นมัว ทุคติเป็นที่ไป ถามว่าใครเป็นคนทำให้เราใจใสหรือใจขุ่น คำตอบก็คือ ตัวของเราเป็นคนทำใจของเราเอง เมื่อเราเป็นคนทำใจใสหรือใจขุ่นให้ตัวเราเอง กรรมที่เราทำจึงเป็นตัวกำหนดให้ไปเกิดบนสวรรค์หรือไปเกิดในนรกเอง ซึ่งเป็นผลกรรมที่ส่งไปข้ามชาติจากการกระทำในชาติปัจจุบันของตัวเราเอง

จากตรงนี้ คงพอจะทำให้เราเริ่มมองเห็นแล้วว่า ทานที่ทำไว้จะส่งผลไปที่ไหน การสงเคราะห์ที่ทำไว้จะส่งผลไปที่ไหน การที่เกิดมาได้คุณพ่อคุณแม่ที่เป็นมนุษย์อย่างนี้ ได้รูปสมบัติอย่างนี้ ได้คุณสมบัติอย่างนี้ ได้ทรัพย์สมบัติอย่างนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากเราได้ทำกรรมใดไว้ในภพอดีตบ้าง นั่นคือเรามีกรรมเป็นกำเนิดในสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเราในปัจจุบันและในอนาคต

ประการที่ ๔ มีกรรมเป็นพวกพ้อง เผ่าพันธุ์

ความหมายในข้อนี้ ก็คือคำว่า กรรมพันธุ์ ญาติพี่น้องของเรา เมื่อตอนที่ยังอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน เวลามีปัญหาอะไรขึ้นมา ก็อาจพอช่วยเหลือกันได้บ้าง แล้วพอโตขึ้นมา บางทีต่างคนก็ต่างแยกย้ายกันไป ไม่ได้อยู่ด้วยกัน อาจทิ้งอาจขว้างกันได้ แต่กรรมที่ทำเอาไว้ มันเป็นพวกพ้องเราดีเหลือเกิน เป็นพวกพ้องที่ไม่ทิ้งเราไปไหน กรรมดีที่เราทำไว้ ก็มาช่วยประคองเราไม่ให้เราตกต่ำ กรรมชั่วที่เราทำไว้ ก็มาดึงให้เราล่มจมได้เหมือนกัน เพราะมันเป็นพวกพ้องเผ่าพันธุ์กับเราไปตลอดกาล เป็นเหมือนกับเงาที่ติดตามตัวเราไปทุกย่างก้าว

ประการที่ ๕ มีกรรมเป็นที่พึ่ง

ข้อนี้มุ่งที่กรรมดี การพึ่งคนอื่น บางทีเขาก็ให้เราพึ่งได้ หรือบางทีเขาก็ไม่ให้พึ่ง แต่กรรมดีที่เราทำไว้ ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องได้พึ่ง พระบรมโพธิสัตว์ของเราขณะที่ยังเป็นสมณะสิทธัตถะอยู่ เมื่อถึงคราวทรงผจญมาร ไม่มีใครให้ทรงพึ่งได้เลย เพราะทรงประทับอยู่โคนต้นโพธิ์ลำพังพระองค์เดียวก็ทรงได้บุญบารมีที่สั่งสมไว้ในอดีตชาติ ซึ่งก็คือกรรมดีของพระองค์เป็นที่พึ่งในยามคับขันอันตรายขับไล่กองทัพมารไปได้ จนกระทั่งทรงตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในคืนวันวิสาขบูชา

ประการที่ ๖ ใครทำกรรมใดไว้ ดีหรือชั่วก็ตาม จักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น

หมายความว่า กรรมเป็นผู้จัดสรรชีวิตให้กับมนุษย์ อยากให้ชีวิตเป็นอย่างไร เราเป็นผู้จัดโปรแกรมให้ตัวเราเอง ถามว่าจัดอย่างไร? ก็จัดด้วยการทำกรรมของตัวเองให้ดี แล้วเราจะเป็นโปรแกรมเมอร์ผู้ออกแบบสิ่งดี ๆ ให้ชีวิตของเรา

ดังนั้น เมื่อพวกเราทราบรายละเอียดสำคัญทั้ง ๖ ประการนี้แล้ว ก็คงจะเข้าใจเหตุผลแล้วว่า เพราะเหตุใดพระพุทธศาสนาถึงได้สอนเรื่องกฎแห่งกรรมเป็นหลัก โดยเฉพาะสิ่งที่เราได้ยินกันมาตั้งแต่ยังเด็กเลย ก็คือ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว นั่นก็เพราะว่า เรามีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ใครทำกรรมใดไว้ ดีหรือชั่วก็ตาม ตนจะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น..

Cr. หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๓๔ เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๖
กฎแห่งกรรม มีความสำคัญต่อชีวิตของเราอย่างไร กฎแห่งกรรม  มีความสำคัญต่อชีวิตของเราอย่างไร Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 02:19 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.