ชาติก่อนและการแก้กรรม

ชาติก่อนและการแก้กรรม


เรื่องการแก้กรรมที่เขาพูดกันเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน?

คำสอนเรื่องกรรม เรื่องชาติก่อนชาตินี้ เป็นคำสอนหลักอย่างหนึ่งในพระพุทธศาสนา ความเข้าใจว่า โลกนี้โลกหน้ามีจริง กฎแห่งกรรมมีจริง นรกสวรรค์มีจริง คือความเชื่อที่เป็นสัมมาทิฐิพื้นฐาน ใครไม่เชื่อเรื่องนี้ถือว่าเป็นมิจฉาทิฐิ คือมีความเห็นผิด เข้าใจผิด เพราะคำสอนหลักในพระพุทธศาสนาเรื่องกฎแห่งกรรมที่ว่าใครทำอะไรแล้วจะเกิดผลอย่างไร ทั้งชาตินี้ ชาติหน้า เป็นสิ่งที่โยงใยกัน หากตัดตอนว่าชาติก่อนไม่มี ชาติหน้าไม่มี ตายแล้วสูญ ต้องถือว่าหลุดไปจากคำสอนในพระพุทธศาสนาเลย

เราจะพิสูจน์เรื่องนี้ได้อย่างไร

ถ้าจะพิสูจน์ให้ไปเห็นชัด ๆ เลยว่า ชาติก่อนเป็นอย่างไร ก็ต้องตั้งใจนั่งสมาธิ เกิดญาณทัสสนะเมื่อไรไปดูด้วยตัวเองได้ ในระหว่างที่ยังไม่เข้าถึง เราสามารถตรองคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกข้อได้ด้วยเหตุด้วยผล และจะเห็นว่าเป็นจริงทั้งหมด ไม่มีเหตุผลอะไรที่พระองค์จะทรงมาหลอกเรา และไม่เฉพาะพระองค์เท่านั้น ตั้งแต่ครั้งพุทธกาลจนถึงปัจจุบัน มีพระอรหันต์จำนวนมหาศาล พระอรหันต์เหล่านี้บางรูปเป็นพระมหากษัตริย์มาก่อน บางองค์เป็นมหาเศรษฐี เป็นมหาเสนาบดี ฯลฯ ท่านเหล่านี้สละสิ่งที่ตนเคยมีทั้งหมดไปอยู่ป่าบำเพ็ญสมณธรรม แล้วยืนยันตรงกันว่าที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนเป็นเรื่องจริง แม้ปัจจุบันผู้ที่ปฏิบัติเข้าถึงธรรมได้ก็มีอยู่ และยืนยันตรงกันมาตลอด

จริง ๆ แล้วอย่าว่าแต่ชาวพุทธเลย ในอเมริกาและยุโรปก็มีการสำรวจและพบว่าคนที่เชื่อเรื่องตายแล้วไม่สูญ ชาตินี้ชาติหน้ามีจริง มีถึง ๗๐-๘๐ เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่ตรงข้ามกับคำสอนในศาสนาของเขา แล้วยังมีกลุ่มที่ทำการศึกษาเรื่องนี้ ที่เป็นนักศึกษา นักวิทยาศาสตร์ รวมทีมกันไปเก็บข้อมูล ที่ไหนมีคนระลึกชาติได้ เขาจะไปเก็บข้อมูลทุกอย่าง และมีการพิสูจน์ด้วย เช่น เด็กที่จำเรื่องราวในอดีตได้ ก็ทำการพิสูจน์ ซึ่งยืนยันได้ว่าไม่ใช่การแต่งเรื่องขึ้น เพราะไม่ใช่วิสัยที่เด็กอายุขนาดนี้จะแต่งเรื่องต่าง ๆ ได้ แล้วมีกรณีอย่างนี้เป็นร้อยกรณี เขารวบรวมขึ้นมาเป็นเล่ม เป็นหลักฐานว่า ชาติก่อนมีจริง ถ้าคนเราไม่เชื่อเรื่องโลกนี้โลกหน้า จะทำบาปได้ง่าย แต่ถ้าเชื่อแล้วจะมีสติยับยั้ง มีกำลังใจทำความดี ความเชื่อเรื่องโลกนี้โลกหน้าจึงเป็นประโยชน์ต่อโลก ต่อสังคม แต่ที่สำคัญที่สุดคือมันเป็นความจริง ไม่ใช่ความเชื่อ นี้คือสิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายยืนยันกับเรา

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเรื่องกรรมไว้อย่างไรบ้าง?

กรรมแบ่งได้หลายประเภท ในที่นี้จะแบ่งประเภทตามลำดับการให้ผลของกรรมก่อน ซึ่งมีทั้งหมด ๔ ประเภท คือ

๑. ครุกรรม คือกรรมหนัก ใครทำครุกรรม ถ้าเป็นกรรมฝ่ายดีก็ปิดอบายไปเลย ละโลกแล้วไปสู่สุคติภูมิแน่นอน คือ ไปสวรรค์ ไปเป็นพรหม อรูปพรหม เคยทำบาปเท่าไรก็ตาม ปิดประตูเลย ตัวอย่างของครุกรรมฝ่ายดี คือการได้ฌานสมาบัติ นั่งสมาธิจนได้ดวงสว่างใส ๆ ได้ปฐมฌานเป็นต้นไป ใครเคยทำกรรมไม่ดีอะไรมาก็ตาม ถ้านั่งสมาธิจนได้ปฐมฌาน เกิดดวงใส ๆ นิ่งที่กลางท้องปิดอบายเลยชาตินี้

ส่วนครุกรรมฝ่ายบาป ได้แก่ อนันตริยกรรม ๕ คือ ๑.ฆ่าพ่อ ๒.ฆ่าแม่ ๓.ฆ่าพระอรหันต์ ๔.ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนห้อพระโลหิต ๕.ทำสงฆ์ให้แตกกัน (สังฆเภท) ใน ๕ ข้อนี้ ใครทำลงไปต่อให้เคยทำความดีเท่าไรหรือภายหลังไปทำบุญอีกเท่าไรก็ตาม ตกนรก ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ปิดสวรรค์ปิดนิพพาน ชาตินั้นไม่มีทางขึ้นสวรรค์และหมดสิทธิ์เข้าพระนิพพาน

ที่หนักที่สุด คือ สังฆเภท ทำให้สงฆ์แตกกัน ใครไปยุให้พระทะเลาะกัน รู้เถอะว่ากรรมหนักที่สุด ยิ่งกว่าฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ ฆ่าพระอรหันต์ หรือทำร้ายพระพุทธเจ้าจนห้อเลือดเสียอีก การทำให้สงฆ์แตกกันเป็นกรรมหนักมาก และสร้างความเสียหายใหญ่หลวง ถ้าหากไปทำผิดเข้าแล้ว บุญไม่ได้ช่วยอะไรเลยหรือ ช่วยเหมือนกัน แต่ช่วยแค่ให้พ้นจากนรกขุมลึกมาอยู่ขุมตื้น อย่างไรก็ต้องตกนรก

๒. อาสันนกรรม กรรมก่อนตาย ก่อนตายคิดถึงอะไร สิ่งนั้นจะให้ผลก่อน คนเราทำทั้งบุญทั้งบาปมามากมาย ถ้าก่อนตายใจนึกถึงบุญกุศล ใจสว่างผ่องใส จะทำให้ไปสวรรค์ แต่ถ้าก่อนตายนึกถึงเรื่องที่ไม่ดี เป็นอกุศล เศร้าหมอง ก็จะต้องไปอบาย โบราณจึงบอกคนใกล้ตายว่าให้นึกถึงพระเพราะรู้หลักนี้ดี รู้ว่านึกถึงพระรัตนตรัย ใจจะได้สว่าง แล้วจะได้ไปดี แล้วบาปที่ทำหายไปไหนหรือเปล่า ไม่หาย แต่จะให้ผลทีหลัง

ตัวอย่างเช่น พระภิกษุรูปหนึ่งชื่อพระติสสเถระ โยมพี่สาวของท่านเอาจีวรเนื้อดีมาถวาย ท่านชอบมาก ตั้งใจจะใช้วันรุ่งขึ้น แต่คืนนั้นท่านมรณภาพไปก่อน ด้วยความที่ใจเกาะอยู่กับจีวร ผลคือตายแล้วไปเกิดเป็นเล็นเกาะอยู่ที่จีวร ทั้ง ๆ ที่สร้างบุญไว้มาก

พอท่านมรณภาพแล้ว ข้าวของที่มีอยู่คณะสงฆ์จะนำมาแบ่งกัน เช่น จีวรก็ตัดแบ่งกัน ขณะที่พระท่านเตรียมจะแบ่งจีวรกันนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าให้ชะลอไว้ก่อน พอถึงวันที่ ๘ ทรงรับสั่งให้แบ่งกันได้ เพราะขณะที่พระภิกษุคุยกันว่าจะแบ่งจีวรนั้น พระติสสเถระที่เกิดเป็นเล็นก็วิ่งวุ่นอยู่บนจีวร เพราะความหวง หากมีการแบ่งจีวรในตอนนั้น เล็นจะผูกโกรธพระภิกษุทั้งหลาย และจะทำให้ไปเกิดในมหานรก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงรับสั่งให้รอ ๗ วัน พอวันที่ ๗ เล็นก็ตาย แล้วไปเกิดที่สวรรค์ชั้นดุสิต เพราะมีบุญเก่ามาก แต่ที่ไปเกิดเป็นเล็น เพราะใจเกาะอยู่ที่ผ้า

จะเห็นได้ว่า อาสันนกรรมเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก เราจึงไม่ควรยึดติดอะไรมากเกินไปเอาแค่พอประมาณ แล้วให้ใจเราเกาะกับเรื่องที่ใส ๆ อยู่เสมอ

๓. อาจิณณกรรม บางคนรู้หลักว่า ทำใจใส ๆ นึกถึงพระ นึกถึง สัมมา อะระหังแล้วจะไปดี เลยคิดว่าต่อจากนี้ไปทำอะไรตามใจชอบได้เลย ใกล้ตายเมื่อไรค่อย สัมมา อะระหังค่อยนึกถึงพระ ไปดีแน่นอน แต่พอถึงเวลาจริง ๆ ตั้งตัวไม่ติด แล้วถ้าทุกขเวทนาบีบคั้นก็จะนึกถึงบุญไม่ออก จะนึกถึงแต่สิ่งที่ทำจนคุ้นเคย เสี่ยงมาก มีโอกาสไปอบายมาก ถ้าจะให้ปลอดภัยแน่นอน ต้องทำดีเป็นอาจิณณกรรม คือทำบ่อย ๆ สม่ำเสมอ พอใกล้ตายเราจะนึกถึงบุญออก

๔. กตัตตากรรม คือกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ผู้ทำไม่มีเจตนา ให้ผลเป็นลำดับสุดท้าย ถ้าไม่มีกรรมอย่างอื่นมากมาย กรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ นี้ก็จะส่งผล ที่จริงเรื่องกรรมมีความซับซ้อนมาก ยังมีรายละเอียดมากกว่านี้อีกมากมาย

การแก้กรรมมีผลดีอย่างไรบ้าง?

มีคนถามว่าแก้กรรมได้ไหม ความจริงก็คือ กรรมที่ทำไปแล้วในอดีต เราเปลี่ยนไม่ได้ แต่แก้ไขกรรมได้ แก้อย่างไร? เวลาเราทำบาปก็เหมือนเติมเกลือ ทำบุญเหมือนเติมน้ำ ถ้าน้ำน้อยเกลือมากมันก็เค็มจัด วิบากกรรมก็ส่งผลแรง แต่ถ้าเราเติมบุญ คือเติมน้ำลงไปให้เจือจาง ความเค็มก็น้อยลง ทุกอย่างจะทุเลาเบาบาง หนักจะเป็นเบา เบาก็หายไปเลย เพราะฉะนั้นการแก้ไขวิบากกรรมในอดีตทำได้ด้วยการสร้างบุญนั่นเอง

มีวิธีตัดกรรมแก้กรรมตามหลักพระพุทธศาสนาบ้างไหม? อย่างไร?

วิบากกรรมเกิดจากสิ่งที่เราเคยทำไว้ในอดีต แล้วเกิดเป็นผลบาปตามมา จะแก้ไขต้องเอาบุญแก้ ให้เราสร้างบุญ ทั้งทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา สิ่งนี้ช่วยเราได้อยู่แล้ว ขอให้อยู่ในบุญเท่านั้น ประการสำคัญอย่ามุ่งแต่เพียงว่าจะไปแก้ไขวิบากกรรมในอดีต ที่สำคัญคือต้องระวังอย่าไปสร้างเหตุที่ไม่ดีในปัจจุบันด้วย (อย่าสร้างกรรมใหม่) อะไรที่ไม่ดีอย่าทำ สิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่งคือ อกุศลกรรม๑๐ ประการ คือ การฆ่าสัตว์ เบียดเบียนรังแกสัตว์, ลักทรัพย์, ประพฤติผิดในกาม ผิดลูกผิดเมียผู้อื่น, โกหกหลอกลวง, พูดส่อเสียด ยุยงให้แตกความสามัคคี, พูดคำหยาบ, พูดเพ้อเจ้อ, โลภอยากได้ของของผู้อื่น, คิดร้าย ปองร้ายผู้อื่น, เห็นผิดจากทำนองคลองธรรม

สมัยนี้มีเรื่องที่ต้องระวังอย่างหนึ่ง เมื่อก่อนโอกาสพูดคำหยาบมีไม่มาก เพราะพูดแล้วกลัวเขาโกรธ เดี๋ยวเราจะเดือดร้อน แต่ตอนนี้เทคโนโลยีพัฒนาไปไกล โอกาสที่จะพูดคำหยาบโดยไม่ถูกโจมตีกลับจัง ๆ มีมากขึ้น เช่น การไปให้ความเห็นในเว็บบอร์ด ให้ความเห็นท้ายข่าวในอินเทอร์เน็ต เป็นต้น เขียนว่าเขาไปแล้วคนอ่านไม่รู้ว่าใครเขียน ดังนั้นเราจะเห็นว่า สำนวนในอินเทอร์เน็ตใช้คำค่อนข้างแรง เพราะผู้เขียนเหมือนไม่ต้องรับผิดชอบเลย อยากว่าใครก็ว่าได้เลยและถ้าไม่มีความผิดจริง ๆ ตำรวจไม่มาสืบจริง ๆ อาจจะไม่รู้ว่าใครเป็นคนว่า

แต่กฎแห่งกรรมส่งผลเสมอ แม้นึกว่าไม่มีใครรู้ เราคงไม่ต้องรับผลแห่งการกระทำ จริง ๆ แล้วต้องรับ เพราะไม่มีอะไรหนีพ้นกฎแห่งกรรม กฎแห่งกรรมศักดิ์สิทธิ์กว่ากฎหมายบ้านเมืองเสียอีก น่ากลัวกว่าด้วย แล้วถ้าเราเกิดเข้าใจผิด ผสมโรงโจมตีไปกับเขาด้วย ทั้งที่จริง ๆ แล้วไม่ได้เป็นอย่างที่เราเข้าใจ วิบากกรรมเกิดขึ้นหนักเลย ยิ่งประเด็นที่เกี่ยวข้องกับทางศาสนา ไปตำหนิติติง โจมตีวิจารณ์ผู้ทรงศีล วิบากกรรมยิ่งหนัก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบอกว่า ผู้ประทุษร้ายบุคคลที่ไม่ประทุษร้าย ผลแห่งวิบากย่อมกลับมาสู่ผู้กระทำเอง เหมือนคนเอาธุลีพุ่งซัดทวนลมไป ธุลีจะปลิวมาเต็มหน้าเราเอง ฉะนั้นอย่าทำเด็ดขาด ถ้าไปเห็นผลของวิบากกรรมด้วยตัวเอง จะรู้ว่าน่ากลัวมากไม่คุ้มเลย

ถ้าเราไม่ทำอกุศลกรรมบถ ๑๐ ข้อ ก็เหมือนกับว่า เราสร้างเกราะป้องกันตัวเราไว้ดีพอสมควรและถ้าไม่ยุ่งอบายมุขด้วย ถือว่าชีวิตเราปลอดภัย ๙๙ เปอร์เซ็นต์ แล้ว นี่คือสิ่งที่เราควรทำให้ถูกต้องในปัจจุบัน และอดีตที่ผิดพลาดทั้งหลายลืมให้หมด นึกแต่เรื่องดี ๆ แล้วตั้งใจทำความดีทุกชนิดอย่างเต็มที่ อะไรที่ไม่ถูกต้องไม่ทำอีกเด็ดขาด ถ้าทำได้อย่างนี้ เราจะมีความสุขต่อไปในอนาคต

แก้กรรมและสะเดาะเคราะห์ต่างกันไหม?

พฤติกรรมที่ทำไปแล้ว เราเปลี่ยนไม่ได้ แต่สามารถแก้ไขผ่อนหนักเป็นเบาได้ ด้วยการทำความดีไปเจือจางบาปอกุศลให้เบาบางลง แล้วไม่ไปทำอะไรผิดซ้ำอีก จะเรียกตรงนี้ว่าเป็นการสะเดาะเคราะห์ ทำให้เคราะห์เบาลงก็ได้ ถ้าสะเดาะเคราะห์หมายถึงอย่างนี้ก็ถือว่าถูก แต่ถ้าไปสะเดาะเคราะห์ ไปทำพิธีตัดนั่นตัดนี่อะไรต่าง ๆ นานา ก็ไม่ใช่ ต้องถือตามหลักพระพุทธเจ้า คือ ละชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใส นี่คือการแก้ไขวิบากกรรมในอดีตที่ดีที่สุด

ถ้าปัจจุบันเราเจอสิ่งที่ร้าย ๆ อย่าหดหู่ ให้รู้ว่าทุกอย่างมีที่มาที่ไป มีเหตุก็แสดงว่าในอดีตเราทำไว้ไม่ดี ถึงได้เกิดเรื่องอย่างนี้ขึ้น แต่เมื่อรู้แล้วไม่ควรเพิกเฉย ให้แก้ด้วยการตั้งใจทำความดีในปัจจุบันให้ดีที่สุด ขณะเดียวกันอะไรที่ไม่ดี ไม่ทำอีกเด็ดขาด อย่างนี้คือการเห็นตลอดทั้งสาย แล้วดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องสมกับเป็นพุทธศาสนิกชน..



Cr. พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑฺโฒ) (M.D.; Ph.D.) จากรายการข้อคิดรอบตัว ออกอากาศทางช่อง DMC
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๓๔ เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๖
ชาติก่อนและการแก้กรรม ชาติก่อนและการแก้กรรม Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 00:35 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.