ผ้าห่อถักทอด้วยศรัทธา



หนังสือใบลานเป็นเอกสารโบราณที่ใช้จดจารคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเรื่องราวทางพระพุทธศาสนาอันศักดิ์สิทธิ์ ความสำคัญของหนังสือใบลานในประเทศไทยมีมาพร้อม ๆ กับการยอมรับนับถือพระพุทธศาสนา คนไทยโบราณจึงมักเรียกหนังสือโบราณนี้ว่า คัมภีร์ใบลานคติการสร้างคัมภีร์ใบลานในหมู่พุทธศาสนิกชนนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเชื่อว่าจะได้อานิสงส์อันยิ่งใหญ่จะนับจะประมาณมิได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีธรรมเนียมนิยมสร้างคัมภีร์ใบลานถวายไว้กับพระศาสนามากมาย

ผ้าห่อคัมภีร์ และผ้าห่อคัมภีร์ไม้ไผ่คั่น




การบันทึกอักขระลงบนใบลานใช้วิธี จารคือใช้เหล็กแหลมขีดเขียนเป็นตัวอักษรบนใบของต้นลาน เพราะใบลานเป็นวัสดุธรรมชาติที่บางเบาและคงทนถาวรมาก คัมภีร์โบราณที่เก่าแก่ที่สุดฉบับหนึ่งของไทย คือ ติงสนิบาตกุสราชชาดกจารด้วยอักษรธัมม์ล้านนา เมื่อ พ.ศ. ๒๐๑๔ มีอายุ ๕๐๐ กว่าปีก็ทำจากใบลาน ส่วนคัมภีร์ใบลานที่เก่าแก่ที่สุดที่เก็บรักษาไว้ในหอสมุดแห่งชาติ คือ คัมภีร์สมนฺตปาสาทิกา วินยฏฐกถา (ทุติย) ปาจิตฺติยวณฺณนา ฉบับชาดทึบ สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา รัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ เมื่อปี จ.ศ. ๙๗๗ (พ.ศ. ๒๑๕๘) จารด้วยอักษรขอมบาลี อายุเกือบ ๔๐๐ ปี ก็ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ดี ตัวอักษรที่จารยังปรากฏอ่านได้อย่างชัดเจน

อายุการใช้งานของคัมภีร์ใบลานนอกจากขึ้นอยู่กับวัสดุแล้ว ยังขึ้นอยู่กับการเก็บรักษา จึงต้องมีผ้าห่อคัมภีร์หุ้มไว้อีกชั้นหนึ่ง เพื่อป้องกันสิ่งสกปรกหรือการชำรุดฉีกขาด เกิดเป็นธรรมเนียมการถวายผ้าห่อคัมภีร์ใบลานขึ้น สะท้อนให้เห็นศรัทธาอันเปี่ยมล้นของผู้ถวายที่บรรจงสร้างผ้าห่อคัมภีร์ขึ้นอย่างพิถีพิถัน นอกจากนี้ผ้าห่อคัมภีร์ยังสะท้อนวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี

ดังเช่น พุทธศาสนิกชนในท้องถิ่นอีสานมีธรรมเนียมนิยมสร้างผ้าห่อคัมภีร์ใบลานถวายวัดด้วยผ้าที่มีคุณภาพดี ซึ่งมักเป็นผ้าที่ทอขึ้นเอง เนื่องจากวัฒนธรรมไทยไม่อนุญาตให้ผู้หญิงจารพระธรรม ที่ถือว่าการจารอักขระแต่ละตัวมีอานิสงส์มากมหาศาลประหนึ่งสร้างโบสถ์วิหาร ดังนั้นฝ่ายหญิงจึงหากุศโลบายสร้างบุญด้วยการบรรจงทอผ้าห่อคัมภีร์ขึ้น มีทั้งผ้าซิ่น ผ้าลายขิด ผ้าทอยกดอก ผ้าทอยกดิ้น ผ้าไหม และผ้าต่วน เป็นต้น เพื่อให้ได้อานิสงส์เท่าเทียมกับฝ่ายชาย บางครั้งอาจใช้วิธีสอดไม้ไผ่หรือตอกคั่นโดยตลอด เพื่อเพิ่มความคงทนแข็งแรงให้โครงผ้าและป้องกันไม่ให้ใบลานหักหรืองอ การทอผ้าห่อคัมภีร์กลายเป็นงานศิลปหัตถกรรมอันประณีต มีลวดลายสีสันอันวิจิตรตามความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการและศรัทธาปสาทะของผู้ทอ

เชือกห่อคัมภีร์ เชือกยาวมัดรอบคัมภีร์ใบลาน

ผ้าห่อคัมภีร์ลายดอก มัดด้วยเชือก ๔ เปลาะ
เปลาะละ ๔ รอบ พร้อมฉลากไม้สีทอง

ผ้าห่อคัมภีร์มัดด้วยเชือก ๔ เปลาะ เปลาะละ ๔ รอบ
พร้อมฉลากผ้า ระบุข้อความ พระบาลี
ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ๑๐ ผูก ๑๘ ลาน

ป้ายฉลากไม้ อักษรธัมม์อีสาน

ป้ายฉลากไม้ อักษรธัมม์อีสาน บาลี ปาจิตตี
มัดต้น ๑๐ ผูก

คัมภีร์ใบลานเมื่อห่อผ้าเรียบร้อยดีแล้ว ผู้ถวายจะมัดโดยรอบด้วยเชือก เพื่อไม่ให้คัมภีร์แตกมัดและป้องกันสัตว์เข้าไปกัดกินใบลานข้างใน เชือกนี้มีความยาวมาก ทำด้วยวัสดุที่หลากหลาย เช่น ผ้า ปอ ไหม ในสมัยโบราณมีผู้มีศรัทธามากถึงขนาดเอาผมตนเองมาถักเป็นผมเปียหรือฟั่นเป็นเชือกยาว ๆ ใช้มัดคัมภีร์ก็มี ในการพันเชือกเป็นเปลาะ ๆ นั้น มีหลากหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับธรรมเนียมปฏิบัติในแต่ละท้องถิ่น

นอกผ้าห่อมีป้ายบอกชื่อ คัมภีร์ จำนวนผูกเสียบอยู่ด้านหน้า เรียกว่า ฉลาก” ทางเหนือเรียกว่า ไม้ปั่นชักวัสดุที่ใช้ทำฉลากมีหลายชนิด ได้แก่ ผ้า ไม้ งา
ทองเหลือง และนิยมเรียกชื่อฉลากตามวัสดุที่ใช้ เช่น ฉลากผ้า ฉลากไม้ ฉลากงา และฉลากทองเหลือง

ทุกองค์ประกอบของคัมภีร์ใบลานนับตั้งแต่ผ้าห่อคัมภีร์ เชือกมัด ป้ายฉลาก ล้วนเกิดจากศรัทธาปสาทะของเหล่าบรรพชน ในฐานะพุทธศาสนิกชน เราจึงควรตระหนักถึงความสำคัญและช่วยกันอนุรักษ์มรดกธรรมอันล้ำค่าให้คงอยู่เป็นสมบัติของชาติและศาสนาสืบไป..

Cr. Tipitaka (DTP)
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๓๓ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๖
ผ้าห่อถักทอด้วยศรัทธา ผ้าห่อถักทอด้วยศรัทธา Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 02:29 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.