หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๑๐)



ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาผู้เขียนและคณะได้ร่วมกิจกรรมงานสัมมนาเสนอผลงานวิจัยนานาชาติ ครั้งที่ ๗ ในหัวข้อ ภูมิศาสตร์วัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนา ณ วิทยาลัยสงฆ์นครน่าน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี วัดพระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน ซึ่งมีนักวิชาการทั้งในและต่างประเทศกว่า ๑๕ ประเทศ ร่วมเสนอผลงานวิจัย บทความ และมีการบรรยายพิเศษที่น่าสนใจ โดยเอกอัครราชทูตบังกลาเทศประจำประเทศไทย Her Excellency Ms. SaidaMuna Tasneem นำเสนอในหัวข้อ แหล่งโบราณคดีทางพระพุทธศาสนาในบังกลาเทศและมีการบรรยายที่น่าสนใจจากนักวิชาการอีกหลาย ๆ ท่าน ซึ่งทำให้เราได้รับทราบอย่างชัดเจนว่า ประเทศบังกลาเทศมีแหล่งข้อมูลปฐมภูมิที่ย้อนกลับไปถึงศตวรรษที่ ๓ อีกด้วย

ลงนามความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสถาบันวิจัยฯ กับวิทยาลัยสงฆ์นครน่านฯ

การไปร่วมสัมมนาครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากการที่สถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัยได้ร่วมลงนามทำสัญญาความร่วมมือ (MOU) กับทางวิทยาลัยสงฆ์นครน่านฯ เฉลิมพระเกียรติ ฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๗ และจากการลงนาม MOU นี้ ทำให้เรามีกิจกรรมร่วมกันหลายโครงการแต่เนื่องจากผู้เขียนยังนำเสนอบทความเส้นทางเผยแผ่พระพุทธศาสนาไม่สิ้นสุด จึงจะขอนำเสนอผลงานที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของทั้ง ๒ ฝ่ายในอนาคต ในโอกาสนี้ขอเสนอบทความต่อจากฉบับที่แล้ว ดังนี้


เอกอัครราชทูตบังกลาเทศประจำประเทศไทย Her Excellency Ms. Saida Muna Tasneem
กำลังอภิปรายในหัวข้อ "แหล่งโบราณคดีทางพระพุทธศาสนาในบังกลาเทศ"

การเผยแผ่พระพุทธศาสนาสู่กัมพูชาในพุทธศตวรรษที่ ๗-๑๔ นั้น ศาสนาสำคัญของชาวกัมพูชา คือ ศาสนาพราหมณ์ ส่วนพระพุทธศาสนาได้รับการนับถือในกลุ่มคนจำนวนน้อย ในครั้งนั้นจดหมายเหตุของจีนเรียกกัมพูชาว่าฟูนัน ซึ่งมีวัฒนธรรมที่รับแบบแผนทั้งด้านการปกครอง ศิลปะ การช่างและวิทยาการต่าง ๆ จากชาวอินเดีย ในปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๑

พระพุทธรูปก่อนเมืองพระนครพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒
ที่มา : https://s-media-cache-ak0.pinimg.com/236x/72/56/0a/72560aa6fef5d6e8bae0198dd01cbd7d.jpg


พระสุธรรมญาณวิเทศกำลังนำเสนอบทความทางวิชาการในหัวข้อ
"DIRI กับโครงการอนุรักษ์คัมภีร์พุทธโบราณด้วยระบบดิจิทัล (Digitization)"

พระเจ้าเกาณฑินยะชัยวรมัน กษัตริย์ฟูนัน ได้หันมานับถือพระพุทธศาสนา แม้ว่าอาณาจักรฟูนันนับถือศาสนาพราหมณ์เป็นหลักแต่พระพุทธศาสนาก็เจริญรุ่งเรืองควบคู่กันไป


บรรยากาศพิธีเปิดงานสัมมนาเสนอผลงานวิจัยนานาชาติ ครั้งที่ ๗ ในหัวข้อ "ภูมิศาสตร์วัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนา
"
พระภิกษุชาวฟูนันชื่อสังฆปาละ¹ เป็นผู้เชี่ยวชาญในพระอภิธรรม ทรงความรู้แตกฉานในพระพุทธศาสนา ได้รับอาราธนาจากจักรพรรดิจีนให้เป็นผู้สอนธรรมะในราชสำนัก และแปลคัมภีร์วิมุตติมรรค² ซึ่งแต่งโดยพระอุปติสสเถระเป็นภาษาจีน หลักฐานทางโบราณคดีด้านศาสนาที่เก่าแก่ของกัมพูชาคือ ศิลาจารึกที่วัดไพรเวียรใกล้เมืองวยาธปุระซึ่งระบุ พ.ศ. ๑๒๐๗ มีข้อความกล่าวถึงกษัตริย์สองพี่น้องที่บวชในพระพุทธศาสนา และจากบันทึกของพระสงฆ์จีนอี้จิง³ ผู้จาริกไปอินเดียทางเรือผ่านทะเลใต้ในพุทธศตวรรษที่ ๑๓ กล่าวถึงดินแดนกัมพูชาในยุคนั้นว่า พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก ในเมืองมีวัดทั่วไปทุกแห่ง ศาสนาพราหมณ์และพระพุทธศาสนาอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ชาวเมืองและเจ้านายนิยมบวชในพระพุทธศาสนา ทั้งกล่าวด้วยว่าดินแดนต่าง ๆ ในทะเลใต้นับถือปฏิบัติพระพุทธศาสนานิกายต่าง ๆ รวมทั้งนิกายมูลสรรวาสติวาทซึ่งเป็นนิกายหินยานที่ใช้ภาษาสันสกฤตจารึกพระธรรมวินัย

ปราสาทบายน นครธม เสียมราฐ กัมพูชา
สร้างโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ พุทธศตวรรษที่ ๑๘
ที่มา : http://f.ptcdn.info/698/004/000/1367386087-34-o.jpg

ในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ที่นครธมสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ผู้ทรงอานุภาพพระองค์ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด ทรงสร้างวัดวาอารามพุทธสถาน ปราสาทต่าง ๆ ฝ่ายมหายาน และพระพุทธรูปจำนวนมากมาย ทรงสถาปนาปราสาทตาพรมให้เป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ มีพระมหาเถระเป็นอาจารย์ใหญ่อยู่ถึง ๑๘ องค์ และอาจารย์รองลงมาถึง ๒,๗๔๐ องค์ ทรงให้ราชกุมารเสด็จไปศึกษาพุทธศาสนาเถรวาทที่ลังกา และผนวชที่วัดมหาวิหารในเกาะลังกา


ปราสาทตาพรม เสียมราฐ กัมพูชา สร้างโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ พุทธศตรวรรษที่ ๑๘
ที่มา : http://www.adirexphotogallery.com/images/photo_130760226283/13076031491290.jpg

ในปลายยุคเมืองพระนคร ศาสนาพราหมณ์และพระพุทธศาสนามหายานเสื่อมถอยลง คงเหลือแต่พระพุทธศาสนาเถรวาทที่เจริญรุ่งเรือง และได้รับการนับถือจากผู้คนทุกระดับตั้งแต่กษัตริย์ลงไป


พระเจดีย์ถูปาราม อนุราธปุระพุทธสถานแห่งแรกในศรีลังกา สร้างโดยพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ
เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระรากขวัญที่ได้จากพระเจ้าอโศก
ที่มา : http://mw2.google.com/mw-panoramilo/photos/medium/61057916.jpg

ศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง คือ ศรีลังกา ในคราวที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงอุปถัมภ์การสังคายนาพระธรรมวินัยและส่งพระเถระไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในดินแดนต่าง ๆ รวม ๙ สาย ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๓ นั้น พระมหินทเถระได้มายังเกาะศรีลังกาของชาวสิงหลซึ่งปกครองโดยพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะพระองค์ทรงศรัทธาในพระพุทธศาสนาและทรงอุทิศมหาเมฆวันอุทยานเป็นวัดถวายแด่พระภิกษุมีชื่อว่าวัดมหาวิหาร พระพุทธศาสนาที่เข้าสู่ลังกาในยุคนี้ เป็นพระพุทธศาสนาแบบเถรวาท พระมหินทเถระทรงนำพระไตรปิฎกและอรรถกถาไปสู่ลังกาด้วย ต่อมาพระนางอนุฬาเทวีมเหสีทรงปรารถนาจะอุปสมบทพร้อมด้วยสตรีบริวารจำนวนมากพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะจึงทรงส่งคณะทูตไปทูลขอพระนางสังฆมิตตาเถรีจากพระเจ้าอโศกให้มาเป็นอุปัชฌาย์อุปสมบทแก่สตรีชาวลังกาพระนางสังฆมิตตาเถรีซึ่งเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าอโศกทรงมาดังประสงค์ พร้อมกับทรงนำกิ่งพระศรีมหาโพธิ์มาที่ลังกาทวีป และทรงตั้งคณะภิกษุณีของลังกาขึ้นในครั้งนั้น


อภัยคีรี อนุราธปุระ ศรีลังกาพุทธศตวรรษที่ ๕
ที่มา : http://www.aroi.com/html/content/ID140707154457/09_2.jpg

เมื่อพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะสวรรคตแล้ว กษัตริย์สิงหลและกษัตริย์ทมิฬทำ สงครามผลัดกันครองราชสมบัติในลังกาสืบมาอีก ๑๐ กว่าพระองค์ จนถึงพุทธศตวรรษที่ ๕ พระเจ้าวัฏฏคามินีอภัย กษัตริย์สิงหล เสด็จขึ้นครองราชย์เหล่าพระภิกษุสงฆ์พิจารณาเห็นความไม่มั่นคงของเหตุการณ์บ้านเมือง และเห็นว่าการทรงจำพระธรรมวินัยสืบอายุพระศาสนาอย่างที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาต่อไปนี้คงทำได้ยาก จึงร่วมกันสังคายนาพระธรรมวินัยแล้วจดจารึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร พระธรรมวินัยฝ่ายเถรวาทจึงได้จารึกเป็นอักษรลงในใบลานไว้เป็นหลักฐานตั้งแต่นั้น จนเมื่อ พ.ศ. ๙๕๖ พระพุทธโฆษาจารย์เดินทางจากอินเดียมายังศรีลังกา และปริวรรตคัมภีร์อรรถกถาพระไตรปิฎกภาษาสิงหลเป็นภาษามคธ (บาลี)


การเผยแผ่พระพุทธศาสนาจากศรีลังกาไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘
(ภาพโดย ชัชวาลย์ เสรีพุกกะณะ)

ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๗ ลังกาเดือดร้อนวุ่นวายด้วยภัยสงครามจากอินเดียและความไม่สงบภายใน สถานการณ์ด้านพระศาสนาก็สั่นคลอนไปด้วย จนเมื่อพระเจ้าวิชัยพาหุที่ ๑ ทรงฟื้นฟูสถานการณ์ด้านศาสนา โดยทรงอาราธนาพระสงฆ์จากเมียนมาร์ให้กระทำอุปสมบทกรรมในลังกา เมื่อพระโอรสเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าปรากรมพาหุที่ ๑ ทรงยังคณะสงฆ์ที่แตกแยกมานานให้รวมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ ทรงส่งเสริมพระพุทธศาสนาจนกระทั่งลังกาได้เป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ปรากฏเกียรติคุณแพร่ไปทั่ว มีพระสงฆ์และนักปราชญ์เดินทางจากนานาประเทศใกล้เคียงมาสืบพระพุทธศาสนาในลังกา แล้วนำกลับไปเผยแผ่ในประเทศของตนเป็นอันมาก

โปรดติดตามเส้นทางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในฉบับถัดไป และเนื่องจากปีนี้หลวงพ่อธัมมชโย มีอายุวัฒนมงคลได้ ๗๒ ปี ทางคณะนักวิจัยของสถาบันฯ จึงตั้งใจบูชาธรรมด้วยการจัดเสวนาวิชาการในหัวข้อ คำถาม - คำตอบธรรมกายในวันเสาร์ที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๙ ณ อาคาร ๑๐๐ ปี คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ขนนกยูง วัดพระธรรมกาย
---------------------------------------

¹ พ.ศ. ๑๐๐๒-๑๐๖๕
² วิมุตติมรรคเป็นคัมภีร์คู่กับคัมภีร์วิสุทธิมรรคของพระพุทธโฆษาจารย์
³ 義淨 หรือ 义净; pinyin: Yìjìng; Wade-Giles: I Ching (635-713 CE)
พ.ศ. ๑๗๒๔-๑๗๖๒
พ.ศ. ๑๖๙๗-๑๗๓๐
----------------------------------------

Cr. พระสุธรรมญาณวิเทศ วิ. (สุธรรม สุธมฺโม) และคณะนักวิจัย DIRI
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๖๑ เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๙
หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๑๐) หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๑๐) Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 19:46 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.