การศึกษา คือ รากฐานของการสร้างประเทศ
คำตอบ
ประเทศชาติทุกวันนี้มีทฤษฎีการศึกษาเกิดขึ้นมากมาย
จนบางคนก็มีความเข้าใจว่า คำสอนในศาสนาเป็นส่วนเกินของการศึกษา จึงอยากทราบว่า การศึกษาในมุมมองของพระพุทธศาสนานั้นเป็นอย่างไร?
การศึกษาคืออะไร? ถ้าตอบโดยหลักการ
การศึกษา คือ การพัฒนาผู้เรียนให้มีกำลังใจทำความดี จนกระทั่งกลายเป็นนิสัยรักการทำความดี ถ้าเป็นอย่างนี้
ยิ่งมีความรู้มากเท่าไร ยิ่งเป็นสิ่งที่ดีมากเท่านั้น เพราะผลสุดท้ายที่ได้รับ
ก็คือ
การศึกษาได้สร้างผู้เรียนที่มีความรู้ดีและมีนิสัยดีให้แก่สังคมและประเทศชาติ
เมื่อหลักการและเหตุผลเป็นอย่างนี้
ก็ทำให้เรากำหนดหน้าที่ของการศึกษาออกมาได้อย่างชัดเจน นั่นคือ
๑)
การศึกษามีหน้าที่พัฒนาผู้เรียนให้มีกำลังใจในการทำความดี
๒)
การศึกษามีหน้าที่พัฒนาผู้เรียนให้มีนิสัยรักการทำความดี หากพูดโดยย่อก็คือ
การศึกษามีหน้าที่สร้างกำลังใจและสร้างนิสัยที่ดีให้แก่ผู้เรียนนั่นเอง
เพราะเหตุใดการศึกษาจึงต้องพัฒนาผู้เรียนให้มีกำลังใจทำความดี?
เนื่องจากธรรมชาติใจของมนุษย์ทั่วไปมักถูกควบคุมด้วยกิเลส
(โลภะ โทสะ โมหะ) ทำให้เวลาทำความชั่วมักทำอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน
โดยที่ไม่ต้องมีใครมาสอนกันเลยทีเดียว แต่ในทางตรงข้าม เวลาทำความดีมักจะทำกันเหยาะ ๆ แหยะ ๆ มักไม่เอาชีวิตเป็นเดิมพันกับการทำความดีเหมือนกับตอนที่ทำความชั่ว
ยกตัวอย่างเช่น ชาวโลกทั่วไปรู้ไหมว่า
การดื่มเหล้าจะทำให้ตับแข็ง รักษาไม่หาย มีแต่ตายกับตาย
รู้ แต่ก็กิน
ยอมเอาชีวิตเป็นเดิมพันทำชั่ว
รู้ไหมว่า การไปปล้น ไปโกง
ไปผิดลูกเมียเขา ถ้าถูกเขาจับได้มีแต่ตายกับตายเท่านั้น
รู้ แต่ก็ทำ
เพราะฉะนั้นไม่ว่าศีลมีกี่ข้อ
เวลาทำผิดศีลก็พร้อมจะทำอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพันทั้งนั้น
ตรงนี้เองที่ทำให้เราต้องกลับมาทบทวนว่า
ถ้าเรารีบสอนให้ผู้เรียนมีความรู้ โดยที่ไม่ได้ฝึกให้สร้างกำลังใจในการทำความดี
พอถึงเวลาลงมือทำความดีที่เป็นงานในบ้าน ในโรงเรียน ในชุมชน ก็จะทำแบบไม่เต็มที่ เวลาไปเจออุปสรรคนิด ๆ
หน่อย ๆ ก็พร้อมจะเลิกทำความดีกลางคัน
แล้วเอาความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาจากครูบาอาจารย์หันกลับไปทำความชั่วอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพันแทน
เมื่อการศึกษาสร้างคนที่มีความรู้แต่พร้อมจะเอาชีวิตเป็นเดิมพันทำความชั่ว
ผลที่ตามมาก็คือ ทั้งชีวิตของผู้เรียนเอง ครอบครัวของเขา สังคมที่เขาอยู่อาศัย
ก็จะต้องเดือดร้อนไปกับผลจากการทำความชั่วของเขาด้วย
นี่คือความน่ากลัวของการให้ความรู้อย่างเดียว แต่ไม่ให้กำลังใจในการทำความดี
ด้วยเหตุนี้
เราจึงต้องรีบฝึกผู้เรียนให้มีกำลังใจที่จะทำความดี
ก่อนที่ความชั่วจะเข้าครอบงำจิตใจ จนกระทั่งหมดกำลังใจทำความดี
นี้จึงเป็นเรื่องใหญ่ของการศึกษา
ความรู้ที่เรามีอยู่
ไม่ว่าจะมากหรือน้อยเท่าใดก็ตาม ถ้าตราบใดที่เราไม่ได้เอาไปใช้ทำความดี
จะศึกษาเรียนรู้ไปทำไม เพราะฉะนั้นนอกจากมีความรู้แล้ว
ยังต้องมีความสามารถที่จะเอาความรู้ไปทำความดีด้วย
ในการทำงานต่าง ๆ
มีเรื่องที่ต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่า แม้เราจะมีความตั้งใจทำงานให้ออกมาดี
แต่พอทำจริง ๆ แล้ว จะยังไม่สมบูรณ์ในคราวเดียว อาจจะเกิดข้อผิดพลาดขึ้นมาได้
ทั้งที่ตั้งใจทำเต็มที่แล้ว คาดหวังผลไว้ร้อยส่วน แต่ผลดีอาจจะออกมาได้แค่ ๘๐
เปอร์เซ็นต์ แต่อีก ๒๐ เปอร์เซ็นต์ กลับไม่ดี
ผลดีที่เกิดขึ้น ๘๐ เปอร์เซ็นต์นั้น
เป็นส่วนที่เราทำถูก ถือเป็นความชอบที่เรายินดีรับ แต่อีก ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ที่ไม่ดี
ที่เราผิดพลาดนั้น เราก็ต้องยอมรับด้วย ยอมรับในส่วนที่เป็นความผิด
เพื่อจะได้นำมาแก้ไขให้ได้ผลดีในคราวต่อ ๆ ไป
ถ้าปล่อยผลลัพธ์ที่เราทำผิดพลาดทิ้งไว้
แล้วใครจะมาแก้ไข หากปล่อยผลผิดเอาไว้โดยไม่ดำเนินการใด ๆ ต่อไป ก็จะกลายเป็นว่า
เราคือคนทิ้งขยะไว้ในสังคม นอกจากไม่เกิดประโยชน์แล้ว มิหนำซ้ำจะก่อให้เกิดโทษกับสังคมอีกด้วย
ดังนั้น
ความหมายของการศึกษาในทางปฏิบัติ จึงหมายถึง การปลูกฝังและพัฒนาให้ผู้เรียนมีนิสัยใฝ่รู้
ใฝ่ดี มีความสามารถและมีความรับผิดชอบ ซึ่งการจะทำได้อย่างนี้
ต้องฝึกผู้เรียนให้รู้จักสร้างกำลังใจในการทำความดีอย่างต่อเนื่องทีเดียว
เพราะเหตุใดการศึกษาจึงต้องพัฒนาผู้เรียนให้เกิดนิสัยรักการทำความดี?
การที่คนเรารู้เพียงว่านิสัยอะไรดี นิสัยอะไรไม่ดี
แล้วเราเอาแค่บอก ๆ เขาไป แล้วเราก็คิดเอาเองว่า เมื่อถึงเวลาแล้ว
เขาก็คงจะทำตามนั้น ถ้าเพียงแค่นั้นยังไม่พอ
เรายังต้องฝึกให้เขาทำสิ่งที่รู้นั้นให้กลายเป็นนิสัยอีกด้วย ไม่ใช่แค่บอก
แต่ไม่ได้ฝึก
เพราะนิสัยดีงามทุกชนิดจะเกิดขึ้นได้
เราต้องปฏิบัติซ้ำ ๆ จนกระทั่งคุ้น แล้วก็ติดเป็นนิสัย
หากเพียงรู้ว่าสิ่งใดทำแล้วจะดี แต่ยังไม่ทำซ้ำ ๆ จนกระทั่งคุ้น
ไม่ช้าสิ่งที่รู้นั้น เราก็จะลืมเลือนไป นิสัยดียังไม่เกิด
ยังไม่เข้าท่าเหมือนเดิม ยังเปลี่ยนนิสัยไม่ได้
ในส่วนตัวของผู้ฝึก การปฏิบัติดีซ้ำ ๆ
จนกระทั่งคุ้นจนติดเป็นนิสัย จะต้องใช้กำลังใจอย่างมหาศาล
จึงจะหักดิบเลิกนิสัยไม่ดีได้ แล้วปฏิบัติแต่นิสัยดี ๆ ได้
ส่วนผู้ฝึกไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่หรือครูอาจารย์ก็จะต้องคอยจ้ำจี้จ้ำไช
ด้วยถ้อยคำที่เป็นปิยวาจา เพื่อจะให้กำลังใจแก่ลูกหลาน ลูกศิษย์ ให้เขาสามารถปฏิบัติซ้ำ
ๆ จนกระทั่งคุ้นในที่สุด
อะไรคือแหล่งที่มาของกำลังใจ?
กำลังใจไม่ได้ตกมาจากฟากฟ้า
หรือผู้วิเศษองค์ใดจะเสกให้ได้ มีแต่มนุษย์ผู้มีองค์ประกอบคือกายกับใจนี่แหละ
ที่จะสร้างกำลังใจและให้กำลังใจแก่กันได้
แหล่งที่มาของกำลังใจ มี ๒ ทาง คือ
กำลังใจที่รับมาจากคนอื่น
เมื่อสู้ทำงานจนเหน็ดเหนื่อย ทดท้อ
ทนไม่ไหวขึ้นมา เพียงได้ยินเสียงพ่อพูดเพราะ ๆ กับลูก แม่พูดเพราะ ๆ กับลูก
ลูกก็เกิดกำลังใจขึ้นมา
พ่อบ้าน แม่บ้านพูดเพราะ ๆ ต่างฝ่ายก็เกิดกำลังใจขึ้นมา
ผู้บังคับบัญชาพูดเพราะ ๆ เพื่อนร่วมงานพูดเพราะ ๆ มีกำลังใจทำงานขึ้นมามากโข
ขณะเดียวกัน
สิ่งที่จะทอนกำลังใจของคนเราได้มากที่สุด ก็คือ คำพูด
คำพูดที่เสียดหูเสียดแทงใจ
คำพูดไม่สุภาพ คำพูดไม่เป็นที่รัก เพียงคำพูดเหล่านี้ไม่กี่คำ
ทำให้คนเราหมดเรี่ยวแรง หมดกำลังใจ ไม่สมัครใจจะทำการงานสิ่งใด
ในทางตรงกันข้าม
ต่อให้เหน็ดเหนื่อยทำท่าจะตาย ได้ฟังคำพูดอันชื่นใจคำสองคำมีกำลัง ลุกขึ้นพรวด
อุปสรรคที่เผชิญหน้าจะยิ่งใหญ่แค่ไหนก็ไม่หวั่น
นี่คือกำลังใจที่ผู้อื่นให้ผ่านคำพูดที่ถูกใจมา
กำลังใจที่สร้างขึ้นมาเอง
เพราะว่า คนอื่นแม้เขาจะรักเรา
ปรารถนาดีต่อเรามากปานใดก็ตาม แต่เขาก็มีเวลาเหนื่อยของเขาเหมือนกัน
คงไม่สามารถที่จะมาตามให้กำลังใจกันได้ตลอดไป ดังนั้นเราต้องสร้างกำลังใจเองด้วย
โดยวิธีฝึกสมาธิ
ใครที่เคยฝึกสมาธิมา
ก็จะรู้ว่ามันเป็นการปล้ำกับใจตัวเอง นักกีฬาอยากจะมีกำลังก็ต้องปล้ำกับสนาม
นักวิ่งก็วิ่งให้สนามพังไปเลย นักมวยก็ต่อยให้เวทีพังไปนั่นแหละ
ทำอย่างนั้นแล้วถึงจะได้กำลังขึ้นมา เมื่ออยากจะมีกำลังใจ ก็ต้องนั่งสมาธิเข้าไป
การปล้ำกับใจตัวเองเป็นงานหนัก ทำได้ไม่ง่ายเลย
แต่ก่อนที่จะนั่งสมาธิได้สม่ำเสมอต่อเนื่องจนใจมีกำลังควบคุมตนเองให้ทำความดีต่อเนื่อง ไม่ยอมให้ความชั่วครอบงำได้
เราจะต้องมีความเข้าใจถูกในเรื่องสัมมาทิฐิ ๑๐ ข้อก่อน จึงจะมีกำลังใจทำสมาธิ
สัมมาทิฐิเป็นเรื่องของการปลูกฝังวิธีทำความดีขั้นต้น
เมื่อเริ่มเห็นคุณค่าของการทำความดี จึงจะเห็นคุณค่าของการฝึกสมาธิ
เมื่อเข้าใจสัมมาทิฐิ ๑๐ ข้อ
ทำให้มีกำลังใจ จึงฝึกสมาธิ พอทำสมาธิเข้า
กำลังใจในการจะทำความดีด้วยตัวเองเกิดขึ้นมาอย่างมากมาย
เมื่อมีกำลังใจทำความดี ตรงนี้โรงเรียน
ครู และทางบ้าน ต้องรีบจัดกิจกรรมเพาะนิสัยใฝ่ดีให้ เช่น
พ่อแม่พาลูกตักบาตรตอนเช้าก่อนไปโรงเรียน ลูก ๆ ไหว้ลาพ่อแม่ก่อนไปโรงเรียน
นักเรียนสวัสดีคุณครูเมื่อมาถึงโรงเรียน
ครูแบ่งงานให้นักเรียนร่วมมือกันทำความสะอาดห้องเรียน เป็นต้น
เมื่อทำไปมากเข้า ๆ ก็เกิดนิสัยใฝ่ดี
เด็ก ๆ อยากจะทำความดีให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป แล้วเขาจะรู้เองว่า ความรู้ของเขายังไม่พอ
ในเมื่อเขากระหายอยากรู้แล้ว ครูก็หาทางเพาะนิสัยใฝ่รู้เข้าไป
นักเรียนที่มีนิสัยใฝ่ดีอยู่แล้ว มาบวกใฝ่รู้เข้า จะเกิดความรัก
คือฉันทะที่จะเลือกเรียนรู้เฉพาะสิ่งที่ดี ๆ เมื่อมาถึงจุดนี้ จึงจะกล่าวได้ว่า
ครูจัดกระบวนการเรียนรู้ได้สำเร็จ การศึกษานั้นมีคุณภาพ..
Cr. หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๓๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๖
การศึกษา คือ รากฐานของการสร้างประเทศ
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
04:47
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: