ย้อนรอยสู่คำสอนดั้งเดิม “วิธีตรวจชำระคัมภีร์ใบลาน ให้ได้มาตรฐานสากล”


ภาควิชามนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลร่วมกับบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จัดประชุมวิชาการทางพระพุทธศาสนาหัวข้อ วิธีตรวจชำระคัมภีร์ใบลานให้ได้มาตรฐานสากลเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ ณ โรงแรมเอสดี อเวนิว ปิ่นเกล้า ห้องประชุมอัมรินทร์ โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิผู้มีชื่อเสียงจากหน่วยงานต่าง ๆ มาเป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อต่าง ๆ ในโอกาสนี้ตัวแทนจากโครงการพระไตรปิฎกวัดพระธรรมกาย ได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรจำนวน ๒ ท่าน ได้แก่ ผู้อำนวยการร่วมโครงการ คือ ศ.ดร.จี เอ โสมรัตเน (Prof. Dr.G.A.Somaratne) บรรยายเรื่อง การตรวจชำระคัมภีร์สังยุตตนิกายของสมาคมบาลีปกรณ์และหัวหน้าฝ่ายวิชาการโครงการ คือ ดร.อเลกซานเดอร์ วีน (Dr.Alexander Wynne) บรรยายเรื่อง การตรวจชำระพระไตรปิฎกของวัดพระธรรมกาย” ในงานนี้มีพระภิกษุสงฆ์ คณาจารย์ นิสิตนักศึกษา และผู้สนใจเข้าร่วมประชุม ๒๐๐ กว่าท่าน



ดร.อเลกซานเดอร์ วีน บรรยายว่า โครงการพระไตรปิฎก วัดพระธรรมกาย มีเป้าหมายตรวจชำระพระไตรปิฎกบาลีเพื่อสาวย้อนกลับไปถึงเนื้อความดั้งเดิมในสมัยพระพุทธโฆษาจารย์ คือ ราวช่วงพุทธศตวรรษที่ ๕ เป็นอย่างน้อย เนื่องจากเป็นยุคที่เก่าแก่ที่สุดที่มีหลักฐาน คือ คัมภีร์อรรถกถายืนยันอย่างชัดเจนว่า พระไตรปิฎกได้บังเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์แล้ว ในการนี้โครงการใช้วิธีการศึกษาเปรียบเทียบคัมภีร์พระไตรปิฎกใบลานที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบันมาตรวจชำระโดยตรง

แม้คัมภีร์ใบลานเหล่านี้จะมีอายุเพียงไม่กี่ร้อยปี แต่ก็สามารถพาเราย้อนไปสู่เนื้อความในสมัยพระพุทธโฆษาจารย์เมื่อราว ๑,๕๐๐ ปีก่อนได้ เนื่องจากมีการขุดค้นพบหลักฐานที่เก่าแก่มาก ๆ คือ คัมภีร์ใบลานทองคำอายุราว ๑,๖๐๐ ปี ในประเทศเมียนมาร์ และคัมภีร์ใบลานอายุราว ๑,๒๐๐ ปี ในประเทศเนปาล ซึ่งสันนิษฐานว่าเนื้อความบนคัมภีร์ใบลานทั้งสองนี้น่าจะเป็นเนื้อความเดียวกับพระไตรปิฎกในสมัยพระพุทธโฆษาจารย์ และเมื่อศึกษาเปรียบเทียบเนื้อความดังกล่าวกับเนื้อความในคัมภีร์ใบลานที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน รวมถึงเนื้อความในพระไตรปิฎกบาลีฉบับพิมพ์ในปัจจุบันแล้ว พบว่าเนื้อความทั้งหมดมีความสอดคล้องตรงกันอย่างน่าทึ่งดังนั้นหลักฐานคัมภีร์ใบลานในปัจจุบันจึงสามารถพาเราย้อนไปสู่คำสอนเมื่อพันกว่าปีก่อนได้

โครงการพระไตรปิฎก วัดพระธรรมกาย มุ่งมั่นสำรวจ รวบรวมคัมภีร์ใบลานจากทั้ง ๔ สายจารีตหลัก คือ คัมภีร์ใบลานอักษรสิงหลอักษรพม่า อักษรขอม และอักษรธัมม์ (ล้านนา, อีสาน) และศึกษาค้นคว้าคัมภีร์ใบลานดังกล่าวตามหลักวิชาคัมภีร์โบราณ แล้วจัดทำพระไตรปิฎกฉบับวิชาการขึ้น โดยมีขั้นตอนดังนี้



ขั้นตอนที่ ๑ รวบรวมอนุรักษ์มรดกธรรมอันล้ำค่า
โครงการได้ส่งคณะทำงานออกสำรวจและถ่ายภาพคัมภีร์โบราณเป็นจำนวนมากทั้งในประเทศไทย ลาว เมียนมาร์ ศรีลังกา และเขตสิบสองปันนา ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายด้วยดี ทั้งวัด ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ มหาวิทยาลัยและชุมชนในท้องถิ่น



ขั้นตอนที่ ๒ ผสานรวมกับเทคโนโลยีทันสมัย
จากนั้นจึงจัดทำฐานข้อมูลพระไตรปิฎกจากภาพถ่ายคัมภีร์ใบลานด้วยระบบซอฟต์แวร์ทันสมัยที่สามารถตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลกับภาพถ่ายใบลานแบบหน้าต่อหน้าได้โดยผ่านทางอินเทอร์เน็ต



ขั้นตอนที่ ๓ ศึกษาเปรียบเทียบตามหลักวิชาคัมภีร์โบราณ
ฐานข้อมูลพระไตรปิฎกดังกล่าวจะถูกนำมาศึกษาเปรียบเทียบตามหลักวิชาคัมภีร์โบราณ โดยทีมนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญภาษาบาลีและคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาททั้งฝ่ายบรรพชิตและคฤหัสถ์รวมกว่า ๒๐ ท่าน ทั้งจากประเทศไทยเมียนมาร์ ศรีลังกา และอังกฤษ ซึ่งอาจถือเป็นครั้งแรกที่มีการร่วมมือกันทำงานโดยนักวิชาการจากนานาชาติอย่างต่อเนื่องจริงจังเช่นนี้



ขั้นตอนที่ ๔ ศูนย์รวมความร่วมมือทางวิชาการระดับโลก
โครงการยังได้รับคำแนะนำและข้อเสนอแนะทางวิชาการอันทรงคุณค่าจากคณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิจากนานาประเทศ ซึ่งล้วนเป็นนักวิชาการผู้มีชื่อเสียงระดับแนวหน้าในวงการศึกษาภาษาบาลีและพระพุทธศาสนาเถรวาทของโลก



ขั้นตอนที่ ๕ บทสรุปจากใบลานทุกสายจารีต
ในปี พ.ศ. ๒๕๕๖ โครงการได้จัดพิมพ์บทสรุปการศึกษาเปรียบเทียบคัมภีร์ใบลานทุกสายจารีตเป็นพระไตรปิฎกบาลี ฉบับธรรมชัย เล่มสาธิต คือ สีลขันธวรรคในทีฆนิกาย แห่งพระสุตตันตปิฎก เพื่อเปิดรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญพระไตรปิฎกและภาษาบาลีทั้งภายในและต่างประเทศ แล้วนำไปปรับปรุงให้เป็นเล่มสมบูรณ์ต่อไป

การจัดงานประชุมวิชาการครั้งนี้แสดงให้เห็นว่ามีมหาวิทยาลัยและหน่วยงานพระพุทธศาสนาเล็งเห็นความสำคัญของงานที่โครงการพระไตรปิฎกวัดพระธรรมกาย กำลังดำเนินการอยู่ เวทีทางวิชาการครั้งนี้จึงเป็นโอกาสดีที่โครงการได้บรรยายและถ่ายทอดองค์ความรู้ ตลอดจนประสบการณ์การทำงานให้ผู้เข้าร่วมงานทั้งคณะสงฆ์ คณาจารย์ นิสิตนักศึกษา และผู้ที่สนใจทั่วไปได้ทราบถึงขั้นตอนการตรวจชำระพระไตรปิฎก ฉบับธรรมชัย ที่มีเป้าหมายเพื่อย้อนกลับไปสู่คำสอนดั้งเดิมให้ใกล้เคียงกับยุคพุทธกาลมากที่สุด..



พระสุธีธรรมานุวัตร
เทียบ สิริญาโณ)
คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรวิหาร

โครงการพระไตรปิฎก วัดพระธรรมกาย ได้จัดทำพระไตรปิฎก โดยรวบรวมคัมภีร์ใบลานจากอักษรต่าง ๆ เช่นอักษรขอม อักษรธัมม์ล้านนา อักษรธัมม์อีสาน และอักษรมอญนอกจากนั้นยังได้ตรวจสอบกับต้นฉบับใบลานจากอักษรพม่าอักษรสิงหล เป็นต้น และยังได้คัมภีร์ต้นฉบับตัวเขียนจากประเทศเมียนมาร์ ลาว และศรีลังกามาด้วย การได้ต้นฉบับใบลานมาและนำไปถ่ายทำแบบดิจิทัลไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เพราะฉะนั้นในส่วนนี้ ในแง่วิชาการถือว่ามีคุณูปการที่ได้รวบรวมคัมภีร์ต้นฉบับที่มากที่สุดเอาไว้


Cr. Tipitaka (DTP)
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๓๒ เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖
ย้อนรอยสู่คำสอนดั้งเดิม “วิธีตรวจชำระคัมภีร์ใบลาน ให้ได้มาตรฐานสากล” ย้อนรอยสู่คำสอนดั้งเดิม “วิธีตรวจชำระคัมภีร์ใบลาน ให้ได้มาตรฐานสากล” Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 09:10 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.