สืบรักษาพุทธธรรมล้ำสมัย


พระไตรปิฎก มรดกธรรมอันล้ำค่าของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก ได้สืบทอดต่อกันมาเป็นเวลายาวนานนับแต่ครั้งพุทธกาลจนถึงปัจจุบัน ด้วยวิธีดูแลรักษาและสืบทอดอย่างดีที่สุดเท่าที่เหล่าพุทธสาวกในยุคนั้น ๆ  จะพากเพียรอุตสาหะนำมาใช้ได้ตามความเหมาะสมในขณะนั้น โดยอาจแบ่งได้เป็น ๔ ยุค คือ  ยุคมุขปาฐะ ยุคการจารจารึก ยุคสื่อสิ่งพิมพ์ และ ยุคดิจิทัล

พระไตรปิฎก ฉบับอิเล็กทรอนิกส์ ในปัจจุบัน

ปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจึงทำให้เรามีพระไตรปิฎกดิจิทัลใช้งานแพร่หลายอยู่หลายฉบับ อาทิเช่น




๑.  พระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์   มูลนิธิธรรมกาย
เป็นพระไตรปิฎกดิจิทัลที่เกิดขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่างมูลนิธิธรรมกายและสมาคมบาลีปกรณ์แห่งประเทศอังกฤษ โดยใช้พระไตรปิฎกบาลีและคัมภีร์อรรถกถา ฉบับสมาคมบาลีปกรณ์เป็นฐานข้อมูล ซึ่งผู้ใช้โปรแกรมสามารถสืบค้น  คำศัพท์-วลีที่ต้องการ หรือสืบค้นจากชื่อเล่มเลขหน้าได้โดยตรง นอกจากนี้โปรแกรมยังมีพจนานุกรมบาลี-อังกฤษไว้อำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้อีกด้วย




๒.  BUDSIR - BUDdhist Scriptures   Information Retrieval
เป็นพระไตรปิฎกดิจิทัลที่สำนักคอมพิวเตอร์มหาวิทยาลัยมหิดลจัดทำขื้น โดยใช้พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐมาเป็นฐานข้อมูล ต่อมาได้พัฒนาโปรแกรมให้สามารถแปลงเนื้อหาเป็นตัวอักษรโรมัน และเผยแพร่เป็นซีดีรอมนับแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ เป็นต้นมา




๓.  CSCD - Chattha Sangayana CD-ROM
เป็นพระไตรปิฎกดิจิทัลที่สถาบันวิจัยวิปัสสนาในประเทศอินเดียจัดทำขึ้นโดยใช้พระไตรปิฎกบาลีฉบับฉัฏฐสังคีติของพม่ามาจัดทำฐานข้อมูลเป็นซีดีรอม ผู้ใช้โปรแกรมสามารถแปลงเนื้อความเป็นอักษรต่าง ๆ ได้ เช่น อักษรโรมัน อักษรพม่า อักษรไทย อักษรลาว อักษรกัมพูชา ฯลฯ

แม้พระไตรปิฎกดิจิทัลสามารถอำนวยความสะดวกในการค้นคว้าหาข้อมูลในพระไตรปิฎกได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งนับเป็นคุณูปการใหญ่หลวงต่อวงการพระพุทธศาสนาแลวงการวิชาการพุทธศาสตร์ก็ตาม แต่พระไตรปิฎกดิจิทัลดังกล่าวข้างต้น ล้วนใช้เนื้อหาจากพระไตรปิฎกฉบับพิมพ์เป็นแหล่งข้อมูลทั้งสิ้น ยังไม่มีพระไตรปิฎกดิจิทัลฉบับใดใช้คัมภีร์ใบลานอันเป็นหลักฐานปฐมภูมิมาสร้างฐานข้อมูล

โครงการพระไตรปิฎก วัดพระธรรมกาย จึงมุ่งมั่นทำงานอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานทุกสายจารีต โดยถ่ายภาพเก็บเป็นไฟล์ดิจิทัลและนำมาศึกษาเปรียบเทียบ จัดทำเป็นพระไตรปิฎกดิจิทัลที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งจะทำให้นักวิชาการและผู้สนใจสามารถศึกษาค้นคว้าถึงตัวคัมภีร์ใบลานต้นฉบับได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

พระไตรปิฎกดิจิทัล ฉบับธรรมชัย

การจัดทำพระไตรปิฎกดิจิทัลที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งจะเป็นมรดกธรรมอันล้ำค่าแก่ชาวโลกสืบไปนั้น มีปัจจัยสำคัญ ๒ ประการ ได้แก่ ที่มาของแหล่งข้อมูลและการนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

๑. แหล่งข้อมูล
พระไตรปิฎกดิจิทัลฉบับธรรมชัยจัดทำขึ้นโดยใช้คัมภีร์ใบลานจาก ๔ สายจารีตหลัก คือ คัมภีร์ใบลานอักษรพม่า อักษรสิงหล อักษรขอม และอักษรธัมม์ มาเป็นฐานข้อมูล

การนำคัมภีร์ใบลานจำนวนมากครบทุกสายจารีตหลักมาศึกษาค้นคว้าตามหลักวิชาคัมภีร์โบราณเช่นนี้ ทำให้เราทราบถึงลักษณะเฉพาะในการสืบสายคัมภีร์ของแต่ละสายจารีตได้อย่างชัดเจน ซึ่งองค์ความรู้นี้จะเป็นข้อมูลอันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และทางวิชาการของพระพุทธศาสนา

๒. เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์
นอกจากนี้ โครงการพระไตรปิฎกยังนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาใช้ทั้งในกระบวนการถ่ายภาพคัมภีร์ใบลานเป็นไฟล์ดิจิทัล และในกระบวนการจัดทำฐานข้อมูลพระไตรปิฎกจากภาพคัมภีร์ใบลานด้วยระบบซอฟต์แวร์ที่มีความถูกต้องแม่นยำ

จากนั้นจึงส่งต่อฐานข้อมูลดังกล่าวให้คณะนักวิชาการในโครงการซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญพระไตรปิฎกและภาษาบาลี เพื่อศึกษาเปรียบเทียบคำอ่านจากคัมภีร์ใบลานแต่ละสายจารีต และบันทึกผลการศึกษาค้นคว้าคำอ่านแต่ละสายจารีตไว้อย่างละเอียด และจัดทำเป็นพระไตรปิฎกฉบับธรรมชัยขึ้นมา ทั้งที่เป็นรูปเล่มหนังสือและรูปแบบดิจิทัล

สำหรับพระไตรปิฎกดิจิทัลฉบับธรรมชัยนั้น มีโปรแกรมแสดงผลบนหน้าจอเป็น ๒ โหมดหลัก คือ

เชิงอรรถแสดงอักษรย่อคัมภีร์อักษรต่าง ๆ

เมื่อคลิกที่อักษรย่อคัมภีร์ใบลาน
ภาพคัมภีร์ใบลานตำแหน่งคำนั้น ๆ จะปรากฎบนหน้าจอ



๑. โหมด Book View 
คือ โหมดที่โปรแกรมได้จำลองหน้าหนังสือพระไตรปิฎกมาแสดงผลบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งผู้ใช้โปรแกรมสามารถเลือกเข้าไปดูรูปคัมภีร์ใบลานของสายจารีตต่าง ๆ ได้ โดยการคลิกเลือกชื่อย่อของแต่ละคัมภีร์ใบลานที่ปรากฏในเชิงอรรถ

ตารางเปรียบเทียบคำอ่านจากคัมภีร์ใบลานจาก
แต่ละลายจารีตแบบคำต่อคำ



เมื่อผู้ใช้โปรแกรมคลิกคำอ่านในตารางก็จะมีภาพใบลาน
ของลายจารีตนั้น ๆ ปรากฎขึ้นมา


๒. โหมด Synoptic View
คือ โหมดที่โปรแกรมแสดงตารางเปรียบเทียบคำอ่านจากคัมภีร์ใบลานจากแต่ละสายจารีตแบบคำต่อคำ เมื่อผู้ใช้โปรแกรมคลิกคำอ่านในตารางก็จะมีภาพใบลานของสายจารีตนั้น ๆ ปรากฏขึ้นมาให้ตรวจสอบได้



โครงการจะเผยแพร่พระไตรปิฎกดิจิทัลฉบับธรรมชัยทั้งในรูปแบบดีวีดีและรูปแบบออนไลน์ เพื่อให้ผู้อ่านสามารถศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกบาลีได้อย่างสะดวกรวดเร็วผ่านระบบอินเทอร์เน็ต

ผู้อ่านสามารถตรวจสอบ แลกเปลี่ยนความรู้ และเสนอความเห็นได้จากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งจะเป็นการรวบรวมองค์ความรู้จากนักวิชาการทั่วโลกแบบเรียลไทม์ และหากใครสนใจเนื้อหาตอนใดเป็นพิเศษในโหมด  Book View หรือ โหมด Synoptic View  ก็สามารถคลิกภาพถ่ายคัมภีร์ใบลานที่มีเนื้อหาตอนนั้นขึ้นมาดูได้ทันที ดังนั้นไม่ว่าผู้อ่านจะอยู่ที่ใดก็สามารถเข้าถึงใบลานต้นแหล่งได้ตลอดเวลา



แม้คัมภีร์ใบลานต้นฉบับเกิดการผุกร่อนเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา แต่ภาพดิจิทัลที่ถูกถ่ายเก็บไว้จะยังคงอยู่เป็นหลักฐานการสืบทอดคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นคลังปัญญาพระไตรปิฎกที่ใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดของชาวพุทธและชาวโลกผู้สนใจศึกษาทุกคนตราบนานเท่านาน..


พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑฺโฒ)
ผู้อำนวยการโครงการพระไตรปิฎก วัดพระธรรมกาย

ปัจจุบันเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ก้าวหน้า ดังนั้นจึงมีการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ให้เป็นประโยชน์ ตั้งแต่การนำเนื้อหาในคัมภีร์ใบลานแต่ละชุดมาพิมพ์ลงในคอมพิวเตอร์ โดยทำเป็น ๒ ทีม คือ ใบลานฉบับเดียวต้องพิมพ์กัน ๒ ทีม แล้วเปรียบเทียบกันด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อความถูกต้องสูงสุด เมื่อใบลานแต่ละฉบับพิมพ์เนื้อหาและตรวจเช็กอย่างละเอียดจนถูกต้องแล้ว ก็เอาของทุกชุดมาเปรียบเทียบกันด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะแสดงข้อมูลทั้งหมดเลย ใบลานแต่ละชุดนั้น ถ้าเนื้อหาตรงไหนเหมือนกันก็ผ่าน ตรงไหนไม่เหมือนกันจะมีตัวแดงขึ้น แล้วก็มาช่วยกันดูว่า ดั้งเดิมจริง ๆ ตรงนี้น่าจะเป็นอย่างไร และเมื่อวินิจฉัยแล้วว่าดั้งเดิมเป็นอย่างไร เนื้อหาของฉบับอื่นก็จะเก็บไว้หมดในฟุตโน้ต

ดังนั้น ผู้ที่ดูพระไตรปิฎกฉบับธรรมชัยฉบับเดียว จะสามารถรู้เลยว่า คัมภีร์ใบลานทั้ง ๑๙ ฉบับที่เป็นต้นฉบับมีเนื้อหาอย่างไร และยังมีการนำเนื้อหาที่ตรวจชำระเสร็จแล้วลิงก์กับคัมภีร์ใบลานด้วยในฉบับดิจิทัล เมื่อเจอเนื้อหาตอนใดตอนหนึ่งก็สามารถกดปุ่ม โปรแกรมคอมพิวเตอร์จะดึงเอาคัมภีร์ใบลานเนื้อหาในส่วนนั้นของฉบับต่าง ๆ มาให้ดูทันที ดังนั้นนักวิชาการที่เชี่ยวชาญสามารถตรวจเช็กเนื้อหาทุกอย่างด้วยตัวเองได้ ทำให้เป็นประโยชน์มาก ๆ

ทีมงานทั้งหมด ๕๐ กว่าชีวิตได้ทำอย่างต่อเนื่องทุ่มเทมา ๓ ปี จนกระทั่งบัดนี้ โดยเริ่มจากพระสูตรก่อน คือ ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค ซึ่งเป็นพระไตรปิฎกเล่มแรก ๑ ในทั้งหมด ๔๕ เล่ม ที่ดำเนินการเสร็จสิ้นเรียบร้อย และจัดพิมพ์ออกมาเผยแพร่ ถือว่าเป็น Pilot Edition ฉบับสาธิต  เพื่อเผยแพร่ให้นักวิชาการทั่วโลกใช้ และหากท่านใดมีคำแนะนำว่าควรจะพัฒนาอย่างไรให้สมบูรณ์ขึ้น จะได้น้อมรับมาปรับปรุงให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นต่อไป

Cr. Tipitaka (DTP)
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๓๑ เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๕๖
สืบรักษาพุทธธรรมล้ำสมัย สืบรักษาพุทธธรรมล้ำสมัย Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 06:45 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.