หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๒๕)
ยังปลื้มกันอยู่ไม่หาย
สำหรับกิจกรรมงานบุญวันอาสาฬบูชาและเทศกาลเข้าพรรษา
ที่พุทธศาสนิกชนจากทั่วโลกและศิษยานุศิษย์ของพระเดชพระคุณหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี
(สด จนฺทสโร) ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย
ได้มาสวดมนต์บทธัมมจักกัปปวัตนสูตรร่วมกันทั้งในและต่างประเทศทั่วโลก
พร้อมทั้งการได้มาร่วมกิจกรรมงานบุญที่สำคัญ ๆ เช่น
การจัดพิธีบรรพชาอุปสมบทหมู่ธรรมทายาทระดับ อุดมศึกษารุ่นที่ ๔๕ (ภาคฤดูฝน)
และรุ่นพระพี่เลี้ยงเข้าพรรษา เพื่อเปิดโอกาสให้กุลบุตร
และผู้สนใจเข้ารับการอบรมในโครงการบวชจะได้ฝึกฝนอบรมตนเองตามพุทธวิธี
และสามารถนำความรู้และหลักธรรมจากการอบรมไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้องดีงาม
เกิดความสุขความสำเร็จในชีวิตได้โดยง่าย ซึ่งกิจกรรมบุญเหล่านี้ทั้งพระภิกษุ
สามเณร
และกลุบุตรผู้บรรพชาอุปสมบทเองรวมทั้งสาธุชนทั้งหลายต่างได้บุญกันไปอย่างเต็มเปี่ยมสมกับที่ได้เกิดมาสั่งสมบุญสร้างบารมีจริงๆ
และดังที่ได้ศึกษาเรียนรู้กันมาว่า “การเข้าพรรษา”
จริง ๆ นั้นเป็นพุทธประเพณีที่มีความหมายอันลึกซึ้ง
ไม่เพียงแต่เป็นช่วงเวลาที่พระภิกษุ สามเณร ตามวัดวาอารามต่าง ๆ
จะมีโอกาสในการทบทวนความรู้ด้านปริยัติ การศึกษาภาษาบาลี
และคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาอย่างเข้มข้นเท่านั้น
แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้นวาระโอกาสของการเข้าพรรษายังหมายถึงการที่พุทธบริษัททั้งหมดตั้งแต่ภิกษุ
สามเณร อุบาสก อุบาสิกา จะได้ใช้เวลาในการฝึกฝน อบรมตนเองด้วยการปฏิบัติธรรม
สวดมนต์ นั่งสมาธิให้มากขึ้น เป็นการ “เข้าพรรษาในวงกาย” ของเราเองให้มากขึ้น
ซึ่งช่วงเวลาประมาณ ๓ เดือนนี้ถือเป็นช่วงเวลาทองของชาวพุทธทุกคน
โดยนิติธรรมเนียมอันงดงามนี้ ปู่ย่าตายายของเราทั้งหลายได้ถือปฏิบัติกันมาเป็นพันปีแล้ว
นับตั้งแต่พระพุทธศาสนาได้ประดิษฐานลงในดินแดนสุวรรณภูมินี้เรื่อยมา
สำหรับในช่วงเข้าพรรษานี้
กิจกรรมที่ใกล้เข้ามาของพวกเราเหล่าศิษยานุศิษย์ผู้รักในวิชชาธรรมกายที่สำคัญ ๒
กิจกรรมได้แก่กิจกรรมบุญที่ระลึกวันธรรมชัยหรือวันคล้ายวันบรรพชาอุปสมบทขององค์ผู้สถาปนาสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย
ครบ ๔๘ ปี และกิจกรรมในวันครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐
ซึ่งตรงกับวันอังคาร ที่ ๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐ ซึ่งในวันนั้น
นอกจากเราจะต้องสั่งสมบุญด้วยการทำทาน รักษาศีล เจริญสมาธิภาวนาแล้ว
เป้าหมายในการสวดบทธัมมจักกัปปวัตนสูตรครบ ๑๒๓,๔๕๖,๗๘๙
จบ ที่ตั้งไว้ร่วมกัน
ก็เป็นความท้าทายที่พวกเราเหล่าศิษยานุศิษย์ผู้รักในวิชชาธรรมกายจะต้องมาช่วยกันทำให้สำเร็จ
เพื่อให้เป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของพระพุทธศาสนา
เพื่อให้เป็นเครื่องหมายที่แสดงว่าพุทธศาสนิกชนทุกคนทั่วโลกต่างมีหัวใจที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
แม้จะอยู่ในสถานการณ์ใดทุกคนต่างก็รักและหวงแหนพระพุทธศาสนาเหมือน ๆ กัน
ต่างต้องการให้พระพุทธศาสนา
ขับเคลื่อนต่อไปอย่างสง่างามและเกิดสันติสุขในโลกใบนี้เหมือน ๆ กัน
สำหรับผู้เขียนเอง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
การทำงานสืบค้นหลักฐานธรรมกาย การรวบรวมทีมงานและการดำเนินงานตามพันธกิจ ๗
ขั้นตอนนั้น ก็ได้พยายามสืบสานงานมาอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้การรวบรวมคณะทำงานนักวิชาการตลอดจนการหาสถานที่ที่เหมาะสม
มีความพร้อมในการศึกษาค้นคว้าหลักฐานธรรมกายนั้นถือเป็นภารกิจที่สำคัญและเร่งด่วนมากที่สุด
ดังที่ได้เคยเล่าไปแล้วในฉบับก่อนว่า
สถานที่ที่จะใช้เป็นสถาบันวิจัยทางพระพุทธศาสนา (Buddhist Research
Institute) ใช้เป็นสถานที่ศึกษาค้นคว้าและปริวรรตคัมภีร์พุทธโบราณ ตลอดจนใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรมนักวิจัยที่มีคุณภาพซึ่งโดยหลักแล้วก็มุ่งเน้นในเรื่องการสืบค้นหลักฐานธรรมกายจากทั่วโลกเป็นสำคัญ
และก็เป็นภารกิจที่สถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัยได้ดำเนินการมาโดยตลอดเป็นเวลามากกว่า
๑๗ ปีมาแล้ว
เมื่อกล่าวถึงในเรื่องของ “การวิจัย” นั้นบุคคลที่ถือว่าเป็นผู้ที่เข้าถึงแก่นของการ “ทำงานวิจัย”
อย่างยิ่งท่านหนึ่งนั้นก็คือ พระเดชพระคุณหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี (สด
จนฺทสโร) ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายของเรานั่นเอง โดยควรกล่าวได้ว่า ท่านคือ “ยอดนักวิจัย”
ที่รักษาหลักการที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงวางไว้ย่างเข้มข้น
โดยในการศึกษาวิจัยของท่านนั้นมิได้เป็นเพียงการศึกษาค้นคว้าเอาจากตำรับตำราหรือจากครูบาอาจารย์ของท่านอย่างเดียว แต่ท่านยังมีกระบวนการในการวิเคราะห์ สังเคราะห์
ประมวลผลความรู้จากภาคปริยัตินั้นมาสู่การปฏิบัติได้อย่างสมบูรณ์ด้วย
ซึ่งหากเราได้ย้อนไปศึกษาถึงบทพระธรรมเทศนาทั้งหมดของท่านทั้ง ๖๓ กัณฑ์ให้ละเอียดถี่ถ้วนแล้ว
ก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ สามารถผสมผสานความรู้
ทางพระพุทธศาสนาทั้งปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ ให้เป็นเนื้อเดียวกันได้อย่างดี
ผู้ที่มีโอกาสได้ศึกษาบทพระธรรมเทศนาของท่านก็จะพบความจริงข้อนี้อย่างชัดเจน
สิ่งที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นก็คือ
ด้วยความที่พระเดชพระคุณหลวงปู่มีความเคารพ ในพระรัตนตรัยอย่างมาก
เคารพในพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า และพระสงฆเจ้าอย่างมาก ดังนั้น เราจึงพบว่าใน “กระบวนการศึกษาวิจัย”
ของท่าน จึงเป็นการย้อนกลับไปศึกษาถึงพระคุณของรัตนะทั้ง ๓
ประการนี้ก่อนเป็นด้านหลัก และในบทเทศน์ต่อ ๆ มา
แม้เป็นเรื่องที่เน้นไปที่หลักธรรมชุดอื่น ๆ (เช่น ธรรมนิยามสูตร มงคลสูตร
พุทธโอวาท เป็นต้น )
แต่ท้ายที่สุดในบทสรุปของการเทศน์แต่ละครั้งก็จะช่วยให้เราได้องค์ความรู้ใหม่เพิ่มขึ้นอย่างน้อย
๒ ประการทุกครั้งไป (คือ ได้ความเข้าใจในความรู้เรื่องหลักธรรมนั้น ๆ ในภาคปฏิบัติ
และได้ความเชื่อมโยงกันของหลักธรรมที่ท่านยกมาเทศน์สอนกับเรื่อง
การเข้าถึงพระรัตนตรัยในภาคปฏิบัติ) ไปพร้อม ๆ กัน
เป็นเช่นนี้อยู่เสมอซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์
หากจะกล่าวไปแล้วจึงเท่ากับว่า “สมมติฐานหลัก”
ที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ตั้งไว้
ซึ่งเป็นผลมาจากความสำเร็จในการปฏิบัติ (Experimental) ด้วยตัวของท่านเองนั้นก็คือ
“ธรรมกายเป็นตัวตนที่แท้จริงของพระพุทธศาสนา”
ดังนั้นเราจึงได้เห็นอยู่เสมอว่า
ในการอธิบายขยายความเรื่องราวหรือหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาทุก ๆ เรื่องของท่าน
จึงเท่ากับเป็นการ “อธิบายเรื่องราวของธรรมกาย” นั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ หากมองในมิติของการวิจัยแล้ว
เรื่องธรรมกายสำหรับพระเดชพระคุณหลวงปู่จึงมีคุณลักษณะ ๔ ประการรวมอยู่ในสิ่งเดียว
คือเป็นทั้งวัตถุประสงค์ในการวิจัย เป็นสมมติฐานในการวิจัย เป็นกระบวนการในการวิจัย
และเป็นข้อสรุปในการวิจัยไปพร้อม ๆ กัน
โดยที่ท่านเป็นผู้นำเสนอผลการวิจัยชิ้นนี้ด้วยความหนักแน่นมาตลอดชีวิตทีเดียว
มีบทพระธรรมเทศนาบทหนึ่งซึ่งพระเดชพระคุณหลวงปู่แสดงไว้ในช่วงก่อนเข้าพรรษาของปีพุทธศักราช ๒๔๙๗ ว่าด้วย “โพชฌงคปริตร” ซึ่งหากเราพบในบททั่วไปแล้ว
โพชฌงค์ทั้ง ๗ ประการ ซึ่งประกอบด้วย สติสัมโพชฌงค์ (การไม่เผลอสติ)
ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ (การสอดส่องในธรรม) วิริยสัมโพชฌงค์ (ความอดทนพากเพียรในธรรม)
ปีติสัมโพชฌงค์ (ความยินดีในการพากเพียรในธรรม) ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์
(การซ้ำทวนในธรรม) สมาธิสัมโพชฌงค์ (ความมีสมาธิในความเพียรนั้น)
อุเบกขาสัมโพชฌงค์ (ความนิ่งสงบไม่หวั่นไหว)
จะถูกนำมาอธิบายในแง่ของการสร้างความมีวินัย
ความต่อเนื่องในการปฏิบัติหรือการทำความดีต่าง ๆ
การรู้จักทบทวนและเพิ่มพูนความดีของตนให้มากขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง
ตลอดจนการรู้จักระงับยับยั้งไม่ให้ความดีของตนไปข่มหรือกดทับผู้อื่น
หรือหากเป็นในทางวิชาการพระพุทธศาสนาแล้ว ก็อาจนำเอาชุดหลักธรรมโพชฌงค์ ๗
ประการนี้ไปกำหนดเป็นกระบวนการในการศึกษาวิจัยสมัยใหม่ก็มี
แต่ในทัศนะของพระเดชพระคุณหลวงปู่
พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) พระผู้ปราบมาร
ท่านกลับอธิบายแบบมีกระบวนการที่ชัดไปเลยว่า สติสัมโพชฌงค์หรือความไม่เผลอสตินั้น
ได้แก่
การที่เราต้องหมั่นเอาสตินิ่งอยู่ในศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์นั้นเลย
ทำจนกว่าใจจะหยุดได้ ส่วนธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ นั้น ได้แก่
การไม่กังวลต่อทั้งสิ่งดีและสิ่งชั่วที่เข้ามาในใจเลย ประคองใจไว้ให้หยุดอย่างเดียว
วิริยสัมโพชฌงค์ คือ ความเพียรกลั่นกล้ารักษาใจหยุดไว้ให้ตลอดต่อเนื่อง
ปีติสัมโพชฌงค์ คือ การทำให้ความปีติใจกับการหยุดใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ส่วนปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ก็คือ การหยุดในหยุดซ้ำลงไปเรื่อย ๆ ไม่มีถอยหลัง
ไม่คลาดเคลื่อนจนเกิดสมาธิที่หยุดนิ่งถูกส่วน
แล้วเข้าถึงที่ตั้งของใจซึ่งเป็นที่เดียวที่พระธรรมกายสถิตอยู่ตรงนั้น คือ “ศูนย์กลางกายฐานที่
๗” โดยอาศัยสมาธิสัมโพชฌงค์กับความนิ่งสนิทหรืออุเบกขาสัมโพชฌงค์เป็นตัวกำกับไว้
ฯลฯ ซึ่งหากเราค่อย ๆ
พิจารณาจากทัศนะหรือความเห็นของท่านอย่างละเอียดแล้ว เราก็ย่อมจะพบว่าข้อสรุปของท่านคือข้อสรุปที่สอดคล้องกับการปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกายดุจเดิม
ดังที่เราจะพบได้ในปฏิปทาของท่านพระธรรมเทศนาของท่านในทุก ๆ แหล่งความรู้ที่เรามี
ภาพแสดงฐานที่ตั้งของจิตทั้ง ๗ ฐาน |
คำกล่าวหรือทัศนะของพระเดชพระคุณหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)
ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายของเรานั้น จึงเป็นคำกล่าวที่สำคัญ เป็นหลักฐานที่สำคัญที่เราผ้เป็นศิษยานุศิษย์ควรนำมาศึกษาและพิจารณาให้ถี่ถ้วน
เพราะถ้อยคำของท่านทุก ๆ ครั้ง
ล้วนแสดงนัยเกี่ยวกับหลักฐานธรรมกายเสมอมาในด้านหนึ่งในฐานะพุทธศาสนิกชน
ชาวพุทธจำนวนไม่น้อยอาจไม่ทราบชัดว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระบรมครูผู้ทรงชี้ทางสว่าง คือ อมตนิพพานแก่ผู้ศรัทธานั้น
พระองค์ได้ทรงกล่าวสอนถึงหนทางดังกล่าวไว้อย่างไรในทางปฏิบัติ
แต่ในความรับรู้ของเรา พระเดชพระคุณหลวงปู่ พระผู้ปราบมาร
ได้เชื่อมความรู้ที่พระบรมศาสดาทรงฝากไว้เรียบร้อยแล้ว ท่านเป็นผู้นำคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
มาสรุปย่อให้เราปฏิบัติได้อย่างง่าย ๆ ภายใต้ คำว่า “หยุดเป็นตัวสำเร็จ”
โดยได้บอกมาตลอด
ว่าให้เราเริ่มจากการประคองใจให้ต่อเนื่องหยุดในเส้นทางจนถูกส่วน
หยุดลงไปในกลางของกลาง จนเข้าไปเชื่อมผู้รู้ภายในได้
ฯลฯ ซึ่งองค์ความรู้นี้เป็นองค์ความรู้พิเศษ
ที่ถือเป็นความโชคดีอย่างมหาศาลของเราทุก ๆ คน ที่ได้มีโอกาสเรียนรู้ความรู้นี้
แต่กระนั้นก็ตามก็ยังเป็นหน้าที่ของศิษยานุศิษย์ทุกคน
และเป็นหน้าที่ของสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) ด้วย
ที่ยังจะต้องช่วยกันพิสูจน์และยืนยันความจริงดังกล่าวนี้กันต่อไปทั้งในแง่ปริยัติ
ปฏิบัติ ปฏิเวธ ให้หนักแน่นยิ่งขึ้นไปอีกโดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน
ท้ายที่สุดนี้ ผู้เขียนขอให้ทุกท่านมีความผาสุกสวัสดี
เป็นบุคคลผู้สมบูรณ์พร้อมด้วยโพชฌงค์ทั้ง ๗ ประการ เป็นผู้มีจิตใจหนักแน่น มีสติ
มีสมาธิ มีความสงบใจที่นิ่งแน่น มีดวงปัญญาที่สว่างไสว
เป็นผู้รู้แจ้งเห็นจริงในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเช่นเดียวกับพระเดชพระคุณหลวงปู่
พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายตลอดไป
ขอให้ได้มาร่วมกันเป็นทนายแก้ต่างให้แก่พระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกาย
และขอให้สมความปรารถนาในสิ่งที่ดีงามจงทุกประการเทอญ
Cr. นวธรรม และคณะนักวิจัย DIRI
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๗๖ เดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๐
หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๒๕)
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
02:27
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: