หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๑๒)



ผู้เขียนและคณะได้เรียบเรียงบทความที่สรุปโดยย่อ เส้นทางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาตั้งแต่ยุคเริ่มต้นจนถึงฉบับนี้ ยุคพุทธศตวรรษที่ ๑๙ นับเป็นเวลา ๑ ปีพอดี ที่ได้นำเสนอสู่สายตาของเหล่าสมาชิกผู้ใจบุญทุกท่าน และเชื่อว่าคงเกิดภาพและความเข้าใจมากขึ้น ซึ่งผู้เขียนและคณะต่างปลื้มปีติที่ได้ประมวลเรื่องราวดี ๆ นี้ แล้วนำเสนอแด่ทุกท่านเป็นธรรมทาน ในวาระมหามงคลที่จะมาถึงในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ คือ วันวิสาขบูชา จึงถือเป็นการน้อมรำลึกถวายเป็นพุทธบูชาอีกด้วย

ต่อจากฉบับที่แล้วที่กล่าวว่ามีการพบศิลาจารึกที่ใช้อักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ในภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งมีเนื้อหา กล่าวถึงการฉลองพระธาตุเจดีย์ที่สำคัญ ที่มีการทำบุญบูชาพระเจดีย์ด้วยดอกไม้ธูปเทียนแล้ว ก็มีการถวายภัตตาหาร รวมทั้งการเลี้ยงอาหารแก่บุคคลทั่วไปและที่สำคัญยังระบุชัดว่า มีการฟังพระธรรมเทศนาและการปฏิบัติธรรม ซึ่งทางผู้เขียนและคณะลงความเห็นว่า หากเนื้อหาจารึกที่กล่าวว่า การปฏิบัติธรรมนั้นหมายรวมถึงการทำสมาธิภาวนาแล้ว ก็เท่ากับว่าศิลาจารึกหลักดังกล่าวนี้เป็นหลักฐานที่เก่าแก่ (พุทธศตวรรษที่ ๑๒) ซึ่งบ่งชัดให้เราได้ทราบว่ามีการทำสมาธิภาวนาแบบพระพุทธศาสนาในช่วงเวลานั้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย


จารึก เย ธัมมา... บนพระซุ้มศรีวิชัย อักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต พระพิมพ์ดินเผา พุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓
พบที่บริเวณวัดเขาศรีวิชัย อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ที่มา : http://thaibigplaza.com/img/18c/7a4/18c7a439c13d9c218bb9c8817c3555a8_0.jpg

ส่วนคาถา เย ธัมมา... ที่เขียนเป็นภาษาสันสกฤตด้วยอักษรปัลลวะนั้น หลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญ คือจารึกบนพระซุ้มศรีวิชัย ซึ่งเป็นพระพิมพ์ดินเผา มีสัณฐานทรงกลมครึ่งซีก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒ ซม. ด้านหน้ายกขอบโดยรอบ ภายในขอบเป็นรูปพระพุทธเจ้า รอบองค์พระปรากฏจารึกอักษรปัลลวะเขียนคาถา เย ธัมมา... เป็นสองวงซ้อนบรรทัดกันลักษณะอักษร อยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ พบพระพิมพ์ดังกล่าวกว่าสองพันองค์ ที่ตำบลเขาศรีวิชัย อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี


จารึก เย ธัมมา... บนพระสถูปดินเผาเมืองยะรังอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต พุทธศตวรรษที่ ๑๒
ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางฐาน ๗.๕ ซม. ยอก ๒.๔ ซม. สูง ๑๑.๗ ซม.

จากการขุดค้นเมืองโบราณยะรังในเขตจังหวัดปัตตานี พบพระสถูปจำลองและชิ้นส่วนแตกหักมากมาย ตัวอย่างจารึกสถูปจำลองดินเผาที่ค่อนข้างสมบูรณ์มีจารึกอักษรปัลลวะภาษาสันสกฤตเป็นคาถา เย ธัมมา... และได้พบพระพิมพ์ดินดิบอีกเป็นจำนวนมาก ด้านหน้าเป็นพระพุทธรูปประดับด้วยเจดีย์ทั้ง ๒ ข้าง ข้างละองค์ กลุ่มจารึกและโบราณวัตถุเหล่านี้บ่งชี้ถึงการรับนับถือพระพุทธศาสนา นิกายเจติยวาทหรือไจติกะ อันเป็นสาขาของนิกายมหาสางฆิกะ

จำลองอักษรจารึก รอบขอบฐานด้านนอก
ที่มา : http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/inscribe_image_detail.php?id=746

อักษรปัลลวะที่ปรากฏในจารึกโบราณในพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ นั้น ต่อมาได้ประดิษฐ์เป็นอักษรมอญโบราณสายหนึ่ง ซึ่งพัฒนาต่อไปเป็นอักษรพม่า อักษรธรรมของล้านนา อักษรธรรมล้านช้าง และอักษรธรรมอีสาน และอีกสายหนึ่งพัฒนาเป็นอักษรขอมโบราณ ซึ่งเป็นต้นแบบของอักษรขอมในกัมพูชา อักษรขอมในไทย และอักษรไทย


จารึกพระเจ้าสววาธิสิทธิ ๑ (วัดดอนแก้ว) อักษรมอญโบราณ ภาษามอญโบราณและบาลี
หินทรายรูปใบเสมา ทะเบียนวัตถุ ลพ.๑ พบที่จังหวัดลำพูน พุทธศตวรรษที่ ๑๗
ที่มา : http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/uploads/images/277_1.jpg

หลักฐานทางพระพุทธศาสนาที่ใช้อักษรมอญโบราณ คือ ศิลาจารึกพระเจ้าสววาธิสิทธิ ๑ (วัดดอนแก้ว) จารึกด้วยภาษามอญโบราณและภาษาบาลี พบที่จังหวัดลำพูนซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางอาณาจักรหริภุญชัยมาก่อน เนื้อหาในจารึกกล่าวถึงพระเจ้าสววาธิสิทธิกษัตริย์หริภุญชัย ทรงสถาปนาวัดเชตวันเมื่อพระชนมายุได้ ๒๖ พรรษา และเมื่อพระชนมายุได้ ๓๑ พรรษา โปรดเกล้าฯ ให้สร้างกุฏิและเสนาสนะแด่พระภิกษุสงฆ์ อีกทั้งให้จารพระไตรปิฎกไว้ และกล่าวถึงการสร้างพระเจดีย์โดยพระเจ้าสววาธิสิทธิ พระชายา ๒ พระองค์พระบรมวงศานุวงศ์ และพระโอรส ซึ่งพระเจดีย์ที่สร้างมีจำนวน ๓ องค์ ตั้งอยู่ด้านหน้าวัดเชตวัน เรียงตามแนวจากทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตก เมื่อพระชนมายุได้ ๓๒ พรรษา เสด็จออกผนวชพร้อมพระราชโอรส ๒ พระองค์ โดยมีพระมหาเถระราชคุรุเป็นประธานในการผนวช

จารึกหลักนี้แสดงว่า อาณาจักรหริภุญชัยนับถือปฏิบัติตามคติพระพุทธศาสนาเถรวาทแบบเดียวกับที่นับถือปฏิบัติกันในสังคมชาวมอญในพม่าและในพุกามสมัยพระเจ้าอโนรธาช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ซึ่งมีคตินิยมที่พระมหากษัตริย์จะเสด็จออกผนวชชั่วคราว


คัมภีร์ใบลาน ธัมมกาย อักษรธรรมล้านนา ภาษาไทยและบาลี

ในพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เป็นต้นมา สังคมทางภาคเหนือของไทยได้รักษาพระธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาไว้ในลักษณะคัมภีร์ใบลานที่จารด้วยอักษรธรรมล้านนา ซึ่งเก็บไว้ในอารามต่าง ๆ ทั่วทุกจังหวัด อย่างไรก็ตามวิทยาการการพิมพ์สมัยใหม่ได้เข้ามาแทนที่ทำให้คัมภีร์ใบลานเสื่อมความนิยม ส่วนต้นฉบับก็ถูกลืมเลือนและเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา จึงควรแก่การสงวนไว้เพื่อการศึกษาความคิดและรักษาคลังปัญญาของบรรพชนอีกทางหนึ่งต่อไป


จารึกด่านประคำ อักษรขอมโบราณ ภาษาสันสกฤต สร้างโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗
กล่าวสรรเสริญพระพุทธเจ้าว่าทรงประกอบด้วยพระธรรมกาย พระสัมโภคกาย
และพระนิรมารกาย พุทธศตวรรษที่ ๑๘ พบที่จังหวัดบุรีรัมย์
ภาพโดย ชะเอม แก้วคล้าย

สำหรับอักษรขอมโบราณซึ่งพัฒนามาจากอักษรปัลลวะนั้น หลักฐานโบราณคดีทางพระพุทธศาสนาได้แก่ ศิลาจารึกสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ทรงเป็นกษัตริย์พุทธมามกะผู้ทรงเดชานุภาพของกัมพูชา ศิลาจารึกด่านประคำพบที่จังหวัดบุรีรัมย์ สร้างโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ เนื้อความเริ่มต้นด้วยการสรรเสริญพระพุทธเจ้าผู้ประกอบไปด้วยพระธรรมกาย พระสัมโภคกายและพระนิรมานกาย จากนั้นเป็นการกล่าวถึงพระราชภารกิจของพระองค์ในการสร้างพระพุทธรูปไวโรจนชินเจ้า สร้างโรงพยาบาล (อโรคยศาลา) และจัดเจ้าหน้าที่เพื่อทำหน้าที่ประจำในโรงพยาบาล และกล่าวถึงรายการสิ่งของที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ พระราชทานไว้ประจำโรงพยาบาล จบลงด้วยการถวายพระพรแด่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗

นักโบราณคดีได้พบศิลาจารึกที่มีเนื้อหาคล้ายคลึงจนเกือบจะเหมือนกัน เช่น ศิลาจารึกด่านประคำอีกหลายจารึก ในประเทศไทยพบจารึกเมืองพิมาย (นม.๑๗) จารึกปราสาท (สร.๔) จารึกตาเมียนโตจ (สร.๑) จารึกสุรินทร์ ๒ (สร.๖) และยังพบจารึกของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ เช่นนี้อีกในกัมพูชาและลาว หลักฐานโบราณคดีเหล่านี้บ่งชี้ถึงพระเดชานุภาพในการเผยแผ่พระพุทธศาสนามหายานไปทั่วดินแดนต่าง ๆ ในกัมพูชา และภาคกลาง อีสาน ตะวันออก ตะวันตกของไทยรวมทั้งลาวบางส่วน


คัมภีร์ใบลานธัมมกายาทิ ฉบับเทพชุมนุม (รัชกาลที่ ๓) อักษรขอม - ไทย ภาษาบาลี

ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๙ เป็นต้นมาดินแดนแถบภาคกลางของไทยได้เก็บรักษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาไว้ในรูปคัมภีร์อักษรขอม-ไทย ที่ปรับปรุงขึ้นให้เหมาะสม กับการเขียนภาษาไทย ส่วนในกัมพูชาใช้อักษรเขมร จนกระทั่งวิทยาการตะวันตกนำระบบการพิมพ์ด้วยเครื่องจักรเข้ามา ความรู้และประสบการณ์ในด้านพระพุทธศาสนาและวิทยาการสาขาต่าง ๆ ของบรรพชนที่สะสมมาเป็นศตวรรษก็ค่อย ๆ เลือนหายไปจากสังคมเราจึงควรอนุรักษ์นำกลับมาศึกษาให้ได้ประโยชน์ต่าง ๆ โดยเฉพาะความเข้าใจในคำสอนดั้งเดิมพระพุทธศาสนาให้เด่นชัดขึ้น ดังนั้นผู้เขียนและคณะนักวิจัยสถาบัน DIRI จึงขอปวารณาอุทิศตนทำหน้าที่ดังกล่าวข้างต้นอย่างเต็มกำลัง เพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน น้อมถวายเป็นพุทธบูชาสืบไป
---------------------------------------

วศิน อินทสระ. (๒๕๓๐). อธิบายมิลินทปัญหา, กรุงเทพฯ : สภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย.

วัฒนไชย. (๒๕๓๖). มิลินทปัญหา : ธัมมวิโมกข์ ฉบับรวมเล่ม, อุทัยธานี : ม.ป.พ.

หม่องทิน อ่อง. เพ็ชรี สุมิตร แปล (๒๕๑๙). ประวัติศาสตร์พม่า. กรุงเทพฯ : โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย.

เอลซา ไชนุดิน. เพ็ชรี สุมิตร แปล (๒๕๕๒). ประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย, กรุงเทพฯ : มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย.

Chaihara, Daigoro. (1996). Hindu-Buddhist Architecture in Southeast Asia. Leiden, New York : K?ln:Brill (p.84).

Hermann, Kulke; Rothermund D (2001). A History of India. Routledge. ISBN 0-415-32920-5.

Sen, Sailendra Nath. (1999). Ancient Indian History and Civilization. New Age International, p.445. ISBN 9788122411980.

Sri Chamanlal. (1960). Hindu America. Bharatiya Vidya Bhava.
----------------------------------------

Cr. พระสุธรรมญาณวิเทศ วิ. (สุธรรม สุธมฺโม) และคณะนักวิจัย DIRI
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๖๓ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๙
หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๑๒) หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๑๒) Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 00:00 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.