ผู้ใด...ได้ชื่อว่าคู่ควรกับมรดกธรรมที่พระพุทธองค์ประทานไว้
ผู้ใด...ได้ชื่อว่าคู่ควรกับมรดกธรรมที่พระพุทธองค์ประทานไว้
✦✦✦✦✦✦✦✦✦
บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้นับแต่อดีตอันไกลโพ้น
ยทา หเว ปาตุภวนฺติ ธมฺมา อาตาปิโน
ฌายโต พฺราหฺมณสฺส
วิธูปยํ ติฏฺฐติ มารเสนํ สูโรว
โอภาสยมนฺตลิกฺขํ
เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่
พราหมณ์นั้นกําจัดมารและเสนาเสียได้
ดุจดังดวงอาทิตย์อุทัยขึ้นกําจัดความมืด
ทําอากาศให้สว่างฉะนั้น
ด้วยมโนปณิธานของพระบรมโพธิสัตว์กอปรกับการบําเพ็ญบารมีอย่างยิ่งยวด ในที่สุดพระบรมโพธิสัตว์ได้บรรลุมโนปณิธานที่ได้ตั้งใจไว้ตลอด ๔ อสงไขยแสนมหากัป
นับแต่ภายหลังจากได้รับพุทธพยากรณ์จากพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า
ก้าวข้ามบ่วงทั้งปวงทั้งที่เป็นมนุษย์และของทิพย์ บรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็น “พระสัมมาสัมพุทธเจ้า”
สมความปรารถนาที่ได้ตั้งไว้ในคืนวันเพ็ญเดือน ๖ วิสาขปุณณมี
แม้จะกล่าวว่าการบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณนี้ เป็นการบรรลุมโนปณิธานของพระบรมโพธิสัตว์ก็ตาม แต่หากจะกล่าวให้ชัดเจนแล้ว
อาจกล่าวได้ว่าบรรลุมโนปณิธานเพียง “กึ่งหนึ่ง” ด้วยเหตุที่ว่าบารมีที่ทรงบําเพ็ญมาตลอดกาลยาวนานนี้ หาได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของพระองค์เองเท่านั้น แต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของมหาชน
ในการนี้พระพุทธองค์ทรงใช้เวลาตลอด
๗ สัปดาห์ เพื่อทบทวนสิ่งที่ทรงค้นพบ ด้วยการ “เสวยวิมุตติสุข” เฉกเช่นเดียวกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุก
ๆ พระองค์ในกาลก่อน
แต่ผู้ใดหนอจะเป็นพยานในการตรัสรู้ธรรมอันลุ่มลึกคัมภีรภาพของพระองค์ได้เล่า
ในกาลนั้นพระพุทธองค์ทรงระลึกถึง “อาฬารดาบส กาลามโคตร” แต่ในขณะเดียวกัน
พระพุทธองค์ได้ทรงทราบถึงการทํากาละไปเมื่อ ๗ วันก่อนของอาฬารดาบสด้วยญาณทัสนะ
ครั้นทรงระลึกถึง “อุทกดาบสรามบุตร” จึงทรงทราบถึงการทํากาละไปแล้วเมื่อวันก่อน
เมื่อเป็นเช่นนี้พระพุทธองค์จึงทรงระลึกนึกถึง “ปัญจวัคคีย์”
มีท่านโกณฑัญญะ เป็นต้น และเสด็จจากริมฝั่ง “แม่น้ำเนรัญชรา” ไปยัง
“ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน”
อนุตฺตรํ ธมฺมจฺกกํ
ปวตฺติตํ...พระพุทธองค์ทรงหมุนวงล้อแห่งธรรม
ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวันในวันเพ็ญเดือน ๘
อาสาฬหปุณณมี การพบกันของพระพุทธองค์และ ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ นี้มิใช่ครั้งแรก
หากเป็นการพบกันหลังจากเกิดความขัดแยังในเรื่อง “วิธีการปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงที่สุดแห่งทุกข์”
กล่าวคือ ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ เห็นว่า “อัตตกิลมถานุโยค” หรือ
“การบําเพ็ญทุกรกิริยา” นี้
เป็นหนทางเพื่อให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ แต่พระพุทธองค์หาได้ทรงเห็นเช่นนั้นไม่
ดังนั้นบรรยากาศการพบกันในวันนั้นจึงไม่สู้ดีนัก
แต่ด้วยบารมีธรรมและพระมหากรุณาธิคุณที่พระพุทธองค์ทรงมี ทําให้ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ มีใจยินดีในการฟังธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงในครั้งนั้น
จนในท้ายที่สุด “ธรรมจักษุ”
อันปราศจากธุลีและมลทินทั้งหลาย ได้บังเกิดแก่ท่านโกณฑัญญะว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา...
สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา” บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน
เป็นพยานในการตรัสรู้ธรรมของพระพุทธองค์ รวมถึงการบรรลุธรรมของ “พรหม
๑๘ โกฏิ” ในครั้งนั้น ดังที่ปรากฏใน “สารัตถปกาสินี”
อรรถกถาสังยุตตนิกาย และ “ชาดกมาลา”
เมื่อมาถึงตรงนี้ อาจกล่าวได้ว่า “เป็นจุดเริ่มต้น”
ของการบรรลุมโนปณิธาน “อีกกึ่งหนึ่ง” ของพระพุทธองค์ที่ทรงตั้งไว้ตลอดกาลยาวนาน
คือ การนําธรรมะที่ทรงไป “เห็นและรู้” เฉกเช่นเดียวกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุก
ๆ พระองค์ มาแนะนําสั่งสอนแก่เวไนยสัตว์ทั้งหลายให้เห็นและรู้ตาม
เอตมฺภควตา พาราณสิยํ อิสิปตเน มิคทาเย
อนุตฺตรํ ธมฺมจกฺกํ ปวตฺติตํ
อปฺปฏิวตฺติยํ
สมเณน วา พฺราหฺมเณน วา เทเวน วา มาเรน
วา พฺรหฺมุนา วา เกนจิ วา โลกสฺมึ
นั่นพระธรรมจักรอันยอดเยี่ยม
พระผู้มีพระภาคทรงหมุนแล้ว
ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน กรุงพาราณสี
อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม
หรือใคร ๆ ในโลก ให้หมุนกลับไม่ได้
สาระสําคัญแห่ง “ธัมมจักกัปปวัตนสูตร”
ในวันอาสาฬหบูชาเมื่อ ๒,๖๐๖ ปีก่อน
เมื่อกล่าวถึงสาระสําคัญของพระปฐมเทศนา “ธัมมจักกัปปวัตนสูตร” ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕
ที่ปรากฏในพระวินัยปิฎกและพระสุตตันตปิฎกบาลี มีโครงสร้างและสาระสำคัญดังนี้
๑. การเว้นห่างจาก “หนทางสุดโต่ง
๒ ทาง” คือ “กามสุขัลลิกานุโยค” (การประกอบตนให้อยู่ในความสุขด้วยกาม)
และ “อัตตกิลมถานุโยค” (การบําเพ็ญทุกรกิริยา) โดยหันมาปฏิบัติตามหนทางสายกลางที่เรียกว่า “มัชฌิมาปฏิปทา”
๒. กล่าวถึง “อริยสัจ
๔” ใน ๒ ลักษณะ ได้แก่
๒.๑
“คําจํากัดความ” ของอริยสัจ
๔ กล่าวคือ “ทุกขอริยสัจ” (ทุกข์)
คือ “ความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕” (อุปาทานขันธ์ ๕)
“ทุกขสมุทัยอริยสัจ” (สมุทัย)
คือ “ตัณหา ๓” (กามตัณหา
ภวตัณหา วิภวตัณหา) “ทุกขนิโรธอริยสัจ” (นิโรธ)
คือ “ความดับแห่งทุกข์” และ
“ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา” (มรรค)
คือ “อริยมรรคมีองค์ ๘” มี “สัมมาทิฐิ”
เป็นต้น และ “สัมมาสมาธิ” เป็นที่สุด
๒.๒
“รอบ ๓ อาการ ๑๒” ในอริยสัจ
๔ กล่าวคือ
๑. ทุกข์ นี้คือ...ทุกข์ ทุกข์...ควรกําหนดรู้ ทุกข์...ได้กําหนดรู้แล้ว
๒. สมุทัย นี้คือ...สมุทัย สมุทัย...ควรละ สมุทัย...ได้ละแล้ว
๓. นิโรธ นี้คือ...นิโรธ นิโรธ...ควรทําให้แจ้ง นิโรธ...ได้ทําให้แจ้งแล้ว
๔. มรรค นี้คือ...มรรค มรรค...ควรทําให้เจริญ มรรค...ได้ทําให้เจริญแล้ว
ยโต จ โข เม ภิกฺขเว อิเมสุ จตูสุ
อริยสจฺเจสุ
เอวนฺติปริวฏฺฏํ ทฺวาทสาการํ ยถาภูตํ
ญาณทสฺสน สุวิสุทฺธํ อโหสิ
อถาหํ ภิกฺขเว สเทวเก โลเก สมารเก
สพฺรหฺมเก สสฺสมณพฺราหฺมณิยา ปชาย สเทวมนุสฺสาย
อนุตฺตรํ สมฺมาสมฺโพธึ อภิสมฺพุทฺโธ
ปจฺจญาสึ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
เมื่อใดความรู้เห็นตามเป็นจริงของเรา
ในอริยสัจ ๔ เหล่านี้ รอบ ๓ อาการ ๑๒
อย่างนี้หมดจดดีแล้ว
เมื่อนั้นเราจึงยืนยันได้ว่า
เป็นผู้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยมในโลก
กับทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก
ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์
“ธัมมจักกัปปวัตนสูตร” มรดกธรรมที่สืบทอดมาถึงในปัจจุบัน
“ธัมมจักกัปปวัตนสูตร” นับเป็นพระสูตรที่สาคัญต่อพระพุทธศาสนาและพุทธศาสนิกชน
เพราะแม้จะเกิดความเห็นที่ไม่ตรงกันในการสังคายนาพระธรรมวินัย จนเกิดการแบ่งแยกออกเป็นนิกายต่าง
ๆ ถึง ๑๘-๒๐ นิกายก็ตาม แต่ “ธัมมจักกัปปวัตนสูตร” นี้ยังคงสืบทอดต่อกันมาในคัมภีร์ของนิกายต่าง
ๆ จนถึงปัจจุบัน โดยนักวิชาการสามารถรวบรวมได้กว่า ๒๓ คัมภีร์
ธัมมจักกัปปวัตนสูตร ภาษาบาลี (สังยุตตนิกาย) |
ธัมมจักกัปปวัตนสูตร ภาษาสันสกฤต (คัมภีร์มหาวัสดุ) |
ธัมมจักกัปปวัตนสูตร ภาษาจีนโบราณ (สังยุกตอาคม 雜阿含經)
|
ธัมมจักกัปปวัตนสูตร ภาษาทิเบต (Chos-kyi-hฺkhor-lo rab-tu bskor-bahฺi mdo)
ผู้ที่คู่ควรกับมรดรธรรมที่พระพุทธองค์ประทานไว้
"ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร"
นี้นับว่าเป็นพระสูตรสำคัญที่รู้จักกันเป็นอย่างดี ในฐานะของพระปฐมเทศนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักธรรมในเรื่อง
"อริยสัจ ๔" และ "อริยมรรคมีองค์ ๘" ที่ปรากฎอยู่พระสูตรนี้
เป็นหลักคำสอนที่มีความสาคัญและสมบูรณ์อยู่ในตัว สำหรับหลักธรรมอื่น ๆ นั้นถือเป็นบทขยายของ “อริยสัจ
๔” และ “อริยมรรคมีองค์ ๘” ทั้งสิ้นประดุจพระราชบัญญัติหรือประมวลกฎหมายที่เป็นบทขยายของกฎหมายรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น
ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า
"ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร" นี้
เป็นมรดรธรรมอันล้ำค่าที่พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญบารมีมาตลอด ๔ อสงไขยแสนมหากัป
นับเนื่องแต่ได้รับพุทธพยากรณ์จากพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า และภายหลังจากตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองแล้ว
มิได้ทรงเก็บงําอําพรางหรือปกปิดไว้แม้แต่น้อย หากแต่ทรงนํามาแสดงให้แจ่มแจ้ง
งดงามทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลาย ผู้ใดมี "ความเพียร"
ประกอบด้วย "ความไม่ประมาท"
ผู้นั้นย่อมคู่ควรต่อมรดรธรรมอันล้ำค่าที่พระพุทธองค์ประทานไว้
ในวันอาสาฬหบูชานี้
จึงควรที่พุทธศาสนิกชนจะหวนระลึกถึงปฏิปทาของพระพุทธองค์
พึงให้ความสำคัญในการศึกษาทั้งภาคปริยัติและลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง
เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการศึกษาอย่างแท้จริง หาใช่เพื่อนำมายกตนข่มทผู้อื่นแต่อย่างใด
มิฉะนั้นแล้วปริยัตินี้คงไม่ต่างอะไรกับงูพิษ ซึ่งในที่สุดจะหวนกลับมากัดผู้นั้น
และไม่อาจบรรลุมรรผลนิพพานดังมโนปณิธานที่พระพุทธองค์ทรงตั้งไว้อย่างน่าเสียดาย
อปฺปฏิวาณํ ปทหิสฺสาม กามํ
ตโจ นหารุ จ อฏฺฐิ จ อวสิสฺสตุ
สรีเร อุปสุสฺสตุ มํสโลหิตํ ยนฺตํ
ปุริสตฺถาเมน ปุริสวิริเยน
ปุริสปรกฺกเมน ปตฺตพฺพํ น ตํ อปาปุณิตฺวา
วิริยสฺส สณฺฐานํ ภวิสฺสติ
เราจักเริ่มตั้งความเพียรอันไม่ย่อหย่อนว่า
จะเหลืออยู่แต่หนัง เอ็น
และกระดูกก็ตามที เนื้อและเลือดในสรีระจงเหือดแห้งไปเถิด
หากยังไม่บรรลุผลที่บุคคลพึงบรรลุได้
ด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ
ด้วยความบากบั่นของบุรุษแล้ว
จักไม่หยุดความเพียรเสีย
Cr. พระมหาพงศ์ศักดิ์ ฐานิโย, ดร.
วารสารอยู่ในบุญฉบับที่ ๑๘๗ เดือนกรกฎาคม ๒๕๖๑
ผู้ใด...ได้ชื่อว่าคู่ควรกับมรดกธรรมที่พระพุทธองค์ประทานไว้
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
00:21
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: