การศึกษาธรรมจะเกิดประโยชน์ได้อย่างไร ?
คำถาม : การศึกษาธรรมะจะเกิดประโยชน์ได้อย่างไร ?
หลวงพ่อทัตตชีโว : การศึกษาธรรมจะเป็นประโยชน์ต่อชีวิตอย่างแท้จริงได้ ต้องเริ่มตั้งแต่เราตั้งเป้าหมายการศึกษาได้ถูกต้องตั้งแต่ต้น การศึกษาธรรมไม่ใช่เรียนเพื่อรู้เท่านั้น แต่เรียนธรรมเพื่อรู้แล้วนำความรู้นั้นมาสู่ภาคปฏิบัติเพื่อการเข้าถึงธรรม ธรรมหรือคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นความรู้เพื่อการเข้าถึงธรรม เมื่อศึกษาธรรมแล้วต้องนำมาฝึกตัวให้ดี นำความรู้นั้นมาแก้ไขนิสัยตัวเอง บ่มเพาะนิสัยดี ๆ ให้มีจิตใจดี เมื่อปฏิบัติธรรมก็จะเป็นอุปการคุณต่อการบรรลุธรรมภายในเข้าถึงที่พึ่งที่แท้จริงซึ่งมีอยู่ภายในตน
ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คำสอนหรือโอวาทที่ทรงสอนแก่ปุถุชนก็เพื่อให้รู้จักทำชีวิตให้ดีขึ้น ให้ได้รับประโยชน์ในชีวิตปัจจุบัน ชีวิตภายหน้า และถางหนทางสู่พระนิพพาน ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุด โดยเริ่มที่การแก้ไขนิสัยและเรียนรู้วิธีพัฒนาตนเอง ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกเรื่องโลกและชีวิต คำพูด การกระทำ และการปฏิบัติตนให้ถูกต้องและส่งผลเป็นคุณต่อชีวิตตน นิสัยที่แก้ดีแล้วก็จะกลายเป็นคุณธรรมประจำตัว
ความเจริญของการฝึกปฏิบัติในศาสนานี้ลุ่มลึกลงไปเริ่มต้นตั้งแต่ระดับศีล สมาธิ และปัญญาไปตามลำดับ
ในระดับต้น เป็นเรื่องศีลและมารยาท โดยเฉพาะมารยาทในการอยู่ร่วมกัน สิ่งเหล่านี้ ถ้าทำดีไม่พอ อยู่ที่ไหนก็รำคาญเพื่อน หรืออยู่ที่ไหนเพื่อนก็รำคาญเรา ซึ่งบอกได้ว่าเรายังฝึกตัวเองไม่พอ เพราะฉะนั้นต้องปรับตัวกันให้ดี ปรับตั้งแต่นิสัยเรื่องการกินการอยู่ นิสัยการนุ่งการห่ม นิสัยรับผิดชอบช่วยกันรักษาความสะอาด นิสัยช่วยกันดูแลความเป็นระเบียบในที่ที่อยู่ร่วมกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นของหยาบ ๆ ที่ตาของมนุษย์เราเห็นได้
ถ้าแก้ไขของหยาบที่เห็นได้ด้วยตา เรายังทำให้ดีไม่ได้ จะหวังไปแก้ไขของละเอียดย่อมไม่ได้ เพราะในลำดับถัดไปคือเรื่องการฝึกสมาธินั้น ก็มีเรื่องที่ต้องแก้ไขขจัดอุปสรรคของการฝึกใจคือนิวรณ์ ๕ ซึ่งเป็นสิ่งที่ละเอียดกว่า
แต่ถ้าพยายามแก้นิสัยหยาบ ๆ ในระดับศีลธรรมในระดับมารยาทได้แล้ว การจะไปแก้นิวรณ์ ๕ ซึ่งเป็นอุปสรรคของการทำสมาธิก็ย่อมเป็นไปได้ ดังนั้นถ้าจะให้การฝึกสมาธิก้าวหน้านิสัยของเราต้องพัฒนาไปด้วย ถ้านิสัยมีแต่เดิมอย่างไรก็อย่างนั้น ไม่ได้พยายามแก้นิสัยต่าง ๆ ให้ดีขึ้น แม้จะเรียนรู้ธรรมได้มากเท่าใด ก็ยากที่การฝึกสมาธิจะก้าวหน้า
การนำธรรมมาแก้ไขนิสัยของตัวเองในชีวิตประจำวันและปฏิบัติธรรมให้มีความก้าวหน้าด้วยเป็นเรื่องที่สามารถทำไปพร้อมกันได้ เป็นเรื่องการฝึกใจควบคู่ไปกับการทำการงานต่าง ๆ
นิสัยไม่ดีที่เกิดขึ้นจากการทำงาน เช่น ความเป็นคนเจ้าโทสะ ความมักง่าย โดยเฉพาะเมื่อต้องทำงานหนัก ๆ เร่ง ๆ แข่งกับเศรษฐกิจบ้าง แข่งกับกาลเวลาบ้าง ยิ่งใครที่ต้องรับผิดชอบสูง แบกรับภาระของหมู่คณะไว้มาก งานก็มากทำไม่ค่อยทัน และพาให้อารมณ์เสียอีก บางครั้งการเร่งงานยังเพาะโทสะ และเพาะการกระทบกระทั่งกันเองเข้าไปอีกด้วย ผู้ที่เสียประโยชน์คือตัวเราเองที่เพาะนิสัยเจ้าโทสะ หรือบางทีก็เลยทำงานลวก ๆ ขึ้นมาด้วย ถ้าปล่อยเอาไว้ไม่ได้แก้ไขตั้งแต่ต้น ปล่อยให้ทำอย่างนี้จนติดเป็นนิสัยแล้วไปตามแก้ทีหลัง จะแก้ไขยาก
ตรงกันข้ามถ้าเรารับภาระใดแล้ว ก็ทำงานนั้นด้วยกำลังและสติปัญญาเต็มที่ และระวังคุมอารมณ์ รักษาใจให้แจ่มใส ระวังอย่าให้เกิดการกระทบกระทั่ง อย่าให้งานที่ทำหยาบลงถ้าเราฝึกฝนตนเอง ยิ่งงานเร่งงานหนัก ยิ่งต้องละเอียดลออ ยิ่งรักษาใจให้อารมณ์มั่นคง งานก็ประสบผลดี สมาธิก็ก้าวหน้า บุญบารมีก็เพิ่มพูน อย่างนี้จึงจะสมควรกับที่เป็นผู้ศึกษาธรรมและนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง
ผู้ที่ศึกษาธรรมและปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมนั้น บุคลิกลักษณะ อาการกิริยามารยาทและการปฏิบัติตัวของเขา จะเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาของผู้ที่พบเห็น น่าเข้าใกล้ เป็นผู้ควรแก่การยอมรับนับถือ น่าประพฤติปฏิบัติตาม
การปฎิบัติตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยการศึกษาธรรมและนำมาฝึกฝนอบรมตนเอง แก้ไขตนเอง นำความรู้ที่ได้มาแก้ไขนิสัยให้ดีขึ้น และปฏิบัติธรรมฝึกสมาธิจนใจหยุดใจนิ่ง ได้พบความสุขที่แท้จริง บรรลุธรรมภายในตน จึงจะนับได้ว่าได้ทำประโยชน์ที่แท้จริงให้เกิดขึ้นแก่ตนจากการศึกษาธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เมื่อ ๒,๐๐๐ กว่าปีที่แล้ว พระเจ้าอโศกมหาราชทรงส่งพระจากประเทศอินเดียมาเผยแผ่พระพุทธศาสนายังดินแดนสุวรรณภูมิ หลังจากที่ชาวสุวรรณภูมิเข้าใจพระพุทธศาสนาดีแล้ว ก็มีศรัทธาบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาก็สืบทอดต่อไปในดินแดนสุวรรณภูมิโดยชาวสุวรรณภูมินั้นเอง
แม้ในดินแดนแผ่นดินจีนก็เช่นเดียวกัน เมื่อพระท่านเดินทางจากอินเดียมาเผยแผ่ในแผ่นดินจีน จนกระทั่งชาวจีนเข้าใจพระพุทธศาสนา ท่านที่มีศรัทธาแก่กล้าก็ออกบวชเป็นพระภิกษุปฏิบัติธรรม สืบทอดพระพุทธศาสนาในแผ่นดินจีนสืบต่อไป
ตามที่ยกตัวอย่างมาดังกล่าวก็เพื่อให้เห็นภาพว่า การเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ทำได้นั้น ก็เพราะมีผู้ที่ศึกษาธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วลงมือประพฤติปฏิบัติธรรมจนได้ผลด้วยตัวเอง และมีรุ่นหลังปฏิบัติตามเป็นลำดับ ๆ มา
ผู้ใดก็ตามที่กำลังศึกษาเรียนรู้ธรรมอยู่ ขอฝากให้เราถามตัวเองทุกวันว่า ธรรมที่เราเรียนไปนั้น เราได้นำมาปรับปรุงแก้ไขนิสัยอะไรของตัวเองบ้าง ก้าวหน้าได้แค่ไหน พิจารณาตัวเองเพื่อแก้ไขปรับปรุงตัวเองไปทุกวัน ๆ ความเจริญก้าวหน้าในชีวิต ในธรรม ก็จะบังเกิดขึ้นแก่ตนเองแน่นอน และยังจะเป็นแรงบันดาลใจเป็นผู้นำให้ผู้อื่นได้มาประพฤติปฏิบัติเพื่อเจริญในธรรมตามมาอีก เมื่อเป็นเช่นนี้การแผ่ขยายธรรมเพื่อให้ธรรมคุ้มครองโลกและคุ้มครองสรรพชีวิตให้ล่วงทุกข์ประสพสุขก็จะเป็นจริงได้
Cr. หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๘๖ เดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๑
หลวงพ่อทัตตชีโว : การศึกษาธรรมจะเป็นประโยชน์ต่อชีวิตอย่างแท้จริงได้ ต้องเริ่มตั้งแต่เราตั้งเป้าหมายการศึกษาได้ถูกต้องตั้งแต่ต้น การศึกษาธรรมไม่ใช่เรียนเพื่อรู้เท่านั้น แต่เรียนธรรมเพื่อรู้แล้วนำความรู้นั้นมาสู่ภาคปฏิบัติเพื่อการเข้าถึงธรรม ธรรมหรือคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นความรู้เพื่อการเข้าถึงธรรม เมื่อศึกษาธรรมแล้วต้องนำมาฝึกตัวให้ดี นำความรู้นั้นมาแก้ไขนิสัยตัวเอง บ่มเพาะนิสัยดี ๆ ให้มีจิตใจดี เมื่อปฏิบัติธรรมก็จะเป็นอุปการคุณต่อการบรรลุธรรมภายในเข้าถึงที่พึ่งที่แท้จริงซึ่งมีอยู่ภายในตน
ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คำสอนหรือโอวาทที่ทรงสอนแก่ปุถุชนก็เพื่อให้รู้จักทำชีวิตให้ดีขึ้น ให้ได้รับประโยชน์ในชีวิตปัจจุบัน ชีวิตภายหน้า และถางหนทางสู่พระนิพพาน ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุด โดยเริ่มที่การแก้ไขนิสัยและเรียนรู้วิธีพัฒนาตนเอง ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกเรื่องโลกและชีวิต คำพูด การกระทำ และการปฏิบัติตนให้ถูกต้องและส่งผลเป็นคุณต่อชีวิตตน นิสัยที่แก้ดีแล้วก็จะกลายเป็นคุณธรรมประจำตัว
ความเจริญของการฝึกปฏิบัติในศาสนานี้ลุ่มลึกลงไปเริ่มต้นตั้งแต่ระดับศีล สมาธิ และปัญญาไปตามลำดับ
ในระดับต้น เป็นเรื่องศีลและมารยาท โดยเฉพาะมารยาทในการอยู่ร่วมกัน สิ่งเหล่านี้ ถ้าทำดีไม่พอ อยู่ที่ไหนก็รำคาญเพื่อน หรืออยู่ที่ไหนเพื่อนก็รำคาญเรา ซึ่งบอกได้ว่าเรายังฝึกตัวเองไม่พอ เพราะฉะนั้นต้องปรับตัวกันให้ดี ปรับตั้งแต่นิสัยเรื่องการกินการอยู่ นิสัยการนุ่งการห่ม นิสัยรับผิดชอบช่วยกันรักษาความสะอาด นิสัยช่วยกันดูแลความเป็นระเบียบในที่ที่อยู่ร่วมกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นของหยาบ ๆ ที่ตาของมนุษย์เราเห็นได้
ถ้าแก้ไขของหยาบที่เห็นได้ด้วยตา เรายังทำให้ดีไม่ได้ จะหวังไปแก้ไขของละเอียดย่อมไม่ได้ เพราะในลำดับถัดไปคือเรื่องการฝึกสมาธินั้น ก็มีเรื่องที่ต้องแก้ไขขจัดอุปสรรคของการฝึกใจคือนิวรณ์ ๕ ซึ่งเป็นสิ่งที่ละเอียดกว่า
แต่ถ้าพยายามแก้นิสัยหยาบ ๆ ในระดับศีลธรรมในระดับมารยาทได้แล้ว การจะไปแก้นิวรณ์ ๕ ซึ่งเป็นอุปสรรคของการทำสมาธิก็ย่อมเป็นไปได้ ดังนั้นถ้าจะให้การฝึกสมาธิก้าวหน้านิสัยของเราต้องพัฒนาไปด้วย ถ้านิสัยมีแต่เดิมอย่างไรก็อย่างนั้น ไม่ได้พยายามแก้นิสัยต่าง ๆ ให้ดีขึ้น แม้จะเรียนรู้ธรรมได้มากเท่าใด ก็ยากที่การฝึกสมาธิจะก้าวหน้า
การนำธรรมมาแก้ไขนิสัยของตัวเองในชีวิตประจำวันและปฏิบัติธรรมให้มีความก้าวหน้าด้วยเป็นเรื่องที่สามารถทำไปพร้อมกันได้ เป็นเรื่องการฝึกใจควบคู่ไปกับการทำการงานต่าง ๆ
นิสัยไม่ดีที่เกิดขึ้นจากการทำงาน เช่น ความเป็นคนเจ้าโทสะ ความมักง่าย โดยเฉพาะเมื่อต้องทำงานหนัก ๆ เร่ง ๆ แข่งกับเศรษฐกิจบ้าง แข่งกับกาลเวลาบ้าง ยิ่งใครที่ต้องรับผิดชอบสูง แบกรับภาระของหมู่คณะไว้มาก งานก็มากทำไม่ค่อยทัน และพาให้อารมณ์เสียอีก บางครั้งการเร่งงานยังเพาะโทสะ และเพาะการกระทบกระทั่งกันเองเข้าไปอีกด้วย ผู้ที่เสียประโยชน์คือตัวเราเองที่เพาะนิสัยเจ้าโทสะ หรือบางทีก็เลยทำงานลวก ๆ ขึ้นมาด้วย ถ้าปล่อยเอาไว้ไม่ได้แก้ไขตั้งแต่ต้น ปล่อยให้ทำอย่างนี้จนติดเป็นนิสัยแล้วไปตามแก้ทีหลัง จะแก้ไขยาก
ตรงกันข้ามถ้าเรารับภาระใดแล้ว ก็ทำงานนั้นด้วยกำลังและสติปัญญาเต็มที่ และระวังคุมอารมณ์ รักษาใจให้แจ่มใส ระวังอย่าให้เกิดการกระทบกระทั่ง อย่าให้งานที่ทำหยาบลงถ้าเราฝึกฝนตนเอง ยิ่งงานเร่งงานหนัก ยิ่งต้องละเอียดลออ ยิ่งรักษาใจให้อารมณ์มั่นคง งานก็ประสบผลดี สมาธิก็ก้าวหน้า บุญบารมีก็เพิ่มพูน อย่างนี้จึงจะสมควรกับที่เป็นผู้ศึกษาธรรมและนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง
ผู้ที่ศึกษาธรรมและปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมนั้น บุคลิกลักษณะ อาการกิริยามารยาทและการปฏิบัติตัวของเขา จะเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาของผู้ที่พบเห็น น่าเข้าใกล้ เป็นผู้ควรแก่การยอมรับนับถือ น่าประพฤติปฏิบัติตาม
การปฎิบัติตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยการศึกษาธรรมและนำมาฝึกฝนอบรมตนเอง แก้ไขตนเอง นำความรู้ที่ได้มาแก้ไขนิสัยให้ดีขึ้น และปฏิบัติธรรมฝึกสมาธิจนใจหยุดใจนิ่ง ได้พบความสุขที่แท้จริง บรรลุธรรมภายในตน จึงจะนับได้ว่าได้ทำประโยชน์ที่แท้จริงให้เกิดขึ้นแก่ตนจากการศึกษาธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เมื่อ ๒,๐๐๐ กว่าปีที่แล้ว พระเจ้าอโศกมหาราชทรงส่งพระจากประเทศอินเดียมาเผยแผ่พระพุทธศาสนายังดินแดนสุวรรณภูมิ หลังจากที่ชาวสุวรรณภูมิเข้าใจพระพุทธศาสนาดีแล้ว ก็มีศรัทธาบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาก็สืบทอดต่อไปในดินแดนสุวรรณภูมิโดยชาวสุวรรณภูมินั้นเอง
แม้ในดินแดนแผ่นดินจีนก็เช่นเดียวกัน เมื่อพระท่านเดินทางจากอินเดียมาเผยแผ่ในแผ่นดินจีน จนกระทั่งชาวจีนเข้าใจพระพุทธศาสนา ท่านที่มีศรัทธาแก่กล้าก็ออกบวชเป็นพระภิกษุปฏิบัติธรรม สืบทอดพระพุทธศาสนาในแผ่นดินจีนสืบต่อไป
ตามที่ยกตัวอย่างมาดังกล่าวก็เพื่อให้เห็นภาพว่า การเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ทำได้นั้น ก็เพราะมีผู้ที่ศึกษาธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วลงมือประพฤติปฏิบัติธรรมจนได้ผลด้วยตัวเอง และมีรุ่นหลังปฏิบัติตามเป็นลำดับ ๆ มา
ผู้ใดก็ตามที่กำลังศึกษาเรียนรู้ธรรมอยู่ ขอฝากให้เราถามตัวเองทุกวันว่า ธรรมที่เราเรียนไปนั้น เราได้นำมาปรับปรุงแก้ไขนิสัยอะไรของตัวเองบ้าง ก้าวหน้าได้แค่ไหน พิจารณาตัวเองเพื่อแก้ไขปรับปรุงตัวเองไปทุกวัน ๆ ความเจริญก้าวหน้าในชีวิต ในธรรม ก็จะบังเกิดขึ้นแก่ตนเองแน่นอน และยังจะเป็นแรงบันดาลใจเป็นผู้นำให้ผู้อื่นได้มาประพฤติปฏิบัติเพื่อเจริญในธรรมตามมาอีก เมื่อเป็นเช่นนี้การแผ่ขยายธรรมเพื่อให้ธรรมคุ้มครองโลกและคุ้มครองสรรพชีวิตให้ล่วงทุกข์ประสพสุขก็จะเป็นจริงได้
Cr. หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๘๖ เดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๑
การศึกษาธรรมจะเกิดประโยชน์ได้อย่างไร ?
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
13:27
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: