๑๐ ตุลา ร่วมน้อมบูชา พระต้นวิชชา ผู้ชี้หนทางพระนิพพาน



พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)
ผู้บังเกิดขึ้นเพื่อชี้ทางนิพพาน

ความสุขอันยิ่งและเป็นความสุขแห่งความหลุดพ้น คือ  "นิพพาน"  ดังพุทธวจนะที่ว่า "นิพพานัง ปรมัง สุขัง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง” ซึ่งความสุขอันยิ่ง คือ พระนิพพานนี้ นับเป็นเป้าหมายอันสูงสุด ของผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมทั้งหลาย แต่ก็เป็นความลับมาอย่างยาวนานทีเดียวว่า ต้นทางแห่งการไปสู่พระนิพพานนั้นอยู่ ณ ตำแหน่งแห่งใดของชีวิต จนกระทั่งพระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านได้ศึกษาธรรมะในพระไตรปิฎก จนกระทั่งเกิดความรู้ความเข้าใจในภาคทฤษฎี แล้วก็เอาชีวิตเป็นเดิมพันในการปฏิบัติตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจนกระทั่งค้นพบศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งเป็นเอกายนมรรค ทางเอกสายเดียวที่จะนำไปสู่มรรคผลนิพพาน และเมื่อท่านพบแล้ว ก็ไม่ได้เก็บความรู้อันสำคัญยิ่งนี้ไว้ แต่เพียงผู้เดียว ท่านยอมเสียสละ อุทิศทั้งแรงกาย แรงใจ เพื่อพร่ำสอนชี้นำให้ผู้คนได้รู้เห็นตามด้วย แม้เหน็ดเหนื่อยเพียงใดก็ไม่ท้อถอย

ต้นแบบแห่งมหาปูชนียาจารย์
ผู้แตกฉานในอรรถและธรรม

วิธีการสอนธรรมปฏิบัติของพระเดชพระคุณหลวงปู่ เต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตาและกุศโลบาย อันชาญฉลาด เพราะเหตุแห่งความเชี่ยวชาญธรรมะ ทั้งโดยอรรถและธรรม คือ ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยที่นักปฏิบัติทั้งหลายไม่ต้องดั้นด้นเข้าไปเรียนกันถึงในป่า ซึ่งมีแต่ผู้ชายและพระเท่านั้นที่จะเข้าไปเรียนได้ แต่หลวงปู่ปักหลักสอนธรรมะกลางเมืองเลยทีเดียว ทำให้แม้แต่ผู้หญิงก็สามารถเรียนธรรมปฏิบัติกับท่านได้ ดังนั้นจึงเป็นเหตุให้ลูกเด็กเล็กแดง ทั้งหญิงทั้งชายได้เรียนธรรมะกันถ้วนหน้า นอกจากนี้สิ่งที่พระเดชพระคุณหลวงปู่นำมาชี้แนะ ยังทำให้สามารถวัดหรือประเมินผลของการปฏิบัติสมาธิได้ว่า ก้าวหน้าไปถึงไหน เพียงไร อย่างชัดเจน เป็นรูปธรรม คือ การวัดผลสมาธิทางภาคปฏิบัติด้วยการเห็น โดยเมื่อเอาใจจรดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกาย เมื่อใจหยุดถูกส่วนแล้วจะพบดวงธรรมต่าง ๆ และกายในกายตามลำดับ ในที่สุดจะเข้าถึงธรรมกาย ซึ่งแสดงถึงภูมิธรรมและความรู้จริงของท่าน

จากความชำนาญในด้านการปฏิบัติธรรมของท่าน ท่านได้กำหนดให้ผู้มาฝึกสมาธิบริกรรมนิมิตเป็นองค์พระหรือเป็นดวงแก้วใสขึ้นมา ซึ่งการกำหนดนึกดวงแก้วใสนี้ จัดเป็นอาโลกกสิณ คือ กสิณแสงสว่าง ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการนั่งสมาธิ ๔๐ วิธี ที่มีบันทึกอยู่ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค พร้อมทั้งยังบอกให้รู้ว่า ฝึกวิธีไหนก็ตาม พอใจหยุดนิ่งเป็นสมาธิแล้ว จะเกิดเป็นดวงใสขึ้นมาภายใน ท่านจึงให้กำหนดเอาดวงแก้วมาเป็นบริกรรมนิมิต แต่แทนที่จะสว่างเป็นดวงแปะอยู่ที่ข้างฝา หลวงปู่ท่านให้กำหนดนึกเป็นดวงกลมใสขึ้นมาไว้ภายใน ซึ่งทำให้เกิดเป็นอาโลกกสิณในตัวด้วย


หลวงปู่ ต้นฉบับแห่งพระแท้
ผู้จริงจังทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ

...นับตั้งแต่พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านได้บรรพชาอุปสมบท ณ วัดสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี จากนั้นท่านก็มุ่งมั่นศึกษาธรรมะทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติอย่างจริงจัง โดยภาคปริยัตินั้นท่านได้ศึกษาบาลีไวยากรณ์ จากวัดที่เป็นสำนักเรียนในกรุงเทพมหานคร จนกระทั่งสามารถแปลภาษาบาลีได้ เพียงแต่ท่านไม่ได้ไปสอบเพื่อเอาตำแหน่งมหาเปรียญเท่านั้นเอง และเมื่อศึกษาจนสามารถแปลธรรมบทได้แล้ว ท่านก็เอาจริงเอาจังในด้านการปฏิบัติ โดยในพรรษาที่ ๑๑ ขึ้นพรรษา ๑๒ วันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ท่านเอาชีวิตเป็นเดิมพันจนกระทั่งเข้าถึงพระธรรมกาย ณ วัดโบสถ์ (บน) บางคูเวียง จังหวัดนนทบุรี ดังนั้นจึงถือได้ว่า พระเดชพระคุณหลวงปู่ คือ ต้นฉบับแห่งการเป็นพระแท้ที่พากเพียร ศึกษาทั้งภาคปริยัติ และภาคปฏิบัติ จนกระทั่งถึงปฏิเวธธรรม ทำให้ชีวิตของพระบวชใหม่ที่บวชเข้ามาในภายหลังมีต้นบุญต้นแบบ แห่งการประพฤติปฏิบัติ อีกทั้งยังมีจุดหมายปลายทาง หรือเป้าหมายการบวชอย่างเด่นชัด โดยเฉพาะวิธีการเข้าถึงพระแท้ในตัว ซึ่งเป็นความรู้สากลที่ทุกคนสามารถพิสูจน์ให้รู้แจ้งเห็นจริงได้ ดังมีพยานบุคคลทั้งในอดีตและปัจจุบันได้เข้าถึงในสิ่งที่หลวงปู่ท่านชี้แนะ เช่น ในยุคที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ยังมีชีวิตอยู่ ได้มีพระภิกษุรูปหนึ่งฉายาว่า ขันติโก ซึ่งหลวงปู่เป็นผู้ให้การบรรพชาอุปสมบท โดยในขณะที่นั่งอยู่ในโบสถ์นั้น หลวงปู่ท่านให้พิจารณามูลกรรมฐาน คือ กำหนดนึกถึงเส้นผมไว้ที่กลางตัว จนกระทั่งพระภิกษุขันติโก สามารถมองเห็นเส้นผมปรากฏอยู่กลางท้องอย่างชัดเจน และแปรเปลี่ยนเป็นดวงธรรมกลมใสในกลางกายได้ในที่สุด แม้ในยุคปัจจุบันก็มีตัวอย่างของพระภิกษุที่รู้เห็นธรรมตามหลวงปู่มากมาย เช่น เรื่องราวของพระธรรมทายาท รุ่นเข้าพรรษา ปี พ.ศ. ๒๕๕๕

ตัวอย่างพระเข้าถึงพระ ด้วยธรรมะของหลวงปู่

พระธรรมทายาททศพร  จารุรตโน

"อาตมาเป็นลูกผู้ชายรักสันโดษคนหนึ่ง มักจะเข้าวัดทำบุญทุกครั้งที่มีโอกาส และสวดมนต์นั่งสมาธิก่อนนอนเป็นประจำ อาตมาตัดสินใจเข้ามาบวชในโครงการบวชพระเข้าพรรษา พอมาบวชแล้ว รู้สึกสงบจนลืมเรื่องทางโลกไปหมดเลย แล้วก็ชอบนั่งสมาธิมาก และไม่ว่าทำอะไรก็จะพยายาม "สัมมาอะระหัง" ในศูนย์กลางกาย ชอบคำสอนหลวงพ่อประโยคหนึ่งมากที่ว่า “ให้ทิ้งทุกอย่าง ปล่อยวางทุกสิ่ง นิ่งอย่างเดียว" อาตมาใช้ตรงนี้เป็นหลักตั้งต้นในการนั่งสมาธิทุกครั้ง


จนวันหนึ่งในขณะที่นั่งสมาธิไปเรื่อย ๆ ก็เริ่มรู้สึกสบาย ๆ เบา ๆ แล้วก็มองเห็นแสงตะคุ่ม ๆ เกิดขึ้นตรงหน้า ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไร ได้แต่ปล่อยใจนิ่ง ๆ สบาย ๆ อย่างเดียว พอมันนิ่งมากเข้า ความสว่างก็เริ่มโตขึ้น และรู้สึกเหมือนจะไม่หายใจ แล้วก็เห็นดวงแก้วขึ้นมาจากศูนย์กลางกาย ดวงแก้วที่อาตมาเห็นมีลักษณะคล้ายดวงอาทิตย์ แต่สว่างเหมือนดาวประกายพรึก ใหญ่ประมาณกำปั้นมือ ตอนนั้นไม่รู้สึกอะไรเลย แต่จู่ ๆ ก็เหมือนจิตเรามุดเข้าไปในดวงแก้ว แล้วก็เห็นดวงแก้วขึ้นมาอีก ๑ ดวง จิตเราก็มุดเข้าไปอีก ยิ่งมุดก็ยิ่งรู้สึกสบายและเป็นสมาธิหนักขึ้น แล้วก็เหมือนตัวเราจะขยายไปเรื่อย ๆ ด้วย พอถึงดวงที่ ๖ ก็มองเห็นตัวเองห่มดอง นั่งสมาธิอยู่ในตัวของตัวเอง อาตมามองเห็นชัดยิ่งกว่า ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เกิดมาไม่เคยมองอะไรชัดขนาดนี้มาก่อนเลย เห็นภาพตัวเองคาอยู่อย่างนั้นแป๊บหนึ่ง ก็มีดวงแก้วขึ้นมาอีก แล้วจิตก็มุดลงไปในดวงแก้วอีก พอถึงดวงที่ ๖ ก็เห็นเทวดานั่งสมาธิอยู่บนฐานเหมือนฐานขององค์พระ แต่เห็นแบบไกล ๆ หรี่ ๆ ตอนนั้นรู้สึกสงบมาก อาตมาคิดว่าคงไม่มีอะไรจะสงบมากไปกว่านี้อีกแล้ว แล้วก็สุขมากอย่างประมาณค่าไม่ได้ ทีนี้ก็มีดวงแก้วโผล่ขึ้นมาอีก แล้วก็เหมือนเรา จะมุดลงไปอีก จนถึงดวงที่ ๓ พระอาจารย์ก็สัพเพฯ พอลืมตาแล้วเหมือนอาตมาได้พักไป ๓ วัน ๓ คืน คือ มันสดชื่นมาก สบายมาก ๆ แล้วก็มีความสุขมาก ๆ สุขแบบอะเลิร์ต ยิ้มกับตัวเองได้ทั้งวันเลย

พระธรรมทายาทวุฒิพงษ์   ธิติกุสโล

“ตอนอาตมาเรียนอยู่ชั้น ป.๓ เคยเห็นพระเดินผ่านหน้าบ้าน ภาพของท่านทำให้ใฝ่ฝันอยากเป็นพระ และบอกตัวเองมาตลอดว่า ถ้าโตขึ้นจะต้องบวชให้ได้ พอเรียนจบชั้น ป.๖ ก็ได้บวชเรียนเป็นสามเณร ตอนนั้นเรียนไปด้วย ฝึกนั่งสมาธิเองด้วย แต่ได้อย่างมากแค่สงบนิ่ง ก็คิดว่าจะมีสมาธิแบบไหนหนอ ที่จะทำให้เรามีความสุขได้มากกว่านี้ ในที่สุดก็ได้มาบวชในโครงการของวัดพระธรรมกาย อาตมารู้สึกภูมิใจมากที่ได้ฝึกตัวเองให้เป็นพระแท้ ยิ่งได้นั่งสมาธิ ก็ยิ่งปลื้ม เพราะไม่คิดว่าตัวเองจะโชคดีมีโอกาสได้พบกับความสุขที่มากมายถึงขนาดนี้


ตอนแรกที่นั่งสมาธิ มันนมืดไม่เห็นอะไรเลย บางทีขาก็ชาจนรู้สึกเหมือนจะใหญ่เท่าขาช้าง แต่ก็อดทนนั่ง วันหนึ่งในขณะที่กำลังนั่งสมาธิ ทีแรกก็ยังคิดนั่นคิดนี่ แต่พอมีสติก็จะน้อมใจมาไว้ที่กลางท้อง แล้วใจก็สงบขึ้นเรื่อย ๆ ตอนนั้นหายใจเบามาก เบาจนไม่แน่ใจว่ากำลังหายใจอยู่หรือเปล่า แล้วอาตมาก็เห็นหยดน้ำกำลังหยดลงในกลางท้อง พอถึงหยดที่สามก็กลายเป็นดวงแก้วขึ้นมา อาตก็มามองไปเรื่อย ๆ ไม่ได้ทำอะไรเลย มองไปมองมา ไม่รู้ว่ามองเข้าไปจังหวะไหน ถึงมองทะลุดวงแก้วเข้าไปได้และเห็นแสงสว่างด้วย สักพักแสงสว่างนั้นก็โผล่ขึ้นมาเป็นองค์พระใส ๆ แทน ตอนนั้นปลื้มมากจนน้ำตาไหล มีความสุขอยู่ในใจอย่างบอกไม่ถูก พอกำหนดใจไปที่กลางท้องนิ่ง ๆ นิ่งจนเหมือนหุ่น ก็รู้สึกเหมือนตัวจะวูบไป แล้วองค์พระก็ขยายขึ้นมาจนถึงหน้าอก และขยายอีกจนไปอยู่ข้างนอก หุ้มตัวอาตมาไว้ แล้วก็มีองค์พระใส ๆ องค์ใหม่ขึ้นมาแทน องค์นี้ใหญ่ประมาณ ๑ ฝ่ามือ ใสยิ่งกว่าแก้ว นั่งสมาธิเฉย ๆ อยู่ในศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ พอลืมตาแล้วองค์พระก็ยังอยู่ เดี๋ยวนี้ท่านอยู่กับอาตมาตลอดเวลา หลับตาก็เห็น ลืมตาก็เห็น ไม่ว่าจะทำกิจวัตรอะไรจะรู้สึกเพลิน ๆ มีความสุขไปหมด มองอะไรก็ดีไปทุกอย่าง เห็นอะไรก็สวยงาม ไม่มีความ เครียดในใจเลย

จากประสบการณ์ภายในของพระธรรมทายาททั้งหลาย ทำให้เราประจักษ์ว่า พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ มีความสำคัญต่อพวกเราและพระพุทธศาสนามาก เพราะคนที่จะเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ปฏิบัติธรรมจนกระทั่งเข้าถึงธรรมกายนั้นหายากยิ่งนัก และวิธีการสั่งสอนที่ท่านทิ้งเป็นมรดกธรรมไว้ให้ยังเป็นสิ่งล้ำค่า ที่ยกระดับชีวิตของศิษย์ทั้งหลายให้สูงส่งขึ้นอย่างเป็นอัศจรรย์ และหากไม่มีหลวงปู่วัดปากน้ำบังเกิดขึ้นมา และค้นพบวิชชาธรรมกายแล้ว ก็ยากที่จะสามารถหาแก่นสารที่แท้จริงในพระพุทธศาสนาได้

๑๐ ตุลาคม วันเกิดรูปกายเนื้อ
สักการะรูปกายทองคำ ณ ถิ่นกำเนิด

วันที่ ๑๐ ตุลาคม จึงเป็นวันมหามงคลแห่งชีวิตของศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย และเป็นวันสำคัญแห่งเส้นทางชีวิตอันมหัศจรรย์ของสรรพสัตว์ทั้งปวง เพราะเป็นวันแห่งการบังเกิดขึ้นด้วยรูปกายเนื้อของพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) พระผู้ปราบมาร ผู้ค้นพบศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อันเป็นเส้นทางไปสู่พระนิพพาน ซึ่งในวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ ที่จะถึงนี้ นับเป็นวันแห่งมหากุศลที่ศิษยานุศิษย์ ทั้งหลายจะได้ร่วมกันทำพิธีตักบาตรในช่วงเช้าที่ลานบุญเฟื่องฟ้า จากนั้นเป็นพิธีปลูกต้นดาวรวย (ดาวเรือง) เพื่อนำไปโปรยต้อนรับคณะพระธุดงค์ธรรมชัย สถาปนาถนนสายทองคำ บนเส้นทางมหาปูชนียาจารย์ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)


และในช่วงบ่าย มีพิธีสักการะหลวงปู่ทองคำ ที่มหาวิหารพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นดินแดนกำเนิดรูปกายเนื้อและกำเนิดในเพศสมณะของท่าน ซึ่งการไปสักการะรูปหล่อทองคำของท่าน จะเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการปฏิบัติธรรม ซึ่งจะช่วยให้เข้าถึงสาระอันสำคัญยิ่งของชีวิตได้ คือ การเข้าถึงพระธรรมกายภายใน ณ ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งเป็นหนทางแห่งพระนิพพาน ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ด้วยการปฏิบัติอย่างจริงจัง

การได้ร่วมบุญอัญเชิญรูปหล่อทองคำหลวงปู่ในครั้งนี้ จะเป็นสายบุญอันมหาศาลที่เชื่อมโยงสายใยบุญกับพระเดชพระคุณหลวงปู่ พระผู้ปราบมาร เพื่อให้ได้เข้าถึงพระแท้ภายในตัว คือ พระธรรมกาย ตามท่านไปทุกภพทุกชาติจนกระทั่งถึงที่สุดแห่งธรรม



Cr. ธัมมวิชฺโช
วารสารอยู่ในบุญ  ฉบับที่ ๑๒๐  เดือนตุลาคม  พ.ศ. ๒๕๕๕
๑๐ ตุลา ร่วมน้อมบูชา พระต้นวิชชา ผู้ชี้หนทางพระนิพพาน ๑๐ ตุลา ร่วมน้อมบูชา พระต้นวิชชา ผู้ชี้หนทางพระนิพพาน Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 00:21 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.