หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๕๒)


ความสำคัญของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) : ครูผู้เป็นยิ่งกว่า “ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย”

ในเดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา ควรถือว่าเป็นวาระโอกาสสำคัญอีกครั้งหนึ่งของศิษยานุศิษย์ของพระเดชพระคุณหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย เนื่องด้วยวันที่ ๑๐ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ นั้น เป็นวันคล้ายวันเกิดครบ ๑๓๕ ปี ของท่าน ซึ่งพวกเราเหล่าศิษยานุศิษย์ทั้งหลายต่างก็ซาบซึ้งกันเป็นอย่างดีว่าการเกิดขึ้นของพระเดชพระคุณหลวงปู่นั้นมีความสำคัญอย่างไรต่อพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะในด้านการปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงซึ่งธรรมะภายในตน ซึ่งองค์ความรู้เหล่านี้ได้ขาดหายไปเป็นเวลานานนับตั้งแต่หลังพุทธปรินิพพานล่วงมาแล้วได้ ๕๐๐ ปี¹

เกี่ยวกับการขวนขวายศึกษาเพื่อให้เข้าถึงองค์ความรู้ด้านการปฏิบัติของพระเดชพระคุณหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) พระผู้ปราบมารนั้นมีมาตั้งแต่ท่านเพิ่งบวชเรียนได้เพียงวันเดียว จากข้อสงสัยของท่านเกี่ยวกับคำว่า “อวิชชาปัจจยา” ได้นำมาสู่การที่ท่านได้ตั้งใจศึกษาพระบาลีอย่างจริงจังจากตำราที่นิยมใช้เป็นแบบเรียนในสมัยนั้น เช่น มงคลทีปนี และสารสังคหะ จนมีความชำนาญและสอนผู้อื่นได้² ซึ่งเป้าหมายที่สำคัญที่สุดที่ท่านคาดหวังจากการศึกษาพระบาลีก็ย่อมเป็นอื่นไปไม่ได้เลยนอกจากการค้นหาหนทางพ้นทุกข์ที่แท้จริงตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงสอนไว้ ดังที่เราจะพบว่าในอัตชีวประวัติของท่านนั้นมีการกล่าวถึงความตั้งใจในข้อนี้ไว้อย่างชัดเจน มีความตอนหนึ่งว่า

“...ไปจำพรรษาวัดบางคูเวียง ในพรรษาที่ ๑๒ แต่พอได้กึ่งพรรษาก็มาหวนระลึกขึ้นว่า 

'ในเมื่อเราตั้งใจจริง ๆ ในการบวช จำเดิมแต่อายุสิบเก้า เราได้ปฏิญาณตนบวชจนตาย ขออย่าให้ตายในระหว่างก่อนบวช บัดนี้ก็ได้บอกลามาถึง ๑๕ พรรษา ย่างเข้าพรรษานี้แล้ว ก็พอแก่ความประสงค์ของเราแล้ว บัดนี้ของจริงที่พระพุทธเจ้าท่านรู้ท่านเห็น เราก็ยังไม่ได้บรรลุ ยังไม่รู้ไม่เห็น สมควรแล้วที่จะต้องกระทำอย่างจริงจัง'

เมื่อตกลงใจได้ดังนี้แล้ว วันนั้นเป็นวันกลางเดือน ๑๐ ก็เริ่มเข้าโรงอุโบสถแต่เวลาเย็น ตั้งสัจจอธิษฐานแน่นอนลงไปว่า

'ถ้าเรานั่งลงไปครั้งนี้ ไม่เห็นธรรมที่พระพุทธเจ้าต้องการ เป็นอันไม่ลุกจากที่นี้จนหมดชีวิต'"³



วัดโบสถ์บน บางคูเวียง สถานที่บรรลุวิชชาธรรมกายของพระผู้ปราบมาร

และโดยเฉพาะคำอ้อนวอนต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนการปฏิบัติธรรมอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพันในคืนนั้นก็ยิ่งเป็นเครื่องฉายชัดถึงความตั้งใจของท่าน ดังความในอัตชีวประวัติว่า

“ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดข้าพระพุทธเจ้า ทรงประทานธรรมที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้อย่างน้อยที่สุดแลง่ายที่สุด ที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้แล้วแก่ข้าพระพุทธเจ้า ถ้าข้าพระพุทธเจ้ารู้ธรรมของพระองค์แล้ว เป็นโทษแก่ศาสนาของพระองค์แล้ว ขอพระองค์อย่าทรงพระราชทานเลย ถ้าเป็นคุณแก่ศาสนาของพระองค์แล้ว ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานแก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์รับเป็นทนายศาสนาในศาสนาของพระองค์จนตลอดชีวิต”

พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ
(หลวงปู่สด จนฺทสโร)

ดังนั้นแล้ว การที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ พระผู้ปราบมาร ได้เพียรพยายามอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพันจนสามารถเข้าถึงพระธรรมกายได้ในเวลาต่อมาจึงมิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเลื่อนลอย หากแต่เป็นข้อพิสูจน์อย่างชัดเจนแล้วว่า ทุกสิ่งที่ท่านทำ ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นล้วนแต่เป็นความสำเร็จที่มีเหตุมีผล และสามารถนำมาใช้อ้างอิงได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งนี้เพราะในเส้นทางแห่งความพยายามของท่านนั้นล้วนแต่ “ดำเนินตามรอยบาท” ของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างถูกต้องมาโดยตลอด การค้นพบวิชชาธรรมกายของท่านจึงมิได้หมายความว่าเป็นการค้นพบวิชชาใหม่  ลัทธิใหม่ อย่างที่ใครหลายคนเข้าใจ หากแต่เป็นการปะติดปะต่อองค์ความรู้ที่ขาดหายไปในประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนาให้คืนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง (ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดาของทุกสิ่งในโลกที่จะต้องมีการเสื่อมสลายหรือสูญหายไป) ให้ปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ ที่เคยมีอยู่ในอดีตกลับคืนมาเป็นชิ้นเดียวกันอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลายสามารถนำเอาความรู้อันเป็นแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาที่รวมกับกระบวนการในการปฏิบัติธรรมไปใช้ได้จริง จนกระทั่งหลุดพ้นได้จริง ๆ ทั้งยังสามารถยืนยันความมีอยู่ขององค์ความรู้ทั้ง ๓ ส่วนนี้ได้โดยไม่จำกัดกาลเวลา ซึ่งนี้เองที่เป็นความสำคัญของพระเดชพระคุณหลวงปู่ของเรา ทั้งนี้หากพิจารณาอย่างลึกซึ้งลงไปในสาระแห่งบทเทศนาธรรมของท่านในหลาย ๆ ช่วง หลาย ๆ ตอนแล้ว ก็จะเห็นความชัดเจนดังกล่าวได้อย่างดี



พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) : วิชชาธรรมกายนี้ท่านทำการสั่งสอนเรื่อยมา
จนกระทั่งใกล้มรณภาพ ไม่เคยขาดแม้แต่วันเดียว

“อุกาส โย ปน ภิกฺขุ ธมฺมานุธมฺมปฏิปนฺโน วิหรติ สามีจิปฏิปนฺโน อนุธมฺมจารี โส ตถาคตํ สกฺกโรติ ครุกโรติ มาเนติ ปูเชติ ปรมาย ปูชาย ปฏิปตฺติปูชาย... ว่า เราขอโอกาสภิกษุผู้ศึกษาในธรรมวินัยรูปใด ธมฺมานุธมฺมปฏิปนฺโน ปฏิบัติธรรมตามธรรม ปฏิบัติธรรมตามธรรมนั้น ได้แก่ใจหยุดอยู่กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์แล้ว ก็ให้เข้าถึงดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายทิพย์ละเอียด กายรูปพรหม กายรูปพรหมละเอียด กายอรูปพรหม กายอรูปพรหมละเอียด กายธรรม กายธรรมละเอียด โสดา โสดาละเอียด สกทาคา สกทาคาละเอียด อนาคา อนาคาละเอียด อรหัต อรหัตละเอียด ก็ปฏิบัติตามธรรมอย่างนี้ ธมฺมานุธมฺมปฏิปนฺโน ปฏิบัติตามธรรมอย่างนี้ สามีจิปฏิปนฺโน ปฏิบัติชอบยิ่ง ให้ชอบหนักขึ้นไป ยิ่งหนักขึ้นไปไม่ถอยกลับ เหมือนพระบรมศาสดาดังนั้น ให้เป็นตัวอย่างดังนั้น อนุธมฺมจารี ประพฤติตามธรรมไม่ขาดสาย อนุธมฺมจารี ประพฤติตามธรรมไม่ให้หลีกเลี่ยง ไม่ให้หลีกเลี่ยงจากธรรมไปได้ ให้ตรงศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายตลอดไป นี่เรียกว่า อนุธมฺมจารี โส ภิกฺขุ ผู้ศึกษาในธรรมวินัยนั้น สกฺกโรติ ได้ชื่อว่าสักการะ ครุกโรติ ได้ชื่อว่าเคารพ มาเนติ ได้ชื่อว่านับถือ ปูเชติ ได้ชื่อว่าบูชา ตถาคตํ ซึ่งเราผู้ตถาคต ปรามาย ปูชาย ปฏิปตฺติปูชาย ด้วยปฏิบัติบูชาเป็นอย่างยิ่ง นี่ประสงค์อย่างนี้ ให้ได้จริงอย่างนี้...”

“...เมื่อ (สรรพสัตว์) มีความเสื่อมเช่นนี้ (แล้ว) พระพุทธองค์ (ทรง) ประสงค์อะไร... จะต้อนพวกเราให้พ้นจากความเสื่อมเหล่านี้ ให้ออกจากภพไปเสีย ให้เข้าถึงธรรมกายไปนิพพาน ...ต้องการอย่างนั้นหนา ไม่ใช่ต้องการท่าอื่นหนา ...(พระพุทธองค์) จะต้อนพวกเรา จะขับจูงพวกเรา จะเหนี่ยวรั้งพวกเราพ้นจากไตรวัฏฏ์ กรรมวัฏฏ์ วิปากวัฏฏ์ กิเลสวัฏฏ์ ให้ขึ้นจากวัฏฏ์สงสาร วัฏฏสงสารน่ะคือ กรรมวัฏฏ์ วิปากวัฏฏ์ กิเลสวัฏฏ์ ที่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏ์สงสารนี้ จะให้ขึ้นจากภพ กามภพ รูปภพ อรูปภพ พ้นจากภพทั้ง ๓ ไป ให้มีนิพพานมีที่ไปในเบื้องหน้า ประสงค์อย่างนั้นจึงได้ทรงรับสั่งเช่นนี้ ให้เราไม่เผลอในความเสื่อมนั้น...”

หากจะกล่าวไปแล้ว ในชีวประวัติของพระเดชพระคุณหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี  (สด จนฺทสโร) นั้นเราจะเห็นได้ว่า นับตั้งแต่ท่านได้บรรพชาอุปสมบทมานั้น ความรู้ที่ท่านได้ศึกษา ก็เป็นความรู้ที่อยู่ในพระพุทธศาสนาล้วน ๆ ซึ่งจากการศึกษาของผู้เขียนนั้นสามารถสรุปได้ว่า การที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านให้ความสนใจศึกษาเรียนรู้ภาษาบาลีจนแตกฉาน รวมทั้งใฝ่ใจศึกษาตำราพระพุทธศาสนาและศึกษาจากครูบาอาจารย์อย่างทั่วถึงมาเป็นเวลานานนั้นเกิดจากเป้าหมายสำคัญ ๆ ๒ ส่วน คือ ๑) ท่านต้องการศึกษาค้นคว้าความรู้ที่เป็น “ความจริงสัมบูรณ์” (Absolute Truth) ที่เกี่ยวกับเรื่องโลกและชีวิต เป้าหมายของการเกิดมาของมนุษย์ ซึ่งซ่อนอยู่ในพระพุทธศาสนาให้แตกฉาน เป้าหมายข้อนี้เกิดจากการได้พบกับคำว่า “อวิชชาปัจจยา” ตั้งแต่วันแรก ๆ ที่ท่านได้บรรพชาอุปสมบท ๒) ท่านต้องการค้นคว้าหาความจริงเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติเพื่อการพ้นทุกข์ในพระพุทธศาสนา เพื่อจะได้นำความรู้นั้นมาใช้ให้เกิดผลกับตัวท่านเอง เป้าหมาย ๒ ประการนี้เองที่เป็นเครื่องผลักดันให้ท่านเกิดการตกผลึกในความรู้ขั้นสุดท้าย จนนำมาสู่การบรรลุธรรมที่อุโบสถวัดโบสถ์บน บางคูเวียง จ.นนทบุรี ในเวลาต่อมา และหลังจากนั้นการที่ท่านยังคงศึกษาค้นคว้าต่อไปอย่างไม่หยุดหย่อน รวมกับการตั้งโรงงานทำวิชชาขึ้นที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ก็ยิ่งทำให้ท่านเข้าใจถึงความเชื่อมโยงขององค์ความรู้ ๓ ส่วน คือ ปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธมากขึ้นไปอีกอย่างน่าอัศจรรย์ ดังจะเห็นได้จากพระธรรมเทศนาของท่านที่มีความลึกซึ้งสอดคล้องกันอย่างมาก ประกอบกับความสำเร็จในการเผยแผ่คำสอนในวิชชาธรรมกายอย่างกว้างขวางมาตลอดชีวิตของท่าน ซึ่งคำสอนที่ท่านถ่ายทอดมานั้นไม่เคยแม้แต่ครั้งเดียวที่จะหลุดออกจากปริมณฑลความรู้ของพระพุทธศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย ดังได้กล่าวมาแล้ว


อนึ่ง หากจะกล่าวว่า การบังเกิดขึ้นของพระเดชพระคุณหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ได้ทำให้ความสนใจในเรื่องราวของ “ธรรมกาย” นั้นมีเพิ่มขึ้นอย่างมากจนถึงปัจจุบัน ภายหลังจากที่ท่านได้เผยแผ่คำสอนในวิชชาธรรมกายให้เป็นที่รู้จักในหมู่พุทธศาสนิกชนจำนวนมากและมีผู้บรรลุธรรมตามท่านได้แล้ว การรวบรวมสืบค้นเรื่องราวของธรรมกายก็ยิ่งเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางเช่นเดียวกัน ซึ่งนอกจากการสืบค้นเรื่องราวของธรรมกายจากบรรดานักวิชาการพระพุทธศาสนาท่านต่าง ๆ แล้ว เหล่าศิษยานุศิษย์ของท่านในรุ่นต่าง ๆ ก็ได้พยายามศึกษาค้นคว้าถึงประวัติศาสตร์และสาระสำคัญในเรื่องราวของธรรมกายไว้มากมายจนทำให้เราทราบว่าเรื่องราวหลักฐานธรรมกายนั้นมีปรากฏอยู่ ณ ที่ใดหรือในเอกสารแหล่งใดบ้าง หรือมีความสำคัญอย่างไรบ้าง เช่น หลักฐานเรื่องธรรมกายในพระไตรปิฎกบาลี หลักฐานเรื่องธรรมกายในอรรถกถา ฎีกา หรือในคัมภีร์วิสุทธิมรรคชั้นต่าง ๆ เป็นต้น (ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงหลักฐานธรรมกายที่ปรากฏในมิลินทปัญหา หรือในปฐมสมโพธิถกาอันเป็นคัมภีร์ที่ได้รับความนิยมศึกษาอย่างมากของนักวิชาการพระพุทธศาสนารุ่นต่าง ๆ จนถึงปัจจุบัน) ซึ่งในทัศนะของผู้เขียนแล้วเห็นว่า การที่สังคมยิ่งมีความสนใจหรือตั้งคำถามต่อเรื่องราวของธรรมกายมากเพียงใด ก็ยิ่งจะก่อให้เกิดการผลักดันให้เกิดการศึกษาค้นคว้าความจริงเกี่ยวกับเรื่องธรรมกายมากขึ้นอย่างกว้างขวาง และเนื่องจากเรื่องราวของธรรมกายนั้นเป็นของจริง มีอยู่จริง และทนทานต่อการพิสูจน์ ฯลฯ เมื่อเป็นดังนั้นก็จะยิ่งส่งผลให้ในที่สุดแล้วความเข้าใจเรื่องราวของธรรมกายก็จะยิ่งเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้องมากยิ่งขึ้นเอง ดังนั้นคงมิใช่เป็นสิ่งที่เกินไปจากความเป็นจริงเลยหากจะกล่าวว่า  พระเดชพระคุณหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) นั้น ท่านมิได้เป็นเพียงปูชนียบุคคลผู้ฟื้นฟูองค์ความรู้เรื่องธรรมกายที่ขาดหายไปในประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนาให้คืนกลับมาอีกครั้งหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ท่านยังเป็น “ต้นธารที่สำคัญ” ที่ทำให้เกิดการศึกษาเรื่องราวของธรรมกายอย่างจริงจังในยุคปัจจุบันและในอนาคตอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ ณ ขณะนี้ (ปีพุทธศักราช ๒๕๖๒) การศึกษาเรื่องราวของธรรมกายและหลักฐานธรรมกายนั้นได้ถูกยกระดับขึ้นไปแล้วในระดับสากล และในนานาประเทศต่างก็มีความสนใจที่จะศึกษาเรื่องราวของธรรมกายเพิ่มขึ้นในหลายมิติด้วยกัน กล่าวคือทั้งในมิติประวัติศาสตร์ โบราณคดี คัมภีร์โบราณ ตลอดจนครอบคลุมไปถึงการน้อมนำมาปฏิบัติจริงแล้วในหลาย ๆ ประเทศ ซึ่งเท่ากับว่าการศึกษาเรื่องราวของธรรมกายในยุคปัจจุบันนั้นได้ก้าวไปไกลกว่าที่จะอยู่ในขอบเขตของ “หลักฐานธรรมกาย” ที่มุ่งยืนยันถึงความมีอยู่จริงแต่เพียงอย่างเดียวแล้ว หากแต่ยังได้วิวัฒนาการครอบคลุมไปถึงเรื่องของการนำไปปฏิบัติอย่างถูกต้อง การยืนยันผลการปฏิบัติได้จริงจากพุทธศาสนิกชนรวมทั้งผู้สนใจจากทุกชาติทุกภาษามากขึ้น เท่ากับเป็นการขยายมิติการศึกษาเรียนรู้ทั้งจากหลักฐานธรรมกายที่เป็นวัตถุและ “หลักฐานธรรมกายที่มีชีวิต” ควบคู่กันไปทั้ง ๒ ทาง ทำให้ในที่สุดแล้วก็จะเกิดการยืนยันความมีอยู่จริงของธรรมกายได้มากขึ้น ชัดเจนขึ้น และมีความเป็นอกาลิโกได้มากขึ้น โดยปราศจากการถกเถียงโต้แย้งกันอีกต่อไป ทั้งนี้ สำหรับผู้เขียนแล้ว ภารกิจในการศึกษาค้นคว้าเรื่องราวตลอดจนการเชื่อมโยงหลักฐานธรรมกายทั้งที่อยู่ในระดับปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธนั้น ก็ย่อมจะต้องเป็นหน้าที่ของพวกเราลูกศิษย์หลานศิษย์ของพระเดชพระคุณหลวงปู่ทุก ๆ คนต่อไป ตราบจนกว่าจะถึงที่สุดแห่งธรรม
ขอเจริญพร



[1] ในฉบับก่อนหน้านี้ (หลักฐานธรรมกายตอนที่ ๕๑ ประจำเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๒) ผู้เขียนได้ยกโอวาทของ “ใครคนหนึ่ง” มาแสดงไว้ ซึ่งเป็นโอวาทที่ท่านได้กล่าวถึงความสำคัญของวิชชาธรรมกาย และความสำคัญของพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ที่ได้อุทิศชีวิตของท่านในการศึกษาและค้นพบวิชชาธรรมกายให้กลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง โดยใจความสำคัญคือ “ หลังจากพุทธปรินิพพานแล้วได้ ๕๐๐ ปี คำว่าธรรมกายก็เหลือเพียงตัวอักษรที่จารึกไว้ในพระไตรปิฎกของแต่ละนิกายเท่านั้น แต่ก็ไม่มีใครเข้าใจเรื่องราวของธรรมกายได้อย่างแท้จริง...การค้นพบวิชชาธรรมกายของหลวงปู่ พระผู้ปราบมาร จึงมีคุณค่าอย่างมาก...เป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้ว่าแม้ว่ามนุษย์เราจะมีความแตกต่างกันในด้านความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณี หรือวัฒนธรรมก็ตาม แต่เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นมนุษย์แล้ว ล้วนมีพระธรรมกายอยู่ในตัวทั้งสิ้น...คือ ที่ใดมีมนุษย์ ที่นั่นก็มีพระธรรมกาย”
[2] วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ, ๒๕๓๗. บารมีธรรมหลวงพ่อวัดปากน้ำ พระมงคลเทพมุนี, กรุงเทพมหานคร โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด, หน้า ๒๐.
[3] วโรพร, ๒๕๔๓. ตามรอยพระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อวัดปากน้ำ), ปทุมธานี : กัลยาณมิตร, หน้า ๘-๙
[4] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๙.
[5] ความตอนหนึ่งในบทพระธรรมเทศนาเรื่อง “ คารวธิกถา” ที่พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ได้แสดงไว้เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๗
[6] บทพระธรรมเทศนาของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ในกัณฑ์นี้มีชื่อว่า “ปัจฉิมวาจา” ซึ่งท่านได้แสดงไว้เมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๙๗ โดยในสาระสำคัญของบทพระธรรมเทศนานี้คือ การกล่าวขยายความถึงพระพุทธโอวาทสุดท้ายก่อนที่พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงปรินิพพาน ซึ่งในการนี้พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ท่านได้อรรถาธิบายอย่างลึกซึ้งถึงจุดมุ่งหมายสูงสุดที่พระบรมศาสดาตรัสไว้ โดยระบุว่าพระพุทธโอวาทที่เป็นปัจฉิมวาจาที่ว่า “ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เชิญท่านทั้งหลายเข้ามาสู่ที่เฝ้าเรานี้ ว่าสังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเสมอ ...อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ ท่านทั้งหลายจงถึงพร้อมด้วยความไม่เผลอไม่ประมาท ท่านทั้งหลายจงถึงพร้อมด้วยความไม่เผลอในความเสื่อมไปนั้น...” มีความหมายกว้างไกลตั้งแต่ความเสื่อมทั้งที่เห็นได้ชัดและความเสื่อมที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เป็นความเสื่อมที่เกิดขึ้นแก่สรรพสัตว์ในทุกภพภูมิ ทุกรูปทุกนาม ทั้งนี้การจะหลุดพ้นจากความเสื่อมได้จะต้องสมาทานทั้งอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา จึงจะสามารถข้ามพ้นความไม่ประมาทได้

เรื่อง : นวธรรมและคณะนักวิจัย DIRI
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๒๐๓ ประจำเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๒


***สามารถนำไปเผยแพร่ได้ แต่ขอให้ใส่ Cr. ผู้เขียนด้วย***

คลิกอ่านบทความได้ที่นี่ https://dhamma-media.blogspot.com/2019/10/diri52.html

คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญในรูปแบบของ PDF
https://drive.google.com/file/d/1BC5lnmQeJjFaHHcjcichnXh53eOzDXbD/view

คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญในรูปแบบของ E-book
http://dhammamedia.org/YNB%202562/203%20YNB_6211/YNB%20Nov%20Hi%201162.html

คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๒๐๓ ประจำเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้ที่นี่
คลิกที่รูป หรือ สแกน QR-CODE เพื่ออ่านบทความนี้
หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๕๒) หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๕๒) Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 01:55 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.