อะไร... คือช่วงชีวิตที่ดีที่สุด ?


    ดี  ที่สุดหยุดไว้            ตรงกลาง

แล้ว  จักพบหนทาง        พ่อชี้

ลูก    นิ่งสนิทจิตพร่าง    พราวสว่าง

รัก     ถูกธรรมตามนี้       หลีกลี้กิเลสมาร

                                           (ตะวันธรรม)

คงรู้กันดีอยู่แล้วว่าเวลาในชีวิตของคนเรานั้นมีจำกัด เมื่อชีวิตของเรามีเพียงแค่ช่วงเวลาสั้น ๆ จึงเป็นเรื่อง
สำคัญที่จะต้องใช้แต่ละวินาทีในตอนนี้เพื่อสรรค์สร้างช่วงชีวิตให้ดีที่สุด เพราะชีวิตที่ดีเกิดจากการใช้เวลาอย่างเห็นคุณค่า และชีวิตที่มีคุณค่าเกิดจากการใช้เวลาที่ดี

หลวงพ่อเคยสอนพวกเราพระภิกษุทั้งหลายเอาไว้ว่า ช่วงชีวิตที่ดีที่สุดของลูกทุกองค์ คือ ช่วงจังหวะชีวิตที่มีโอกาสมาตักตวงเติมความบริสุทธิ์ให้แก่ตนเอง ซึ่งก็คือ ช่วงที่เป็นนักบวชนี่แหละ เราจะได้เติมความบริสุทธิ์ทุกวัน ทุกคืน ทุกเวลา ซึ่งคนในโลกนี้หกพันกว่าล้านคนก็อยากได้โอกาสนี้เช่นกัน และร่างกายของลูกทุกองค์ยังแข็งแรง มีอาพาธน้อย เครื่องกังวลที่เป็นพันธนาการของชีวิตแบบชาวโลกก็ไม่มี ญาติโยมก็สนับสนุน ดังนั้น ช่วงนี้จึงเป็นช่วงชีวิตที่ดีที่สุดที่ลูกควรจะใช้เวลามาศึกษา ฝึกฝน อบรมตัวของเราให้เข้าถึงธรรมกายให้ได้ (๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๑)

เรื่องราวของช่วงชีวิตที่ดีที่สุดของพระไรอัน เขมวํโส (Ryan Burton) อดีตนักการเมือง อายุ ๒๖ ปี ชาวอเมริกัน เริ่มต้นอีกครั้งในกลางปี พ.ศ.๒๕๖๒ ที่ท่านได้ตัดสินใจอย่างดีที่สุดบนเส้นทางของสมณะแท้ ผู้เรียบง่าย สงบเสงี่ยม และปลอดกังวล  ภิกษุหนุ่มชาวต่างชาติจากแดนไกลท่านนี้เป็นใครกัน ท่านเห็นประโยชน์อย่างไรในการบวชแต่ละครั้ง แล้วท้ายที่สุดท่านคิดอย่างไรถึงได้ตัดสินใจบินข้ามน้ำข้ามทะเลมาบวชเป็นพระภิกษุที่วัดพระธรรมกายในประเทศไทย เราไปค้นหาคำตอบเหล่านั้นพร้อมกัน

“ย้อนไปเกือบ ๑๐ ปีที่แล้วใน พ.ศ. ๒๕๕๓ ที่อาตมาเริ่มเข้าวัดพระธรรมกายแคลิฟอร์เนีย เมืองอะซูซา ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ที่เป็นแหล่งปลูกศรัทธาอย่างแรงกล้าให้บังเกิดขึ้นแก่ชีวิตของอาตมา และสร้างความเข้าใจในพระพุทธศาสนาได้เป็นอย่างมาก ในตอนนั้นอาตมาเริ่มรับบุญสอนสมาธิร่วมกับโครงการ The Middle Way ในรัฐแคลิฟอร์เนียอยู่ร่วม ๔ เดือน และยังไปช่วยงานเป็นอาสาสมัครในประเทศเนปาลอีกด้วย

“จากแต่ก่อนชีวิตที่เคยประสบปัญหามากมายรุมล้อม กลับค่อย ๆ พัฒนาเปลี่ยนแปลงจนลงตัวได้อย่างดีที่สุดในแต่ละวัน  การทำสมาธิช่วยเปลี่ยนชีวิตของอาตมาในทุก ๆ อย่างอย่างแท้จริง ทำให้เห็นและเข้าใจสิ่งต่าง ๆ อย่างชัดเจนขึ้น ทั้งยังรู้ว่าสิ่งใดเป็นสิ่งที่ถูกต้องควรกระทำ สิ่งใดที่ต้องปรับปรุงแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น และยังเข้าใจการเปลี่ยนแปลงรอบตัว เรียนรู้ว่าต้องหลีกเลี่ยงคำโกหกและหลอกลวง ต้องพูดแต่ความจริง ซึ่งเป็นกุญแจสำหรับเก็บรักษาความสงบของใจ และสมาธิยังช่วยพัฒนาบุคลิกนิสัยในการทำงานต่าง ๆ ให้ดีได้อย่างน่าทึ่ง ด้วยการใส่หัวใจลงไปในทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำ ทั้งในเรื่องกิจวัตรประจำวัน การสั่งสมบุญและนั่งสมาธิ เพื่อที่จะทำให้แต่ละอย่างออกมาดีที่สุด สร้างชีวิตของตัวเราเองให้สมบูรณ์แบบ

“ด้วยความรู้และประสบการณ์ที่ก่อเกิดขึ้น สร้างแรงบันดาลใจในความปรารถนาที่จะเข้าถึงพระธรรมกายภายในตัวของอาตมาให้ได้  จึงทำให้อาตมาตัดสินใจบวชเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนาในปีถัดมา และปลายปี พ.ศ. ๒๕๕๕ เมื่ออาตมาอายุครบ ๒๐ ปี จึงตัดสินใจบวชเป็นพระภิกษุครั้งแรกในชีวิต และมีโอกาสบวชอีกครั้งในปี พ.ศ. ๒๕๕๗  และในปี  พ.ศ. ๒๕๖๒ นี้ อาตมาตัดสินใจบินมาบวชที่วัดพระธรรมกายในประเทศไทย ซึ่งจากการบวชในทุกครั้งนี้ อาตมาต้องการเรียนรู้ความจริงของชีวิตนี้ให้ถ่องแท้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ทั้งคำสอนที่ดีซึ่งมีอยู่มากมายในพระพุทธศาสนา การสั่งสมบุญทุกบุญ และประสบการณ์ภายในที่ได้จากการทำสมาธิ เพื่อที่จะพัฒนาชีวิตเราให้ดี และฝึกฝนตัวเองให้มีระเบียบวินัยมากขึ้น

“อาตมามีความสุขที่ได้นั่งสมาธิ ด้วยสติควบคู่กับความสบาย เป็นเสมือนการเข้าไปสู่อีกมิติหนึ่งข้างในตัวที่สงบ เกิดเป็นบุญจากใจที่หยุดนิ่ง เป็นความบริสุทธิ์ที่พรั่งพรูสว่างอยู่ภายในอย่างมีชีวิตชีวา..”

เรื่อง : พระมหาภูรัช ทนฺตวํโส
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๒๐๓ ประจำเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๒







***สามารถนำไปเผยแพร่ได้ แต่ขอให้ใส่ Cr. ผู้เขียนด้วย***

คลิกอ่านบทความได้ที่นี่ https://dhamma-media.blogspot.com/2019/10/llp1162.html

คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญในรูปแบบของ PDF
https://drive.google.com/file/d/1BC5lnmQeJjFaHHcjcichnXh53eOzDXbD/view

คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญในรูปแบบของ E-book
http://dhammamedia.org/YNB%202562/203%20YNB_6211/YNB%20Nov%20Hi%201162.html

คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๒๐๓ ประจำเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้ที่นี่
คลิกที่รูป หรือ สแกน QR-CODE เพื่ออ่านบทความนี้
อะไร... คือช่วงชีวิตที่ดีที่สุด ? อะไร... คือช่วงชีวิตที่ดีที่สุด ? Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 00:25 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.