ผู้ใฝ่รู้และใคร่ในการศึกษา ฝีกฝนอบรมตนเองให้เป็นคนเก่งและดี ควรมีคุณสมบัติและคุณลักษณะอย่างไร ?
ถาม : ผู้ใฝ่รู้และใคร่ในการศึกษา ฝึกฝนอบรมตนเองให้เป็นคนเก่งและดี ควรมีคุณสมบัติและคุณลักษณะอย่างไร
?
ตอบ : ในสมัยพุทธกาลพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยกย่องพระราหุลว่าเป็นเอตทัคคะคือเป็นผู้เลิศในด้านผู้ใคร่ในการศึกษา
พระราหุลเป็นโอรสของเจ้าชายสิทธัตถะและพระนางยโสธรา
เป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าสุทโธทนะกษัตริย์ผู้ครองกรุงกบิลพัสดุ์ เมื่อพระกุมารราหุลมีอายุ
๗ ปี พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จโปรดพระญาติ ณ กรุงกบิลพัสดุ์ และมีพระดำรัสให้พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรจัดการบรรพชาให้แก่ราหุลกุมาร
และสามเณรราหุลได้ชื่อว่าเป็นสามเณรองค์แรกในพระพุทธศาสนา
สามเณรราหุลเมื่อบวชแล้วก็ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน
ยิ่งกว่านั้นยังเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย พระภิกษุจะว่ากล่าวตักเตือนอย่างใด
สามเณรราหุลก็ไม่เถียง ไม่โต้แย้ง เพราะท่านถือว่าถ้าใครมาว่ากล่าวตักเตือนเหมือนมาชี้ขุมทรัพย์ให้
เพราะตามธรรมดาคนเรามองข้อบกพร่องของตัวเองไม่ออก มองยากและกว่าจะเห็นก็นาน ฉะนั้นใครว่ากล่าวอะไรมาท่านก็คอยรับฟัง
อะไรที่เป็นประโยชน์ก็เอาไปปฏิบัติตาม ท่านมีนิสัยอย่างนี้
จนเมื่อวันหนึ่งมีพระวินัยบัญญัติขึ้นมาไม่ให้พระภิกษุจำวัดร่วมกับผู้ที่ไม่ใช่พระภิกษุด้วยกัน
พระภิกษุทั้งหลายจึงไม่อาจให้สามเณรราหุลนอนในที่อยู่ของตน
สามเณรรับทราบว่า วินัยก็เป็นวินัย ไม่คิดโต้แย้ง ไม่คิดจะไปรบกวนให้ใครเดือดร้อน
เมื่อไม่มีที่จะนอน ก็ไม่ตื่นตกใจ หาทางพึ่งตนเอง
ที่ลำพังไม่มีใครอยู่ควรจะเป็นที่ใดหนอ ในที่สุดท่านจึงเข้าไปนอนในเวจกุฎีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ด้วยพิจารณาแล้วว่าเวจกุฎีเป็นที่สะอาด ประพรมด้วยธูปหอม มีพวงของหอมและพวงดอกไม้ห้อย
สว่างด้วยแสงประทีปตลอดคืนยันรุ่ง เป็นที่ที่จะไม่เบียดเสียดกับผู้อื่น
ใกล้รุ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมา
หมายจะเข้าไปเวจกุฎี สามเณรราหุลได้ยินเสียงกระแอมของพระองค์จึงออกมาถวายบังคม
เมื่อพระพุทธองค์ตรัสถามจึงกราบทูลให้ทรงทราบ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเกิดธรรมสังเวชว่า
นี่ขณะที่พระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ สามเณรราหุลยังไม่มีใครดูแล
ดีที่รู้จักช่วยตัวเองได้ ต่อไปภายหน้าเมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้ว
มีสามเณรเข้ามาบวชกันมาก ๆ จะมีใครดูแล พระองค์เกิดธรรมสังเวช จึงทรงเรียกประชุมสงฆ์
และทรงบัญญัติพระวินัยเพิ่มเติมจากที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว โดยมีพุทธานุญาตว่า
ให้ภิกษุนอนร่วมชายคาหรือที่มุงบังเดียวกับอนุปสัมบันหรือผู้ยังไม่ได้เป็นพระภิกษุติดต่อกันได้ไม่เกิน
๓ คืน เพื่อให้มีเวลาในการหาหรือจัดเตรียมที่อยู่ให้อนุปสัมบัน แล้วจึงแยกกันนอน พระภิกษุที่มาประชุมกันต่างสรรเสริญสามเณรราหุลว่า แม้เป็นเด็กแต่ทำได้ดีชนิดที่ถ้าเป็นพระภิกษุเองประสบเหตุเดียวกันนี้ ก็ไม่แน่ว่าจะทำได้ดีอย่างสามเณรราหุลหรือไม่
เป็นเหตุให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสชาดกเล่าเรื่องท่านราหุลในอดีตชาติว่า
อย่าว่าแค่เป็นสามเณรแล้วใจเพชรเลย
แม้ภพชาติในอดีตเคยเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานก็มีนิสัยใจเพชร ใฝ่การศึกษา ไม่ว่ายากสอนยาก
ไม่ดื้อมาตั้งแต่เป็นสัตว์เดรัจฉาน แล้วทรงเล่า “ติปัลลัตถมิคชาดก” ให้ฟัง
ในอดีตกาล ที่ป่าใหญ่แห่งหนึ่งอยู่ใกล้กับนครราชคฤห์
กวางฝูงใหญ่อาศัยอยู่ในป่า มีพญากวางเป็นจ่าฝูงควบคุมให้ลูกฝูงอยู่หากินในที่นั้นด้วยความสงบ
นางกวางผู้เป็นน้องสาวได้พาลูกชายมาฝากให้พญากวางผู้เป็นพี่ชายช่วยสอนวิชามายาของกวาง
เพื่อให้ลูกเรียนรู้วิธีรักษาตัวรอด พญากวางก็รับเอาไว้และตั้งใจสอน กวางหลานชายก็ตั้งใจเรียนตั้งใจฝึก
ลำบากยากเข็ญอย่างไรก็ไม่เคยบ่นไม่เคยท้อ ไม่นานก็เรียนจบ
ความจริงพญากวางตั้งใจสอนกวางทุกตัว แต่กวางตัวอื่น ๆ ไม่ค่อยทนต่อการเรียนการฝึก
มักจะมีข้ออ้างไปต่าง ๆ นานา ทำให้ไม่ค่อยมาเรียน จึงหากวางที่เรียนได้น้อยมาก อยู่มาวันหนึ่งกวางน้อยไปติดบ่วงของนายพรานที่มาวางดักไว้ จึงได้ใช้สรรพมายาของกวางที่ร่ำเรียนฝึกฝนมา ทำแกล้งตายจนมีแมลงวันมาตอมและอีกาบินมาใกล้
นายพรานหลงเชื่อสนิทใจว่าตายแล้ว จึงแก้เชือกออกเพื่อเตรียมแล่เนื้อ
กวางได้จังหวะก็รีบหนีหายเข้าป่าลึก กลับไปหาแม่กวางโดยปลอดภัย
เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสจบจึงทรงประชุมชาดกว่า
หลานกวางนั้นได้มาเป็นพระราหุล ส่วนแม่กวางได้มาเป็นพระอุบลวรรณาเถรี
ส่วนพญากวางนั้นเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้เอง
เราจะเห็นว่าท่านราหุลนั้น
ตั้งแต่เป็นกวางก็ตั้งใจเล่าเรียน ฉลาดเฉลียวมาแต่นั้น เมื่อมาเกิดเป็นคน นิสัยดี ๆ
ก็ติดตามมาด้วย
ดังนั้น เมื่อมาพูดถึงประเด็นที่ว่า
ผู้ใฝ่รู้ใฝ่การศึกษาจะหาต้นแบบว่าควรมีลักษณะอย่างไร
ก็ควรที่จะนำเอาบุคคลในอดีตที่ท่านฝึกตัวเองมาได้แล้วตั้งแต่ ๗ ขวบ และฝึกตัวเองมาแล้วตั้งแต่สมัยเป็นสัตว์เดรัจฉาน
มาเป็นแบบอย่างแนวทางที่จะฝึกตัวเองตามท่าน
วันนี้ หลวงพ่อจะขอสรุปคุณสมบัติหรือคุณลักษณะของผู้ใฝ่รู้ใฝ่การศึกษา
โดยยึดพระราหุลเป็นต้นแบบให้ดังต่อไปนี้
๑. ฝึกตัวเองให้เป็นคนกระหายความรู้
มีฉันทะที่จะศึกษา
๒. ฝึกความอ่อนน้อมถ่อมตนให้ดี
ถ้าขาดคุณธรรมความอ่อนน้อมถ่อมตน ก็ไม่มีใครเขาอยากสอนอยากให้ความรู้ ถ้าเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน ครูบาอาจารย์ท่านมีวิชาเท่าไร ก็อยากจะสอนให้หมด
๓. ฝึกตรงต่อเวลา ถึงเวลาเรียนเป็นเรียน ไม่มีข้ออ้างข้อแม้ที่จะไม่เรียน
๔. ฝึกเป็นคนว่าง่ายสอนง่าย ไม่ใช่คนชอบเถียง
๕. ฝึกเป็นคนรักวินัย ถึงเวลาจะต้องทำอะไร
ก็ทำตามนั้น
๖. ฝึกเป็นคนตระหนักในความเคารพ
ไปถึงไหนก็พยายามจับว่าใครมีอะไรดีอยู่ในตัว แล้วถ่ายทอดเอาความดีนั้นมาใส่ในตัวเรา เราจะได้เต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้และคุณธรรม
๗. ฝึกเป็นคนไม่ดูดาย มีความขวนขวายอยู่ตลอดเวลา ไปถึงไหนก็พร้อมที่จะยื่นมือเข้าไปช่วยในกิจการที่ควรทำ
พร้อมที่จะทำงานอะไรก็ตามที่ไม่มีโทษ เช่น พระราหุลท่านไปถึงไหน เมื่อพระภิกษุทำอะไร
ท่านก็เข้าไปช่วยหยิบช่วยจับ ช่วยเป็นมือเป็นเท้าให้ พอพระภิกษุว่าง ท่านมีความรู้อะไรก็สอนให้
เมื่อพระภิกษุท่านเต็มใจสอนให้ ความรู้ก็เต็มตัวพระราหุลนั่นแหละ
๘. ฝึกเป็นคนพึ่งตัวเอง ช่วยตัวเองได้ เช่น พระราหุล
๗ ขวบ ไม่พึ่งใครหาที่นอนให้ แล้วเห็นว่าเวจกุฎีเป็นที่สะอาดพอที่จะนอนได้
ก็อาศัยเวจกุฎีนั้นไปก่อน หาทางแก้ไขให้ผ่านไปได้ นี้คือผู้มีนิสัยช่วยตัวเองได้
๙. ฝึกอดทน เกิดเป็นคนต้องทั้งอดและทนจึงจะเอาดีได้
พระราหุลอยู่ในวังมาตลอดชีวิต ถึงเวลาจำเป็นก็ยังอดทนได้
๑๐. หมั่นฝึกตัวเองให้มีสติ
มีอะไรเกิดขึ้นไม่ตื่นตระหนก ตั้งสติ ใช้ดวงปัญญาหาทางแก้ไข เหมือนพระราหุล
เหมือนกวางน้อยติดบ่วงก็ไม่ตื่นตระหนก
กวางที่ตื่นตระหนกเมื่อโดนบ่วงรัดยิ่งดิ้นมันยิ่งรัดคอตาย
แต่กวางน้อยมีสติรู้ตัวทัน ดึงวิชาที่เรียนรู้และฝึกไว้แล้วมาแก้ไขเอาตัวรอดได้
๑๑. สิ่งสำคัญที่สุด จะเล่าเรียนเขียนอ่านอะไรก็ตาม
ความรู้นั้นต้องเรียนจนสามารถนำไปใช้ช่วยชีวิตเราได้จริง ๆ
สุดท้ายขอฝากเป็นข้อคิดว่า
แม้ผู้เรียนจะมีความตั้งใจใฝ่รู้จริงเพียงใดก็ตาม แต่จะประสบความสำเร็จได้ ก็ต้องได้ครูอาจารย์ที่ดี
มีความรู้จริงในเรื่องนั้น ๆ และท่านเต็มใจถ่ายทอดวิชาความรู้ให้อย่างถูกต้องและครบถ้วน
ชนิดไม่หวงวิชาด้วย
เรื่อง : หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๒๐๓ ประจำเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๒
***สามารถนำไปเผยแพร่ได้ แต่ขอให้ใส่ Cr. ผู้เขียนด้วย***
คลิกอ่านบทความได้ที่นี่ https://dhamma-media.blogspot.com/2019/10/lp1162.html
คลิกอ่านบทความได้ที่นี่ https://dhamma-media.blogspot.com/2019/10/lp1162.html
คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญในรูปแบบของ PDF
https://drive.google.com/file/d/1BC5lnmQeJjFaHHcjcichnXh53eOzDXbD/view
คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญในรูปแบบของ E-book
http://dhammamedia.org/YNB%202562/203%20YNB_6211/YNB%20Nov%20Hi%201162.html
คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๒๐๓ ประจำเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้ที่นี่
https://drive.google.com/file/d/1BC5lnmQeJjFaHHcjcichnXh53eOzDXbD/view
คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญในรูปแบบของ E-book
http://dhammamedia.org/YNB%202562/203%20YNB_6211/YNB%20Nov%20Hi%201162.html
คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๒๐๓ ประจำเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้ที่นี่
- ความสุขจากสมาธิที่เกิดกับชาวเมืองโคลนากิลตี
- วันคล้ายวันเกิดพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)
- ตักบาตรพระ ๑๐,๐๐๐ รูป ณ พระมหาเจดีย์ทัตตชีโว
- ความปลื้มใจที่ได้ไปพุทธอุทยานนานาชาติริมฝั่งโขง
- ลอยกระทงอย่างไร...ให้สิ่งที่อธิษฐานสมปรารถนา ?
- อะไร...คือช่วงชีวิตที่ดีที่สุด ?
- ข่าวสารเครือข่ายคณะศิษย์
- หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๕๒)
- ศาสนทายาท ณ แดนอาทิตย์อุทัย
- ผู้ใฝ่รู้และใคร่ในการศึกษา ฝึกฝนอบรมตนเองให้เป็นคนเก่งและดี ควรมีคุณสมบัติและคุณลักษณะอย่างไร ?
- ย้อนอดีต...ท่องประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา (ตอนที่ ๒๓)
- คุณสมบัติสำคัญของคนเก่ง
คลิกที่รูป หรือ สแกน QR-CODE เพื่ออ่านบทความนี้
ผู้ใฝ่รู้และใคร่ในการศึกษา ฝีกฝนอบรมตนเองให้เป็นคนเก่งและดี ควรมีคุณสมบัติและคุณลักษณะอย่างไร ?
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
00:37
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: