วันพระมีความเป็นมาและความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของพุทธศาสนาอย่างไร ?


ถาม : วันพระมีความเป็นมาและความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของพุทธศาสนาอย่างไร ?

ตอบ : วันพระ หมายถึง วันทบทวนความสมบูรณ์แห่งความเป็นพระ

พระภิกษุสงฆ์จะมาประชุมพร้อมกันที่อุโบสถ เพื่อทบทวนศีลคือความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจของตนเอง เพื่อทบทวนปาฏิโมกข์คือสิกขาบทที่เป็นพระวินัย ๒๒๗ ข้อร่วมกัน

แต่เดิมโดยเฉพาะในช่วงต้นของพุทธกาล ไม่มีการลงปาฏิโมกข์ในพระพุทธศาสนา เพราะผู้ที่เข้ามาบวชนั้น บารมีแก่กล้ากันเป็นส่วนมาก ท่านจึงสามารถเตือนตัวเองได้ ยิ่งในยุคเริ่มพุทธกาลใหม่ ๆ ก็ไม่มีพระวินัยแม้แต่ข้อเดียว อยู่กันโดยขนบธรรมเนียมของนักบวช ต่อมาเมื่อมีกุลบุตรผู้มีศรัทธาเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนามากขึ้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติเรื่องการลงปาฏิโมกข์ แม้ผู้เป็นพระอรหันต์แล้ว ก็ถือว่าเป็นกิจของหมู่สงฆ์ที่จะต้องลงปาฏิโมกข์ เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่พระรุ่นหลัง ๆ ให้เข้มงวดกวดขันตัวเอง

เหตุเริ่มต้นที่มีการลงปาฏิโมกข์ในพระพุทธศาสนานั้น เกิดจากพระเจ้าพิมพิสาร (กษัตริย์ผู้ครองแคว้นมคธ ผู้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล) ทรงปรารภกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า นักบวชประเภทปริพาชกบ้าง และนักบวชประเภทต่าง ๆ อีกหลายประเภทในอินเดีย มีธรรมเนียมว่า ในวัน ๑๕ ค่ำ ข้างขึ้นข้างแรม เขาจะมาประชุมกัน แล้วก็ให้โอวาทแก่นักบวช แก่สมาชิกของเขาด้วย ทำให้นักบวชของเขามีความเคร่งครัด มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มีความไม่ระแวงซึ่งกันและกัน ว่าใครจะประพฤติตัวยิ่งหย่อนกว่ากันอย่างไร เพราะได้เห็นหน้ากันอยู่ทุก ๆ ๑๕ วัน สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของนักบวชหมู่นั้น ๆ คณะนั้น ๆ  แต่วันประชุมเช่นนี้ของพุทธศาสนายังไม่มี พระพุทธองค์จึงทรงอนุญาตให้มีการประชุมพระสงฆ์ขึ้น

๑) ความสำคัญของการประชุมรวม
ถ้าพิจารณาโดยหลักธรรม ก็จะพบความจำเป็นในการประชุมทุก ๑๕ วันว่า

ประการที่ ๑ ทำให้มี “ทิฏฐิสามัญญตา” และ “สีลสามัญญตา” เกิดขึ้นในหมู่คณะ คือ มีทิฏฐิ (ความคิดเห็น) เสมอกัน และมีศีล (ความบริสุทธิ์) เสมอกัน ทำให้หมดความกินแหนงแคลงใจกัน แล้วก็ช่วยกันประคับประคองหมู่คณะให้สมกับที่สละชีวิตมาบวชกัน แม้หลักธรรมที่นักบวชเหล่านั้นใช้นับถือปฏิบัติอาจไม่ค่อยมีความลึกซึ้งนัก แต่เพราะอาศัยการประชุมพร้อมเพรียงกันทุก ๑๕ วันนี้ ทำให้หมู่คณะของเขามั่นคงเป็นหนึ่งเดียว

ประการที่ ๒ สมาชิกของเขาที่ยังครองเรือน ก็ตั้งใจมาฟังครูบาอาจารย์ของเขา มาฟังนักบวชที่เขาเคารพนับถือ ให้โอวาท ให้การอบรม สมาชิกก็เพิ่มขึ้นมาตามลำดับ ๆ นับเป็นการเผยแผ่ เป็นการขยายงานไปสู่สมาชิกใหม่ ๆ ไปโดยปริยาย

๒) ทำไมต้องประชุมทุก ๑๕ วัน
มีคำถามเกิดขึ้นว่า ทำไมจึงต้องประชุมในวัน ๑๕ ค่ำ ด้วย

เหตุผลนั้นเป็นเหตุผลตามธรรมชาติ นั่นคือ ใครก็ตามถึงแม้จะมีสติปัญญามากมายเพียงไร เมื่อได้ฟังคำเทศน์คำสอนของครูบาอาจารย์แล้ว ไม่ว่าเขาจะรักเคารพครูบาอาจารย์ของเขามากเพียงใด มีความซาบซึ้งในหลักธรรมมากน้อยแค่ไหน แต่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ว่า หลังจากได้รับการอบรม การชี้แนะไปแล้ว พอผ่านไป ๑๕ วัน ความสามารถในการจดจำของเขา ความขวนขวายที่จะประกอบความเพียร  จะค่อย ๆ หย่อนลงไปเรื่อย ๆ พอครบ ๑๕ วันเท่านั้น ลืมสนิทเลย เพราะฉะนั้นทุก ๆ ๑๕ วัน ก็จะต้องมีการทบทวนกันสักครั้งเป็นอย่างน้อย

สำหรับในเมืองไทยเรา เมื่อพระพุทธศาสนาเข้ามาแล้ว บรรพบุรุษของไทยท่านพิจารณาว่า การทิ้งห่างในระยะเวลา ๑๕ วัน แล้วมาทบทวนรวดเดียวนั้นยาวไป

การทิ้งห่าง ๑๕ วันสำหรับนักบวช ก็ชักจะล้า ๆ ต้องมาทบทวนกันสักครั้ง แต่สำหรับชาวบ้านนั้น ถ้าทิ้งห่าง ๗-๘ วัน ความเพียรก็ล้า ความจำก็เลือนแล้ว คำสอนคำเตือนต่าง ๆ ก็ลืมหมดแล้ว

ปู่ย่าตาทวดของไทยจึงนำมาซอยจาก ๑๕ วัน ให้กลายเป็นทุก ๆ  ๗ วัน โดยกำหนดวัน ๘ ค่ำ เข้ามาใส่ตรงกลาง เพราะฉะนั้นจึงเกิดวันพระเล็กขึ้นมาในบ้านเมืองไทยของเรา

๓) ทำไมต้องประชุมในวันเดือนหงายกับวันเดือนมืด
คำถามต่อมา ทำไมต้องเลือกเอาวันเดือนหงาย (คำเรียกคืนที่มีดวงจันทร์ส่องแสงสว่างมาก โดยปกติหมายถึงคืนที่มีพระจันทร์เต็มดวง) เดือนมืดด้วย (หมายถึงคืนที่มองไม่เห็นดวงจันทร์)

ความมุ่งหมายจริง ๆ นั้น มุ่งเอาที่คืนเดือนหงาย เพราะบรรยากาศของคืนเดือนหงายเหมาะต่อการฟังเทศน์ เหมาะต่อการอบรมจิตใจ แต่ว่าช่วงระยะเวลาระหว่างเดือนหงาย ๓๐ วันนั้นนานไป จึงแบ่งครึ่งช่วงเวลาออกเป็นวันที่เดือนเต็มดวง กับวันที่เดือนดับเต็มที่

คืนเดือนหงายมีบรรยากาศที่เหมาะแก่การฟังธรรมดีเหลือเกิน เพราะเห็นหน้าเห็นตากันชัด ท้องฟ้าแจ่มใส ให้โอวาทกันท่ามกลางแสงจันทร์

คืนเดือนมืดมองหน้ากันไม่ถนัด ก็นั่งหลับตาภาวนาร่วมกันไป เป็นการเทศน์เหมือนกัน แต่ว่าเป็นการเทศน์ในสมาธิ ผู้เทศน์ก็หลับตาเทศน์ คนฟังก็หลับตาฟังทำสมาธิไปด้วย เกิดเป็นธรรมเนียมปฏิบัติขึ้นมา

ธรรมเนียมนี้เป็นธรรมเนียมของนักปราชญ์บัณฑิตตั้งแต่ก่อนพุทธกาลมาแล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นความฉลาดของคนยุคโน้น ซึ่งรู้จักใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ ทำให้เขาประคับประคองหมู่คณะมาได้ เพิ่มความเข้มแข็งให้หมู่คณะได้ นักปราชญ์บัณฑิตตั้งแต่อดีตเขาทำกันอย่างนี้มาทุกยุคทุกสมัย

หลวงพ่อเคยไปเยือนอินเดียหลายครั้ง ก็พบว่าธรรมเนียมนี้นักบวชอื่นเขาก็ยังทำกันอยู่

๔) การประชุมทุกวันพระทำให้แต่ละนิกายยังเก็บรักษาคำสอนหลักในพระพุทธศาสนาได้ครบ
ในพระพุทธศาสนาเอง แม้ผ่านมา ๒,๖๐๐ ปีแล้ว และมีการแยกเป็นนิกายโน้นนิกายนี้บ้าง แต่ว่าศีล ๒๒๗ ข้อยังอยู่ อริยมรรคมีองค์ ๘ ยังอยู่ อริยสัจ ๔ ยังอยู่ แม้เรื่องอื่นแผ่วไป แต่เรื่องสำคัญเหล่านี้ยังอยู่ในพระพุทธศาสนา นิกายต่าง ๆ ยังเก็บรักษาไว้ได้ดีเกือบทั่วโลก

ทำไมจึงยังเก็บรักษาไว้ได้ ?
นั่นก็เพราะทุก ๆ ๑๕ วัน พระภิกษุสงฆ์พร้อมใจกันลงปาฏิโมกข์ ทบทวนความสมบูรณ์แห่งความเป็นพระ ศีล ๒๒๗ ข้อยังอยู่ ตราบใดที่ยังรักษาวันปาฏิโมกข์เอาไว้ได้ พระพุทธศาสนาก็ยังมีอนาคตอีกยาวไกล

ในวันพระ จึงเป็นหน้าที่ของพระภิกษุที่จะต้องช่วยกันรักษาสิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติเอาไว้ให้ดี เพราะเป็นที่มาของสีลสามัญญตา ไปทบทวนความบริสุทธิ์บริบูรณ์ของศีล เป็นการปรับทิฏฐิสามัญญตาให้ตรงกัน ทำให้หมู่คณะไปรอด ส่วนพุทธศาสนิกชนก็ได้ใช้วันเวลานี้เข้าวัด ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม บำเพ็ญบุญกันสืบมา

ในยุคนี้ เมื่อวันพระมิใช่วันหยุดงาน ญาติโยมฝ่ายคฤหัสถ์ยังต้องประกอบหน้าที่การงานทำมาหาเลี้ยงชีพ มีโอกาสสั่งสมบุญเพียงช่วงเวลาเล็กน้อย เวลาเช้าก่อนไปทำงาน ก็เตรียมข้าวปลาอาหารอย่างประณีต เตรียมตั้งใจมาถวายพระ ถวายสามเณรเป็นอย่างดี ซึ่งแต่ละรูปก็ล้วนตั้งใจฝึกหัดขัดเกลาตัวเอง ตั้งใจมาเป็นอายุพระศาสนา ด้วยความเพียรของญาติโยมที่จะสร้างบุญเอาไว้เป็นที่พึ่งของตนอย่างนี้ แม้มีเวลาไม่มากพอจะอยู่ฟังเทศน์ฟังธรรมได้นาน ก่อนจะกลับควรจะได้นั่งสมาธิก่อน เมื่อนั่งสมาธิแล้ว เมื่อใจเป็นกลางแล้ว ก็จะเห็นตัวเองได้ชัดเจนว่า เรามีความประพฤติดีหรือไม่ดีตรงไหน ที่ไม่ดีเมื่อรู้ตัวก็จะได้แก้ไข ที่ดีแล้วก็จะได้ทำให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป

ญาติโยมเมื่อเข้ามาวัด แม้ไม่ได้ฟังเทศน์ แต่ได้เห็นพระภิกษุ เห็นสามเณร อยู่ในอาการสำรวมทั้งการนุ่ง การห่ม ทั้งอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง สำรวมอยู่ในวินัย และยิ่งได้เจอความสะอาดของวัด ข้าวของทุกอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ความเขียวสดชื่นร่มรื่นของหมู่แมกไม้ สิ่งแวดล้อมที่ดีภายในวัด ก็พอที่จะทำให้เขาเหล่านั้นได้คิดอะไรขึ้นบ้าง ได้เห็นตัวอย่างแล้วเอาไปทำเป็นประโยชน์ต่อตัวเขาบ้าง กลายเป็นเหตุน้อมนำให้เขาเกิดความรู้สึกที่อยากจะมาปฏิบัติธรรมที่วัดให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปในวันหยุด หรือวันพระที่ตรงกับวันหยุด

เช่นนี้แล้ว วันพระก็จะเป็นประโยชน์แก่พุทธบริษัทสี่ ทั้งพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ก็จะได้ทบทวนศีลของตน และปรับทิฏฐิสามัญญตาของตนให้เสมอกันทั้งหมู่คณะ เสาหลักทั้ง ๔ เสาที่ค้ำจุนพระพุทธศาสนา ก็จะยังคงแข็งแรงเข้มแข็งมั่นคง ช่วยกันธำรงรักษาพระพุทธศาสนาไว้ให้เป็นที่พึ่งแก่มนุษยชาติต่อไปได้อีกนานแสนนาน

เรื่อง : หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๒๐๗ ประจำเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓

คลิกอ่านบทความได้ที่นี่ https://dhamma-media.blogspot.com/2020/02/lp0363.html

***สามารถนำไปเผยแพร่ได้ แต่ขอให้ใส่ Cr. ผู้เขียนด้วย***

คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญในรูปแบบของ PDF
https://dhamma-media.blogspot.com/2020/02/ynb207.html

คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญในรูปแบบของ E-book
http://dhammamedia.org/YNB%202563/207%20YNB%206303/YNB%20Mar%2063.html#p=34

คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๒๐๗ ประจำเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ได้ที่นี่

คลิกที่รูป หรือ สแกน QR-CODE เพื่ออ่านบทความนี้
วันพระมีความเป็นมาและความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของพุทธศาสนาอย่างไร ? วันพระมีความเป็นมาและความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของพุทธศาสนาอย่างไร ? Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 22:39 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.