โครงการผ้าเหลืองห่มดอย ความเรืองรองแห่งพุทธศาสนาบนยอดดอย
ความเรืองรองแห่งพุทธศาสนา
บนยอดดอย
ในดินแดนขุนเขายอดดอยอันไกลโพ้น
ยังคึกคักไปด้วยบรรยากาศแห่งการทุ่มเทชีวิตจิตใจทำหน้าที่ฟื้นฟูพระพุทธศาสนาอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพันภายใต้นโยบาย
“ผ้าเหลืองห่มดอย” ของตะวันธรรม คือการเผยแผ่ธรรมะควบคู่กับการสร้างศาสนทายาทของทีมงานพุทธบุตรวัดดงดินแดง
ตำบลม่อนจอง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่
ฝ่าทุกความยากเอาผ้าเหลืองไปห่มดอย
เป็นที่รับรู้กันอย่างดีว่า
พื้นที่บนดอยสูงยังห่างไกลความเจริญ การใช้ชีวิตและการเดินทางกลางป่าเขาเป็นไปด้วยความยากลำบาก
แต่ทุกความยากเหล่านั้นก็ไม่อาจขวางกั้นความตั้งใจในการทำหน้าที่เผยแผ่ธรรมะของทีมงานพุทธบุตรวัดดงดินแดงได้เลย
ท่านเดินทางไปในแต่ละหมู่บ้าน ขึ้นทุกบ้าน ชวนคนสวดมนต์ นั่งสมาธิ
ให้ความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วชวนคนให้เข้าวัดปฏิบัติธรรม
และชวนให้มาบวชในภาคฤดูร้อนและวาระสำคัญต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง
ฝึกฝนทั้งธรรมวินัย
ควบคู่กับการเผยแผ่
ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจในการลงพื้นที่สร้างมวลชนชาวพุทธอย่างต่อเนื่องนี้เอง
ทำให้ในแต่ละปีมีกุลบุตรเข้ามาบวชสร้างบารมีกับวัดดงดินแดงเป็นจำนวนมาก
และเมื่อบวชแล้ว พระภิกษุ-สามเณรทุกรูปจะได้รับการฝึกฝนทั้งพระธรรมวินัย
สลับกับการหล่อหลอมจิตสำนึกรักในพระพุทธศาสนาด้วยการธุดงค์ไปดูวัดร้างต่าง ๆ ฝึกตน
ทนหิว บำเพ็ญตบะ ฝึกวัตรปฏิบัติให้เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธา ควบคู่กับการเผยแผ่ คือ
การลงพื้นที่ไปเทศน์สอนยังหมู่บ้านต่าง ๆ
แล้วย้อนกลับไปเผยแผ่ธรรมะยังหมู่บ้านของตนเอง
ดึงศรัทธาดั้งเดิมให้หวนกลับคืนมาเป็นชาวพุทธ
เมื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้รับการขับเคลื่อนด้วยพระลูก-เณรหลานของชาวดอยเอง
จึงสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจแก่คนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี
ทำให้การเชื่อมต่อความรู้ความเข้าใจดำเนินไปได้โดยง่าย ส่งผลให้มีผู้คนหวนคืนกลับมาสู่พระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว
โดยผ่านพิธีกรรมการแสดงตนเป็นพุทธมามกะในแต่ละยอดดอย
ปลูกฝังความเป็นชาวพุทธอย่างแนบแน่นแก่วงศ์ตระกูล
กิจกรรมหนึ่งที่สร้างความปลื้มใจและสร้างศรัทธาอันแนบแน่นแก่ชาวดอยต่อพระพุทธศาสนา
คือ การมอบพระพุทธรูปประจำตระกูล เพราะชาวพุทธบนยอดดอยรักพระพุทธศาสนายิ่งชีวิต แต่ไม่มีพระพุทธรูปไว้กราบไหว้บูชากันเลย
บางหลังคาเรือนมีเพียงภาพพระพุทธรูปใบเก่า ๆ ติดไว้ที่ฝาเรือนเพื่อกราบไหว้เท่านั้น
ดังนั้นทางวัดดงดินแดงจึงมีโครงการมอบพระพุทธรูปแก่ตระกูลชาวพุทธ โดยมอบให้เป็นพระพุทธรูปประจำตระกูลแก่ครอบครัวที่ปฏิญาณตนว่าจะเป็นชาวพุทธตลอดชีวิต
โดยจารึกนามแห่งตระกูลไว้ที่หน้าฐานขององค์พระทุกองค์ เพื่อเป็นพยานทางวัตถุแก่วงศ์ตระกูลไปตราบชั่วลูกชั่วหลาน
ซึ่งวันรับมอบองค์พระ ผู้เป็นใหญ่ในเรือนจะรวบรวมลูกหลานมาทำพิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะ
ปฏิญาณตนเป็นชาวพุทธตลอดชีวิต รับศีลและไตรสรณคมน์ สวดมนต์บทธัมมจักกัปปวัตตนสูตร นั่งสมาธิ
แล้วอัญเชิญพระขึ้นสู่หิ้งบูชา โดยพิธีกรรมนี้เป็นไปด้วยความศักดิ์สิทธิ์
เพราะคณะพระภิกษุ-สามเณรขึ้นไปมอบและเจริญพระพุทธมนต์ให้ด้วยตนเองทุกหลังคาเรือน
สร้างอัตลักษณ์ทางประเพณีวิถีพุทธ
นอกเหนือจากการเผยแผ่ธรรมะอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรมแล้ว
ยังมีการผลักดันกิจกรรมให้เกิดภาพลักษณ์ที่เป็นอัตลักษณ์อันงดงามในทางพระพุทธศาสนาให้บังเกิดแก่สายตาของผู้คนในวงกว้าง
นั่นคือ กิจกรรมก่อพระเจดีย์ทรายถวายเป็นพุทธบูชาในลำน้ำแม่ตื่น
เพื่อส่งเสริมให้ประเพณีวิถีพุทธเป็นเครื่องเชื่อมโยงความสามัคคีของพุทธบริษัททั้งหลายไปพร้อม
ๆ กับการสั่งสมบุญบารมีให้แก่ตนเอง และน้อมอุทิศส่วนกุศลแด่บรรพชนที่ล่วงลับไปแล้ว
บวชประพฤติธรรมตอกย้ำประเพณี
เนื่องจากพื้นที่บนดอยหลายแห่งไม่มีวัดประจำหมู่บ้านและไม่มีพระภิกษุเป็นเนื้อนาบุญ
ทำให้ชาวบ้านขาดโอกาสในการทำบุญ ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า ซึ่งเป็นประเพณีบุญที่สำคัญของชาวพุทธ
ดังนั้นวัดดงดินแดงจึงนำกิจกรรมนี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการอบรม โดยจัดพิธีทอดผ้าป่า ผ้าเหลืองห่มดอยขึ้น เพื่อฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ซึ่งกิจกรรมบุญนี้นอกจากจะทำให้ชาวดอยที่เข้ามาบวชได้เรียนรู้เรื่องการทอดผ้าป่าและได้บุญจากการทอดผ้าป่าแล้ว
ยังเป็นโอกาสดีของผู้ใจบุญทั้งหลายในการขึ้นไปสนับสนุนส่งเสริมพระพุทธศาสนาในพื้นที่ห่างไกล
ซึ่งในวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๓ ที่ผ่านมา คณะเจ้าภาพผู้มีบุญผู้เปี่ยมด้วยศรัทธาในพระพุทธศาสนา นำโดยกัลยาณมิตรพรสรร
กำลังเอก เดินทางไปเป็นประธานทอดผ้าป่า
เพื่อส่งเสริมงานบุญโครงการผ้าเหลืองห่มดอยให้สำเร็จอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
พระพุทธศาสนาเฟื่องฟูสว่างไสว
ปัจจุบันโครงการผ้าเหลืองห่มดอยนับเป็นโครงการสำคัญที่ก่อให้เกิดพุทธบุตรและนักสร้างบารมีต้นบุญ
ต้นแบบ ที่เอาชีวิตเป็นเดิมพันในการฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ช่วยผลักดันงานพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองสว่างไสวไปอย่างกว้างขวางทุกยอดดอย
และไม่เคยว่างเว้นจากการสร้างศาสนทายาท ฝึกฝน ปลูกฝัง และออกเดินทางทำหน้าที่ในสนามจริงอย่างต่อเนื่อง
ดังบทประพันธ์ของตะวันธรรมที่เคยมอบให้เป็นขวัญกำลังใจและเป็นดุจนโยบายแก่การทำหน้าที่พุทธบุตรนักรบแห่งกองทัพธรรม
ดังต่อไปนี้..
วัดดงดินแดง
แหล่งผลิตนักรบอัศจรรย์ ทุ่มทั้งชีวันสร้างกองพัน บีการ์ด
ฮาร์ดคอร์
ปกป้องพระศาสน์ ให้ชาวพุทธทุกเผ่าเหล่ากอ สืบปณิธานสานต่อ บรรพบุรุษ ปู่ ย่า ตา ยาย
ทุกเผ่าพันธุ์ในป่าเขา
ต่างเฝ้ารอคอย พุทธบุตรเณรน้อย
ไปสั่งสอนด้วยความกระหาย
อยากศึกษาความรู้ขององค์พระจอมไตร เพื่อปิดประตูอบาย เปิดประตูไปสู่สวรรค์
วัดดงดินแดง
เฝ้าเพียรสอนสั่งทุกชุมชน ให้ทุก ๆ
คน รวมใจเป็นหนึ่งเดียวกัน
ว่าขอยืนยัน จะไม่มีวันเปลี่ยนแปรผัน จะยึดมั่นเป็นชาวพุทธ เป็นชาวพุทธตลอดกาล
ไม่ว่าใครจะเอาภูเขาทองหรือสิ่งของใด มายกให้ก็ไม่มีวันเปลี่ยนแปรผัน
จะขอยืนยันคำเดิม ๆ ด้วยปณิธาน ขอเป็นชาวพุทธตลอดกาล เหมือนดั่งปู่ ย่า ตา
ยาย
เรื่อง : หิน-เหล็ก-เพชร
***สามารถนำไปเผยแพร่ได้ แต่ขอให้ใส่ Cr. ผู้เขียนด้วย***
คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญในรูปแบบของ PDF
https://dhamma-media.blogspot.com/2020/02/ynb207.html
คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญในรูปแบบของ E-book
http://dhammamedia.org/YNB%202563/207%20YNB%206303/YNB%20Mar%2063.html#p=34
คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๒๐๗ ประจำเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ได้ที่นี่
http://dhammamedia.org/YNB%202563/207%20YNB%206303/YNB%20Mar%2063.html#p=34
คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๒๐๗ ประจำเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ได้ที่นี่
- การฝึกสมาธิ ณ ดินแดนแห่งเขาพันลูก
- โครงการผ้าเหลืองห่มดอย ความเรืองรองแห่งพุทธศาสนาบนยอดดอย
- บุญใหญ่ครบ ๕๐ ปีวัดพระธรรมกาย
- พลิกชีวิตเด็กน้อยติดเกม เปลี่ยนจากเด็กที่ Say No มาเป็นสามเณรที่ Say Yes
- ไม่มีอะไรร้าย ในวันที่ใจเรายังดี
- ข่าวสารเครือข่ายคณะศิษย์
- หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๕๕)
- ๑๖ ปี แห่งการหยัดสู้
- วันพระมีความเป็นมาและความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของพุทธศาสนาอย่างไร ?
- ย้อนอดีต...ท่องประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา (ตอนที่ ๒๗)
- ความน่ากลัว ๓ อย่าง
โครงการผ้าเหลืองห่มดอย ความเรืองรองแห่งพุทธศาสนาบนยอดดอย
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
18:36
Rating:
กราบอนุโมทนาบุญทุกๆท่านด้วยค่ะ.
ตอบลบกราบอนุโมทนาบุญทุกๆท่านด้วยค่ะ.
ตอบลบ