ทำไม..ต้องทำบุญสร้างสะพานและสร้างถนนไว้ในพระพุทธศาสนา ?



ทำไม..ต้องทำบุญ

สร้างสะพานและสร้างถนน

ไว้ในพระพุทธศาสนา ? 


บรรพบุรุษปู่ย่าตายายของเรามักจะบอกลูกหลานเสมอว่า นอกจากให้ทำบุญสร้างพระสร้างโบสถ์แล้ว ยังบอกลูกหลานอีกว่า ให้ทำบุญสร้างถนนหนทาง สร้างสะพานอีกด้วย เพราะเชื่อกันว่า จะทำให้หนทางชีวิตไม่ลำบาก จะเจอแต่ความสะดวกสบายตลอดเส้นทางชีวิต แม้เจออุปสรรคขวากหนามมากมายขนาดไหน ก็จะข้ามพ้นไปได้ และด้วยบุญนี้ก็จะทำให้เจอหนทางที่ตรง ลัด จะได้หมดกิเลสเข้านิพพานได้โดยง่าย


ฉะนั้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่บางตระกูลผู้มั่งคั่งร่ำรวยถึงนิยมสร้างถนนหนทางสาธารณะหรือสร้างให้วัด โดยใส่ชื่อ นามสกุล หรือราชทินนาม เป็นชื่อสะพาน ถนน หรือซอยเลยทีเดียว


ที่สำคัญ การสร้างสะพานและถนนเป็นบุญที่ทำแล้วให้อานิสงส์มาก ดังเรื่องราวต่อไปนี้


อานิสงส์การสร้างสะพานถวาย

พระเสตุทายกเถระ

ผู้เคยถวายสะพานด้วยจิตเลื่อมใส

จากข้อมูลในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก เสตุทายกเถราปทานที่ ๔ ว่าด้วยผลแห่งการสร้างสะพาน พบว่า..ในอดีตชาติ พระเสตุทายกเถระ เคยใช้ให้คนสร้างสะพานเพื่อถวายแด่พระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า และด้วยบญุนี้ หลังจากละโลกแล้วทำให้ท่านได้เสวยผลบุญอยู่แต่ในเทวโลกและมนุษยโลกตลอดกาลยาวนาน และด้วยบุญนี้ ทำให้ท่านหมดกิเลสบรรลุธรรมในสมัยของพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า





พระอุตตรปาลเถระ

ผู้เคยถวายสะพานด้วยจิตเลื่อมใส

นอกจากนี้ ยังมีอานิสงส์ของการถวายสะพานปรากฏใน อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ติกนิบาต ๑๒. อุตตรปาลเถรคาถา เรื่องมีอยู่ว่า..มีพระอรหันต์องค์หนึ่ง ชื่อ พระอุตตรปาลเถระ ซึ่งอดีตชาติเคยให้คนสร้างสะพานเพื่อถวายเป็นทางเสด็จแด่พระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยจิตเลื่อมใส และด้วยบุญนี้ หลังจากละโลกแล้ว ทำให้ท่านได้เสวยผลบุญอยู่แต่ในเทวโลกและมนุษยโลกตลอดกาลยาวนาน จนในชาติสุดท้ายได้มาเกิดในตระกูลพราหมณ์ ในกรุงพาราณสี และเมื่อเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสมณโคดมแสดงยมกปาฏิหาริย์จึงเกิดศรัทธาออกบวช แล้วหมดกิเลสบรรลุธรรมในที่สุด


อานิสงส์การสร้างถนน

เปรตมีม้าทิพย์ได้

เพราะทำหนทางให้คนเดินสะดวก

ย้อนไปในสมัยพุทธกาล มีกษัตริย์ลิจฉวีพระองค์หนึ่ง พระนามว่า “พระเจ้าอัมพสักขระ” พระองค์ทรงเห็นเปรตที่มีลักษณะเปลือยกาย แต่แปลกตรงที่เปรตตนนี้มีม้าอาชาไนยทิพย์สีขาวเป็นพาหนะคู่ใจ และแม้จะได้รับทุกข์จากการเป็นเปรต แต่ก็สามารถไปไหนมาไหนได้สะดวกว่องไว พระเจ้าอัมพสักขระทรงถามถึงบุพกรรมของเปรต เปรตจึงตอบว่า..ด้วยกรรมจากการเอาเสื้อผ้าเพื่อนไปซ่อนหลังจากอาบน้ำเสร็จ ทำให้เพื่อนหาเสื้อผ้าไม่เจอจนต้องเปลือยกายและเกิดความอับอาย ด้วยกรรมนี้ทำให้กลายเป็นเปรตเปลือยกายไม่มีเสื้อผ้าใส่ แต่ในชาติเดียวกันได้เห็นชาวบ้านสัญจรไปมาผ่านทางที่เป็นเปือกตม เป็นแอ่งโคลน เวลาเดินต้องกระโดดข้ามไปข้ามมาเปื้อนโคลนเลอะเทอะไปหมด จึงมีจิตเป็นกุศลเอากระดูกศีรษะโคที่ขัดสะอาดจนเป็นสีสังข์ปราศจากกลิ่นเหม็นมาวางทอดเรียงไว้ เพื่อเป็นทางให้คนเหยียบเดินไปมาได้สะดวกโดยไม่เลอะเทอะ ด้วยบุญนี้..แม้ไปเกิดเป็นเปรต ก็มีพาหนะเป็นม้าทิพย์ไปไหนมาไหนสะดวก... (อ่านเพิ่มเติมได้จากพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๘ ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา มหาวรรคที่ ๔ อัมพสักขรเปตวัตถุ ว่าด้วยพระเจ้าอัมพสักขระทรงสนทนากับเปรตเปลือย และอรรถกถา ขุททกนิกาย เปตวัตถุ มหาวรรคที่ ๔ อัมพสักขรเปตวัตถุ มหาวรรคที่ ๔ อรรถกถาอัมพสักขรเปตวัตถุที่ ๑) 





บุญที่ทำให้ไปเกิดเป็นพระอินทร์

หากได้ศึกษาประวัติของพระอินทร์จะพบว่า การที่ได้ไปเกิดเป็นเทพผู้ปกครองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ได้ ก็เพราะในสมัยท่านเกิดเป็นมนุษย์ชื่อ “มฆมาณพ” ท่านได้สมาทานวัตตบท ๗ ตลอดชีวิต อีกทั้งยังได้ทำบุญสำคัญมากอีกบุญหนึ่งก็คือ “คิดทำถนนหนทางเดินให้ราบเรียบ” เพื่อให้ผู้คนที่สัญจรผ่านไปผ่านมาเดินทางอย่างสะดวกสบาย มีความสุข เมื่อคิดอย่างนี้แล้ว พอรุ่งเช้าก็ไม่รอช้า รีบออกจากบ้านไปตัดกิ่งไม้ถากถางหนทาง กระวีกระวาดเอาจอบมาขุดเกลี่ยดินหินทำถนนให้เรียบโดยลำพัง แม้จะเหนื่อยมากแค่ไหนก็ทำด้วยความปีติเบิกบาน จนคนที่เดินผ่านไปผ่านมาเห็นความทุ่มเทขนาดนั้น จึงร้องถามขึ้นว่า..กำลังทำอะไร ?


ท่านก็ตอบด้วยความปลื้มว่า.. “ฉันก็กำลังทำหนทางไปสวรรค์ของฉันสิ”


เมื่อคนถามได้รับคำตอบอย่างนั้นแล้ว ก็อยู่ไม่ติด เกิดแรงบันดาลใจอย่างแรงกล้า อยากจะได้บุญบ้าง จึงมาช่วยกันสร้างถนนอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดแก่เหนื่อย และด้วยความตั้งใจที่ช่วยกันทำถนนอย่างมีความสุขนี้เอง ทำให้ผู้คนที่ผ่านมาทยอยกันมาช่วยสร้างถนนรวมทั้งหมดเป็นจำนวน ๓๓ คน จนได้หนทางที่ราบเรียบยาว ๑-๒ โยชน์




แม้มฆมาณพและสหายทั้ง ๓๓ คน จะสร้างถนนด้วยความบริสุทธิ์ใจจนกระทั่งเสร็จสมบูรณ์ แต่อนิจจา..ยังมีคนไม่เข้าใจท่าน แถมใส่ร้ายท่านต่าง ๆ นานา และเอาเรื่องไปฟ้องพระราชา แต่สุดท้ายท่านและสหายทั้ง ๓๓ คน ก็ผ่านวิกฤตนั้นมาได้เป็นอัศจรรย์ แถมยังไม่ย่อท้อต่อการทำความดีแม้แต่น้อย และเนื่องจากท่านรู้สึกมีความสุขมากที่เห็นคนมาใช้ถนนหนทางที่ท่านสร้าง จึงเกิดแรงบันดาลใจชวนกันสร้างศาลาเพื่อเป็นที่พักของมหาชนในหนทางใหญ่ ๔ แยกอีก


ด้วยบุญที่ตั้งใจทำอย่างจริงจังและปลื้มในบุญนี้เอง หลังจากละโลกไปแล้ว ท่านได้ไปเกิดเป็นพระอินทร์หรือท้าวสักกเทวราช ส่วนสหายของท่านทั้ง ๓๓ คน ก็ได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เสวยทิพยสมบัติอันประณีตวิจิตรอลังการอย่างมีความสุข...


จะเห็นว่า..ขนาดบุญจากการสร้างถนนหนทางให้ผู้คนธรรมดาสัญจรไปมายังมีอานิสงส์แรงขนาดทำให้ไปเกิดเป็นถึงพระอินทร์เลย ถ้าหากสักครั้งหนึ่งในชีวิต เรามีโอกาสสร้างถนนหรือทำหนทางเดินในวัดให้พระภิกษุ สามเณร หรือสาธุชนคนแล้วคนเล่า ได้ใช้เส้นทางนี้เดินเข้ามาปฏิบัติธรรม กราบพระในโบสถ์ เราจะได้บุญขนาดไหน...


เรื่อง : รัดเกล้า

วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๒๑๔ ประจำเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๓





***สามารถนำไปเผยแพร่ได้ แต่ขอให้ใส่ Cr. ผู้เขียนด้วย***

คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญในรูปแบบของ PDF


คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญในรูปแบบของ E-book

คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๒๑๔ ประจำเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ได้ที่นี่
ทำไม..ต้องทำบุญสร้างสะพานและสร้างถนนไว้ในพระพุทธศาสนา ? ทำไม..ต้องทำบุญสร้างสะพานและสร้างถนนไว้ในพระพุทธศาสนา ? Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 00:59 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.