หลวงพ่อตอบปัญหา



ถาม : เด็กเป็นอนาคตของชาติ เราจะปฏิบัติตัวอย่างไรจึงจะทำให้อนาคตของชาติเจริญรุ่งเรือง ?


ตอบ : เกษตรกรมีสิ่งจำเป็นลำดับแรก ๆ ที่จะต้องทำก่อนการเพาะปลูกในฤดูถัดไป คือ การบำรุงดิน เพราะดินถือเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดคุณภาพและจำนวนผลผลิตที่จะได้เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว


แล้วตัวกำหนดคุณภาพของเด็กซึ่งเป็นอนาคตของชาตินั้นคืออะไร หลวงพ่อขอชวนพวกเราให้มาดูคำสอนเกี่ยวกับทิศ ๖ โดยเริ่มกันที่หน้าที่ของมารดาบิดาที่มีต่อบุตร ซึ่งมีอยู่ ๕ ข้อ คือ


๑. ห้ามลูกไม่ให้ทำชั่ว ๒. ให้ลูกตั้งอยู่ในความดี ๓. ให้ลูกศึกษาศิลปวิทยา ๔. หาภรรยาหรือสามีที่สมควรให้ ๕. มอบทรัพย์สมบัติให้ในเวลาอันสมควร


เพื่อให้เด็กเติบโตเป็นคนดีมีคุณภาพ จะต้องป้องกันและกำจัดจุดอ่อนหรือตัวอุปสรรค คือ ความชั่ว เป็นประการแรก ถ้ามองว่าภัยอะไรใกล้ตัวที่สุด ภัยนั้นคือความชั่ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเตือนไว้ว่า ผู้มีปัญญาพึงระแวงภัยที่น่าระแวง แล้วป้องกันภัยนั้นก่อนที่จะมาถึง การป้องกันภัยก่อนที่จะมาถึงที่ทรงชี้แนะไว้ คือบิดามารดามีหน้าที่ห้ามลูกไม่ให้ทำชั่ว และให้ลูกตั้งอยู่ในความดี ถ้าไม่ได้รับการชี้แนะมาตั้งแต่เริ่มต้นจากที่บ้าน เด็กยังไม่รู้ดีรู้ชั่วแล้วส่งไปโรงเรียน ให้ศึกษาที่โรงเรียน ก็เป็นเรื่องยากสำหรับครูที่จะสั่งสอนได้ครบถ้วนทุกแง่มุม เพราะการสอนให้รู้ว่าอะไรดีอะไรชั่วนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องให้เวลาเขาค่อย ๆ เรียนรู้ แต่ที่โรงเรียนมีเด็กจำนวนมาก และขณะอยู่ที่โรงเรียนควรเป็นเวลาที่เด็กจะได้เรียนรู้ดี-ชั่วในระดับของการอยู่ร่วมกันไปแล้ว


เมื่อสอนยาก ครูก็ปล่อยปละละเลย เมื่อปล่อยปละละเลยในเรื่องง่าย ๆ เรื่องที่ลึกซึ้งขึ้นไปอีกเด็กก็ไม่รับแล้ว ทั้งครูและเด็กจะสนใจแค่ความรู้ด้านวิชาการ ซึ่งครูต้องให้เขา เพราะเป็นหลักสูตรที่ทางกระทรวงกำหนดเอาไว้ เมื่อได้ความรู้แล้ว เด็กจะเป็นอย่างไร ? ในเมื่อนิสัยไม่ค่อยจะดี เขาก็พร้อมจะเอาความรู้นั้นไปใช้ในทางที่ผิด ทำตามอำนาจกิเลสที่บังคับใจ แล้วเมื่อเด็กเหล่านี้โตขึ้นก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่รู้ดี-ชั่ว ยิ่งกลายมาเป็นพ่อคนแม่คนต่อไปอีก แล้วสังคมประเทศชาติบ้านเมืองจะมีผลลัพธ์อย่างไร เหตุการณ์เป็นงูกินหางกันมาอย่างนี้


ปัญหาทั้งโลกจึงเริ่มจากแยกดี-ชั่วไม่ออก เริ่มตั้งแต่คุณพ่อคุณแม่ตัดสินดี-ชั่วไม่ค่อยได้ แม้ตัดสินได้ แต่ก็ไม่สามารถสอนลูกให้รู้ดีรู้ชั่วได้ ครั้นพอสอนให้แยกดีแยกชั่วออกได้ ก็ยังมีความยากอีกขั้น คือทำอย่างไรจะฝึกให้ลูกรักดี รังเกียจชั่ว ทั่วโลกจึงพบคนที่ดี-ชั่วรู้หมด แต่ยังอดทำชั่วไม่ได้ ผลของการทำชั่วจึงกลายเป็นปัญหาบานปลายไม่รู้จักหมดสิ้น


ฉะนั้น ถ้าอยากเห็นบ้านเมืองนี้ดี เราซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่รู้ดี-ชั่วมาในระดับหนึ่ง ก็เลยมีหน้าที่โดยปริยายที่จะต้องเป็นตัวอย่าง เป็นต้นแบบของคนดี แม้โดยไม่ต้องพูด แค่เดินบนถนน ก็เป็นโมเดลคนดีให้คนอื่นได้ ใครจะรู้จักเรา ไม่รู้จักเรา ก็เรื่องของเขา แต่เรื่องของเราต้องทำตนเป็นคนดี เพื่อตัวเองเป็นหลัก เพื่อลูกหลานของเราเป็นรอง


พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชี้ว่า นี้คือหน้าที่ของเพื่อนบ้านผู้เป็นมิตรแท้ ป้องกันมิตรผู้ประมาทซึ่งไม่ดูแลลูกให้ดี ตัวเราในฐานะเพื่อนร่วมตำบล ร่วมอำเภอ ร่วมจังหวัด ร่วมประเทศ ร่วมโลก นอกจากช่วยป้องกันทรัพย์ของมิตรผู้ประมาทแล้ว ทรัพย์มีค่าอย่างหนึ่งของมนุษย์ก็คือ ลูก เราก็จะไปช่วยป้องกันทรัพย์นั้น คือลูก ๆ ให้แก่มิตรผู้ประมาท


ในฐานะมิตรแท้ เมื่อมีภัยก็เป็นที่พึ่งพาได้ ไม่ทิ้งกัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำนี้ไม่ได้ทำผิดหน้าที่ ธรรมดาเมื่อไฟไหม้กระต๊อบมุงด้วยหญ้าคาหรือไหม้สลัม ถ้าไม่ระงับ ไม่ช้าก็จะลามไปถึงคฤหาสน์ได้ เพราะฉะนั้นผู้ที่มีปัญญาก็ต้องหาทางป้องกันแก้ไขก่อน


คนมีปัญญาจะอยู่ที่ไหน ก็ช่วยประเทศชาติบ้านเมือง ช่วยพระพุทธศาสนา ช่วยสังคมได้ แต่มีข้อแม้ว่า คุณช่วยตัวเองได้แล้วหรือยัง ถ้าคุณช่วยตัวเองยังไม่ได้ ไม่ว่าคุณจะไปช่วยที่ไหนในโลก แทนที่จะทำให้เขาเจริญ คุณนั่นแหละคือตัวถ่วง คือคนหนึ่งที่ก่อปัญหาแก่บ้านนี้ เมืองนี้ โลกนี้ มันกลายเป็นอย่างนั้นไป


เมื่อแยกแยะดี-ชั่วไม่ออก หรือรู้หมดแต่อดทำชั่วไม่ได้ นั้นคือสัญญาณว่า สำนึกแห่งความดีความชั่วได้จางไปจากจิตใจมนุษย์แล้ว โลกต้องเริ่มฟื้นฟู และต้องเริ่มฟื้นฟูจากตัวเราเป็นคนแรก เริ่มจากดูตัวเองให้ชัด ทั้งฝึกทั้งหัดตัวเองให้ดี แล้วตัวเราจะเป็นโมเดลความดีให้แก่สังคม ศีลธรรมจะฟื้นฟู เมื่อเราเริ่มคิดดูตัวเอง


ดูตัวเองเริ่มตรงไหน ดูตัวเอง คือ ดูธรรมชาติแท้ ๆ ของโลกและชีวิตให้ชัด ๆ คนที่เห็นความจริงของชีวิตเท่านั้นจึงจะทำงานไม่รู้เหน็ดรู้เหนื่อย ๒๔ ชั่วโมงก็ทำได้ สายตัวแทบขาดก็ทำได้ เพราะรู้ว่าที่ทำนี้เพื่อตัวเอง ธรรมชาติของโลกและชีวิตเป็นดังนี้


- โลกความจริง คือ คุกถาวร


- คน สัตว์ทั้งโลก คือ นักโทษรอประหาร เมื่อเป็นนักโทษรอประหาร ก็เลยทำให้พอเพลิน ๆ ใจได้บ้าง แต่ว่าไว้ใจไม่ได้


- โลกนี้มีกฎ มีระเบียบ มีกติกาประจำโลกคอยควบคุม เรียกว่า กฎแห่งกรรม กฎนี้มีสั้น ๆ ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว


- ยังมีอีกกฎหนึ่งคือ กฎไตรลักษณ์ บางทีก็เรียกว่าสามัญลักษณะ เป็นสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตในโลกนี้ต่างก็มีเหมือนกัน ได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ว่าคนหรือสัตว์ต่างก็ประสบกับการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทั้งนั้น สิ่งไม่มีชีวิต เช่น ก้อนหิน โลก ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ฯลฯ ก็อยู่ในกฎไตรลักษณ์เช่นเดียวกัน คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ชั่วขณะ แล้วก็ต้องดับสลายไป คุกนี้ใช้กฎไตรลักษณ์เป็นเครื่องทรมาน ทำให้นักโทษวุ่นวายกับทุกข์ที่เกิดจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย และการพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก


มนุษย์มักมาติดใจอยู่แถว ๆ นี้ ก็เลยมาสาละวนวุ่นวายอยู่กับการเกิด แก่ เจ็บ ตาย พลัดพราก พยายามแต่จะเลิกแก่ เลิกเจ็บ เลิกตาย หมกมุ่นคิดแต่ตรงนี้ แต่ไม่คิดว่าทำอย่างไรจึงจะออกจากคุกนี้ได้ ยังไม่ค่อยมีใครคิดไปสุดเส้นทาง ก็เลยติดคุกอยู่อย่างนั้น เพราะสาละวนอยู่กับเกิด แก่ เจ็บ ตาย ซึ่งอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์นี้ จึงลืมสนใจกฎแห่งกรรม แทนที่จะคิดศึกษาในเรื่องกฎแห่งกรรมให้ชัดเจน แล้วจะได้ระมัดระวังตัวถูก ความที่สาละวนวุ่นวายกับการเกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่นี้ ผลสุดท้ายเลยเผลอทำผิดกฎแห่งกรรมจนได้ เมื่อไปพลาดทำผิดกฎก็เลยยิ่งถูกเพิ่มโทษ เพราะฉะนั้นนักโทษในโลกนี้ คุกพิเศษนี้ ถ้าอยู่ไม่เป็น ยิ่งอยู่ยิ่งถูกเพิ่มโทษมากขึ้นเรื่อย ๆ สิ่งเหล่านี้เป็นเพราะมนุษย์มองข้ามกฎแห่งกรรมจึงได้ทำความผิด และทำให้สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ พินาศโดยไม่จำเป็นไปไม่รู้เท่าไรแล้ว


มนุษย์วนเวียนเป็นทุกข์ในเรื่องเหล่านี้มานับภพนับชาติไม่ถ้วน ท่านเรียกว่า สังสารวัฏ สังสารวัฏนี้ไม่มีเบื้องต้น ไม่มีท่ามกลาง ไม่มีเบื้องปลาย ถ้าหากเราไม่ระวังกฎแห่งกรรมให้ดี จะไม่มีที่จบกัน มีแต่เพิ่มโทษ แต่ถ้าเราระวังให้ดี เราก็จะมีทางรอด ทางรอดอยู่ตรงถอดไมโครชิป คือ กำจัดกิเลสที่คอยบังคับให้เราทำชั่วออกจากใจให้หมดสิ้นด้วยการปฏิบัติ มรรคมีองค์ ๘ แล้วจะต้องปฏิบัตินานเท่าใด นั่นขึ้นอยู่กับว่า เราปฏิบัติเคร่งครัดและปฏิบัติถูกต้องและครบถ้วนแค่ไหน ปฏิบัติต่อเนื่องกันขนาดไหน ถ้าปฏิบัติถูกต้องและครบถ้วนแล้ว เราก็ออกจากคุกได้ ถ้าผิดจากนี้ก็ไม่มีทางอีกแล้ว นี้คือธรรมชาติจริง ๆ ของชีวิตและโลก ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเรียกความรู้ทั้งหมดนี้ว่า อริยสัจ ๔ คือ ความจริงของโลกและชีวิต ๔ ประการ


๑. ชีวิตนี้เป็น ทุกข์ ทุกวันเราก็แก่ ก็เจ็บ ก็ตาย ทุกวันเราก็หิว เราก็กระหาย แล้วถ้าทำผิดทำพลาดอะไร เราก็โดนปรับโทษหนักต่อไปอีก เพราะเราเป็นนักโทษรอประหาร


๒. ทุกข์ทั้งหลายที่เกิดกับเรามีที่มา มี สมุทัย หรือต้นเหตุ คือ กิเลสฝังลึกอยู่ในใจ เหมือนไมโครชิปที่คอยควบคุมการคิด พูด ทำของเราเอาไว้ ทำให้เราอยากชนิดไม่รู้จบ ที่เรียกว่า ทะยานอยากหรือตัณหา


๓. ทุกข์ทั้งหลายดับได้ด้วยการกำจัดกิเลสให้สิ้น นั่นคือ นิโรธ


๔. มรรค มีองค์ ๘ เป็นวิธีการเดียวที่สามารถกำจัดกิเลสได้ พอปฏิบัติเมื่อไร ก็กลายเป็นละชั่ว แล้วเริ่มทำความดี แล้วทำให้ใจใสไปตามลำดับ ๆ


พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า อริยสัจทั้ง ๔ นี้ เป็นความจริงอันประเสริฐ อริยะ แปลว่า ประเสริฐ สัจจะ แปลว่า ความจริง ทั้ง ๔ ประการนี้เป็นความจริงอันประเสริฐ ประเสริฐตรงที่ว่าถ้าใครปฏิบัติตามแล้วหมดกิเลสได้ หมดทุกข์ได้ และทำให้คน ๆ นั้นที่ตั้งใจปฏิบัติกลายจากคนธรรมดาเป็นพระอริยเจ้า เป็นผู้ประเสริฐได้


ถ้าเข้าใจธรรมชาติของโลกและชีวิตชัดอย่างนี้แล้ว เราจะตระหนักว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องศึกษาให้ชัดลงไปว่า ดี-ชั่วนี้ตัดสินอย่างไร ต้องศึกษาให้ชัด ๆ พลาดไม่ได้ ถ้าพลาดก็ถูกเพิ่มโทษ ทำมาหากินผิดพลาด ผิดกฎแห่งกรรม ก็โดนเพิ่มโทษ ถูกยั่วถูกยุอะไรด้วยอำนาจกิเลสแล้วไปทำเข้า เดี๋ยวก็ถูกเพิ่มโทษ กฎแห่งกรรมไม่มีอภัยหรือลดหย่อนอะไรให้ทั้งนั้น


เมื่อจะก้าวสู่ภาคปฏิบัติของการละชั่วทำดีแล้ว ต้องทำความเข้าใจกฎแห่งกรรมให้ชัด ทุกคนทำกรรมทั้งดี-ชั่วได้ทันทีที่เกิด และทำกรรมได้ ๓ ทาง คือ ทางกาย วาจา และใจ เพราะเหตุนั้นกฎแห่งกรรมจึงเริ่มบังคับใช้ทันทีที่เราเกิด


ดังนั้น งานเร่งด่วนคือ ต้องสอนให้ลูกรู้จักความดี ฝึกให้ลูกคุ้นกับความดี จะได้หนีความชั่วทันทีที่เกิด ถ้าฝึกได้ช้า ก็จะเผลอทำชั่วไปมาก แล้วได้บาปมาก ทุกข์ก็เกิดแก่ตนมากและนิสัยก็เสียมาก


การฝึกให้คุ้นกับความสะอาด ความเป็นระเบียบ ความนุ่มนวล ความสุภาพ ความตรงเวลา เป็นกำเนิดของความดี ป้องกันไม่ให้โกรธ ทำให้มีอารมณ์ดีตลอดเวลา แล้วยังประหยัดทั้งทรัพย์ ประหยัดทั้งเวลา ทำให้อารมณ์ดี สุขภาพจิตดี สุขภาพกายดี และได้นิสัยดี ๆ ตามมา นิสัยมองหาความดีของผู้อื่นจะเกิดขึ้นพร้อมกับรักจะทำกรรมดีให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป


สิ่งเหล่านี้จะฝึกให้คิดดี ๆ เป็น เมื่อคิดดีก็จะเป็นเหตุให้พูดดีและทำดีต่อไป เมื่อคุ้นเคยมากขึ้น อะไรที่ตรงข้ามจากนี้ ก็ไม่อยากทำ จะรู้สึกขยะแขยง รังเกียจ จึงสามารถตัดสินดี-ชั่วได้ด้วยใจตัวเอง แต่ถ้าปล่อยให้คุ้นเคยกับการกระทบกระทั่ง หยาบคาย กระโชกโฮกฮาก กระแทกกระทั้น ประชดประชัน ไม่ตรงต่อเวลา ไม่เป็นระเบียบ หมักหมม สกปรก เมื่อคุ้นมาอย่างนั้น พอมาเจออะไรที่สุภาพนุ่มนวล กลับไม่เอา เมื่อไม่คุ้นอะไรที่ดี ๆ ก็จะเลือกทำในทางตรงข้าม


การจะสอนให้รู้ดีรู้ชั่วนั้นไม่ใช่สอนด้วยคำพูด แต่ต้องสอนด้วยการปฏิบัติให้ดู ให้เห็น ให้สัมผัส ให้เกิดความคุ้นเคย การแก้ไขตัวเองคือกลยุทธ์ที่แสนวิเศษในการอบรมสั่งสอนผู้อื่นให้รักความดีสากล แม้ไม่ได้พูด ก็ช่วยทำให้เขารู้ดีรู้ชั่วได้


การจะทำอะไรให้ได้ดีต้องมีโมเดล ถ้าไม่มีโมเดลของความดีนั้น ๆ แล้ว คนที่จะทำตามจะทำได้ยาก และคนที่จะเป็นโมเดลนั้น แม้ตัวเองทำได้แล้ว แต่ถ้ายังอธิบายเหตุผลไม่ได้ ก็ยังยากที่จะให้เขาทำตาม แม้เป็นโมเดลและอธิบายได้ด้วย แต่กว่าจะอธิบายให้เข้าใจได้ตรงกันยังยาก ยิ่งกว่านั้น บางคนแม้จะรู้ดีรู้ชั่ว แต่ยังอดทำชั่วไม่ได้ก็มี แต่พอเห็นโมเดล ก็มีกำลังใจ ไม่ช้าก็อดทำชั่วได้ มีข้อพึงระวังไว้ว่า แม้รู้ว่าตัวเองมีข้อบกพร่องอย่างนั้นอย่างนี้ รู้วิธีแก้ กำลังใจที่จะแก้ก็มี กำลังกายก็มี ลงมือแก้แล้วด้วย แต่ว่านั่นแหละ สิ่งใดที่คุ้นแล้วเผลอไม่ได้ เดี๋ยวย้อนกลับมาอีก เพราะฉะนั้นตั้งใจฝึกตัวเองให้ดี ถ้าลงมือทำจะมีแต่กำไรกับกำไร กำไรเกิดขึ้นที่ตัวเอง กำไรเกิดขึ้นที่ลูกหลาน ที่บ้านเราเอง เกิดขึ้นรอบบ้าน รอบเมือง ยิ่งกำไรที่เกิดขึ้นกับตัวเองนี้ติดข้ามชาติได้เลย


ความสำเร็จในการปลูกฝังศีลธรรมขึ้นอยู่กับกฎแห่งกรรม เพราะคุกนี้ใช้กฎแห่งกรรมเป็นเครื่องมือควบคุมความประพฤติ เพราะฉะนั้นจึงต้องแยกดีชั่วออกให้ชัด การจะฝึกให้รู้จักดีชั่ว แยกดีชั่วให้ออก รักที่จะทำความดี รังเกียจการทำชั่ว ความสำเร็จจึงขึ้นกับคุณภาพของบิดามารดา ของพี่เลี้ยง และสิ่งแวดล้อม ดังนั้นผู้ใหญ่ที่รู้ดี-ชั่วบ้างแล้ว ตั้งใจเข้าวัดศึกษาธรรม ทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนาอยู่เป็นนิจ จะสามารถเป็นโมเดล เป็นตัวอย่าง ช่วยเป็นกำลังเสริมให้ครอบครัวอื่นเลี้ยงดูอนาคตของชาติให้เติบโตเป็นคนดี รู้จักแยกแยะดี-ชั่ว รักการทำความดี รังเกียจการทำชั่ว ทำแต่เรื่องสร้างสรรค์ให้ชีวิตมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง ส่งผลดีต่อสังคม ประเทศชาติบ้านเมืองได้ในที่สุด


เรื่อง : หลวงพ่อทัตตชีโว

วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๒๑๔ ประจำเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๓


***สามารถนำไปเผยแพร่ได้ แต่ขอให้ใส่ Cr. ผู้เขียนด้วย***

คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญในรูปแบบของ PDF


คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญในรูปแบบของ E-book

คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๒๑๔ ประจำเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ได้ที่นี่
หลวงพ่อตอบปัญหา หลวงพ่อตอบปัญหา Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 01:19 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.