หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๖๑)



การสืบค้นร่องรอยธรรมกายยังต้องเป็นภารกิจที่ดำเนินต่อไป

แม้ว่าสถานการณ์โควิด-๑๙ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกายังไม่มีทีท่าว่าจะกลับสู่ภาวะปกติในเร็ววัน ช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนได้รับข่าวน่ายินดีว่า กัลฯ กิตติพงษ์ วงศ์อักษร นักวิจัยจูเนียร์ของสถาบันวิจัยดีรี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยคอร์เนล ประเทศสหรัฐอเมริกา พร้อมกับหัวข้อวิจัยที่เกี่ยวข้องกับคัมภีร์กาศยปปริวรรต และเตรียมตัวเพื่อศึกษาในระดับปริญญาเอกต่อไป





มหาวิทยาลัยคอร์เนลเป็นหนึ่งในกลุ่มมหาวิทยาลัย lvy League ซึ่งประกอบด้วยมหาวิทยาลัยแนวหน้าในระดับโลก เช่น ฮาร์วาร์ด เยล และพรินซ์ตัน เป็นต้น


หลังจากจบปริญญาตรีจากคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง กัลฯ กิตติพงษ์ก็อาสามารับหน้าที่เป็นทนายแก้ต่างให้พระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกาย โดยสมัครมาเป็นนักศึกษาวิจัยของสถาบันวิจัยดีรี เพราะมีความสนใจในด้านอักษรศาสตร์และภาษาโบราณ จึงได้มาศึกษาคัมภีร์พุทธโบราณที่ค้นพบในแถบคันธาระและเอเชียกลาง ที่จารึกโดยใช้อักษรขโรษฐี ภาษาคานธารี ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่เก่าแก่ที่สุดจากที่เคยค้นพบในอารยธรรมอินเดีย และเริ่มมีการศึกษาไม่กี่ทศวรรษมานี้ โดยอาจารย์ที่เชี่ยวชาญในการอ่านคัมภีร์และมีลูกศิษย์มากมายทั่วโลกคือ ศ.ริชาร์ด ซาโลมอน แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งสถาบันวิจัยดีรีของเราได้ทำสัญญาความร่วมมือทางวิชาการโดยส่งนักวิจัยมาศึกษาที่นี่ หนึ่งในนั้นคือกัลฯ กิตติพงษ์นั่นเอง


กัลฯ กิตติพงษ์เล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า ในสมัยที่ศึกษาปริญญาตรีใบที่สองสาขาภาษาสันสกฤตอยู่ที่มหาวิทยาลัยวอชิงตันนั้น ได้เข้าร่วม Kharoṣṭhī Klub ซึ่งจะมีการอ่านและการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคัมภีร์โบราณทางพระพุทธศาสนาที่ค้นพบในดินแดนคันธาระและเอเชียกลาง คัมภีร์เหล่านี้มีความหลากหลายทางเนื้อหา ไม่ว่าจะเป็นคัมภีร์ที่มีในพระไตรปิฎกเถรวาทหรือพระสูตรทางฝ่ายมหายาน ซึ่งทั้งหมดมีอายุไม่ต่ำกว่า ๑,๕๐๐ ปี คือตั้งแต่ในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ ๑ ถึง ๕ หรือเก่าแก่กว่านั้น การศึกษาคัมภีร์เหล่านี้จึงมีความสำคัญต่อความรู้ความเข้าใจในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาเชิงวิชาการเป็นอย่างมาก ที่สำคัญทีมงานวิจัยยังพบร่องรอยของธรรมกายและวิธีการปฏิบัติสมาธิแบบเห็นองค์พระที่เคยเป็นที่นิยมในดินแดนแถบนี้เมื่อสมัยก่อน แต่ได้สูญหายไปตามกาลเวลา จนเมื่อมีการค้นพบคัมภีร์โบราณเหล่านี้ ทำให้ความรู้เหล่านี้กลับคืนสู่มวลมนุษยชาติอีกครั้ง ทั้งนี้รายละเอียดงานวิจัยเรื่องร่องรอยหลักฐานธรรมกายในดินแดนคันธาระและเอเชียกลาง สามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้ที่งานวิจัยของ ดร.ชนิดา จันทราศรีไศล ซึ่งนอกจากจะมีข้อมูลของธรรมกายในดินแดนเอเชียกลางแล้ว ทีมนักวิจัยดีรียังได้นำเสนอข้อมูลของธรรมกายที่ปรากฏในดินแดนอื่น ๆ ด้วย ทั้งเอเชียอาคเนย์และจีน เป็นต้น



กัลฯ กิตติพงษ์ วงศ์อักษร นักเรียนและนักวิจัยจูเนียร์ของสถาบันวิจัยดีรี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยคอร์เนล ประเทศสหรัฐอเมริกา ถ่ายภาพร่วมกับ ศ.ริชาร์ด ซาโลมอน และ ศ.คอลเล็ต ค็อกซ์



เหรียญกษาปณ์โบราณที่จารึกชื่อพระเจ้าเมนันเดอร์ (Menander) ด้านหน้าจารึกเป็นภาษากรีก ด้านหลังจารึกด้วยอักษรขโรษฐี


สำหรับดินแดนคันธาระและเอเชียกลางนี้ นอกจากมีการค้นพบคัมภีร์พระไตรปิฎกและพระสูตรมหายานต่าง ๆ แล้ว คัมภีร์สำคัญอย่างมิลินทปัญหาก็เป็นอีกชิ้นหนึ่งที่นักวิชาการเชื่อว่าน่าจะรจนาขึ้นในดินแดนแถบนี้ เพราะมีการค้นพบชิ้นส่วนของคัมภีร์ภาษาคานธารีที่มีข้อความระบุถึงพระนาคเสนซึ่งเป็นตัวเอกของเรื่อง ใน Kharoṣṭhī Klub ได้มีการหยิบยกชิ้นส่วนนี้ขึ้นมาศึกษา ซึ่งเป็นสัญญาณอันดีที่อาจจะช่วยยืนยันข้อสันนิษฐานของนักวิชาการว่าคัมภีร์มิลินทปัญหาน่าจะแต่งหรือรวบรวมขึ้นเป็นครั้งแรกในดินแดนคันธาระโบราณ ซึ่งเป็นแคว้นหนึ่งในอินเดียตะวันตกเฉียงเหนือ แม้หลักฐานชิ้นนี้จะเป็นเพียงชิ้นเล็ก ๆ แต่ก็เป็นหลักฐานสำคัญที่จะทำให้ความเข้าใจประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในดินแดนคันธาระและเอเชียกลางกระจ่างชัดยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับชิ้นส่วนคัมภีร์ที่สถาบันดีรีได้รับบริจาคมานั้น แม้จะเป็นชิ้นส่วนเล็ก ๆ เพียงแค่ ๑๐ ชิ้น (DIRI Collection) แต่ก็เป็นส่วนสำคัญในการสร้างความกระจ่างของเรื่องราวในพระพุทธศาสนาสมัยโบราณได้เป็นอย่างดี


เมื่อกล่าวถึงมิลินทปัญหา นับว่าเป็นคัมภีร์ที่มีความสำคัญ เพราะมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ธรรมกายอยู่เช่นกัน มิลินทปัญหาเป็นวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมาก ทั้งในอดีตและปัจจุบัน โดยมีการแปลเป็นภาษาจีนถึง ๑๑ ครั้ง ตั้งแต่สมัยคริสต์ศตวรรษที่ ๖ ถึง ๑๓ แต่มีต้นฉบับเหลืออยู่ในปัจจุบันเพียง ๒ ฉบับเท่านั้น ฉบับที่นำมาศึกษาคือฉบับแปลของพระภิกษุคุณภัทระ ซึ่งน่าจะแปลมาจากภาษาสันสกฤต ส่วนในฉบับภาษาบาลีนั้น ไม่ปรากฏผู้แต่งและยุคสมัยของการแต่ง ในประเทศพม่าถือว่ามิลินทปัญหาเป็นส่วนหนึ่งของพระไตรปิฎก คือเป็นส่วนหนึ่งของขุททกนิกายในพระสุตตันตปิฎก แต่ในประเทศไทยและศรีลังกาถือเป็นเพียงคัมภีร์ชั้นปกรณ์เท่านั้น ฉบับภาษาบาลีนี้มีเนื้อหาที่ยืดยาวออกไปจากฉบับภาษาจีนอยู่มาก โดยมีเพียง ๓ บทแรกจาก ๗ บท ที่มีเนื้อหาคล้ายคลึงกัน ตามข้อสันนิษฐานของพระภิกษุติช มิน เชา ผู้ได้ศึกษาเปรียบเทียบฉบับภาษาจีนและภาษาบาลีอย่างละเอียด พบว่าฉบับภาษาจีนน่าจะเป็นฉบับที่เก่าแก่และมีเนื้อหาใกล้เคียงกับต้นฉบับภาษาสันสกฤตหรือปรากฤตมากกว่าภาษาบาลี ส่วนฉบับภาษาบาลีน่าจะมีส่วนที่แต่งเพิ่มเติมขึ้นมาจากต้นฉบับบ้าง แต่ส่วนที่คล้ายคลึงของทั้ง ๒ ฉบับนั้น ชี้ให้เห็นว่าทั้ง ๒ ฉบับน่าจะมีต้นฉบับเดียวกัน นอกจากนี้นักวิชาการยังสันนิษฐานอีกว่า คัมภีร์มิลินทปัญหาน่าจะมีที่มาจากนิกายสรรวาสติวาท ซึ่งเป็นที่นิยมนับถือกันในเอเชียกลางในยุคสมัยดังกล่าว 


ผู้เชี่ยวชาญชาวตะวันตกด้านพุทธศาสนาสันนิษฐานว่า มิลินทปัญหาแต่งขึ้นในดินแดนอินเดียตะวันตกเฉียงเหนือหรือดินแดนเอเชียกลาง ซึ่งอดีตเคยเป็นเมืองพุทธที่รุ่งเรือง ดังมีพระพุทธรูปเก่าแก่และซากปรักหักพังของพุทธสถานกระจัดกระจายอยู่มากมาย ส่วนช่วงเวลาที่แต่งหรือรวบรวมคัมภีร์นี้ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่นอนชัดเจน นักวิชาการบางท่านคาดเดาว่าน่าจะแต่งช่วงเริ่มต้นของคริสต์ศักราชหรือราว ๆ พุทธศตวรรษที่ ๕ แต่บางท่านให้ความเห็นว่าน่าจะเก่าแก่กว่านั้น อาจจะแต่งขึ้นในสมัยพระเจ้าเมนันเดอร์ กษัตริย์ชาวกรีกที่ปกครองดินแดนแถบนี้ ประมาณ ๒ ศตวรรษก่อนคริสตกาลหรือพุทธศตวรรษที่ ๓ ตัวละครเอกของเรื่องหรือพระยามิลินท์นี้เป็นบุคคลที่ปรากฏอยู่จริงในประวัติศาสตร์ พระองค์เป็นกษัตริย์ชาวกรีกที่ปกครองดินแดนอินเดียตอนเหนือ มีการค้นพบเหรียญโบราณที่ระบุพระนามพระองค์ในภาษากรีกว่า เมนันเดอร์ ส่วนในภาษาบาลี พระนามนี้ถูกแปลงเป็นมิลินทะ เพื่อให้เข้ากับลักษณะของภาษา


ตามข้อมูลที่ท่านติช มิน เชา ได้ระบุในการศึกษา ท่านพบว่าเนื้อหาของมิลินทปัญหาในฉบับภาษาบาลีมีความยาวกว่าฉบับภาษาจีนมาก สามารถแบ่งได้เป็น ๗ ส่วน โดยมีเนื้อหาตรงกันใน ๓ ส่วนแรก หรือราว ๆ หน้าแรกถึงหน้าที่ ๘๙ ของฉบับสมาคมบาลีปกรณ์ ส่วนอีก ๔ ส่วนไม่ปรากฏในฉบับภาษาจีน ซึ่งน่าจะเป็นส่วนที่เพิ่มเติมภายหลังโดยโบราณาจารย์ในสายเถรวาทชาวศรีลังกา รายละเอียดปลีกย่อยของเนื้อเรื่องก็มีความแตกต่างกันพอสมควร แต่ว่าโครงเรื่องและตัวละครมีความคล้ายคลึงกัน ท่านติช มิน เชา ได้สรุปความเหมือนและความแตกต่างของเนื้อเรื่องในอดีตชาติของพระนาคเสนและพระยามิลินท์ไว้ดังนี้


๑. ในฉบับบาลี ในช่วงเริ่มต้นของเรื่อง สามเณรและพระภิกษุได้ตั้งความปรารถนาและต่อมาทั้งสองได้มาเกิดเป็นพระยามิลินท์และพระนาคเสนตามความปรารถนาที่ตั้งไว้ ในฉบับภาษาจีน เนื้อเรื่องเล่าว่า พราหมณ์ผู้เคยเป็นช้างในอดีตชาติและพราหมณ์ผู้เคยเป็นฤๅษี ซึ่งเป็นเพื่อนกัน ต่างก็ได้ตั้งความปรารถนา แล้วทั้งสองก็ได้มาเกิดเป็นพระนาคเสนและพระยามิลินท์ตามความปรารถนาของตน


๒. ฉบับบาลีกล่าวว่า พระโรหณะได้รับมอบหมายภารกิจจากพระอัสสคุตตะ เนื่องจากท่านไม่ได้ไปอาราธนามหาเสนเทพบุตรลงมาจุติพร้อมกับหมู่สงฆ์ พระอัสสคุตตะกำหนดหน้าที่ให้พระโรหณะเดินทางไปยังบ้านบิดามารดาของนาคเสน เพื่อบิณฑบาตเป็นประจำ ณ ที่นั้นเป็นเวลา ๗ ปีครึ่ง เพื่อนำนาคเสนออกจากชีวิตฆราวาสและให้การอุปสมบทแก่เขา ในฉบับภาษาจีน นาคเสนมีลุงคนหนึ่งชื่อว่าโลหันซึ่งเป็นพระอรหันต์ และบรรพชานาเซียนให้เป็นสามเณร พระโลหันในที่นี้อาจถือได้ว่าเท่ากับพระโรหณะ


๓. ฉบับบาลีกล่าวว่า พระนาคเสนได้อยู่จำพรรษา ๓ เดือน ในความปกครองของพระอัสสคุตตะผู้เป็นพระอรหันต์ ซึ่งอาศัยอยู่ที่วัดวัตตนิยะ ในฉบับภาษาจีน พระนาคเสนอาศัยอยู่ในวัดชื่อว่าโฮชัน ซึ่งมีพระอรหันต์อาศัยอยู่ ๕๐๐ รูป โดยมีพระอาโปเยียวเป็นเจ้าอาวาส วัดวัตตนิยะก็เทียบได้กับวัดโฮชัน และพระอรหันต์อัสสคุตตเถระก็เทียบได้กับพระอรหันต์อาโปเยียว


๔. ในฉบับบาลี พระนาคเสนสอนพระอภิธรรมแก่ศิษย์อุบาสิกา และแล้วทั้งผู้สอนและผู้ฟังก็บรรลุโสดาบัน เป็นที่พอใจของพระอัสสคุตตะซึ่งได้กล่าวว่า พระนาคเสนยิงศรดอกเดียวได้นก ๒ ตัว ในฉบับภาษาจีน พระนาคเสนสอนธรรมแก่ศิษย์อุบาสก และแล้วทั้งสองก็ได้บรรลุโสดาบัน พระนาคเสนได้รับการสรรเสริญจากพระอาโปเยียวว่า ยิงศรดอกเดียวได้นก ๒ ตัว


จากข้อเปรียบเทียบข้างต้น ทำให้ผลงานวิจัยของท่านติช มิน เชา สรุปว่า ต้นฉบับของทั้งบาลีและจีน น่าจะมาจากต้นฉบับเดียวกัน แต่ของบาลีถูกแต่งเสริมขึ้นในสมัยต่อมา โดยโบราณาจารย์เพื่ออธิบายข้อมูลเพิ่มเติม


ความเกี่ยวเนื่องกับธรรมกาย

สำหรับในฉบับภาษาบาลีที่ตีพิมพ์โดยสมาคมบาลีปกรณ์นั้น พบว่าในหน้าที่ ๗๓ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการถามที่อยู่ของพระพุทธเจ้าในนิพพาน (พุทธทัสสนปัญหา) มีการกล่าวถึงคำว่าธรรมกาย (ธมฺมกาย) ไว้ดังนี้


ราชา อาห ‘‘ภนฺเต นาคเสน, พุทฺโธ อตฺถีติ?. ‘‘อาม, มหาราช, ภควา อตฺถีติ ฯ


‘‘สกฺกา ปน, ภนฺเต นาคเสน, พุทฺโธ นิทสฺเสตุํ  อิธ วา อิธ วาติ?.


‘‘ปรินิพฺพุโต, มหาราช, ภควา อนุปาทิเสสาย นิพฺพานธาตุยา, น สกฺกา ภควา นิทสฺเสตุํ ‘อิธ วา อิธ วาติฯ ‘‘โอปมฺมํ กโรหีติ ฯ


‘‘ตํ กึ มญฺญสิ, มหาราช, มหโต อคฺคิกฺขนฺธสฺส ชลมานสฺส ยา อจฺจิ อตฺถงฺคตา, สกฺกา สา อจฺจิ ทสฺเสตุํ ‘อิธ วา อิธ วาติ? ‘‘น หิ, ภนฺเต, นิรุทฺธา สา อจฺจิ อปฺปญฺญตฺตึ คตาติ ฯ


‘‘เอวเมว โข, มหาราช, ภควา อนุปาทิเสสาย นิพฺพานธาตุยา ปรินิพฺพุโต อตฺถงฺคโต, น สกฺกา ภควา นิทสฺเสตุํ ‘อิธ วา อิธ วาติ, ธมฺมกาเยน ปน โข, มหาราช, สกฺกา ภควา นิทสฺเสตุํ ฯ ธมฺโม หิ, มหาราช, ภควตา เทสิโตติ ฯ


พระราชาตรัสถามว่า “พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีหรือ พระผู้เป็นเจ้า?”


พระเถรเจ้าทูลตอบว่า “ขอถวายพระพร มีอยู่.”


“พระผู้เป็นเจ้าสามารถจะชี้ได้หรือว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ที่นี้หรือที่นี้.”


“พระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้ว ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ อาตมภาพไม่สามารถที่จะชี้ได้ว่าอยู่ที่นี้หรือที่นี้.”


“ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาให้ข้าพเจ้าฟัง.”


“พระองค์จะทรงพระดำริเห็นข้อความนั้นเป็นไฉน เปลวแห่งกองไฟอันใหญ่ที่ลุกโพลงอยู่ดับไปแล้ว พระองค์จะทรงสามารถชี้ได้หรือว่าอยู่ที่นี้หรือที่นี้.”


“ไม่สามารถเลย เพราะว่าเปลวไฟนั้นดับแล้ว ถึงความไม่มีบัญญัติเสียแล้ว.”


“ข้อนั้นฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ใคร ๆ ไม่สามารถจะชี้ได้ว่าอยู่ที่นี้หรือที่นี้ ดังนี้ ก็แต่ว่าสามารถจะชี้ได้ด้วยธรรมกาย เพราะว่าพระธรรม พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้แล้ว.”


จากบทสนทนาข้างต้นที่พระยามิลินท์ถามพระนาคเสนว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมีอยู่หรือไม่ มีข้อสังเกตบางประการคือ


๑. สังเกตว่าบาลีใช้คำกริยาว่า อตฺถิ ซึ่งเป็น present tense หมายถึงมีอยู่ (ในปัจจุบัน) แทนที่จะใช้ past tense ที่ระบุถึงอดีต แปลว่าเคยมีอยู่ พระนาคเสนก็ตอบว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีอยู่ แต่ไม่สามารถชี้ได้ว่าอยู่ที่ไหน เพราะพระองค์ได้ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานไปแล้ว เหมือนไฟที่ดับแล้วก็ไม่สามารถชี้ได้ว่าไฟที่เคยลุกโชติช่วงอยู่หายไปอยู่ที่ใด แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าสามารถจะชี้ได้ด้วยธรรมกาย เพราะว่าพระธรรมเป็นสิ่งที่พระองค์ได้แสดงไว้แล้ว การถามคำถามนี้มีเป้าประสงค์ที่ชัดเจนว่าเป็นการอธิบายการมีอยู่ของพระพุทธเจ้าแม้ในเวลาหลังจากที่พระองค์ปรินิพพานไปแล้ว


๒. ปัญหาข้อนี้มีปรากฏอยู่ในฉบับภาษาจีนด้วย แม้ว่าข้อความส่วนใหญ่จะตรงกัน แต่ทว่าเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับธรรมกายกลับไม่ปรากฏในฉบับแปลภาษาจีน ข้อสันนิษฐานที่เป็นไปได้มี ๒ ข้อ คือ ประการแรก ข้อความที่เกี่ยวข้องกับธรรมกายอาจมีปรากฏตั้งแต่ต้นฉบับสมัยโบราณ แต่พระภิกษุผู้แปลเป็นภาษาจีนตัดข้อความบางส่วนออกเพื่อให้กระชับขึ้น แต่ภาษาบาลียังคงข้อความตามเดิมไว้ หรือประการที่ ๒ สันนิษฐานว่าต้นฉบับเดิมอาจจะไม่ปรากฏคำว่าธรรมกายอยู่ อาจจะเนื่องด้วยว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนพึงทราบอยู่แล้ว ผู้แต่งจึงไม่ได้ใส่ข้อขยายลงไป แต่เมื่อเวลาผ่านไป เมื่อต้นฉบับถูกแปลเป็นภาษาบาลีและมีการแต่งเติมเพื่อขยายความให้ชัดเจน โบราณาจารย์สายบาลีจึงใส่ข้อความระบุลงไปว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสามารถระบุได้ด้วยพระธรรมกายแม้ว่าพระองค์ปรินิพพานไปแล้ว ทั้งนี้ความเข้าใจเรื่องธรรมกายอาจจะน้อยลง จึงจำเป็นที่จะต้องขยายความให้คนรุ่นหลังเข้าใจ


สรุปได้ว่า การมีเนื้อความไม่ตรงกันในเรื่องธรรมกายของทั้งฉบับบาลีและจีนนั้น อาจจะเกิดจากการปริวรรตเนื้อหาในยุคหลัง ซึ่งแม้แต่ฉบับแปลภาษาไทย ๒ ฉบับ คือ ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัยและฉบับหอสมุดแห่งชาติก็มีเนื้อความไม่ตรงกัน โดยที่ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัยปรากฏข้อความที่กล่าวถึงธรรมกายเช่นเดียวกับสมาคมบาลีปกรณ์ แต่ฉบับหอสมุดแห่งชาติกลับตัดข้อความนั้นทิ้งเสีย สิ่งนี้จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น เราอาจจะได้ข้อสรุปว่า คำถามเรื่องการมีอยู่ของพระพุทธเจ้านี้น่าจะเป็นส่วนที่เก่าแก่มีมาแต่ต้นฉบับเดิม แต่ในฉบับภาษาบาลีที่มีการระบุถึงคำว่า ธรรมกายอย่างชัดเจนนั้นอาจจะถูกแต่งเสริมเข้ามาในภายหลัง เพื่ออธิบายขยายความเนื้อหาเดิมที่อาจจะไม่ชัดเจนเมื่อเวลาผ่านไป สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าโบราณาจารย์สายเถรวาทก็ยอมรับและให้ความสำคัญกับคำว่า ธรรมกาย อยู่มิใช่น้อย และมีความเข้าใจตรงกันว่า แม้รูปกายของพระพุทธเจ้าหายไปแล้ว แต่พระองค์ยังมีธรรมกายอยู่ แต่ว่าเหตุไฉนธรรมกายจึงเลือนหายไปตามกาลเวลาหรือลดความนิยมลงไปในพระพุทธศาสนาเถรวาทยุคหลัง ก็เป็นสิ่งที่น่าคิดสำหรับทีมงานนักวิจัยสถาบันดีรีที่จะต้องหาคำตอบต่อไป


งานวิจัยเปรียบเทียบมิลินทปัญหาและนาคเสนภิกษุสูตร โดยภิกษุติช มิน เชา ชาวเวียดนาม



พระติช มิน เชา พระภิกษุชาวเวียดนามผู้เชี่ยวชาญภาษาบาลีและจีน ผู้ทำวิจัยเปรียบเทียบคัมภีร์มิลินทปัญหาฉบับบาลีและจีนที่นำมาอ้างอิงในบทความนี้


มิลินทปัญหาฉบับอักษรโรมัน ตีพิมพ์โดยสมาคมบาลีปกรณ์ ปรากฏคำว่าธรรมกายในหน้า ๗๓





คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาในคอลเล็กชันของห้องสมุดมหาวิทยาลัยคอร์เนล ส่วนใหญ่เป็นคัมภีร์ทางเอเชียอาคเนย์ มีการรวบรวมคัมภีร์ภาษาไทยไว้ด้วย


เรื่อง : นวธรรมและคณะนักวิจัย DIRI

วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๒๑๔ ประจำเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๓


***สามารถนำไปเผยแพร่ได้ แต่ขอให้ใส่ Cr. ผู้เขียนด้วย***

คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญในรูปแบบของ PDF


คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญในรูปแบบของ E-book

คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๒๑๔ ประจำเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ได้ที่นี่
หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๖๑) หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๖๑) Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 02:29 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.