"บวช" อีกหนึ่งเส้นทางของการพัฒนาคุณค่าชีวิต
นับตั้งแต่สร้างวัดมาจนถึงปัจจุบัน วัดพระธรรมกายจัดงานบวชมาเป็นเวลาถึง
๔๕ ปีแล้ว (ตั้งแต่ พ.ศ.
๒๕๑๕) และในแต่ละปีก็ไม่ได้จัดแค่ครั้งเดียว ดังนั้นความชำนาญ และความรู้ในการจัดงานบวชย่อมต้องมีพอสมควร
ประกอบกับวัดพระธรรมกายเล็งเห็นกุศลเจตนาและความตั้งใจจริงของผู้บวชที่สละเวลาอันมีค่าออกบวช
เพื่อศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฉะนั้นทีมงานอบรมและทีมพิธีกรรมงานบวชจึงพยายามทำทุกขั้นตอนของการบวชให้ออกมาดีที่สุดเท่าที่จะทำได้
อีกทั้งยังต้องไม่ผิดจากพระธรรมวินัยและประเพณีอันดีงามของชาวพุทธ และที่สำคัญจะต้องเป็นไปเพื่อการพัฒนาตนเองของผู้บวชให้มากที่สุด
แม้ว่าบางโครงการมีระยะเวลาในการอบรมเพียงไม่กี่วันก็ตาม
๑
ภาพรวมของการบวชในแต่ละโครงการมีดังนี้
เริ่มแรกทางโครงการจะมีการสัมภาษณ์ผู้มาสมัครบวช พร้อมทั้งมีการสอบขานนาคตั้งแต่ตอนนี้เลย
จากนั้นผู้ที่ผ่านการสอบก็จะไปฝึกถือศีล ๘ อยู่ที่วัด เพื่อเตรียมกาย วาจา ใจ ให้พร้อมที่จะเป็นพระภิกษุที่ดี
ในช่วงก่อนบวชนี้ ธรรมทายาทจะได้ทำกิจกรรมมากมายหลายประการ
เช่น การทำสมาธิภาวนา, การฝึกเสขิยวัตร (มารยาทของพระภิกษุ) อาทิ การฉันภัตตาหาร การกราบ การลุก
การนั่ง, การฝึกซ้อมพิธีเวียนประทักษิณ พิธีขอขมา และพิธีบรรพชาอุปสมบท
ซึ่งในช่วงเตรียมกาย วาจา ใจนี้ มีการเปิดเสียงขานนาคเป็นระยะ ๆ เพื่อให้ธรรมทายาทได้ทบทวนจนแม่นยำ
เมื่อวันบวชมาถึง จะมีผู้คนมากมายไปร่วมอนุโมทนาบุญกับผู้บวช
ซึ่งในจำนวนนี้ย่อมมีคนที่เคยผ่านการบวชหรือรู้เรื่องพิธีกรรมงานบวชอยู่ไม่น้อย ถ้าหากพิธีกรรมไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย
มีขั้นตอนใดขาดหายไปหรือมีสิ่งใดไม่ชอบมาพากล รับรองว่าจัดบวชได้แค่ครั้งสองครั้งก็ต้องม้วนเสื่อ
เพราะคงไม่มีใครยอมให้ลูกหลานไปบวชที่วัดอีกเป็นแน่ แต่ที่ผ่าน ๆ มา ในแต่ละปีมีกุลบุตรทั้งชาวไทย
และชาวต่างชาติไปสมัครบวชมากขึ้นเรื่อย ๆ ในโครงการต่าง ๆ จนกระทั่งอุโบสถของวัดพระธรรมกายไม่พอรองรับพระภิกษุเข้าไปทำสังฆกรรมได้ครบทุกรูป
ดังนั้นพระภิกษุจำนวนมากจึงต้องออกมานั่งนอกอุโบสถ (ยังอยู่ในระยะหัตถบาสตามพระวินัย) ทำให้ปัจจุบันมีโครงการก่อสร้างโบสถ์พระไตรปิฎกเพื่อให้มีพื้นที่พอเพียงรองรับพระภิกษุที่นับวันจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น
๒
ในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ พ.ศ. ๒๕๖๐ นี้
ก็มีโครงการบวชอีกถึง ๓ โครงการ คือ โครงการอบรมธรรมทายาทอุปสมบทหมู่อุดมศึกษา
รุ่นที่ ๔๔ (ภาคฤดูหนาว)
โครงการบรรพชาอุปสมบทหมู่ธรรมทายาทนานาชาติกัมพูชา รุ่นที่ ๒ และโครงการบรรพชาอุปสมบทหมู่
รุ่นบูชาธรรม ๑๐๘ ปี คุณยายอาจารย์ฯ
โครงการแรกกับโครงการที่ ๒ มีพิธีบรรพชาอุปสมบทพร้อมกันเมื่อวันที่
๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ อีกโครงการมีพิธีบรรพชาอุปสมบทเมื่อวันที่ ๗ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๐ ทั้ง ๓ โครงการจัดพิธีบวชขึ้นที่อุโบสถวัดพระธรรมกาย
โดยมีพระเดชพระคุณพระมหาโพธิวงศาจารย์ (ป.ธ.๙) เจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม ราชวรวิหาร เมตตาไปเป็นพระอุปัชฌาย์
และมีพุทธศาสนิกชนจำนวนมากไปร่วมอนุโมทนา
๓
โครงการอบรมธรรมทายาทอุปสมบทหมู่อุดมศึกษา
รุ่นที่ ๔๔ (ภาคฤดูหนาว)
อบรมระหว่างวันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ ถึงวันที่
๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๐ มีธรรมทายาทจำนวน ๑๒
ท่าน เข้าร่วมโครงการ
โครงการบรรพชาอุปสมบทหมู่ธรรมทายาทนานาชาติกัมพูชา
รุ่นที่ ๒ อบรมระหว่างวันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ ถึงวันที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๐ มีธรรมทายาทชาวกัมพูชา จำนวน ๘ ท่าน เข้าร่วมโครงการ
ส่วนโครงการบรรพชาอุปสมบทหมู่บูชาธรรม
๑๐๘ ปี คุณยายอาจารย์ฯ มีธรรมทายาท จำนวน ๘๐ ท่าน อบรมระหว่างวันที่๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ ถึงวันที่
๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๐
๔
ตลอดการอบรม ธรรมทายาททุกท่านได้รับการดูแล
การฝึกสอน การเอาใจใส่จากพระอาจารย์และพระพี่เลี้ยงเป็นอย่างดี
ทุกท่านได้เรียนรู้และปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายตามแบบสมณะผู้สันโดษ
สุขสงบร่มเย็นทั้งกายและใจ และเมื่อลาสิกขาไปแล้วความรู้ที่ได้รับจากการอบรมยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
ทำให้ชีวิตพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น มีความสุขความเจริญยิ่งขึ้น
สุดท้ายนี้ขอสรุปว่า การบวชที่วัดพระธรรมกายนอกจากต้องมี
“ขานนาค” แน่ ๆ แล้ว ผู้บวชยังต้องฝึกซ้อมขานนาคจนกระทั่งแม่นยำอีกด้วย
สำหรับผู้ที่มีข้อสงสัยเรื่องการบวชของวัด ก็ขอเชิญไปร่วมงานดูบ้าง
หรือถ้าไปบวชเองได้ก็ยิ่งดี จะได้ไปพิสูจน์เรื่องที่ “เขาว่ากันว่า...” และอีกหลาย ๆ เรื่องเกี่ยวกับวัดพระธรรมกายที่ได้ยินมา ว่าเป็นความจริงหรือไม่
ดีหรือร้ายอย่างไร
บวชที่วัดพระธรรมกายดีอย่างไร
พระพอลกุณ สาย
นักธุรกิจและข้าราชการประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ราชอาณาจักรกัมพูชา
|
อาตมาเป็นทั้งนักธุรกิจและข้าราชการระดับสูงในสำนักนายกฯ
หนึ่งปีมีเวลาพักเพียง ๒๐ วัน ทุกปีอาตมาใช้เวลานี้พาครอบครัวไปเที่ยวต่างประเทศ แต่ปีนี้มาบวชสร้างบารมี
ซึ่งถือเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องและคุ้มค่าที่สุด ถึงแม้บวชแค่ ๓ สัปดาห์ แต่สิ่งที่ได้รับจากการบวชมีมากเกินพรรณนา
ทุกวินาทีที่ผ่านไปล้วนประกอบด้วยบุญกุศล อาตมาได้เรียนรู้เรื่องที่ไม่เคยรู้จากที่ไหนมาก่อน
ได้เข้าใจความจริงของชีวิตมากกว่าเดิม ได้ศึกษาแก่นแท้ของพระธรรมตามแบบแผนของพระไตรปิฎกพระอาจารย์และพระพี่เลี้ยงก็เอาใจใส่เสมือนพี่น้อง
ซึ่งแสดงให้เห็นความตั้งใจและการฝึกฝนตนเองมาอย่างดี และที่ประทับใจมากที่สุดก็คือ
ทุกกิจกรรมของวัดทำด้วยความตั้งใจจริง มีทีมงานที่เปี่ยมด้วยความสามารถและประสบการณ์
และที่สำคัญคือเต็มไปด้วยใจที่รักในบุญ กิจกรรมต่าง ๆ จัดได้ประทับใจสุด ๆ จนอดไม่ได้ที่จะชื่นชมหลวงพ่อทั้งสอง
ที่ตั้งใจสร้างวัดสร้างคนให้มีคุณภาพจนมีคนศรัทธาอย่างมั่นคงมากมาย แม้ปัจจุบันมีกระแสข่าวไม่ดีเกือบทุกวัน
แต่ศรัทธาของลูกศิษย์ก็ไม่สั่นคลอน สุดท้ายอาตมาคงไม่มีคำพูดอะไรนอกจากว่า จงอย่าเชื่อในสิ่งที่ได้ยินได้อ่าน
แต่จงมาพิสูจน์เองด้วยตา เอาใจมาพิสูจน์ แล้วจะรู้ว่าความจริงนั้นเป็นอย่างไร
พระโซมายด์ มีโด
ข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ
ราชอาณาจักรกัมพูชา
|
อาตมาปลาบปลื้มใจอย่างยิ่งกับการบวชในครั้งนี้
ได้เห็นน้ำตาของผู้มีพระคุณที่ไหลลงมาด้วยความปีติยินดีที่ลูกชายบวชทดแทนพระคุณท่าน
ตลอดระยะเวลาในการอบรมได้เรียนรู้สิ่งดี ๆ มากมาย ทั้งหลักธรรมและหลักการใช้ชีวิต ที่น่าสนใจมากที่สุดก็คือ ได้เรียนรู้ประวัติการสร้างบารมีของมหาปูชนียาจารย์และประวัติการสร้างวัด
ทำให้รู้ว่าหลวงพ่อทั้งสองเอาชีวิตเป็นเดิมพันในการสร้างบารมีจริง ๆ ท่านใช้เวลาทั้งชีวิตเพื่องานพระพุทธศาสนา
จึงทำให้ลูกศิษย์เคารพรักท่านได้มากถึงเพียงนี้ อาตมาเองก็ขอสัญญาเช่นกันว่าจะทำหน้าที่ชาวพุทธที่ดีไม่ว่าวันนี้หรือวันหน้า
ไม่ว่าจะอยู่ในเพศภาวะของพระหรือคฤหัสถ์ก็ตาม อาตมาจะตั้งใจสร้างบารมี ทำนุบำรุงพระศาสนา
และสุดท้ายขอกราบขอบพระคุณหลวงพ่อและพระอาจารย์ทุกท่าน ที่จัดโครงการดี ๆ ให้พวกเราได้มาเรียนรู้แก่นแท้ของชีวิต
แก่นแท้ของพระพุทธศาสนา
Cr. Moon Rabbit
จากวารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๗๒ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๐
"บวช" อีกหนึ่งเส้นทางของการพัฒนาคุณค่าชีวิต
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
01:43
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: