การบวชเป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา จะฝึกตนให้เป็นเนื้อนาบุญได้อย่างไร ?
พระภิกษุทุกรูปได้ชื่อว่าเป็นเนื้อนาบุญของโลก
แต่จะเป็นเนื้อนาบุญได้จริงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการฝึกตนของบุคคลนั้น ถ้าใครเป็นเนื้อนาบุญของโลกได้จริง
เมื่อศรัทธาสาธุชนทำบุญกับท่าน เขาจะได้บุญมาก บุญเป็นที่มาแห่งโภคทรัพย์ทั้งหลาย
เมื่อใดที่บุญส่งผล ความยากจนก็จะหมดไป
การที่ผู้ใดจะเป็นเนื้อนาบุญได้เพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับความบริสุทธิ์กาย วาจา
ใจของท่าน และความบริสุทธิ์นั้นเกิดขึ้นจากการฝึกปฏิบัติมรรคมีองค์
๘ ตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด
พระภิกษุที่ตั้งใจฝึกปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ อย่างเคร่งครัด
ใจของท่านก็มีความบริสุทธิ์เกิดขึ้น
เหมาะสมแก่การเข้าถึงธรรมตามรอยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปตามลำดับขั้นตอนแล้ว แม้ว่าท่านยังไม่สิ้นอาสวกิเลส
ยังไม่เข้าถึงธรรมภายใน ยังไม่เข้าถึงดวงปฐมมรรค ยังไม่สว่างเป็นตะวันเที่ยงที่กลางท้อง
ท่านก็สามารถเป็นเนื้อนาบุญได้ระดับหนึ่งแล้ว
เพราะแม้ว่าท่านยังไม่เข้าถึงธรรม
แต่ท่านได้ฝึกปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ อยู่เป็นประจำ
จนกระทั่งเพียงแค่นั่งสมาธิแล้วรู้สึกว่าใจอิ่มใจชุ่มฉ่ำ เกลี้ยงเกลา มีความสุขกับการนั่งสมาธิ
เวลาท่านจะยืน เดิน นั่ง นอน
รู้สึกเบากาย เบาใจ รู้สึกไม่มีความขุ่นมัว ไม่มีเรื่องกังวลใด ๆ ค้างคาใจ
รู้สึกว่าง โปร่ง โล่ง เบา เวลาท่านจะเหยียดแขน คู้ขา
จะเหลียวหน้า จะกลับหลัง รู้สึกตนว่ามีสติสัมปชัญญะ
รู้ตัวอยู่ตลอดเวลา
อารมณ์สงบสุขที่เกิดขึ้นในทุกอิริยาบถจากการปฏิบัติมรรคมีองค์
๘ ดังกล่าวนี้ คือสัญญาณบ่งบอกว่า
ใจของท่านสงบนิ่งบริสุทธิ์ได้ระดับหนึ่งแล้ว
สามารถจรดนิ่งเข้าศูนย์กลางกายได้ระดับหนึ่งแล้ว
เมื่อใจของท่านมั่นคงอยู่ที่ศูนย์กลางกายมากขึ้นตามลำดับ
ไม่เที่ยวตะลอนไปไหน ๆ บุญจากพระนิพพานย่อมหลั่งไหลมาหล่อเลี้ยงใจของท่าน
จึงทำให้ท่านเกิดอาการชุ่มเย็นใจจากการปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ อย่างนั้นอยู่เป็นประจำ
เมื่อใจหยุดนิ่งเข้าไปข้างในศูนย์กลางกายอย่างนั้น
ก็ต่อเอาท่อธารบุญจากพระนิพพานมาเลี้ยงใจได้ทันที
อุปมาเหมือนการต่อไฟฟ้าเข้ามาในบ้าน ทำให้เกิดความสว่างขึ้นมา
ถึงแม้ท่านยังไม่ถึงปฐมมรรค ยังไม่ถึงธรรมภายใน
แต่ก็ต่อเอาท่อธารบุญมาใช้ได้บ้างแล้ว และเมื่อท่านพากเพียรปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘
ให้มากยิ่ง ๆ ขึ้นไป จนกระทั่งได้บรรลุคุณวิเศษอันยอดเยี่ยม
ท่านก็จะกลายเป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลกขึ้นมา สมดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ใน
ปฐมปุญญาภิสันทสูตร [องฺ จตุกฺก ๓๕/๕๑/๑๗๘-๑๗๙ (มมร.)] ว่า
“ภิกษุบริโภคจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
คิลานปัจจัยของทายกใด
เข้าเจโตสมาธิอันเป็นธรรมหาประมาณมิได้
ท่อธารบุญกุศลของทายกนั้นย่อมนับประมาณมิได้ นำมาซึ่งความสุขให้ซึ่งผลอันดีเลิศ
มีความสุขเป็นวิบาก เป็นทางสวรรค์ เป็นไปเพื่อผลที่ปรารถนา ที่รักใคร่ ที่ชอบใจ
เพื่อประโยชน์ เพื่อสุข”
เมื่อเป็นอย่างนี้
ญาติโยมมาทำบุญด้วยก็เหมือนกับมาต่อสายบุญเข้าไปในตัวของเขา เหมือนการต่อสายไฟเข้าบ้าน
ทำให้ญาติโยมที่มาทำบุญได้บุญมากไปด้วย เมื่อเขาได้บุญมาก บุญก็ส่งผลก่อน ส่งผลมาก
เขาก็จะพ้นจากความยากจน ทำมาหาทรัพย์ได้ง่าย ได้มาก ทรัพย์ที่มีก็รักษาไว้ได้
ทรัพย์ไม่สิ้นไป ไม่ถูกทำลายไป ดังที่พระพุทธองค์ทรงอุปมาไว้ว่า
“แม่น้ำมากหลายอันเป็นที่ฝูงปลาอาศัยอยู่
ย่อมไหลไปสู่ทะเลอันเป็นที่รับน้ำใหญ่ เป็นที่ขังน้ำใหญ่ สุดที่จะประมาณ เป็นที่ประกอบด้วยสิ่งที่น่ากลัวมาก
เป็นที่กำเนิดแห่งรัตนะต่าง ๆ ฉันใด ท่อธารบุญย่อมหลั่งไหลไปสู่บัณฑิตผู้ให้ข้าว
น้ำ และให้ผ้า ให้เครื่องที่นอน ที่นั่ง และเครื่องปูลาดเป็นทาน ดุจแม่น้ำทั้งหลายไหลไปสู่ทะเลฉันนั้น”
คำว่า “เนื้อนาบุญ”
เป็นอย่างนี้ ถ้าฝึกปฏิบัติมรรคมีองค์
๘ จนสามารถทำใจหยุดใจนิ่งที่ศูนย์กลางกายได้มากเท่าไร
ก็เป็นเนื้อนาบุญได้มากเท่านั้น
เมื่อฝึกสมาธิแรก ๆ
อาจเริ่มจากเป็นสถานีบุญขนาดย่อย แต่เมื่อฝึกสมาธิอย่างสม่ำเสมอ
จากสถานีย่อยก็กลายเป็นสถานีบุญขนาดใหญ่ รับถ่ายทอดเอาบุญจากพระนิพพานมาเป็นท่อธารบุญแจกจ่ายให้แก่ทุกคนที่มาทำบุญ
ใครมาทำบุญกับท่านเมื่อใด ก็เหมือนเอาปลั๊กมาเสียบกับสถานีไฟฟ้าทีเดียว
แม้ในยามที่บ้านเมืองคับขัน เศรษฐกิจฝืดเคือง แต่ถ้าภิกษุทั้งหลายประคับประคองใจ ประคองอารมณ์ให้ดี
อย่าให้อารมณ์หวั่นไหว อย่าให้ใจเตลิดเปิดเปิง
ให้ใจตั้งมั่นอยู่ในศูนย์กลางกาย ยิ่งหลับตาลืมตาแล้วสว่างไสวอยู่ข้างใน
ประคองใจไว้ไม่คลาดเคลื่อนไปไหน มีหลักรักษาใจไว้ที่ศูนย์กลางกายอย่างนี้ ใครมาทำบุญด้วยก็ได้บุญมาก
เมื่อบุญหล่อเลี้ยงมากกว่าบาป บุญก็ส่งผลก่อน ความอัตคัดขัดสนก็จะทุเลาเบาบาง
ที่คับขันก็จะถูกปลดเปลื้อง ที่หนักก็จะเป็นเบา ที่ร้ายก็จะกลายเป็นดี
นี้เป็นผลที่เกิดขึ้นในการปฏิบัติตามมรรคมีองค์
๘ เมื่อปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ได้ครบถ้วนถูกส่วน
ใจจะหยุดนิ่งสนิทเข้าสู่ศูนย์กลางกาย ดังคำที่พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ บอกว่า “หยุดเป็นตัวสำเร็จ” หมายถึง ผู้ที่ปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘
ได้ดีแล้ว ใจจะหยุดนิ่ง บุญย่อมมาหล่อเลี้ยงใจเต็มที่
คนที่มีบุญมาเลี้ยงใจเต็มที่แล้ว
ทำอะไรก็สำเร็จหมดทุกประการ จะทำการงานสิ่งใด ก็สำเร็จ
จะศึกษาธรรมให้ลึกซึ้งแตกฉานในวิชชาธรรมกายก็สำเร็จ ใครมาทำบุญด้วยก็ได้บุญใหญ่
ได้บุญมาก เมื่อสาธุชนได้บุญใหญ่ไปแล้ว จะทำการงานสิ่งใดย่อมประสบความสำเร็จตามไปด้วย
พระภิกษุทั้งหลายที่มีใจเอื้อเฟื้อ มีกรุณา จะช่วยขจัดทุกข์มนุษย์
จะช่วยเหลือโยมบิดาโยมมารดา
จะช่วยเจ้าภาพศรัทธาสาธุชนที่สละทรัพย์สินเงินทองซึ่งหามายากมาบำรุงเลี้ยงพระกัน
อยากตอบแทนคุณท่านผู้ใจบุญเหล่านี้ พระภิกษุก็จรดเข้าศูนย์กลางกายเรื่อยไป
จรดให้ใจใสสว่างเป็นดวงตะวันเที่ยง ทำได้อย่างนี้ก็จะไม่เป็นหนี้ญาติโยม
เมื่อญาติโยมนำโลกิยทรัพย์มาให้ พระภิกษุก็แจกอริยทรัพย์คือบุญให้ญาติโยมกลับไปเป็นการตอบแทน
ซึ่งอริยทรัพย์นั้นเหนือกว่าโลกิยทรัพย์หลายล้านเท่าทีเดียว เพราะบุญคืออริยทรัพย์นั้น
จะติดตามตัวไปข้ามภพข้ามชาติ และตามส่งผลให้ตั้งแต่ปัจจุบันชาติ จนถึงชาติต่อ ๆ ไป
แม้เกิดใหม่ได้ฐานะอย่างไร ได้ร่างกายอย่างไร ได้สติปัญญาอย่างไร
ก็ด้วยอาศัยบุญที่ได้ประกอบไว้ตั้งแต่ในอดีตกันทั้งนั้น
Cr.หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๗๓ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๐
คลิกอ่านหลวงพ่อตอบปัญหาของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
สังคมเปลี่ยนไป แนวทางการใช้ชีวิตเปลี่ยนตาม พระพุทธศาสนามีคําแนะนําอย่างไร ? (ปีก่อนหน้า)
ความสะอาดและเป็นระเบียบมีความสําคัญต่อความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาอย่างไร ?
เมื่อเริ่มสร้างวัดพระธรรมกาย หลวงพ่อมีหลักการสร้างและดูแลวัดอย่างไร ?
ฤกษ์ดีพึ่งได้จริงหรือ?
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกำหนดมาตรฐานครอบครัว ชาวพุทธและสังคมพุทธไว้บ้างหรือไม่ ?
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีวิธีบำเพ็ญตนเป็นกัลยาณมิตรอย่างไร?
ทำอย่างไรจึงจะไม่ท้อไม่เหนื่อยในการทำงาน?
เมื่อเริ่มสร้างวัดพระธรรมกายฯ |
|
คลิกอ่านหลวงพ่อตอบปัญหาของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
สังคมเปลี่ยนไป แนวทางการใช้ชีวิตเปลี่ยนตาม พระพุทธศาสนามีคําแนะนําอย่างไร ? (ปีก่อนหน้า)
ความสะอาดและเป็นระเบียบมีความสําคัญต่อความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาอย่างไร ?
เมื่อเริ่มสร้างวัดพระธรรมกาย หลวงพ่อมีหลักการสร้างและดูแลวัดอย่างไร ?
ฤกษ์ดีพึ่งได้จริงหรือ?
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกำหนดมาตรฐานครอบครัว ชาวพุทธและสังคมพุทธไว้บ้างหรือไม่ ?
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีวิธีบำเพ็ญตนเป็นกัลยาณมิตรอย่างไร?
ทำอย่างไรจึงจะไม่ท้อไม่เหนื่อยในการทำงาน?
การบวชเป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา จะฝึกตนให้เป็นเนื้อนาบุญได้อย่างไร ?
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
02:02
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: