สังคมเปลี่ยนไป แนวทางการใช้ชีวิตเปลี่ยนตาม พระพุทธศาสนามีคําแนะนําอย่างไร ?
http://you-tube.one/watch/QFVUNk0xcGdpTkdn/5-.html |
สังคมมนุษย์ยุคโซเชียลเน็ตเวิร์กในทุกวันนี้ มีโคชช่วยแนะนําแนวทางการใช้ชีวิตหลายรูปแบบมาก
จนบางครั้งก็ไม่รู้ว่าจะเชื่อใครดี อยากทราบว่า ในพระพุทธศาสนามีคําแนะนําแนวทางการใช้ชีวิตที่เป็นมาตรฐานบ้างหรือไม่ว่าควรเป็นอย่างไร
?
ก่อนจะตอบคําถามนี้ให้เรามาใคร่ครวญดูให้ดีก่อนว่า
ชีวิตคืออะไร ?
๑. ชีวิต คือ การเป็นอยู่ในอัตภาพนี้
ในโลกนี้ ในระยะเวลาหนึ่ง ปัจจุบันนี้ใครจะมีชีวิตอยู่เกินร้อยปีก็หาได้ยาก
แทบจะนับคนได้ สุดท้ายแล้วชีวิตก็ดับไป และแล้วก็ย้อนกลับมาเกิดใหม่ในภพภูมิใหม่
มีชีวิตใหม่กันอีก
๒. ชีวิตประกอบไปด้วยทุกข์ ซึ่งเราเคยทําความเข้าใจกันมาแล้วว่า
ทุกข์ในโลกนี้แบ่งออกได้เป็น ๔ ประเภท
พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นชีวิตแรกของสัตวโลกที่กําจัดทุกข์ให้สิ้นไป หลุดพ้นจากทุกข์ไปได้ ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป
ทุกข์นํามาซึ่งความเดือดร้อน ความหิวกระหาย
ความทุรนทุรายแก่ชีวิต เมื่อทุกชีวิตประกอบไปด้วยทุกข์ ๔ การดําเนินชีวิตให้เป็นอยู่อย่างดีและสามารถพัฒนาได้
จึงเป็นไปเพื่อดับทุกข์หรือปราบทุกข์ ๔ นั่นเอง
จากตรงนี้เราก็พอทราบกันแล้วว่า เราจะดําเนินชีวิตไปเพื่อวัตถุประสงค์อะไร
ดังนั้น วิธีการดําเนินชีวิตที่ถูกต้องจึงเป็นการประกอบการงานต่าง
ๆ เพื่อปราบทุกข์ ๔
ทุกข์ ๔ ประกอบด้วย
๑. ทุกข์จากสรีระ ๒. ทุกข์จากการอยู่ร่วมกัน ๓.
ทุกข์จากการทํามาหาเลี้ยงชีพหรือการประกอบอาชีพ ๔. ทุกข์จากกิเลส
วิธีการดําเนินชีวิตที่ถูกต้องประกอบด้วย ๑. วิธีดําเนินชีวิตเพื่อการปราบทุกข์จากสรีระ ๒. วิธีดําเนินชีวิตเพื่อการปราบทุกข์จากการอยู่ร่วมกัน
๓. วิธีดําเนินชีวิตเพื่อการปราบทุกข์จากการประกอบอาชีพ ๔. วิธีดําเนินชีวิตเพื่อการปราบทุกข์จากกิเลส
วิธีดําเนินชีวิตเพื่อการปราบทุกข์จากสรีระ
สิ่งแรกที่จะต้องทําคือ ความดีสากล ๕ ประการ เพื่อเราจะได้รักษาศีล ๔
ข้อแรกในศีล ๕ ไว้ได้เพราะความดีสากล ๕ ประการนั้น สะอาด ทําให้ไม่ต้องฆ่า ระเบียบ
ทําให้ไม่ต้องลัก สุภาพ ทําให้ไม่ประพฤติผิดในกาม ตรงเวลา ทําให้ไม่พูดเท็จ แล้วก็ฝึก สมาธิ
ทําให้มีกําลังใจที่จะทําความดีสากลให้ต่อเนื่องสม่ำเสมอ
ผู้ที่ฝึกทําการงานตามความดีสากลอย่างนี้
ในที่สุดจะทํางานบ้านทุกอย่างได้ จะเป็นผู้มีทั้งสติปัญญา ความรู้ความสามารถมีความพร้อมที่จะอุปการะพี่
ๆ น้อง ๆ ได้หรือ
ตั้งแต่เล็กก็สามารถเป็นกําลังของครอบครัวได้
แม้แต่บุคคลที่เป็นคนดีมีประโยชน์ต่อโลกอย่างมิตรแท้ประเภทมิตรมีอุปการะ
ก็ได้รับการบ่มเพาะจากวิธีนี้ คือ ความดีสากล ๕ ประการ เช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีเรื่องการใช้ทรัพย์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้แบ่งทรัพย์ออกเป็น
๔ ส่วน โดยให้นําทรัพย์๑ ใน ๔ ส่วนนั้น แบ่งไว้ใช้ดูแลสุขภาพคือปราบทุกข์จากสรีระ โดยทําควบคู่ไปกับการทําความดีสากล ๕ ประการ
วิธีดําเนินชีวิตเพื่อการปราบทุกข์จากการอยู่ร่วมกัน
การอยู่ร่วมกับบุคคลที่แวดล้อมใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นบุคคลในทิศใดจากทิศ ๖
เราก็ต้องทําความดีสากล ๕ ประการกับท่านเหล่านั้นด้วย คือทําความดีกับทุก ๆ คน
ในขณะเดียวกัน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้นําทรัพย์อีก
๒ ส่วนจากในทั้งหมด ๔
ส่วนนั้น มาใช้เพื่อการประกอบอาชีพและการผูกมิตร เพื่อปราบทุกข์จากการอยู่ร่วมกัน
การผูกมิตรในที่นี้ก็คือ การใช้ทรัพย์เพื่อดูแลบุคคลใกล้ชิดทั้งในครอบครัวและในสังคม ใครเดือดร้อนก็ช่วยกันไป
การช่วยเหลือกันไปมาเช่นนี้ทําให้การอยู่ร่วมกันมีประโยชน์สุขเกิดขึ้น ลดความเดือดร้อนจากการกระทบกระทั่งของผู้ที่อยู่ร่วมกัน
จากตรงนี้น้ำใจของมิตรแท้ผู้ร่วมทุกข์ร่วมสุขก็ถูกบ่มเพาะขึ้นมา
วิธีดำเนินชีวิตเพื่อการปราบทุกข์จากการประกอบอาชีพ
ในการทำงานอาชีพ บุคคลที่แวดล้อมขยายวงกว้างมากขึ้น
เพิ่มจํานวนอย่างมากมาย มีทั้งเจ้านาย
มีทั้งลูกน้อง บุคคลทั้งหมดที่เราเกี่ยวข้อง เราก็ต้องปฏิบัติความดีสากลต่อทุกคน
ยิ่งต้องดูแลลูกน้อง เราก็จะได้เรียนรู้ประสบการณ์อะไรอีกสารพัด
ที่บังคับให้เราต้องเพิ่มพูนความรู้ความสามารถและคุณธรรม จึงจะสามารถดูแลแนะนําลูกน้องให้ทํางานสําเร็จเรียบร้อยได้
การงานเหล่านี้ได้บ่มเพาะให้คุณสมบัติมิตรแท้ผู้แนะนําประโยชน์เกิดขึ้น
วิธีดําเนินชีวิตเพื่อการปราบทุกข์จากกิเลส
กิจในการกําจัดกิเลส เช่น
จัดเวลาสวดมนต์ก่อนนอน พอใจเป็นกลางเราจะพบว่า ในวันนี้ที่เราทํางานมาทั้งวันเกิดอะไรขึ้นบ้าง เราทําอะไรที่ผิดพลาดลงไปบ้างหรือไม่
ไปสะดุดใครเขาบ้างหรือไม่ วันรุ่งขึ้นจะได้ปรับความเข้าใจขอโทษกันไป เมื่อทําอย่างนี้เราจะไม่ก่อศัตรูและยังลดทิฐิมานะไปได้อีกด้วย
หรือวันนี้ทํางานประสบผลสําเร็จ ก็จะได้สํารวจตรวจตราดูให้รู้แน่แก่ใจ ว่าที่เราทําสําเร็จมาได้
เพราะได้รับการสนับสนุนจากใครบ้าง เพราะการที่จะทําอะไรสําเร็จลําพังคนเดียวนั้นไม่มีหรอก จะต้องมีมือสนับสนุน เมื่อสําเร็จแล้วต้องขอบคุณ
นึกถึงผู้สนับสนุนเราให้ดี วันหน้าจะได้พึ่งพากันต่อไปอีก ความดีสากลที่เราประพฤติเพื่อการนี้ได้บ่มเพาะตัวเราให้เป็นมิตรแท้มีใจรักใคร่
นอกจากนั้น ทรัพย์ที่ยังเหลืออีก ๑ ส่วน จาก ๔ ส่วน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้แบ่งออกมาเก็บไว้ใช้ยามอันตราย
อันตรายมี ๒ ประเภท
ประเภทที่ ๑ อันตรายในวัฏสงสาร
พระพุทธองค์ทรงสอนให้นําทรัพย์ส่วนนี้ออกมาทําบุญ
ซึ่งเป็นการฝากทรัพย์ไว้ในพระพุทธศาสนา เป็นการสั่งสมเสบียงบุญให้ติดตามตัวไปข้ามภพข้ามชาติเพราะเข้าใจภัยในวัฏสงสาร
ประเภทที่ ๒ อันตรายในชีวิตของผู้อื่น
พระพุทธองค์ทรงสอนให้นําทรัพย์ส่วนนี้ออกไปสงเคราะห์เพื่อนมนุษย์ที่ประสบเหตุเภทภัยตกทุกข์ได้ยากในช่วงสถานการณ์ไม่ปกติ นอกจากนั้นในช่วงสถานการณ์ปกติก็นําทรัพย์ส่วนนี้ออกแบ่งปันในสังคม
เช่น การจ่ายภาษี
ก็จัดเป็นการใช้ทรัพย์ในส่วนนี้ด้วย
มีข้อคิดประการหนึ่งที่สําคัญในการดําเนินชีวิต
มีความจริงอยู่ว่า มนุษย์เราอยู่กันเป็นสังคม เราอยู่ตามลําพังโดยไม่สนใจทุกข์ร้อนของใครไม่ได้
วันหนึ่งเราจะต้องมีเหตุให้จําเป็นต้องพึ่งพาอาศัยกัน เพราะแต่ละคนล้วนมีปัญหาทุกข์
๔ ด้วยกันหมดทั้งสิ้น ต่างกันแค่มากหรือน้อยกว่ากันเท่านั้น
จริงอยู่ว่า เราอาจจะแก้ปัญหาทุกข์ ๔ ของเราได้ลงตัวระดับหนึ่งแล้ว
ขณะที่เพื่อน ๆ อีกหลายคนยังแก้ไขไม่ได้ สมมุติว่าเราแกล้งทํามองไม่เห็น
คิดว่าธุระไม่ใช่ แต่เชื่อไหมว่า ผ่านไปอีกสักระยะ ความเดือดร้อนของเพื่อนคนนั้นมีสิทธิ์จะลุกลามมาหาเรา
เช่น เขาอาจจะมาขอกู้เงินบ้าง เขาอาจจะไปทําอาชีพที่ผิดกฎหมายบ้าง
เขาอาจจะไปคบหาคนพาลบ้าง เพียงแค่นี้สังคมรอบตัวเราก็จะเกิดปัญหาการอยู่ร่วมกันขึ้นมาทันที
ดังนั้น พระพุทธองค์จึงทรงสอนว่า เราทําความดีคนเดียวไม่ได้
ต้องชักชวนผู้อื่นทําความดีด้วย แต่เวลาเราจะชักชวนผู้อื่นทําความดี สิ่งที่ต้องมีคือหลักธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจ
นั่นคือ สังคหวัตถุ ๔ เพราะถ้าไม่มีหลักธรรมนี้ ถึงเราจะลงทุนลงแรง คือ ให้เวลา ให้ทรัพย์สมบัติ ให้ความรู้ความเข้าใจในการแก้ไขปัญหาทุกข์
๔ ของบุคคลรอบตัวไปมากเท่าไร ก็จะไม่ประสบความสําเร็จในการรักษามิตรแท้ในทิศทั้ง ๖
ไว้ได้เลย เพราะเราช่วยเหลือคน แต่ยึดเหนี่ยวน้ำใจคนไม่เป็นนั่นเอง
สังคหวัตถุ ๔ ประกอบด้วย ๑. ทาน ๒. ปิยวาจา ๓. อัตถจริยา
๔. สมานัตตตา
ทาน แก้ปัญหาทุกข์ในสรีระ
ทุกข์ในสรีระ คือ
สภาวะที่มนุษย์ประสบกับความหนาว ร้อน หิว กระหาย อุจจาระ ปัสสาวะ อยู่เป็นประจํา
เพราะมนุษย์ขาดแคลนธาตุ ๔ ขาดแคลนปัจจัย ๔ ตลอดชีวิต จึงมีกิจที่จะต้องแสวงหาปัจจัย
๔ เหล่านี้ในยามที่ขาดแคลนแสวงหาไม่ได้ ยามนั้นหากมีใครยื่นมือยื่นน้ำใจส่งมอบปัจจัย
๔ ที่กําลังขาดแคลนมาให้ มนุษย์จะมีความชื่นใจเกิดขึ้น ทาน คือ การให้ จึงมีความสําคัญและยึดเหนี่ยวน้ำใจกันไว้เช่นนี้
ปิยวาจา แก้ปัญหาทุกข์จากการอยู่ร่วมกัน
ทุกข์จากการอยู่ร่วมกันที่ต้องระมัดระวังการกระทบกระทั่งกันไว้ตลอด
และการกระทบกระทั่งที่เกิดขึ้นได้ง่ายและได้มากที่สุดก็เกิดจากคําพูดที่พลั้งเผลอไม่ถนอมน้ำใจกันนี่เอง
ดังนั้น ปิยวาจา คือ คําพูดที่ทําให้รักกัน
ถนอมน้ำใจกันจึงเป็นกาวใจที่รักษาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันไว้ได้ และเป็นสิ่งที่ต้องการในการอยู่ร่วมกัน
อัตถจริยา แก้ปัญหาทุกข์จากการประกอบอาชีพ
ทุกข์จากการประกอบอาชีพ ในการแสวงหาทรัพย์สินเงินทองเพื่อการเลี้ยงชีพนั้น หากยังมีเรี่ยวแรงกําลังกายอยู่ ทุกคนทํางานเองได้
หาเงินได้ แต่อาจจะติดขัดตรงที่ความรู้ความสามารถไม่ถึงหรือไม่มี จากตรงนี้หากผู้รู้มากกว่าจะช่วยทําประโยชน์ให้ด้วยการชี้แนะแนวทาง
สอนวิธีการให้ ถ่ายทอดวิชาให้ ก็จะเป็นการช่วยเหลือสนับสนุนให้เขาสามารถประกอบอาชีพด้วยตนเอง
อัตถจริยา คือ การประพฤติตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น จึงเป็นธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจกันในทิศ
๖ ในลักษณะนี้
สมานัตตตา แก้ปัญหาทุกข์จากกิเลสบีบคั้น
ทุกข์จากกิเลสที่บีบคั้นใจให้มีพฤติกรรม
มีนิสัยไม่ดีต่าง ๆ เราก็อยากจะแก้ไข
บางทีเราไม่ทราบด้วยว่านิสัยนี้ไม่ดี การจะแก้ไขข้อบกพร่องได้ก็ต้องอาศัยการชี้บอกจากคนใกล้ชิดในทิศ
๖ ที่เรามีความไว้วางใจ ความเป็นกันเอง ที่เชื่อใจได้ว่าที่เขาพูดออกมา เพราะเขามีความปรารถนาดีกับเราจริง
ความมั่นใจเชื่อใจในตัวบุคคลเกิดจากความประพฤติตนอันสม่ำเสมอของคน ๆ นั้น
ได้แก่ธรรมที่เรียกว่า
สมานัตตตา
เพราะเหตุนี้ สังคหวัตถุ ๔ จึงเป็นคุณธรรมที่จําเป็นสําหรับวิธีดําเนินชีวิตที่ถูกต้อง
นั่นก็เพราะทุกข์จากกิเลสในตัวมนุษย์นี้เอง ที่บังคับให้มนุษย์ต้องประสบทุกข์อีก ๓
ประการ การฝึกตนเพื่อแก้ไขทุกข์ ๔ ของตัวเองไปด้วย การปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยสังคหวัตถุ
๔ ไปด้วย ก็จะทําให้เราเกิดบรรยากาศฝึกตัวไปด้วยกัน ทําดีไปด้วยกัน ซึ่งจะเกิดเป็นวิถีชีวิตที่ดีงาม
สังคมที่อยู่ตรงนั้นก็จะกลายเป็นสังคมที่น่าอยู่นั่นเอง
ดังนั้นเมื่อเราเข้าใจภาพรวมแนวทางการดําเนินชีวิตที่ถูกต้องเช่นนี้ เราก็เริ่มต้นด้วยการประพฤติตามความดีสากล
๕ ประการ พร้อมกับปฏิบัติสังคหวัตถุ ๔ ไปด้วย เราก็จะประสบความสําเร็จในการฝึกตนเอง
และช่วยเหลือสนับสนุนให้คนในครอบครัว ในที่ทํางาน ในสังคมของเราแก้ทุกข์ ๔
ในตัวของเขาไปด้วยกันได้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความต่อเนื่องสม่ำเสมอ
ฝึกทําให้ชํานาญจึงจะส่งผลให้วิธีดําเนินชีวิตที่ถูกต้องนี้ประสบผลสําเร็จในการดูแลรักษาชีวิตและพัฒนาชีวิตต่อไปได้
Cr. หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๗๐ เดือนธันวาคม พ.ศ.
๒๕๕๙
คลิกอ่านหลวงพ่อตอบปัญหาของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๙ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
หลักการขยายกิจการให้เจริญฯ |
ความสะอาดและเป็นระเบียบมีความสําคัญฯ (ปีถัดไป) |
คลิกอ่านหลวงพ่อตอบปัญหาของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๙ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
สังคมเปลี่ยนไป แนวทางการใช้ชีวิตเปลี่ยนตาม พระพุทธศาสนามีคําแนะนําอย่างไร ?
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
00:51
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: