หลักการขยายกิจการให้เจริญรุ่งเรืองทั้งทางโลกและทางธรรม


ถาม : ผมได้มาร่วมงานเด็กดีวีสตาร์ ได้เห็นการบริหารจัดการที่ดี ทำให้การรวมตัวกันของนักเรียนเป็นแสน ๆ คน ดำเนินไปได้อย่างดี จึงใคร่รู้ว่าวัดมีหลักการอย่างไรในการจะวัดศักยภาพการทำงานของเราว่าจะมีพอรองรับงานขนาดไหน ผมจะได้นำไปเป็นแนวทางในการตัดสินใจขยายกิจการว่าควรขยายหรือไม่ ?

ตอบ : พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมให้มนุษย์รู้ความจริงว่า ชีวิตของคนจะเจริญขึ้นหรือเสื่อมลงอยู่ที่บุญและบาป บุญเป็นพลังงานสะอาดที่ส่งเสริมให้ชีวิตเจริญรุ่งเรือง บาปเป็นพลังงานสกปรกที่ทำให้ชีวิตขัดสนและพบเจออุปสรรค บุญและบาปเป็นผลจากกรรมหรือการกระทำของคนเราที่ทำไว้นั่นเอง

หลักในการตัดสินใจว่าควรจะทำอะไรหรือไม่ทำอะไรอยู่ตรงที่ถ้าทำแล้วได้ทำบุญเพิ่มก็ควรทำ แต่ถ้าทำอะไรแล้วเป็นเหตุให้ไม่ได้ทำบุญ บางทีกลับต้องทำบาปเพิ่มขึ้นมา สิ่งนั้นก็ไม่ควรทำ

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้มนุษย์ยึดหลักในการดำเนินชีวิตอย่างมีประโยชน์ ๓ ประการ ได้แก่

๑. ละชั่ว เมื่อรู้ว่าอะไรเป็นบาปกรรมทุกชนิดไม่ทำอีกเด็ดขาด
๒. ทำดี เมื่อรู้ว่าอะไรเป็นความดี เป็นบุญกุศล เพียรพยายามทำให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป
๓. ทำใจให้ผ่องใส ใจใสเป็นใจที่มีคุณภาพเป็นต้นแหล่งของการคิด พูด ทำความดีทุกชนิด มนุษย์จะเข้าถึงธรรม จะบรรลุธรรมได้และสามารถกำจัดกิเลสซึ่งเป็นต้นเหตุให้ทำบาปกรรมให้สิ้นไปก็ด้วยการบำเพ็ญสมาธิภาวนา กลั่นใจให้ใส

ดังนั้น ในวิถีชีวิตประจำวันจึงมีกิจวัตรกิจกรรมที่ทำแล้วส่งเสริมให้มนุษย์ดำเนินไปตามหลักการดำเนินชีวิตดังกล่าว ได้แก่ ให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา

ชาวไทยนับถือพระพุทธศาสนาเป็นที่พึ่งที่ระลึกสูงสุดของชีวิตมาแต่บรรพบุรุษ แต่โบราณจึงปรากฏคำพูดที่เตือนใจถึงกิจวัตรประจำวันนี้ว่า เช้าใดไม่ได้ทำทาน อย่าเพิ่งทานข้าว วันใดยังไม่ได้อาราธนารักษาศีล อย่าเพิ่งออกจากบ้าน คืนใดยังไม่ได้นั่งสมาธิเจริญภาวนา อย่าเพิ่งเข้านอน

เมื่อทราบหลักการตัดสินว่า การกระทำชนิดใดควรทำและไม่ควรทำเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชีวิตแล้ว ให้เรามาพิจารณาว่า กิจการของเราแม้ได้ผลกำไรดี น่าจะขยายกิจการ แต่ถ้าขยายแล้วทำให้เราไม่มีเวลาสั่งสมบุญ ไม่ได้ทำบุญเพิ่มขึ้น บางทีอาจจะเป็นเหตุให้เราสร้างนิสัยไม่ดี เป็นทางเจริญของบาปอกุศลต่าง ๆ ในใจเรา ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อชีวิตโดยรวม ก็ไม่ควรจะขยายกิจการ แต่ถ้าหากขยายกิจการแล้วเรายังมีเวลาสั่งสมบุญเพิ่มขึ้นไปอีก ก็เป็นการดี แสดงว่าศักยภาพของเรามีเหลือล้น ควรจะขยายกิจการต่อไป

ต่อเมื่อใดที่เราสังเกตว่า เรามีเวลาสั่งสมบุญ สร้างความดีต่าง ๆ ลดลง และนิสัยไม่ดี ใจขุ่น ๆ กำลังเกิดขึ้นกับเรา ให้รู้ตัวว่าการงานของเรากำลังเกินศักยภาพ ต้องหยุดทบทวนตรวจตราดูการกระทำของเราทั้งกาย วาจา ใจ และหันกลับมาเคี่ยวเข็ญตัวเองให้สะอาดกาย วาจา ใจ ให้ดี เมื่อสามารถจัดระเบียบกายวาจา ใจ ของเราได้ดีขึ้น ศักยภาพของเราก็จะเพิ่มขึ้น เราจะมีเวลาสำหรับสั่งสมบุญ สร้างความดีได้อีก ทั้งทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เมื่อนั้นเราก็จะพร้อมเดินหน้าขยายกิจการงานของเราอีกต่อไป

นี้เป็นวิธีตรวจเช็กศักยภาพของคนเราว่าพร้อมสำหรับการทำประโยชน์ให้ชีวิต ทำความเจริญก้าวหน้าในชีวิตแค่ไหน

เรื่องสำคัญของคนเราในชีวิตนี้ จะทำบุญเพิ่มได้มากน้อยแค่ไหนยังไม่รู้ แต่เบื้องต้นแล้วจำเป็นจะต้องปิดกั้นการทำบาปให้ได้ก่อน

ทำอย่างไรจึงจะปิดกั้นการเกิดบาปอกุศลบาปอกุศล คือ ความสกปรกของกาย วาจา ใจ จะไม่ให้บาปอกุศลเจริญเราจะทำอย่างไร? เริ่มต้นต้องมาพิจารณาก่อนว่า ความสกปรกเกิดขึ้นได้อย่างไร ความไม่สะอาดในโลกนี้มาจากไหน คำตอบคือมาจากคน และความไม่สะอาดที่ออกมาจากตัวคนก็เป็นอาหารสัตว์ได้ทั้งนั้น อาหารที่เราจะกินเข้าไปก็เป็นของชอบของสัตว์เล็กสัตว์น้อยเช่นกัน ไม่ว่าความสกปรกใด ๆ ที่มีอยู่ในบ้านมนุษย์นั้นล้วนเป็นอาหารสัตว์ได้หมด

ความสกปรกของร่างกายที่ออกมาสู่ภายนอกนี้ ส่งผลให้กาย วาจา ใจ ของคนเราสกปรกได้ เพราะที่ไหนสกปรก ที่นั้นมีอาหารให้สัตว์เล็ก ๆ ออกมาหากิน คนเราเวลาเจอสัตว์พวกนี้ ก็คิดว่ามันมารบกวน มารุกรานมาอยู่ในที่ที่ไม่ใช่ของมัน และมักจะคิดกำจัดแล้วก็เลือกจะจัดการด้วยวิธีเร่งด่วนด้วยการกำจัดให้สิ้นไป การกระทำที่เป็นบาปอกุศลคือการฆ่าจึงเกิดขึ้นในครัวเรือนมนุษย์ทั่วไป การฆ่าคือความสกปรกของการกระทำทางกาย

นอกจากการฆ่าสัตว์ที่เป็นบาปเกิดขึ้นแล้ว ยิ่งกว่านั้นบาปที่เกิดขึ้นอีกก็คือการเพาะนิสัยตัวเองให้มองเห็นแต่ความผิดของผู้อื่น เมื่อเกิดความผิดพลาดใด ๆ ก็จะเอาแต่โทษคนอื่น ไม่หยุดคิดหยุดมองตัวเองว่าเป็นสาเหตุของความผิดพลาดนั้นอย่างไรบ้าง เมื่อสกปรกแล้วมดมารบกวน แทนที่จะดูตัวเองว่าก่อความสกปรกไว้เป็นเหยื่อล่อให้มดเข้ามา กลับมองเห็นแต่ว่ามดผิดที่เข้ามารบกวน และจะคิดแก้ปัญหาด้วยการกำจัดให้สิ้นไป เมื่อแก้ไขปัญหาไม่ตรงที่สาเหตุ จึงต้องประสบกับปัญหาใหม่ไม่มีวันหมด

ที่ไหนสกปรก ที่นั้นมีข้าวของอะไรก็จะจัดให้เป็นระเบียบไม่ได้ เมื่อไม่จัดให้เป็นระเบียบจะหยิบก็ไม่ง่าย หายไปก็ไม่รู้ แลดูก็ไม่งามตาเป็นการใช้ข้าวของอย่างทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ ปล่อยให้ถูกแดด ลม ฝน ข้าวของก็เก่าเร็ว เสียเร็วแตกหักพังง่าย สูญทรัพย์โดยไม่จำเป็น และยิ่งกว่านั้น คนอื่นเขาจะนึกว่าเจ้าของไม่ต้องการแล้ว คนโน้นก็หยิบไป คนนี้ก็หยิบไป ของก็เลยหาย เมื่อของหยิบง่ายหนักเข้าๆ ก็ดึงดูดให้ขโมยมาใกล้ ของก็หายบ่อย พอของหายก็มักจะมองไม่ออกว่าเป็นเพราะเราไม่จัดระเบียบเอาแต่โทษว่าแถวนี้ทำไมมีแต่ขี้ขโมย

ที่ไหนสกปรก ที่นั้นไม่มีระเบียบ ลุกลามมาถึงความไม่สุภาพ เมื่อข้าวของระเกะระกะไม่เป็นที่เป็นทาง แม้ที่จะนั่งก็นั่งไม่ลง ที่จะยืนก็ไม่สะดวก ไม่อยากยืน แล้วสกปรกรกรุงรังด้วย เดี๋ยวมดมา เดี๋ยวยุงมา ก็เลยยืนไม่ระวัง นั่งไม่ระวัง เดินไม่ระวัง อิริยาบถใด ๆ ก็มักง่ายไปหมด สถานที่เช่นนั้นก่อให้อารมณ์เสียได้ง่าย หงุดหงิดใจง่าย ถ้าเพศเดียวกันเห็นก็เกิดอาการเขม่น ไม่ชอบใจ ก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาทได้ง่าย ถ้าต่างเพศเห็นกิริยาอาการที่ไม่ระมัดระวังนั้น ก็กระตุ้นให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศได้ง่าย

ความสกปรกก่อให้เกิดความไม่มีระเบียบและความไม่สุภาพตามมาเป็นขบวน ต่อจากนี้ที่จะหวังว่าคนที่มีนิสัยดังกล่าวติดตัวแล้วจะยังตั้งใจทำอะไรให้ดี ก็เป็นอันหวังไม่ได้ การตรงต่อเวลาเมื่อจะทำการงานต่าง ๆ ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะอารมณ์ดีหมดไปแล้ว จึงไม่คิดที่จะทำอะไรให้ดี

เมื่อความสกปรกลุกลามมาถึงการไม่ตรงเวลา ก็จะมีคนโกหกเพราะต้องการแก้ตัวว่าทำไมไม่ตรงเวลา

พระพุทธองค์ทรงให้สติเราว่า แม้อาบน้ำวันละร้อยครั้ง ถ้ายังฆ่า ยังลักขโมย ยังประพฤติผิดในกาม ก็เรียกว่ากายไม่สะอาด หากคนเราจะอาบน้ำหรือไม่อาบน้ำก็ตาม แต่ไม่ฆ่า ไม่ลักไม่ประพฤติผิดในกามแล้ว คนนี้เรียกว่ากายสะอาด

ถึงจะแปรงฟันวันละพันครั้ง แต่ยังโกหกยังพูดให้เขาทะเลาะกัน ยังชอบด่า ยังชอบนินทา ปากก็ยังไม่สะอาด แต่ถึงจะแปรงฟันหรือไม่แปรงฟัน แต่ถ้าไม่พูดโกหกแล้ว ไม่ยุให้เขาทะเลาะกัน ไม่ด่าใคร ไม่นินทาใคร ผู้นั้นก็ชื่อว่าปากสะอาด

จากการปล่อยปละละเลยความสกปรกส่วนตัว ก่อให้เกิดนิสัยความไม่มีระเบียบ ความไม่สุภาพ และเป็นคนไม่ตรงต่อเวลา เมื่อบุคคลที่มีนิสัยส่วนตัวอย่างนี้แต่งงานมีครอบครัวไปก็จะทำให้ชีวิตแต่งงานไม่ราบรื่น บ้านสกปรกรกรุงรัง อยู่ก็ไม่มีความสุข เสร็จจากทำงานแล้วก็ไม่อยากกลับบ้าน ออกเที่ยวเตร่หาความเพลิดเพลิน คบเพื่อนเที่ยวกลางคืน เล่นการพนัน เสพยา เที่ยวผู้หญิง หรือหาบ้านใหม่นี้เป็นปัญหาในบ้านที่เกิดจากการบ่มเพาะของนิสัยไม่รักการทำความสะอาด

แม้ว่าจะอดทนประคับประคองครอบครัวไปได้จนมีลูก พ่อแม่อย่างนี้ก็ไม่รู้ว่าการจะเลี้ยงลูกให้เป็นคนดีจะต้องเริ่มจากตรงไหน ทำได้แต่คาดหวังว่า ขอให้ลูกเป็นคนดี ลูกอยากได้อะไรก็ตามใจลูก ซึ่งก็คงจะไม่สมหวัง เพราะนิสัยของคนไม่ได้เกิดจากการคิดปรารถนา แต่เกิดจากการบ่มเพาะจากพ่อแม่ผู้ให้การเลี้ยงดูแนะให้ทำนำให้ลูกดูด้วยความรักความเอาใจใส่

การเลี้ยงดูลูกให้เป็นคนดีต้องเริ่มจากความสะอาดของร่างกายและสิ่งแวดล้อม ดูแลการขับถ่ายของลูกให้ดี อาบน้ำล้างหน้าให้เกลี้ยง นอนในที่นอนสะอาด เสื้อผ้าสะอาด ดูแลการกินนอนให้เป็นเวลา เด็กจึงจะมีอารมณ์ดี จิตใจแจ่มใส อารมณ์ดีแล้วเด็กจึงจะพร้อมฟังพ่อแม่สอนสั่งให้คุ้นเคยกับการทำความสะอาด การจัดข้าวของให้เป็นระเบียบ ความสุภาพ และการตรงเวลา

ถ้าปล่อยให้เด็กคุ้นเคยอยู่กับความสกปรกมอมแมม เขาจะเป็นเด็กอารมณ์ไม่ดี ไม่เป็นระเบียบ ไม่สุภาพ เล่นกับเพื่อนก็มักทะเลาะกับเพื่อน การกินการนอนมักไม่เป็นเวลา พ่อแม่จะสอนสั่งอะไรก็ไม่เป็นผลเท่าไร เพราะเด็กอารมณ์เสียตั้งแต่เล็ก ต่อให้ใครพูดใครเตือนก็มักไม่เชื่อฟัง

การปิดกั้นบาปอกุศลไม่ให้เจริญ เราก็ต้องเคี่ยวเข็ญตัวเองให้มีกาย วาจา ใจ สะอาดเพิ่มขึ้นไปอีก ก็ใช้หลักการเดียวกับการฝึกเด็กคือ การกลับมาเช็กดูว่า การกระทำของเราที่ชักไม่ค่อยสะอาดนี้ เราจะทำให้ดีกว่านี้อย่างไร การงานของเราที่จัดระเบียบไม่ค่อยได้ เราจะจัดระเบียบให้ดีกว่านี้ได้อย่างไร ที่เราไม่ค่อยสุภาพ เราจะสุภาพกว่านี้ได้อย่างไร เราจะรักษาความตรงเวลาได้อย่างไร ประการสำคัญเราต้องหยุดใจให้มาก นั่งสมาธิให้มากขึ้น กำลังใจในการทำความดีจะเพิ่มพูนขึ้นมา แล้วการแก้ไขตัวเองจะทำได้ดีขึ้น ผลสุดท้ายเราก็จะมีโอกาสมีเวลาสั่งสมบุญเพิ่มขึ้นได้อีก

ดังนั้น ตราบใดที่วิถีชีวิตประจำวันของเรายังสามารถละชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใสได้ทั้ง ๓ ประการ เราจะขยายกิจการไปสักเท่าไรก็สามารถทำได้ แต่ถ้าการขยายกิจการนั้นซึ่งเท่ากับเราต้องทำงานเพิ่มขึ้น ใช้เวลาทำงานมากขึ้น แล้วกระทบต่อเรื่องสำคัญของชีวิต ๓ ประการ เราคงต้องหันกลับมาปรับปรุงศักยภาพของตนเองให้พร้อมก่อน จึงจะพร้อมสำหรับการขยายงานต่อไป

Cr. หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๖๙ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๙

คำสอนของวัดพระธรรมกายถูกต้อง
สังคมเปลี่ยนไป แนวทางการใช้ชีวิตเปลี่ยนตาม






คลิกอ่านหลวงพ่อตอบปัญหาของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๙ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
หลักการขยายกิจการให้เจริญรุ่งเรืองทั้งทางโลกและทางธรรม หลักการขยายกิจการให้เจริญรุ่งเรืองทั้งทางโลกและทางธรรม Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 02:28 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.