คำสอนของวัดพระธรรมกายถูกต้องตามแนวทางคำสอนดั้งเดิม ของพระพุทธศาสนาหรือไม่ ทำไมถึงเน้นแต่การชวนคนทำบุญอย่างเดียว ?


วัดพระธรรมกายเป็นวัดหนึ่งในบรรดาวัดทั้งหลายในบวรพระพุทธศาสนา มีพระภิกษุผู้บวชในร่มผ้ากาสาวพัสตร์จำนวนหลายพันรูปทุกรูปบวชตามธรรมวินัยอย่างถูกต้อง ดำรงตนอยู่ในศีล ๒๒๗ ข้อ เหมือนกับพระภิกษุทุกรูปในนิกายเถรวาท ดังนั้นโดยธรรมวินัยแล้ว พระทุกรูปก็คือ พุทธสาวกที่บวชเข้ามาอย่างถูกต้องตามธรรมวินัย เป็นผู้ศึกษาและปฏิบัติตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้โดยชอบด้วยพระองค์เอง มีพระบรมศาสดาองค์เดียวกันกับชาวพุทธทั่วโลก ทั้งที่เป็นชาวพุทธเถรวาทและชาวพุทธทุกนิกาย

ชาวพุทธทั้งโลกเคารพนับถือพระบรมศาสดาอย่างไร วัดพระธรรมกายก็สอนให้เคารพนับถืออย่างนั้น

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นบุคคลผู้รู้แจ้งความจริงของโลกและชีวิตว่าเป็นทุกข์โลกในแต่ละยุคจึงมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระองค์แรกที่เอาชนะทุกข์ด้วยการกำจัดกิเลสอันเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ได้สิ้นเชื้อไม่เหลือเศษไม่กลับมาเวียนว่ายตายเกิดในโลกนี้ ในภพสามนี้อีกต่อไป แล้วก็นำความรู้ที่ใช้ดับทุกข์นั้นมาสอนให้ชาวโลกได้รู้ความจริงและปฏิบัติตาม

พระภิกษุสงฆ์ในฐานะพุทธสาวกก็ได้ศึกษาและปฏิบัติตามพระบรมครูเพื่อเป้าหมายเดียวกัน นั้นคือวันหนึ่งจะได้เข้าถึงธรรมที่พระพุทธองค์ตรัสรู้บ้าง จะได้เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความบริสุทธิ์บริบูรณ์ อันเกิดจากสามารถปราบมารปหานกิเลสให้สิ้นเชื้อไม่เหลือเศษเข้าถึงความสุขอันเป็นบรมสุขคือพระนิพพาน

พระภิกษุสงฆ์เมื่อปฏิบัติธรรมแล้วก็ทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา นำพระธรรมคำสอนของพระศาสดามาถ่ายทอดแผ่ขยายให้สาธุชนได้ศึกษาและปฏิบัติตามรอยบาทของพระบรมศาสดาผู้เป็นต้นบุญต้นแบบของการสร้างบารมี ๑๐ ทัศ ซึ่งเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตที่สมบูรณ์

ดังนั้น หากจะตั้งคำถามอย่างเป็นกลาง ๆ ขึ้นก่อนว่า แนวทางดั้งเดิมของพระพุทธศาสนาคืออะไร ก็ต้องตอบว่า การสร้างบารมี ๑๐ ทัศ คือ แนวทางคำสอนดั้งเดิมของพระพุทธศาสนา เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ตรัสรู้ได้ด้วยการฝึกฝนอบรมตนเองและดำเนินชีวิตมาตามแนวทางการสร้างบารมี ๑๐ ทัศนั้นเอง

คำสอนที่วัดพระธรรมกายนำมาสั่งสอนแนะนำอบรมถ่ายทอดให้สาธุชนทั้งหลายประพฤติปฏิบัติตามก็คือ การสร้างบารมี ๑๐ ทัศ เช่นกัน

เหตุผลที่วัดเลือกบารมี ๑๐ ทัศ มาเป็นหลักคำสอนก็เพราะว่า บารมี ๑๐ ทัศ เป็นแนวทางการดำเนินชีวิตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันตเจ้าทั้งปวง เริ่มตั้งแต่สมัยที่เป็นมนุษย์ธรรมดาแล้วสั่งสมบุญกุศลเรื่อยมาในแต่ละภพชาติที่เกิดมาเป็นมนุษย์ จนกระทั่งบารมีเต็มเปี่ยมได้บรรลุธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นพระอรหันต์ ตามที่ตั้งความปรารถนาเอาไว้ด้วยดีทุกประการ

บารมี ๑๐ ทัศ ประกอบด้วยการฝึกฝนทำความดี ๑๐ ประการอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งกลายเป็นนิสัยเอาชีวิตเป็นเดิมพันในการทำ ความดี ได้แก่ ๑. ทานบารมี ๒. ศีลบารมี ๓. เนกขัมมบารมี ๔. ปัญญาบารมี ๕. วิริยบารมี ๖. ขันติบารมี ๗. สัจจบารมี ๘. อธิษฐานบารมี ๙. เมตตาบารมี ๑๐. อุเบกขาบารมี

ในการบำเพ็ญบารมีนั้น สิ่งสำคัญก็คือต้องทำจริง หมายความว่าไม่ใช่ทำแค่ครั้งสองครั้ง ทำไม่กี่ครั้งในรอบปี หรือทำเพียงไม่กี่ครั้งในชาติหนึ่ง แต่การสร้างบารมีคือการตั้งใจมั่นทำความดีตลอดชีวิต ไม่มีทางเปลี่ยนใจ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเพียงใด ก็ยังมั่นคงมุ่งตรงต่อความดี มุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพานอย่างไม่มีวันเปลี่ยนแปลง

คุณสมบัตินักสร้างบารมี คือ เป็นผู้มีใจตรง เป็นคนจริง เป็นคนตรงเยี่ยงนี้ ไม่ว่าเขาคนนั้นจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ เป็นนักเรียน นักศึกษา เป็นแม่บ้าน คนทำงาน เป็นเศรษฐี เป็นยาจก เป็นผู้ชรา เป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิตไม่ว่าจะอยู่ในฐานะหรือสถานะใดก็ตาม ก็จะมีใจที่เหมือนกันอย่างนี้

ในการสร้างบารมีนั้นเริ่มด้วยทานบารมี เพราะว่าทานบารมีเป็นเสบียงสำคัญ ถ้าขาดทานบารมีแล้ว บารมีอื่น ๆ แทบจะทำไม่ได้เลย

ในทางโลก จอมจักรพรรดินโปเลียน ผู้นำกองทัพฝรั่งเศส กล่าวไว้ว่า กองทัพต้องเดินด้วยท้องหมายความว่า กองทัพต้องมีเสบียงซึ่งอยู่ในรูปแบบต่าง ๆ แต่ไม่ว่าจะมีเสบียงกี่รูปแบบก็ตาม สรุปได้ว่าจะต้องมีทรัพย์สมบัติเป็นเสบียง ไม่อย่างนั้นกองทัพก็ออกรบไม่ได้

แม้กองทัพธรรมก็เช่นกัน กองทัพธรรมจะปราบกิเลส ปราบมาร ก็ต้องมีเสบียงรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งเสบียงต่าง ๆ หรือทรัพย์สมบัติที่จะติดตามเราไปได้ในแต่ละภพชาตินั้น เกิดขึ้นได้ด้วยการตัดความตระหนี่ (กิเลสประการหนึ่ง) ออกจากใจ แล้วนำทรัพย์ออกมาบริจาคทานเปลี่ยนทรัพย์สมบัติหยาบให้เป็นทรัพย์ละเอียดคือ บุญ หากยังตัดความตระหนี่ไม่ได้ สมบัติที่เรามีอยู่ก็จะใช้ได้ในชาตินี้เพียงชาติเดียวเท่านั้น

เพราะฉะนั้น เมื่อจะสั่งสมบุญสร้างบารมีเพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ก็จะต้องสร้างหลักประกันให้ตนเอง เพื่อให้สามารถสร้างบารมีได้ตลอดรอดฝั่ง หลักประกันประการแรก คือต้องมีเสบียงไว้ให้พร้อม จึงต้องสร้างทานบารมีเป็นเบื้องต้น

สิ่งที่ต้องตระหนักให้มากก็คือ การสร้างบารมีทำได้เฉพาะอาศัยกายมนุษย์ ดังนั้นจึงต้องเกิดเป็นคนเท่านั้น เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานสร้างบารมีไม่ได้ เกิดเป็นเทวดาก็ทำไม่ได้ ได้แต่เสวยผลบุญเก่าที่ทำไว้

โบราณาจารย์ท่านขยายความต่อไปว่า ทำไมทานบารมีจึงเป็นบารมีประการแรกที่ต้องสั่งสม ที่ต้องทำให้มาก เพราะทานบารมีนั้นมีอุปการะต่อบารมีประการอื่น ๆซึ่งขยายความได้ดังนี้

ทานบารมีมีอุปการะต่อศีลบารมี

การสร้างบารมีทำได้เฉพาะอาศัยกายมนุษย์นี้ ถ้าเกิดเป็นสัตว์โลกอย่างอื่นทำไม่ได้ เป็นสัตว์เดรัจฉานก็สร้างบารมีไม่ได้ แม้ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เป็นเทวดา เป็นพรหมก็สร้างบารมีไม่ได้ สุคติโลกสวรรค์เป็นโลกแห่งการเสวยผลบุญ เป็นการยากที่จะสั่งสมบุญสร้างบารมีเพิ่ม และสิ่งที่จะเป็นหลักประกันว่าจะกลับมาเกิดเป็นคนได้อีกมีเพียงประการเดียวก็คือ เมื่อยามที่เป็นมนุษย์รักษาศีล ๕ ได้เป็นปกติ

ผลแห่งทานบารมีที่สร้างไว้ทำให้ไม่ขาดเสบียงชีวิต ไม่ยากจน ไม่เป็นหนี้ ถ้ายากจนขัดสนเสียแล้ว การจะรักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์นับว่าทำได้ยาก แม้ว่าอยากจะประกอบสัมมาอาชีวะเพื่อว่าศีลจะได้บริบูรณ์ก็ทำไม่ได้เพราะขาดเสบียง แต่ถ้ามีเสบียงเตรียมไว้พร้อมก็ง่ายที่จะเลือกประกอบสัมมาอาชีวะ แม้จะคิดลงทุนทำอะไรต่อก็ทำได้ง่าย กำไรก็หาได้ง่ายเพราะมีทรัพย์ลงทุน

ทานบารมีมีอุปการะต่อเนกขัมมบารมี

แม้ได้เกิดเป็นมนุษย์แล้วก็ยังแบกภาระต่าง ๆ มากมาย การจะแสวงหาทางบรรลุธรรมแสวงหาทางพ้นทุกข์เป็นไปได้ยาก การออกบวชบำเพ็ญเนกขัมมะ ดำรงเพศภาวะนักบวช สละสลัดภาระทางโลกลงได้ ชีวิตจึงจะเป็นอิสระและสงบพอที่จะบำเพ็ญสมาธิภาวนาเพื่อการบรรลุธรรม

แม้การออกบวช ทานบารมีก็มีส่วนสนับสนุน เพราะหากยังมีหนี้สิน ยังมีภาระทางบ้านอยู่ก็ออกบวชไม่ได้ แต่ผลแห่งทานบารมีที่สั่งสมข้ามชาติมาไว้ดีแล้ว ทำให้มีทรัพย์มีเสบียงสำหรับดูแลคนทางบ้าน หรืออย่างน้อยก็ไม่มีหนี้ จึงจะออกบวชได้อย่างสงบ

บางท่านถึงแม้การออกบวชเต็มที่ยังทำไม่ได้ เพราะมีภาระต้องดูแลบิดามารดา ดูแลครอบครัว การออกบวชเป็นช่วง ๆ เช่น ช่วงเข้าพรรษา หรือการตั้งใจรักษาศีล ๘ ในวันพระก็เป็นการสั่งสมอุปนิสัยบำเพ็ญเนกขัมมะเอาไว้ให้มั่นในใจ แต่ทว่าแม้การออกบวชเป็นช่วง ๆ ก็ยังต้องอาศัยทานบารมีก่อนบวชไว้อุปการะครอบครัวในระหว่างที่ออกบวชช่วงสั้น ๆ เช่นกัน

ทานบารมีมีอุปการะต่อปัญญาบารมี

ปัญญาบารมีขั้นต้นนั้น คือการแสวงหาครูดีที่สามารถแจกแจงได้ว่า ความดี ความชั่วตัดสินอย่างไรในทุกแง่ทุกมุม การออกตระเวนหาครูดีอย่างนี้ยิ่งมีความจำเป็นว่าจะต้องมีเสบียง เพราะทุกก้าวย่าง ทุกลมหายใจของเรามีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นทั้งนั้น ไหนจะค่าเดินทาง ไหนจะค่าอาหารการกินระหว่างทาง ต้องใช้เสบียงตลอดเส้นทาง

แม้การศึกษาทางโลก ใครเป็นคุณพ่อคุณแม่คงจะรู้ดีว่า ถึงเวลาเปิดเทอมทีไร ค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของลูกมารอแล้ว

ไม่ว่าจะเป็นทางโลกหรือทางธรรม การศึกษาจำเป็นต้องใช้เสบียงเช่นกัน ซึ่งเสบียงนั้นเราเก็บสั่งสมไว้ข้ามภพข้ามชาติมาด้วยการทำทานบารมีนั่นเอง

ทานบารมีมีอุปการะต่อวิริยบารมี

วิริยบารมีนั้นหนักไปในเรื่องของการทำภาวนาในที่สงบ ซึ่งการทำภาวนาจะให้ก้าวหน้าได้ดี จำเป็นต้องอยู่ในสถานที่สัปปายะ คือสถานที่ที่เป็นที่สบายสำหรับการเจริญภาวนา

ความสะดวกสบายเรื่องสถานที่นั้น มีประการหนึ่งที่สำคัญ คืออากาศต้องเย็นสบายแบบธรรมชาติ ในอดีตเมื่อถึงฤดูออกพรรษาและรับกฐินแล้ว พระภิกษุสงฆ์ท่านจะแบกกลดสะพายย่ามตามหลังอุปัชฌาย์อาจารย์เดินธุดงค์เข้าป่ากันไป เพื่อจะไปหาที่สงบ ๆ เย็น ๆ สำหรับทำภาวนา นั้นคือการบำเพ็ญวิริยบารมี

ด้วยเหตุนี้เพื่อสนับสนุนการบำเพ็ญวิริยบารมีอันมีส่วนให้การเจริญภาวนาก้าวหน้าได้ดี วัดพระธรรมกายจึงให้มีการปฏิบัติธรรมระยะสั้น ๆ ให้สาธุชนเลือกตามความเหมาะสมของแต่ละคน บางรุ่น ๓ วัน บางรุ่นก็ ๗ วัน หรือ ๑๐ วัน โดยเลือกจัดคอร์สปฏิบัติธรรมในทำเลสถานที่ที่อากาศเย็นสบายและสงบ เช่น ที่เขาใหญ่ ภูเรือ พนาวัฒน์ เป็นต้น

แต่การบำเพ็ญเพียรภาวนาจะใกล้หรือไกลก็ต้องมีค่าใช้จ่ายเป็นธรรมดา ถ้าใครทำทานบารมีมาดีพอ เสบียงเราก็เพียงพอ จะไปบำเพ็ญเพียรภาวนาในสถานที่สัปปายะ จะไปปฏิบัติธรรมนานเป็นเดือน หลาย ๆ เดือน หรือจะนานเป็นปีก็ทำได้ เพราะอะไร เพราะว่าไม่ต้องห่วงเรื่องค่าใช้จ่าย ไม่ต้องห่วงถึงเรื่องการประกอบอาชีพ และไม่ต้องห่วงเรื่องการเงินนี้เป็นฤทธาอานุภาพของการสร้างทานบารมีเอาไว้เสริมการบำเพ็ญวิริยบารมี

ทานบารมีมีอุปการะต่อขันติบารมี

ขันติบารมี คือ ไม่หวั่นไหวต่อความยากลำบาก ไม่หวั่นไหวต่อเสียงสรรเสริญและนินทาคนที่นั่งสมาธิกันไม่ค่อยติด นั่งสมาธิไม่ได้ต่อเนื่อง บางทีก็เพราะถูกเขาค่อนขอดนินทา

บางครั้งเราตั้งใจทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เมื่อมีคนไม่เห็นด้วย เขาก็ขัดขวางบางคนด่าสาดเสียเทเสียกันเลยทีเดียว ทำให้บางคนทนไม่ไหว ลุกออกมาตอบโต้กลับไปด้วยความรุนแรง ก็เลยไม่ได้นั่งสมาธิอีก ส่วนคนที่เห็นด้วยเขาก็สรรเสริญเยินยอจนสุดลิ่มทิ่มประตูเหมือนกัน แต่เพราะโดนด่ามานานหรือไม่เคยไดรั้บการสรรเสริญขนาดนั้นมาก่อน พอเขาสรรเสริญเข้าก็อดตัวลอยไม่ได้ อดหลงตัวเองไม่ได้ จนเป็นเหตุให้เลิกทำความดีได้อีกเช่นกัน

แต่ทว่า เนื่องจากทำทานไว้เป็นเสบียงเต็มที่ เรามีกินมีใช้สะดวกสบาย ใครนินทาว่าร้ายก็เฉย ๆ ทนได้ เพราะชีวิตเราก็ไม่ได้ไปขึ้นอยู่กับใคร ไม่ได้ไปขอใครกิน ไม่ได้ไปกู้หนี้ยืมสินใคร จึงรักษาใจให้สบายได้ง่าย ๆ ทำให้ไม่เลิกล้มการทำความดีกลางคัน

ขณะเดียวกัน เมื่อเรามีของเราเต็มที่อยู่แล้ว ใครจะเยินยออย่างไรก็ไม่เป็นผล เพราะมันเต็มอิ่มอยู่ในใจแล้ว ไม่หิวคำชม จึงไม่เคลิ้มหลงคารมไปตามคำยกยอปอปั้นของใครง่าย ๆ มีแต่เดินหน้าทำความดีของเราเรื่อยไปจนกว่าจะสำเร็จให้จงได้ ดังนั้นทานบารมีจึงมีอุปการะให้เกิดขันติบารมีอย่างนี้

ทานบารมีมีอุปการะต่อสัจจบารมี

คนมีสัจจะ พูดอย่างไรทำได้อย่างนั้น ทำอย่างไรก็พูดอย่างนั้น เมื่อมีทานบารมีมาก เวลาจะทำบุญอะไร จะสร้างกุศลประณีตขนาดไหนก็ทำได้อย่างใจปรารถนา วาจาก็เป็นวาจาศักดิ์สิทธิ์ มีฤทธิ์มีเดชขึ้นมา เพราะสามารถพูดอย่างไรก็ทำได้อย่างนั้น ฤทธิ์ของทานบารมีช่วยเสริมให้มีสัจจบารมีอย่างนี้

ทานบารมีมีอุปการะต่ออธิษฐานบารมี

อธิษฐานบารมีเป็นเรื่องของความฉลาดในการตั้งผังตั้งโครงการให้บุญส่งผลในอนาคต ถ้าจะเปรียบก็เป็นสถาปนิกผู้ฉลาดในการออกแบบชีวิต ฉลาดชนิดมองทะลุภพชาติไปจนกว่าจะหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด แต่ถ้าไม่มีเสบียงหรือมีเสบียงไม่มากพอ จะอธิษฐานตั้งผังชีวิตเอาไว้อย่างไร ก็เดินหน้าต่อไปไม่ได้ เหมือนกับโครงการที่วางแผนไว้ละเอียดดีแล้ว แต่งบประมาณหมด ก็ไม่สามารถทำตามแผนต่อไปได้ ทานบารมีจึงมีอุปการะต่ออธิษฐานบารมี ถ้ามีทานที่ทำไว้ดีแล้วจะวางแผนไว้อย่างไรทำได้ตามแผนหมด

ทานบารมีมีอุปการะต่อเมตตาบารมี

เมตตาบารมี มีความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ เห็นใครประสบทุกข์ เห็นใครน่าสนับสนุนแม้รักใคร่เอ็นดูปรารถนาดีสารพัด อยากให้ใครต่อใครเขามีความสุข ให้เขาได้ปฏิบัติธรรมกันทั้งโลก แต่ถ้าไม่มีทานบารมีสนับสนุนก็ทำไม่ได้ ทำได้แต่ยืนมองดูเขาด้วยความสงสารแต่ไม่รู้จะสงเคราะห์ช่วยเหลือเขาอย่างไร

ยกตัวอย่างเช่น ประเทศเนปาลซึ่งเป็นต้นกำเนิดพระพุทธศาสนา แต่ก็ชะงักงันเรื่องพระพุทธศาสนามานานเกือบพันปีแล้ว ทำให้การบวชขาดตอนไปนานทีเดียว ชาวพุทธเราได้แสดงความกตัญญูต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยการไปจัดโครงการบวชสามเณรหลายครั้งเพื่อช่วยกันฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในดินแดนต้นกำเนิดให้กลับมามีแสงสว่างขึ้นมาใหม่อีกหนซึ่งได้รับการตอบรับจากชาวเนปาลอย่างดี การฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในดินแดนพุทธภูมิเช่นนี้ก็ต้องอาศัยทานบารมีเป็นพื้นฐานอีกเช่นกัน

ทานบารมีเป็นอุปการะให้เกิดทานบารมี

บุญใหม่ที่ทำในวันนี้จะกลายเป็นบุญเก่าของวันพรุ่งนี้ บุญใหม่ของเราปีนี้ก็กลายเป็นบุญเก่าของเราในปีหน้า ขณะนี้ที่เรามีทุกอย่างพร้อมบริบูรณ์ ก็เป็นผลของทานบารมีที่เราทำไว้ตั้งแต่ชาติที่แล้ว ๆ มา ปีที่แล้ว ๆ มา

การที่เรามีโอกาสได้สร้างทานบารมีเพื่อสนับสนุนบารมีต่าง ๆ ทั้ง ๙ บารมี แท้จริงแล้วเกิดจากทานบารมีต้นทุนเดิมของเรา เพราะฉะนั้นทานบารมีก็ส่งเสริมให้เกิดทานบารมีครั้งใหม่ขึ้นมาทับทวีไม่ขาดสายไม่ขาดตอน

บารมีทั้ง ๙ มีอุปการะเกื้อหนุนให้เกิดอุเบกขาบารมี

โบราณาจารย์ท่านชี้ให้เห็นว่า บารมีทั้ง ๙ ประการนี้เต็มเปี่ยมเมื่อไร อุเบกขาบารมีจึงจะเกิดขึ้นได้ ก็หมายความว่าอุเบกขาบารมีเป็นผลที่ได้จากการบำเพ็ญบารมีทั้ง ๙ มาก่อนนั่นเอง เพราะเมื่อใดที่อุเบกขาบารมีพร้อมแล้วก็มีความพร้อมที่จะตรัสรู้ธรรมขึ้นมาทันที

ดังนั้น ในพระชาติที่บำเพ็ญบารมีเป็นพระเวสสันดร จึงได้ชื่อว่าเป็นมหาชาติ คือบำเพ็ญบารมีทุกอย่างเต็มบริบูรณ์เรียบร้อยพร้อมที่จะปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ เพื่อการตรัสรู้

พระชาติสุดท้าย เป็นชาติที่พระโพธิสัตว์เต็มเปี่ยมทุกบารมี พร้อมแล้วที่จะตรัสรู้ ตั้งแต่แรกประสูติเจ้าชายสิทธัตถะย่างพระบาทได้ ๗ ก้าว แล้วเปล่งอาสภิวาจาว่า

อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส เชฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส เสฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส อยมนฺติมา
ชาติ นตฺถิทานิ ปุนพฺภโวติ.

เราเป็นผู้เลิศของโลก เราเป็นผู้ใหญ่ในโลก เราเป็นผู้ประเสริฐสุดในโลก
ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้การเกิดอีกมิได้มี

เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะสละราชบัลลังก์ออกบวช ทรงมุ่งหน้าไปทำงานค้นคว้าหาวิธีดับทุกข์ กำจัดกิเลส จนกระทั่งได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

จากการเชื่อมโยงให้เห็นว่าทานบารมีมีความสำคัญและมีความสัมพันธ์ต่อการสร้างบารมีประการอื่น ๆ ก็หวังว่าคงพอจะได้แนวทางของวัดพระธรรมกายที่ใช้การสร้างบารมี ๑๐ ทัศ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นแบบแผนการดำเนินชีวิต จากนั้นก็นำมาสั่งสอนอบรมให้พอเหมาะกับเพศ วัย ตามสถานภาพ ตามฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนแต่ละกลุ่มที่เข้าวัดพระธรรมกาย

ดังนั้น การที่วัดพระธรรมกายเน้นชวนคนทำบุญก็ตาม สร้างศาสนสถานใหญ่โตก็ตามจึงมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการสร้างทานบารมีไว้เป็นเสบียงติดตัวไปข้ามภพข้ามชาติ เพราะทานบารมีนั้นมีอุปการะต่อบารมีทั้ง ๑๐ ทัศตามที่โบราณาจารย์ท่านให้ข้อคิดไว้ดีแล้ว

วัดพระธรรมกายได้อาศัยหลักการสร้างบารมี ๑๐ ทัศ มาเป็นแนวทางในการสั่งสอนอบรมประชาชนที่มาวัด และเพียรพยายามสืบทอดคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อรักษาพระพุทธศาสนาไว้ตามแนวทางของบารมี ๑๐ ทัศ ซึ่งเป็นแนวทางดั้งเดิมในการบำเพ็ญบารมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยประการฉะนี้

Cr. หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๖๘ เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙


การสวดมนต์ให้พรของพระสงฆ์
หลักการขยายกิจการให้เจริญรุ่งเรือง






คลิกอ่านหลวงพ่อตอบปัญหาของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๙ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
เข้าวัดมานาน ทำไมยังชวนสมาชิกในครอบครัวเข้าวัดไม่ได้สักที ? (ปีก่อนหน้า)
คนไทยคุ้นเคยกับการทำงานแบบเดี่ยวมากกว่าเป็นทีม แต่สมัยนี้สังคมเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคของการทำงานเป็นทีมแล้ว จะมีวิธีแก้ไขเรื่องนี้ได้อย่างไรบ้าง?
ทำอย่างไรจึงจะใช้เวลา ๒๔ ชั่วโมง ในแต่ละวันได้คุ้มค่ากับการเกิดมาเป็นมนุษย์ ได้พบกับพระพุทธศาสนา?
เหตุใดเราจึงควรทำบุญบ่อย ๆ จะทำเฉพาะเวลาที่มีความทุกข์ไม่ได้หรือ?
พระพุทธศาสนามีคำสอนที่เป็นเคล็ดลับ หลักประกันความสำเร็จของการทำงานอยู่บ้างไหม ?
ถ้าเราอยากฝึกสมาธิจนถึงขั้นระลึกชาติได้ในภพชาติ ต่อไป เราควรสั่งสมบุญบารมีอย่างไรตั้งแต่ในวันนี้ ?
เราจะปลูกฝังให้ลูกหลานทำหน้าที่ชาวพุทธให้สมบูรณ์ได้อย่างไร?
เราจะพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้อย่างไร?
การสวดมนต์ให้พรของพระสงฆ์มีส่วนช่วยสืบทอดพระพุทธศาสนาอย่างไร ?
หลักการขยายกิจการให้เจริญรุ่งเรืองทั้งทางโลกและทางธรรม
สังคมเปลี่ยนไป แนวทางการใช้ชีวิตเปลี่ยนตาม พระพุทธศาสนามีคําแนะนําอย่างไร ?
ความสะอาดและเป็นระเบียบมีความสําคัญต่อความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาอย่างไร ? (ปีถัดไป)
คำสอนของวัดพระธรรมกายถูกต้องตามแนวทางคำสอนดั้งเดิม ของพระพุทธศาสนาหรือไม่ ทำไมถึงเน้นแต่การชวนคนทำบุญอย่างเดียว ? คำสอนของวัดพระธรรมกายถูกต้องตามแนวทางคำสอนดั้งเดิม ของพระพุทธศาสนาหรือไม่ ทำไมถึงเน้นแต่การชวนคนทำบุญอย่างเดียว ? Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 02:13 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.