เราจะพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้อย่างไร?


มนุษย์ทุกคนในโลกใบนี้ต่างก็ประสบกับชะตากรรมเหมือนกัน คือต้องประสบทุกข์จากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย การพลัดพราก และทุกข์นานาประการร่วมกัน

การเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นหน้าที่ของชาวพุทธที่จะช่วยกันจรรโลงรักษาพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ไปสู่ใจชาวโลก เพื่อประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ทั้งผองให้พวกเขาได้อาศัยธรรมะเป็นที่พึ่งที่ระลึกเป็นที่เกาะเกี่ยวของใจและเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตให้อยู่ในครรลองที่ก่อประโยชน์สุขให้แก่ตนเองและผู้อื่น ไม่เบียดเบียน ไม่สร้างความเดือดร้อน ไม่ก่อทุกข์ ไม่ก่อบาป เป็นหนทางที่จะสลัดตนออกจากกองทุกข์ เข้าถึงบรมสุขคือนิพพานในภพชาติสุดท้ายได้ในที่สุด

ถ้าเราช่วยกันเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้อย่างนี้ จึงจะเรียกได้ว่าเป็นการจรรโลงโลกไว้ให้เป็นสถานที่ที่มนุษย์มีโอกาสสร้างความสุขความเจริญให้แก่ชีวิตตนต่อไปได้

การเผยแผ่พระพุทธศาสนามาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนั้น คือการที่พุทธบริษัททั้ง ๔ ได้ดำเนินตามรอยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้ไว้ คือ มีพระพุทธประสงค์ให้พุทธสาวกประกาศพระศาสนาออกไปเพื่อประโยชน์แก่มหาชนทั้งหลาย เพราะผู้มีธุลีน้อยในดวงตา (กิเลสเบาบาง) ยังมีอยู่ เมื่อได้ฟังพระสัทธรรมแล้วจะสามารถเข้าใจตามทันได้

ชาวพุทธทุกคนเมื่อศึกษาและปฏิบัติธรรมแล้ว ควรจะทำหน้าที่เป็นนักเผยแผ่ต่อไปด้วย ถ้าได้ฝึกฝนฝึกซ้อมเตรียมความพร้อมให้ดีก็จะทำหน้าที่ในด้านการเผยแผ่นี้ได้อย่างมีคุณภาพ และที่สำคัญเป็นการสั่งสมบุญใหญ่ของตนเอาไว้ จะได้บุญมาก เป็นบุญละเอียด บุญประณีต ในการสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา

แต่การเผยแผ่พระพุทธศาสนาจะได้ผลดีเพียงใดนั้น ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับ คุณภาพของนักเผยแผ่ด้วย คุณสมบัติขั้นพื้นฐานของนักเผยแผ่ที่ดีมีอยู่ ๓ ประการ

๑. มีความรับผิดชอบตัวเอง
๒. มีทักษะด้านภาษา
๓. มีจินตมยปัญญา

๑. มีความรับผิดชอบตัวเอง (ต่อการทำความดีสากล)

ความดีสากลทั้ง ๕ ประการ เป็นความรู้และความดีเบื้องต้น ที่ผู้ใดฝึกฝนทำให้ได้เป็นประจำแล้ว จะช่วยให้ผู้นั้นเกิดความเข้าใจในธรรมะที่ลึกซึ้งละเอียดลออต่อไปในภายหลัง

ความดีสากล ๕ ประการนั้น คือ ความสะอาด ระเบียบ สุภาพ ตรงเวลา จิตตั้งมั่นมีสมาธิ

ความรับผิดชอบต่อความดีสากลหมายถึง มีความพากเพียรตั้งใจทำความดีสากล ซึ่งเป็นความดีเบื้องต้นให้เป็นนิสัย โดยการทำความดีนั้นให้เจริญไปตามลำดับใน ๔ ลักษณะคือ

ปฏิบัติด้วยตนเองได้อย่างชำนาญ
ชักชวนผู้อื่นให้ปฏิบัติตาม
ทบทวนแล้วปลื้มใจ พอใจในความดีที่ได้ทำไว้ เพราะสิ่งที่ได้ทำไว้นั้นทำเพื่อจะสั่งสมบุญ
สรรเสริญคุณค่าความดีที่ทำนั้นให้ปรากฏ เพื่อว่าผู้ที่มีปัญญาได้ฟังแล้วจะได้นำความดีนั้นไปเผยแผ่ให้ขยายกว้างออกไป

เมื่อตัวเราทำความดีเบื้องต้นเป็นเองแล้ว ทำได้ดีในระดับมาตรฐานด้วยแล้ว จากนั้นจึงค่อยไปเชิญชวนผู้อื่น เราจึงจะมีความน่าเชื่อถือมากพอที่ผู้อื่นจะรับฟัง และมีใจยินดีเข้ามาศึกษาธรรมและปฏิบัติตาม นี้คือความสัมพันธ์ของความดีสากลที่มีผลต่อการเพิ่มศักยภาพในการเผยแผ่ธรรมะอย่างเป็นรูปธรรม

ตัวอย่างเช่น ความดีสากลประการแรกได้แก่ ความสะอาด ความสะอาดเป็นรากฐาน
ของความดีทุกชนิด

จะเขียนหนังสือให้ได้ดี กระดาษต้องสะอาด จะวาดรูปให้ได้ดี ผ้าใบหรือกระดาษที่นำมาให้เราวาดก็ต้องสะอาด

จะหุงข้าวให้ได้ดี หม้อที่หุงก็ต้องสะอาด ข้าวที่จะนำมาหุงก็ต้องซาวแล้วซาวอีกให้สะอาด แม้ชาวไร่ชาวนาจะทำไร่ทำนาให้ได้ดี เขาก็ต้องทำความสะอาดไร่นาของเขาก่อน คือ ต้องถางหญ้าถางป่าให้เรียบร้อย นั้นก็เป็นการทำความสะอาดไร่นา

คนจะทำความดีใด ๆ จึงต้องเริ่มต้นจากการทำความสะอาดและความสะอาดขั้นต้นที่จะต้องทำก็คือ การทำความสะอาดตัวเองตั้งแต่ศีรษะจรดฝ่าเท้า จากนั้นก็ทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ

เมื่อคนจะทำความดีต้องเริ่มต้นจากการทำความสะอาด การจะทำให้คนมีความซาบซึ้งในธรรมะตั้งแต่เล็กก็ต้องฝึกให้ทำความสะอาดตัวเองเป็นตั้งแต่เล็ก ลูกหลานชาวพุทธจึงควรจะได้ฝึกให้รักความสะอาดและทำความสะอาดเป็น เพราะการทำความสะอาดเป็นการทำงานพื้นฐานของชีวิต การทำความสะอาดจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะบ่มเพาะคุณธรรมอื่น ๆ ให้งอกงามขึ้นมาได้

เมื่อลูกหลานทำความสะอาดเป็นแล้ว ก็ต้องฝึกจัดระเบียบให้เป็น มีข้าวของเครื่องใช้ เช่น ตุ๊กตา ของเล่น ก็ต้องจัดระเบียบให้เป็น ดินสอ ปากกา รองเท้าที่ใส่ หรือถ้วยจานช้อนที่ใช้รับประทานอาหารอยู่เป็นประจำ ก็ต้องให้เด็กฝึกหัดทำความสะอาดและจัดเก็บให้เป็นระเบียบ

นอกจากทำความสะอาด จัดระเบียบแล้วต้องฝึกลูกหลานให้สุภาพกับทุกคนด้วย และฝึกเรื่องเวลา คือ ทำกิจกรรมให้ตรงเวลาด้วย เช่น ถึงเวลาก็มาสวดมนต์ ไหว้พระ นั่งสมาธิพร้อมกัน สิ่งเหล่านี้เป็นความดีสากล เป็นความดีขั้นต้นที่จะเป็นพื้นฐานทำให้เข้าถึงธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้

ถ้าความดีสากล ๕ ประการนี้ ยังทำได้ไม่ดี ก็ยากที่จะเข้าใจธรรมะของพระพุทธเจ้าและเมื่อเป็นอย่างนั้น หากเขาได้ความรู้ความดีอะไร ก็ยากที่เขาจะมีน้ำใจคิดถึงและเอื้อเฟื้อแบ่งปันคนอื่น เพราะฉะนั้นสิ่งแรกที่นักเผยแผ่จะต้องฝึกทำให้ได้ดีก็คือ ฝึกตนให้มีความรับผิดชอบต่อการทำความดีสากล

๒. มีทักษะด้านภาษา

ภาษาเป็นเครื่องมือสื่อสารระหว่างมนุษย์ การที่จะสื่อสารกันให้เข้าใจและรับการถ่ายทอดสารจากบุคคลหนึ่งไปสู่อีกบุคคลหนึ่ง ความสามารถทางภาษาเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการฟัง พูด อ่าน หรือเขียนก็ตาม และทักษะทางด้านภาษาเป็นสิ่งที่เรียนรู้ฝึกฝนกันได้และจำเป็นที่จะต้องฝึกฝนอยู่เสมอ หากฝึกเรื่อย ๆ ความเชี่ยวชาญจะเจริญขึ้นตามวัยและตามประสบการณ์ของผู้ฝึก

ทักษะด้านภาษาสำหรับนักเผยแผ่

ฟังแล้วจับประเด็นได้
พูดได้เนื้อหาชัดเจนและออกเสียงถูกต้องตามอักขรวิธี
อ่านในใจและอ่านออกเสียงได้ชัดเจน
เขียนได้ถูกอักขรวิธี เขียนได้ตรงประเด็น เรียงความ ย่อความได้

การเป็นนักเผยแผ่ที่ดีนั้น เมื่อจะชวนเขามาทำความดี จึงต้องพูดจาสื่อสารให้รู้เรื่อง เมื่อจะฟังก็ต้องฟังรู้เรื่อง คือ จับใจความจับประเด็นในเรื่องที่ฟังได้

เมื่อจะอ่านก็อ่านเป็นทั้งอ่านในใจและอ่านออกเสียง สะกดคำได้ถูกต้อง อ่านแล้วสามารถเข้าใจเรื่องราวที่อ่าน จับใจความได้ถูกต้อง แม่นยำ

เมื่อจะพูดก็พูดออกเสียงได้ถูกอักขรวิธีพูดให้ชัดเจน มีประเด็นในเรื่องที่พูด

การพูดที่เตรียมประเด็นไว้ดี เช่น อานิสงส์ผลบุญในเรื่องนั้น ๆ เป็นอย่างไร ในเวลาที่ไปชวนใครเขามาทำความดี การพูด ไปตามลำดับประเด็นช่วยให้เขาเข้าใจง่าย และจำได้ง่าย

การนำสิ่งเหล่านั้นมาพูด ทีแรกอาจจะเข้าใจได้ไม่ลึก แต่เมื่อพูดไปซ้ำ ๆ เดี๋ยวก็เข้าใจลึกซึ้งได้ ก็เหมือนกับธรรมที่หลวงพ่อคุณครูไม่ใหญ่นำมาสอนพวกเราซ้ำ ๆ อยู่ทุกวัน ทุกเดือน ทุกปี ถึงวันหนึ่งเราก็ยังสามารถเข้าใจลึกซึ้งตามท่านได้ แล้วมาร่วมสร้างบารมีกัน

เมื่อจะเขียนก็ฝึกเขียนเรียงความให้เป็น เขียนให้เป็น คืออ่านแล้วสามารถเข้าใจได้ อย่างแรกเขียนเพื่อให้เราได้ทบทวนความดีที่ได้ทำมา เขียนเองอ่านเองให้ปลื้มใจ จะได้เป็นการทบทวนบุญของเราด้วย

ในการฝึกการเขียนเรียงความนั้น เรามีบทฝึกอยู่แล้วตามที่คุณครูไม่ใหญ่ให้เขียนบันทึกผลการปฏิบัติธรรมทุกวัน เท่ากับเป็นการฝึกเขียนเรียงความ ในบันทึกแต่ละคืนจะให้เขียนเรื่องราวที่ผ่านมาทั้งวัน อย่างไรก็คงเขียนได้ไม่หมด ฉะนั้นจะเขียนให้ครอบคลุมเราต้องย่อความให้กะทัดรัดชัดเจน

ฝึกทำไปดังนี้ กว่าจะเขียนได้เราก็ได้ฝึกจับประเด็น เรียงความให้เป็น ย่อความให้เป็น บทฝึกเหล่านี้พัฒนากระบวนการคิด การจำ  การรับรู้ของเราไปในตัว ฝึกไปเรื่อย ๆ ต่อไป จะสามารถเป็นนักเผยแผ่ที่ดี เวลาไปชวนใครทำความดี ก็จะสามารถให้ความรู้เขาเป็นประเด็น ๆ เขาก็จะเข้าใจ รับได้ เวลาชวนเขามาบวช เขาก็จะมาตามคำชวน วาจาของเราก็จะศักดิ์สิทธิ์เพราะได้ทำถูกหลักวิชา

๓. มีจินตมยปัญญา

เมื่อศึกษาฟังธรรมแล้วจดจำธรรมนั้นได้นำมาทบทวน ไตร่ตรอง ใคร่ครวญ และเกิดความเข้าใจ สรุปความได้ตรงประเด็น สามารถคิดแยกแยะความแตกต่างระหว่างผิดกับถูก ดีกับชั่ว ประโยชน์กับมิใช่ประโยชน์

มองเห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการทำความดี ทั้งประโยชน์ที่เกิดกับตนเอง ครอบครัวหมู่คณะ ประเทศชาติ และประโยชน์ที่เกิดกับโลกนี้

การที่จะฝึกได้ดีต้องจำหลักไว้ว่า น้ำขุ่น ๆ กุ้ง หอย ปู ปลา ที่อยู่ในน้ำมีเท่าไรก็มองไม่เห็นเพชรนิลจินดาอยู่ในโอ่งน้ำ ในสระน้ำเท่าไร ๆ ก็มองไม่เห็น แต่ถ้าน้ำใส ๆ กุ้ง หอย ปู ปลามีมากเท่าไร ตัวเล็กตัวโตก็เห็นชัด เพชรนิลจินดาก็เห็นชัด

ใจใส ๆ จะเห็นชัด ผิด-ชอบ ชั่ว-ดี แยกออก เห็นชัด อะไรเป็นประโยชน์ อะไรไม่เป็นประโยชน์ มีคุณ มีโทษ มากน้อยเท่าไรเห็นชัด

ฉะนั้น ฝึกใจกันให้ดี หัดประคองใจให้กลับมาอยู่ในตัวให้ได้ทั้งวัน ฝึกใจให้หยุดให้นิ่งเป็นสมาธิให้สม่ำเสมอทุกวัน เมื่อใจนิ่งดีแล้ว ใสดีแล้ว จะมองอะไรได้ออก มองอะไรได้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง

อานิสงส์ของนักเผยแผ่

ด้วยบุญที่ได้เผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วยประการต่าง ๆ นี้ จะมีอานิสงส์ให้เราเกิดไปกี่ชาติ ๆ มีความรู้ความดีอะไรเกิดขึ้นในโลกนี้แล้วเรายังไม่รู้ ด้วยอานิสงส์ที่เราได้ไปชวนคนทำความดีเป็น นักเผยแผ่นี้ ก็จะมีผู้มีบุญทั้งหลายเอาความรู้ความดีมาแจกเราหรือมาชวนเราไปร่วมทำความดีด้วย นี้เป็นประโยชน์ส่วนตัวที่เราจะพึงได้จากการเป็นนักเผยแผ่

ประโยชน์ส่วนรวม เมื่อเราตั้งใจทำอย่างนี้ มีความรู้ความดีอะไรก็แจกไป ไม่หวงความรู้ ความดีนั้นก็จะแพร่กระจายไปทั่วบ้านทั่วเมือง ความสมัครสมานสามัคคีก็จะเกิดขึ้น ความร่วมไม้ร่วมมือกันในบ้านในเมืองที่จะประกอบคุณงามความดีกันต่อไปให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้ก็จะเกิดขึ้น

แล้วจากการที่ฝึกตัวเองเป็นนักเผยแผ่จากการไปชวนคนมาบวช ก็เป็นอายุของพระพุทธศาสนา เมื่อพระพุทธศาสนายังคงอยู่ต่อไปอีกนานเท่าใด ในฐานะที่เรามีส่วนในการเผยแผ่ มีส่วนในการทำให้พระพุทธศาสนาอายุยืน เกิดไปกี่ภพกี่ชาติ อายุเราก็ยืน ความรู้ความดีที่เราศึกษามาได้ก็จะตรึงตราอยู่ในตัวและในใจของเรายากจะลืมเลือน และมหาชนก็จะไม่ลืมเลือนความรู้ความดีที่เราได้เผยแผ่แจกจ่ายให้เขาไป เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครที่พูดถึงความดีกับเราครั้งใด เราก็เพิ่มความปลื้มใจให้แก่ตัวเองครั้งนั้น ปลื้มใจกันทั้งสองฝ่ายบุญใส ๆ ก็เพิ่มขึ้นทับทวี

การเป็นนักเผยแผ่พระพุทธศาสนา การทำหน้าที่ชาวพุทธที่แท้จริง จะช่วยจรรโลงพระพุทธศาสนา จรรโลงโลกใบนี้ให้สงบร่มเย็นมีสันติภาพ เหมาะกับเป็นสถานที่เพิ่มพูนโอกาสในการสร้างความดีและความเจริญแก่มนุษยชาติได้อย่างนี้เอง

Cr. หลวงพ่อทัตตชีโว

วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๖๕ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙


เราจะปลูกฝังให้ลูกหลานทำหน้าที่
การสวดมนต์ให้พรของพระสงฆ์มีส่วน






คลิกอ่านหลวงพ่อตอบปัญหาของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๙ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
เราจะพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้อย่างไร? เราจะพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้อย่างไร? Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 02:20 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.