คนไทยคุ้นเคยกับการทำงานแบบเดี่ยวมากกว่าเป็นทีม แต่สมัยนี้สังคมเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคของการทำงานเป็นทีมแล้ว จะมีวิธีแก้ไขเรื่องนี้ได้อย่างไรบ้าง?


ปัญหาการทำงานเป็นทีมไม่ค่อยเป็น ทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มไม่ค่อยได้ มีรากฐานมาจากอุปนิสัยที่ปลูกฝังมาแต่เยาว์วัยของแต่ละคน เด็ก ๆ ที่เล่นกีฬาเป็นทีมไม่ค่อยเป็น เล่นเป็นทีมไม่ได้ เล่นกันไปเผลอ ๆ ก็ทะเลาะต่อยตีกันแล้ว เมื่อโตขึ้นมาทำงาน การทำงานยิ่งต้องอาศัยการรับฟังความคิดเห็นร่วมกันก็เลยทำงานไม่ค่อยรอด ทำให้เกิดความขัดแย้งแตกความสามัคคีกันได้ง่าย

มาถึงวันนี้สังคมเปิดกว้าง การทำงานร่วมกันไม่ได้มีแต่เฉพาะในวงคนไทยด้วยกันเท่านั้น แต่ยังต้องทำงานร่วมกับคนนานาชาติด้วย ยิ่งจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงนิสัยพื้นฐานนี้ให้ดี เพื่ออนาคตของตนเอง ครอบครัว สังคมและประเทศชาติ

การจะดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันหรือการทำงานร่วมกับผู้อื่น คุณธรรมพื้นฐานที่ต้องมีก็คือ ความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ซึ่งเกิดจากการเอาใจเขามาใส่ใจเรา แล้วเอาใจเราไปใส่ใจเขา มีจิตใจเมตตาเอื้อเฟื้อต่อบุคคลอื่น ถนอมน้ำใจกัน เรารักสุขเกลียดทุกข์อย่างไร ผู้อื่นก็เป็นเช่นเดียวกัน ฉะนั้นสิ่งใดที่ทำลงไปแล้ว ผู้อื่นได้รับทุกข์ หมดสุข เราจะไม่ทำ     สิ่งใดที่ทำลงไปแล้ว จะช่วยให้ผู้อื่นไม่ได้รับทุกข์ ได้รับความสุข สิ่งนั้นเราจะทำ เป็นต้น

บทฝึกที่ง่ายที่สุดสำหรับการหัดเอาใจเขามาใส่ใจเรา
เอาใจเราไปใส่ใจเขา เริ่มตั้งแต่การใช้ห้องน้ำ
ซึ่งเป็นสถานที่ที่เราต้องใช้ร่วมกันกับผู้อื่นอยู่เป็นประจำ
โดยให้คำนึงถึงผู้ที่จะมาใช้ห้องน้ำคนต่อไป

นิสัยดีที่เป็นพื้นฐานนี้ หากใครยังไม่มีหรือมีแต่น้อยไป เราสามารถฝึกฝนให้เพิ่มพูนขึ้นมาได้ด้วยบทฝึกง่าย ๆ ที่คุณครูไม่ใหญ่ให้ไว้ในโอวาทว่า

ในการใช้ห้องน้ำ หลวงพ่ออยากให้ลูกทุกคนได้ถือโอกาสฝึกอุปนิสัยของเราซึ่งจะเป็นทางมาแห่งบุญ ให้ผู้ที่ใช้บริการถัดจากเราไปมีความรู้สึกว่าเป็นคนแรกเสมอ คือ ทั้งอ่างล้างมือและในห้องน้ำทุกอย่างให้สะอาดแล้วก็แห้ง

บทฝึกที่ง่ายที่สุดสำหรับการหัดเอาใจเขามาใส่ใจเรา เอาใจเราไปใส่ใจเขา เริ่มตั้งแต่การใช้ห้องน้ำ ซึ่งเป็นสถานที่ที่เราต้องใช้ร่วมกันกับผู้อื่นอยู่เป็นประจำ โดยให้คำนึงถึงผู้ที่จะมาใช้ห้องน้ำคนต่อไป

การฝึกจากสิ่งที่ต้องใช้ต้องทำเป็นประจำในชีวิตประจำวัน จะช่วยให้เราเปลี่ยนแปลงตัวเองไปในทางที่ดีขึ้นได้อย่างง่าย ๆ เห็นผลได้ทันทีที่ทำ และถ้าทำได้แล้ว จะเป็นการเปลี่ยนแปลงนิสัยให้ดีขึ้นอย่างถาวร

บทฝึกนี้จะทำให้เรามีกำลังใจเพิ่มขึ้นทุกวัน มีสติเพิ่มพูนขึ้นทุกวัน และยังจะมีข้อคิดเพิ่มขึ้นทุกวัน วันละหลายครั้งด้วย ส่วนบทฝึกนี้จะช่วยให้เราเป็นคนเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันได้อย่างไร ก็ลองคิดไตร่ตรองตามดูนะ

ถ้าคนที่หนึ่งเข้าห้องน้ำหรือว่าล้างมือในอ่าง แล้วทิ้งน้ำเอาไว้ที่พื้น ๓ หยด แล้วจะเกิดอะไรขึ้น

คนที่สองเข้ามาเห็นมีน้ำเปียกๆ อยู่ที่พื้น ๓ หยด เขาเลยเพิ่มให้อีก ๓ หยด กลายเป็น ๖ หยด ดูไปก็ไม่เปียกอะไร

แต่คนที่สามเข้ามาเห็นน้ำหยดอยู่แล้วก็เพิ่มหยดน้ำมากขึ้นไปอีก ถึงตอนนี้น้ำไม่ใช่หยดน้ำแล้ว เริ่มจะเปียกเป็นบริเวณกว้าง แล้วคนที่สี่เข้ามาเห็นน้ำเปียกอยู่ก็ทิ้งน้ำบ้างและคราวนี้ไม่เพิ่มแค่ ๒-๓ หยดแล้ว ความระมัดระวังยิ่งลดลง พื้นจะยิ่งแฉะไปใหญ่แล้วคนที่ห้าเข้ามาอีกก็ยิ่งเลอะเทอะเฉอะแฉะไปกันใหญ่

ถ้าคนที่หนึ่งย้อนกลับเข้ามาใช้ห้องน้ำ มาใช้อ่างล้างมืออีกเป็นคนต่อไป เขาคงตกใจว่าใครมาทำเลอะขนาดนี้ ย้อนไปถามคนที่ห้าคนนี้ก็จะบอกว่าเห็นมีอย่างนี้อยู่แล้ว แสดงว่าคนที่สี่ทำเลอะ ไปถามคนที่สี่ เขาก็บอกว่ามันเลอะอยู่แล้ว ถ้าอย่างนั้นก็ต้องเป็นคนที่สามไปถามว่าทำไมทำเลอะอย่างนี้ คนที่สามก็จะตอบว่า เมื่อเข้ามามันก็มีอยู่บ้างแล้ว นั่นก็คือคนที่สองทิ้งเอาไว้ ไปถามคนที่สอง เขาก็บอกว่าเมื่อเข้ามาก็มีอยู่แล้ว แล้วใครล่ะทำไว้ ก็คือคนที่ถามคนนี้เอง

ฝากไว้ให้เป็นข้อคิดสำหรับทุกคนนะบทฝึกนี้ง่าย มิได้ยาก แต่ว่าถึงเวลาทำจริง ๆ ไม่ง่าย แต่เราไม่ทำไม่ได้เพราะถ้าไม่ทำแล้วละก็ สิ่งที่ตั้งใจเรื่องอะไรไว้เท่าไร ๆ ก็จะทำไม่ได้ตลอดรอดฝั่ง

การแก้ไขข้อบกพร่องของตนเองควรทำให้ได้
ถ้าทำได้เมื่อไร นอกจากจะเป็นบุญกุศลในเรื่องนั้นแล้ว
ยังได้สัจจบารมีติดตัวไปข้ามภพข้ามชาติ

การแก้ไขปรับปรุงตัวเองแค่น้ำ ๒-๓หยดในห้องน้ำ ที่อ่างน้ำ หากเราแก้ไขตัวเองให้ดีแล้ว เราจะเป็นคนที่เอาใจเขามาใส่ใจเราเป็น เอาใจเราไปใส่ใจเขาเป็น และเราจะเป็นอีกคนหนึ่งที่จะมีส่วนในการให้กำลังใจทีมงาน ให้กำลังใจหมู่คณะในการทำความดี ให้ทำงานร่วมกันเป็นทีมยิ่ง ๆ ขึ้นไป

บทฝึกนี้ควรที่ทุกคนจะไปลองทำกันดู แต่กว่าจะทำได้จริงต้องมีสติ มีความเพียรพยายามมากพอดู ไปทำกันให้ได้นะ เพราะเป็นเรื่องที่ทำกันได้ทุกคนทุกวัย ทำด้วยตนเองได้เลยไม่ต้องเสียเงินเสียทอง ไม่ต้องไปแบกหามอะไรไม่ต้องใช้กำลังวังชามากมาย ไม่ต้องใช้เวลามากด้วย

การแก้ไขข้อบกพร่องของตนเองนั้นควรทำให้ได้ ถ้าทำได้เมื่อไร นอกจากจะเป็นบุญกุศลในเรื่องนั้นแล้ว ยังได้สัจจบารมีติดตัวไปข้ามภพข้ามชาติ

สัจจะที่ติดตัวไปได้ไม่ว่าข้อใด รักษาไว้ให้ดีจะมีฤทธิ์ โดยเฉพาะเมื่อถึงคราวมีอุปสรรคอะไรเกิดขึ้น นึกอะไรไม่ออก ให้เรานึกถึงสัจจะนั้นให้ตามมาช่วย เพราะเป็นความดีที่เป็นต้นทุนของเรา เป็นต้นทุนความดีที่เราสะสมไว้ด้วยตัวของเราเอง นึกเมื่อไรก็เห็นชัดเจน เพราะเราลงมือทำด้วยตนเอง

ถ้ารักตัวเอง รักที่จะแก้ไขปรับปรุงตัวเอง รักที่จะทำงานเป็นทีม สิ่งที่จะต้องฝึกกำกับไปด้วยก็คือ บทฝึกเพื่อความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันบทนี้ แล้วจะทำให้การสร้างทีมของเราเป็นไปได้อย่างดีเยี่ยมในอนาคต

Cr. หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๕๙ เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๕๙


เข้าวัดมานาน ทำไมยังชวนสมาชิกฯ (ปีก่อนหน้า)
ทำอย่างไรจึงจะใช้เวลา ๒๔ ชั่วโมง ในแต่






คลิกอ่านหลวงพ่อตอบปัญหาของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๙ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
คนไทยคุ้นเคยกับการทำงานแบบเดี่ยวมากกว่าเป็นทีม แต่สมัยนี้สังคมเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคของการทำงานเป็นทีมแล้ว จะมีวิธีแก้ไขเรื่องนี้ได้อย่างไรบ้าง? คนไทยคุ้นเคยกับการทำงานแบบเดี่ยวมากกว่าเป็นทีม แต่สมัยนี้สังคมเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคของการทำงานเป็นทีมแล้ว จะมีวิธีแก้ไขเรื่องนี้ได้อย่างไรบ้าง? Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 19:47 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.