พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกำหนดมาตรฐานครอบครัว ชาวพุทธและสังคมพุทธไว้บ้างหรือไม่ ?


ถาม : ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธมานาน แต่ไม่เคยพบว่ามีการสอนเรื่องมาตรฐานของชาวพุทธไว้ในระบบการศึกษาไทย อยากทราบว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกำหนดมาตรฐานครอบครัวชาวพุทธและสังคมพุทธไว้บ้างหรือไม่ ?

ตอบ :

ชาวพุทธ หมายถึง ผู้ที่มีที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุดคือพระรัตนตรัย เป็นผู้ดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ดำรงชีวิตอย่างมีเป้าหมาย คือฝึกฝนอบรมตนเพื่อบำเพ็ญประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน

ประโยชน์ตน คือ การมุ่งฝึกตนเพื่อเป้าหมายประโยชน์ทั้ง ๓ ระดับ คือ เป้าหมายชีวิตในโลกนี้ เป้าหมายชีวิตในโลกหน้า (สัมปรายภพ) และเป้าหมายสูงสุดคือการบรรลุมรรคผลนิพพาน มุ่งขจัดอาสวกิเลสต้นเหตุแห่งทุกข์และหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ

ประโยชน์ท่าน คือ การมุ่งฝึกตนเพื่อส่งเสริมให้ผู้อื่นบรรลุประโยชน์ทั้ง ๓ ระดับ ของเขาด้วย ซึ่งเป็นการดำเนินชีวิตเพื่อบำเพ็ญตนเป็นกัลยาณมิตรให้แก่ชาวโลก

สำหรับมาตรฐานที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกำหนดไว้ ให้ชาวพุทธใช้เป็นแนวทางสำหรับฝึกตนเพื่อบำเพ็ญประโยชน์ให้แก่ตนเองและชาวโลกนั้น ประกอบด้วย ๖ หมวด ซึ่งถ้าใครทำได้ครบทุกหมวด ชีวิตก็จะประสบความเจริญรุ่งเรืองตามมาตรฐานเช่นเดียวกับชาวพุทธในทุกยุคสมัยที่ผ่านมา ได้แก่

หมวดที่ ๑ กรรมที่ต้องละ

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกำหนดพฤติกรรมที่ห้ามทำบาปกรรมไว้ ๑๔ ข้อ หากใครเคยทำมาก่อนในอดีต ต่อแต่นี้ต้องละเสียให้เลิกทำบาปกรรมซึ่งเป็นตัวถ่วงไม่ให้ชีวิตเจริญก้าวหน้า ทรัพย์ที่มีก็ต้องรู้จักรักษาไม่ให้หมดไปโดยใช่เหตุ ได้แก่

ละกรรมกิเลส ๔ ประการ ได้แก่ ศีล ๔ ข้อแรก ไม่ฆ่า ไม่ลัก ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่พูดเท็จ
ไม่ทำบาปกรรมด้วยอคติ ๔ ประการ ได้แก่ ลำเอียงเพราะรัก โกรธ หลง หรือ กลัวภัย
ไม่เสพทางเสื่อมแห่งทรัพย์สมบัติ

คือ อบายมุข ๖ ประการ ได้แก่ การดื่มสุราเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท การเที่ยวกลางคืน การเที่ยวดูมหรสพ การเล่นการพนัน การคบคนชั่วเป็นมิตร และความเกียจคร้าน สิ่งเหล่านี้มีแต่โทษ ไม่ก่อประโยชน์ สังคมที่รุ่งเรืองไม่ว่าจะเป็นระดับอาณาจักร ตระกูลบริษัท หรืออื่นใดก็แล้วแต่ จะเสื่อมลงก็เพราะยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข ๖ เหล่านี้

หมวดที่ ๒ การเลือกคบคน

เมื่อเกิดเป็นคนก็ต้องมีเพื่อน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกำหนดมาตรฐานไว้ว่าเมื่อจะคบใครก็ต้องคบให้ได้ดี เลือกคบคนดี โดยก่อนอื่นต้องรู้จักแยกแยะระหว่างคนดีกับคนชั่ว ขณะเดียวกันก็ต้องฝึกตัวเองให้เป็นมิตรแท้ต่อคนอื่นด้วย เพราะถ้าตนเองยังฝึกตนไม่ได้มาตรฐานของมิตรแท้ ก็คงไม่มีคนดีคนไหนอยากจะคบหาเราเป็นเพื่อนด้วย มิตรเทียม คือ คนที่ไม่ควรคบ เพราะมีพฤติกรรมที่ไม่นับว่าเป็นมิตร ใครคบหาสมาคมด้วย ก็มีแต่จะทำให้เสื่อมลงและนำภัยมาให้ไม่จบสิ้น

มิตรเทียม จัดเป็น ๑ ในอบายมุข ๖ แบ่งได้ ๔ ประเภท ได้แก่ ๑) คนปอกลอก ๒) คนดีแต่พูด ๓) คนหัวประจบ ๔) คนชักชวนในทางฉิบหาย

มิตรแท้ คือ มิตรที่ควรคบ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแบ่งกลุ่มมิตรแท้ไว้ ๔ ประเภท ซึ่งมีลักษณะตรงข้ามกับมิตรเทียม ได้แก่ ๑) มิตรมีอุปการะ ๒) มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ ๓) มิตรแนะนำประโยชน์ ๔) มิตรมีความรักใคร่

หมวดที่ ๓ วิธีใช้ทรัพย์

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกำหนดมาตรฐานการใช้ทรัพย์ของชาวพุทธไว้ด้วยโดยทรงให้แบ่งทรัพย์ออกเป็น ๔ ส่วน ได้แก่ใช้สอยเลี้ยงชีพ ๑ ส่วน ใช้ประกอบการงานอาชีพและผูกมิตร ๒ ส่วน แบ่งไว้ใช้ในยามอันตรายอีก ๑ ส่วน รายละเอียดตรงนี้เคยพูดไว้ในปัญหาก่อน ๆ แล้ว ลองกลับไปทบทวนดู

ข้อสังเกตคือมิตรแท้มีค่ากว่าทรัพย์สมบัติ การหามิตรแท้หรือเพื่อนแท้ให้เจอและผูกมิตร ไว้ได้เป็นสิ่งสำคัญ

มนุษย์ตัวคนเดียวมีลำพัง ๒ มือ จะทำอะไรให้สำเร็จทุกอย่างเป็นเรื่องยาก ถ้าไม่ได้คนดีมาช่วย เป็นเรื่องยากจริงๆ

ถ้าอ่านเรื่องของบุคคลในประวัติศาสตร์ ก็จะยิ่งเห็นตัวอย่างชัด เช่น ในสามก๊ก เล่าปี่ สร้างอาณาจักรได้เพราะได้มิตรสหายคู่ใจมา๔ คน คือ กวนอู เตียวหุย จูล่ง ขงเบ้ง

ในสมัยพุทธกาล พระเจ้าพิมพิสารผู้ครองแคว้นมคธ ท่านเป็นบัณฑิตรู้จักเลือกคบหามิตรดีตั้งแต่ยังมิได้ครองราชย์ เมื่อแรกเจอและได้สนทนากับสมณะสิทธัตถะ (เมื่อแรกออกบวชก่อนจะตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า) ก็ถูกใจ เพราะหาผู้มีคุณสมบัติมิตรแท้อย่างนี้มานาน พระองค์คิดจะแบ่งแคว้นมคธครึ่งหนึ่งให้ปกครอง แต่เมื่อทราบว่าสมณะสิทธัตถะสละราชสมบัติออกบวชเพื่อแสวงหาทางพ้นทุกข์ พระองค์จึงตั้งความปรารถนาไว้ที่การตรัสรู้ตามแทน นี้คือความฉลาดในการเลือกคบมิตรของพระเจ้าพิมพิสาร เพราะตระหนักดีว่า มิตรแท้มีค่ายิ่งกว่าทรัพย์สมบัติ

หมวดที่ ๔ ปฏิบัติหน้าที่การงานประจำทิศ ๖

ทิศในความหมายของพระบรมศาสดาไม่ใช่ทิศตามภูมิศาสตร์ เหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก แต่ทรงหมายถึงบุคคลแวดล้อมรอบตัวเรา

หากตั้งตัวเราเป็นศูนย์กลาง จะพบว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดเรานั้นแบ่งออกได้เป็น ๖ ทิศ ได้แก่ ทิศเบื้องหน้า ทิศเบื้องหลัง ทิศเบื้องขวา ทิศเบื้องซ้าย ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง

ทิศเบื้องหน้า - บิดา มารดา
ทิศเบื้องหลัง - สามี ภรรยา
ทิศเบื้องขวา - ครูอาจารย์
ทิศเบื้องซ้าย - มิตร
ทิศเบื้องบน - สมณะ
ทิศเบื้องล่าง - นายจ้าง ลูกน้อง

ทิศ ๖ คือหน่วยของสังคมขนาดเล็กที่สุดที่สมบูรณ์และสำคัญที่สุด หากบุคคลในแต่ละทิศสามารถปฏิบัติตามหน้าที่ประจำทิศของตนได้สมบูรณ์ ย่อมสามารถสร้างสังคมให้เจริญรุ่งเรืองทั้งทางโลกและทางธรรม

ในทางกลับกัน เมื่อสังคมอ่อนแอ ก็ต้องกลับมาสำรวจว่า เราได้ทำหน้าที่ประจำต่อทิศต่างๆ นั้นอย่างไร และบุคคลในทิศต่างๆ ได้ทำหน้าที่ของตนต่อเราได้มากน้อยเพียงไร ก็จะพบเหตุของความบกพร่องและสามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้ด้วยการทำหน้าที่ของทิศให้สมบูรณ์

หน้าที่เป็นสิ่งที่มาพร้อมกับการงานที่ต้องทำ หน้าที่ของฝ่ายหนึ่งก็บ่งบอกถึงสิทธิของอีกฝ่ายหนึ่งที่จะพึงได้รับ เช่น พ่อแม่มีหน้าที่ห้ามลูกจากการทำความชั่ว แนะนำให้ทำแต่ความดี ฉะนั้นตั้งแต่ลูกยังเล็กก็มีสิทธิที่พึงได้รับจากพ่อแม่ คือการปลูกฝังให้รู้จักบุญ บาป ดี ชั่ว เมื่อลูกเติบโตขึ้นมีหน้าที่เลี้ยงดูท่านตอบแทน พ่อแม่ยามแก่ชราก็มีสิทธิที่พึงจะได้รับจากการดูแลของลูกเต้า เป็นต้น

สังคมที่แต่ละคนรู้จักหน้าที่และสิทธิของตนเอง เข้าใจถูกถึงวัตถุประสงค์ของการให้และรับจากกันและกัน และปฏิบัติได้ถูกวิธีในการงานต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาจากหน้าที่นั้นๆ ผลที่เกิดขึ้นจะเป็นความสุขความเจริญของทุกคนในสังคมนั้น

หมวดที่ ๕ ประพฤติสังคหวัตถุ ๔ เป็นลิ่มสลักใจ

ความสำเร็จในงานทุกอย่างที่สัมพันธ์ระหว่างบุคคล ๒ ฝ่าย จะต้องมีลิ่มสลักใจหรือกาวใจ หากขาดความประพฤติเหล่านี้ไป แม้พี่น้องอยู่ด้วยกัน ก็ไม่รักกัน สามีภรรยาอยู่ด้วยกันมาแม้มีลูกเต้ามากมาย สักวันหนึ่งยังต้องจากกัน เพราะลิ่มสลักใจที่ทำไว้ไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นศิษย์กับอาจารย์ เพื่อนกับเพื่อน เจ้านายกับลูกน้องก็ตาม ถ้าทำลิ่มสลักใจ ๔ ข้อนี้หลุดไป แม้เคยเคียงบ่าเคียงไหล่กันมา ก็ต้องพรากจากกันจนได้

สังคหวัตถุ ๔ ได้แก่

ทาน คือ การแบ่งปัน การให้
ปิยวาจา คือ วาจาไพเราะ
อัตถจริยา คือ ประพฤติตนเป็นประโยชน์ เป็นที่พึ่งพาอาศัยได้
สมานัตตตา คือ เป็นผู้ประพฤติธรรมสม่ำเสมอ เป็นที่ไว้วางใจได้

หมวดที่ ๖ ความประพฤติเป็นเหตุแห่งการได้ยศ ได้การยอมรับ

ความเจริญประการหนึ่งของคนในโลกคือการได้ยศ ได้รับการสรรเสริญ ได้รับเกียรติ ชื่อเสียง และการยอมรับจากผู้คนในสังคม ซึ่งผู้ประพฤติถูกต้องตามธรรมย่อมได้รับเกียรตินั้นและรักษาเกียรติยศนั้นไว้ได้ เพราะนอกจากทำประโยชน์ตนแล้ว ยังประพฤติตนทำประโยชน์ให้แก่คนอื่นทั่วไปด้วย จึงเป็นได้ทั้งต้นแบบ และช่วยเหลือคนอื่นได้ หลักในการประพฤติตนแบ่งเป็นชุด ๓ ชุด ดังนี้

     ถึงพร้อมด้วยศีล เป็นคนละเอียด มีไหวพริบ มีความประพฤติเจียมตน ไม่ดื้อกระด้าง
     เป็นคนหมั่น ไม่เกียจคร้าน ไม่หวั่นไหวในอันตรายทั้งหลาย มีปัญญา มีความประพฤติไม่ขาดสาย
   เป็นผู้สงเคราะห์ แสวงหามิตรที่ดีรู้เท่าถ้อยคำที่คนเขากล่าว ปราศจากความตระหนี่ เป็นผู้แนะนำ ชี้แจง ตามแนะนำ

ความรู้ความสามารถที่จะกระทำได้ตามนี้ไม่ได้ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด แต่เกิดจากการฝึกฝน การอบรมสั่งสอน เคี่ยวเข็ญจากบิดามารดา จากสมณะ จากครูอาจารย์ ที่ท่านทุ่มเทฝึกให้ทำการงานต่าง ๆ ในหน้าที่ ความรู้ความสามารถต่าง ๆ จึงเกิดขึ้นมา และความดีที่ทำจะเป็นเครื่องรับประกันว่า ชีวิตจะพบกับความสุขความเจริญทั้งชีวิตในปัจจุบัน และชีวิตในโลกหน้าไปจนกว่าจะทำพระนิพพานให้แจ้ง หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง

แบบแผนการดำเนินชีวิตทั้ง ๖ หมวดนี้ประกอบเข้าด้วยกันเป็นมาตรฐานการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ไม่ว่าจะอยู่แห่งหนใดในโลกนี้ก็ตาม หากประพฤติตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ จะสร้างสุขให้แก่ตนเองสร้างครอบครัวที่เป็นสุข และสร้างสังคมที่สงบสุขที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตได้จริง

Cr. หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๗๕ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๐

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีวิธีบำเพ็ญ






คลิกอ่านหลวงพ่อตอบปัญหาของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
สังคมเปลี่ยนไป แนวทางการใช้ชีวิตเปลี่ยนตาม พระพุทธศาสนามีคําแนะนําอย่างไร ? (ปีก่อนหน้า)
ความสะอาดและเป็นระเบียบมีความสําคัญต่อความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาอย่างไร ?
เมื่อเริ่มสร้างวัดพระธรรมกาย หลวงพ่อมีหลักการสร้างและดูแลวัดอย่างไร ?
การบวชเป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา จะฝึกตนให้เป็นเนื้อนาบุญได้อย่างไร ?
ฤกษ์ดีพึ่งได้จริงหรือ?
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีวิธีบำเพ็ญตนเป็นกัลยาณมิตรอย่างไร?
ทำอย่างไรจึงจะไม่ท้อไม่เหนื่อยในการทำงาน?
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกำหนดมาตรฐานครอบครัว ชาวพุทธและสังคมพุทธไว้บ้างหรือไม่ ? พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกำหนดมาตรฐานครอบครัว ชาวพุทธและสังคมพุทธไว้บ้างหรือไม่ ? Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 06:52 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.