หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๒๐)


เมื่อใกล้ถึงเทศกาลขึ้นปีใหม่ของทุก ๆ ปีนั้น ในวัฒนธรรมของเรา คนไทยย่อมจะมีการย้อนรำลึกนึกถึงบุคคลอันเป็นที่รัก อาทิ บิดา มารดา ครูบาอาจารย์ ท่านผู้มีพระคุณของเรา เพื่อวัตถุประสงค์หลายประการ เช่น เพื่อนึกถึงคุณความดีของท่านที่มีต่อตัวเรา เพื่อทบทวนคำสั่งสอนหรือบทเรียนต่าง ๆ ที่ท่านมอบให้แก่เรา ตลอดจนเพื่อทบทวนบุญที่เรากระทำเพื่อท่านในปีที่ผ่านมา ฯลฯ เพื่อที่จะนำคำสั่งสอนบทเรียนอันล้ำค่า หรือบุญกุศลเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ หรือมาทำให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไปในปีใหม่ที่จะมาถึงนี้

ในส่วนของผู้เขียนเองนั้น ก็คงจะเป็นเช่นเดียวกับท่านผู้อ่านหลาย ๆ ท่าน ที่เมื่อใกล้ถึงเทศกาลวันขึ้นปีใหม่แต่ละครั้ง มักจะย้อนรำลึกนึกถึงบุคคลสำคัญท่านหนึ่งอยู่เสมอ บุคคลท่านนั้นก็คือ พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย มหาปูชนียาจารย์ผู้เป็นที่เคารพยิ่งของเราทุกคน ซึ่งกล่าวได้ว่า ทั้งคำสอน ปฏิปทาต่าง ๆ ตลอดจน วิชชาความรู้ของท่านนั้น คือสิ่งที่ทรงคุณค่าและสามารถนำพาสันติสุขให้แก่ตัวเราและมวลมนุษยชาติได้อย่างแท้จริง การน้อมรำลึกถึงท่านในแต่ละครั้ง จึงถือว่าเป็นการน้อมนำเอาสิ่งที่ดีงาม ที่เป็นมงคลของชีวิตให้เข้ามาสู่ตัวเราอยู่เสมอไป เพราะถือเป็นจุดเริ่มต้นของการบูชาบุคคลผู้ควรบูชา ซึ่งถือว่าเป็นมงคลอันสูงสุด (ปูชา จ ปูชะนียานํ เอตมฺมงฺคลมุตตมํ) ดังคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง

ซึ่งก็เป็นที่น่าอัศจรรย์ใจอย่างยิ่งว่า ในตลอดหลายปีที่ผ่านมานั้น เมื่อผู้เขียนได้เดินทางไปประกอบศาสนกิจหรือทำงานศึกษาวิจัยหลักฐานธรรมกายในพื้นที่แห่งใดก็ดี ก็มักจะมีโอกาสพบกับบุคคลซึ่งมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) อยู่เสมอไป แม้ว่าจะไม่เกิดขึ้นโดยตรงทุกครั้งในทุก ๆ ภารกิจ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีอยู่หลายครั้งทีเดียวที่ผู้เขียนได้รับข้อมูลที่สำคัญ การบอกเล่าที่สำคัญ (ในเรื่องหลักฐานธรรมกาย) จากการได้พบกับบุคคลผู้เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับพระเดชพระคุณหลวงปู่ (พระมงคลเทพมุนี) โดยตรง


บุคคลท่านหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับพระเดชพระคุณหลวงปู่ที่ผู้เขียนอยากจะกล่าวถึงในที่นี้ก็คือ พระเดชพระคุณดร.พระมหาผ่อง ปิยะธีโร สะมาฤกษ์ อดีตประธานศูนย์กลางองค์การพุทธศาสนสัมพันธ์ลาว (เทียบเท่าตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช) ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรัก ความเคารพ ความศรัทธาในพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย เป็นอย่างมาก ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผู้เขียนได้พบกับท่านในโอกาสต่าง ๆ ทั้งในการประกอบศาสนกิจ หรือการไปประชุมในเวทีนานาชาติหลาย ๆ ครั้ง หากมีโอกาสและเวลาเอื้ออำนวย พระเดชพระคุณดร.พระมหาผ่องก็จะสละเวลาถ่ายทอดเรื่องราวที่น่าศรัทธา น่าประทับใจ ให้ผู้เขียนฟังทุกครั้ง แม้ในเรื่องที่เป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับพระเดชพระคุณหลวงปู่ แต่ถ้าหากเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อความเข้าใจในวิชชาธรรมกายแล้ว พระเดชพระคุณ ดร.พระมหาผ่องท่านก็ไม่เคยละเลยที่จะถ่ายทอดแม้แต่สักครั้งเดียว ซึ่งในแต่ละครั้งท่านก็จะเล่าถึงเรื่องราวเหล่านั้นด้วยความเบิกบานใจ

พระเดชพระคุณ ดร.พระมหาผ่อง ปิยะธีโร สะมาฤกษ์ นั้น เป็นพระมหาเถระผู้เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและประชาชนชาวไทย ในช่วงวัยต้นของชีวิตท่านนั้น เป็นที่น่าสนใจว่า ท่านเคยเดินทางมาศึกษาและเป็นครูสอนอยู่ในโรงเรียนพระปริยัติธรรม วัดชนะสงคราม ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร รวมเวลาถึง ๑๖ ปีด้วยกัน โดยในช่วงระหว่างนั้น พระเดชพระคุณดร.พระมหาผ่อง เป็นผู้หนึ่งที่มีโอกาสฟังพระธรรมเทศนาจากพระเดชพระคุณหลวงปู่ (พระมงคลเทพมุนี) อยู่หลายครั้ง และการที่ได้ฟังพระธรรมเทศนาจากพระเดชพระคุณหลวงปู่เป็นระยะ ๆ นี้เอง ที่เป็นจุดเริ่มต้นในการศึกษาปฏิปทา ข้อวัตรปฏิบัติ และเรียนรู้เรื่องการปฏิบัติธรรมจากพระเดชพระคุณหลวงปู่สืบต่อมา

พระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทตฺตมหาเถร)
เมื่อกล่าวถึงพระธรรมเทศนาของพระเดชพระคุณหลวงปู่นั้น อาจกล่าวได้ว่า พระธรรมเทศนาของท่านที่แสดงเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ ถือเป็นพระธรรมเทศนาครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของท่าน ทั้งนี้เพราะเป็นพระธรรมเทศนาที่ พระเดชพระคุณพระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทตฺตมหาเถร) อดีตอธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุฯ ทำหนังสือขออาราธนานิมนต์พระเดชพระคุณหลวงปู่ด้วยตนเอง โดยได้กำหนดหัวข้อการแสดงพระธรรมเทศนาว่าจะต้องเป็นเรื่องกัมมัฏฐานโดยตรง และในวันนั้นการแสดงพระธรรมเทศนาของพระเดชพระคุณหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ครูผู้คนพบวิชชาธรรมกาย ก็ดำเนินไปอย่างราบรื่น เป็นที่อนุโมทนาชื่นชมโดยทั่วไป


พระทิพย์ปริญญา (ธูป กลัมพะสุต)
หนึ่งในบุคคลผู้ทรงภูมิความรู้ ซึ่งยืนยันถึงความถูกต้อง ลุ่มลึก ของพระธรรมเทศนาในครั้งนี้ไว้อย่างชัดเจนก็คือ พระทิพย์ปริญญา(ธูป กลัมพะสุต) ป.ธ.๖ ผู้ติดตามการสอนแนวทางปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานของพระเดชพระคุณหลวงปู่ (พระมงคลเทพมุนี) ในการแสดงพระธรรมเทศนากัณฑ์ที่ ๑ วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๘๘ – วันที่ ๓ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๘๙ รวมทั้งการแสดงพระธรรมเทศนาในวันที่ ๗ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๙๐ โดยในท้ายที่สุดท่านพระทิพย์ปริญญาผู้นี้ได้ให้ข้อสรุปว่า

“... หลวงพ่อ (พระมงคลเทพมุนี) ท่านมุ่งมั่นในการสอนสมาธิเป็นหลัก ไม่ว่าจะเทศน์เรื่องใด ๆ ก็ตาม สุดท้ายก็ต้องจบลงด้วยเรื่องการปฏิบัติวิปัสสนาให้ไปสู่ความรู้แจ้งเห็นจริงด้วยการปฏิบัติให้เข้าถึงพระธรรมกาย...1

1 พระครูภาวนามงคล, ตามรอยธรรมกาย : หลักฐานธรรมกายของพระพุทธศาสนาในประเทศไทย, กรุงเทพฯ : เอส. พี. เค. เปเปอร์ แอนด์ ฟอร์ม, ๒๕๕๖, หน้า ๓๙๖-๔๐๔.

เช่นเดียวกับที่ท่านพระเดชพระคุณพระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทตฺตมหาเถร) ได้เอ่ยปากชื่นชมพระธรรมเทศนาในวันที่ ๗ ตุลาคมพุทธศักราช ๒๔๙๐ ของพระเดชพระคุณหลวงปู่เช่นกันว่า “...การเทศน์ของหลวงพ่อวัดปากน้ำ (นั้น) ลึกซึ้ง มีลำดับ ขั้นตอน สอดแทรกบาลี นำมาขยายความให้เข้าใจได้อย่างชัดเจน ทั้งศีล สมาธิ ความบริสุทธิ์ เชื่อมโยงสู่การปฏิบัติ สมแล้วที่เป็นนักปฏิบัติธรรมวินัย ไม่มีที่ติเลย ...

สำหรับตัวของท่านพระทิพย์ปริญญาเองก็ยังได้ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมจากการฟังพระธรรมเทศนาครั้งดังกล่าวด้วยว่า เท่าที่ได้เคยพบปะมา พระที่เป็นฝ่ายสมถะมักไม่ใคร่แสดงธรรม (แต่) พระที่แสดงธรรมส่วนมากมักเป็นฝ่ายปริยัติ ...แต่ (สำหรับ) หลวงพ่อวัดปากน้ำนี้ ...ด้วยความที่เป็นนักปริยัติมาเก่าก่อน แนวการแสดงธรรมในเบื้องต้นแต่ละกัณฑ์ ระวังบาลีมิให้คลาดเคลื่อน2

2 สถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์), มุทิตาสักการะ พระสุธรรมญาณวิเทศ วิ. (สุธรรม สุธมฺโม), กรุงเทพฯ: (มปท.), หน้า ๔๒-๔๔.

การให้คำยืนยันของพระมหาเถระและบุคคลผู้ทรงความรู้ในพระไตรปิฎกข้างต้น ทำให้เราทราบว่า ในระหว่างการทำงาน การศึกษา และเผยแผ่ธรรมปฏิบัติตลอดชีวิตของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย ผู้เป็นที่เคารพบูชาของเหล่าศิษยานุศิษย์ทั่วโลกนั้นมิใช่เรื่องง่าย กล่าวโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ท่านกำลังให้การถ่ายทอดความรู้ธรรมปฏิบัติมานับสิบปีนั้น ท่านต้องพบกับอุปสรรคมากมายหลายด้าน ในท่ามกลางเสียงชื่นชมอนุโมทนา ก็ยังปะปนไปด้วยเสียงโต้แย้งคัดค้านท่านเสมอมาเช่นกัน

พระอริยุคุณาธาร (ปุสฺโสเสง)
ดังเช่นในปีพุทธศักราช ๒๔๙๓ ก็เป็นอีกช่วงหนึ่งที่พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ถูกตั้งข้อสังเกตเรื่องที่ท่านแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง ทำให้ทางการคณะสงฆ์ถึงกับส่ง ท่านเจ้าคุณพระอริยคุณาธาร (ปุสฺโสเสง) เปรียญธรรม ๖ ประโยค ซึ่งเป็นพระวิปัสสนาจารย์ใหญ่จากวัดเขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น ในฐานะผู้ตรวจการภาค มาตรวจสอบเรื่องราวต่าง ๆ จนในท้ายที่สุด ท่านจึงได้มาสนทนากับพระเดชพระคุณหลวงปู่ในหลายประเด็น นับตั้งแต่เรื่องของการปฏิบัติ แนวการสอนในวิชชาธรรมกาย เรื่องพระวินัย ตลอดจนพระไตรปิฎก ฯลฯ ซึ่งจากการพบและสนทนากันในคราวนั้น ทำให้ท่านเจ้าคุณพระอริยคุณาธาร (ปุสฺโสเสง) ให้ข้อสรุปถึงแนวการสอนและการปฏิบัติของพระเดชพระคุณหลวงปู่ไว้ ๓ ประการใหญ่ ๆ คือ ๑) แนวการสอนและการปฏิบัติของพระเดชพระคุณหลวงปู่เป็นไปตามแบบของโบราณาจารย์ ซึ่งสงเคราะห์ลงได้ในหลักกายคตาสติกรรมฐานที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงวางแบบไว้ (คือ การให้กำหนดจิตไว้ในส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ๒) แนวการสอนนี้ถือว่าเป็นกสิณแสงสว่าง โดยสมมุติเป็นดวงแก้ว หรือจะว่าเป็นวิญญาณกสิณก็ได้ ๓) เมื่อจิตสงบเป็นสมาธิแน่วแน่นิมิตก็จะปรากฏ หรือถ้าเป็นการเพ่งภาพหรือวัตถุ หรือธรรมชาติ หรือเป็นมโนภาพใช้ในการแผลงฤทธิ์ที่เรียกกันว่า วิกุพพนาฤทธิ์ตกลงว่าวิธีการปฏิบัติและการสอนของหลวงปู่วัดปากน้ำนั้นเป็นปฏิปทาเพื่ออภิญญาโดยตรง

การให้ข้อสรุปของท่านเจ้าคุณพระอริยคุณาธาร (ปุสฺโสเสง) ในครั้งนั้น นับว่าเป็นข้อสรุปที่สำคัญและช่วยยืนยันความบริสุทธิ์ ความเป็นพระมหาเถระที่มีปฏิปทาและจริยวัตรที่งดงามของพระเดชพระคุณหลวงปู่พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ได้เป็นอย่างดี ด้วยว่าหลังจากนั้นเป็นต้นมา เกียรติคุณของพระเดชพระคุณหลวงปู่ของเราก็ยิ่งขจรขจายไปกว้างไกลยิ่งกว่าเดิม จนการคณะสงฆ์ในยุคนั้นได้ถวายเกียรติแด่ท่าน และส่งผลให้ท่านได้รับพระราชทานพัดยศเทียบเปรียญ (พ.ศ. ๒๔๙๔) ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ในราชทินนามว่า พระมงคลราชมุนี(พ.ศ. ๒๔๙๘) และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ในราชทินนามว่า พระมงคลเทพมุนี(พ.ศ. ๒๕๐๐) ในที่สุด

สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริมหาเถร)
จนแม้เมื่อท่านมรณภาพไปแล้ว ในภายหลัง สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริมหาเถร) อดีตเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ก็ยังได้ทรงพระนิพนธ์หนังสือ ชีวประวัติของพระมงคลเทพมุนี และอานุภาพธรรมกายเพื่อยืนยันถึงความมีอยู่จริงของวิชชาธรรมกายไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา โดยทรงพระนิพนธ์ไว้ตั้งแต่ครั้งยังทรงสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระวันรัต ในช่วงปีพุทธศักราช ๒๕๑๒ ความตอนหนึ่งว่า

“...คำว่า ธรรมกาย นั้น พระคุณท่าน (พระมงคลเทพมุนี) ไม่ได้บัญญัติขึ้นเอง แต่หาก (เพราะ) ท่านได้ปฏิบัติธรรมมาแล้ว ซึ่งตรงกับคำที่มีอยู่ในพระไตรปิฎกด้วย เมื่อท่านค้นคว้าได้มาบังเอิญไปตรงกับพระไตรปิฎกเข้า จึงเป็นเรื่องที่ท่านภูมิใจและมั่นใจว่าของจริง มีจริง และมีอยู่ในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ...แต่ของจริงนั้น บุคคลจะพึงได้ พึงเห็น ด้วยการปฏิบัติธรรมอย่างแท้จริงเท่านั้น มิใช่เกิดขึ้นเพราะความคิดนึกและความปรารถนา...3

3 สมเด็จพระวันรัต (ปุ่น ปุณฺณสิริ), ชีวประวัติของพระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อวัดปากน้ำ) และอานุภาพธรรมกาย, ธนบุรี, โรงพิมพ์ดำรงธรรม, ๒๕๑๕, หน้า ๕๐.

ซึ่งก็เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ใจอีกเช่นกันที่ไม่เพียงแต่พระนิพนธ์ฉบับนี้เท่านั้นที่เป็นเครื่องยืนยันความมีอยู่จริง ความเป็นสิ่งที่ดีจริงของวิชชาธรรมกาย หากแต่ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามแห่งเดียวกันนี้เองที่เป็นสถานที่เก็บรักษา พระไตรปิฎกฉบับเทพชุมนุมซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างขึ้น ซึ่งภายหลังเมื่อสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) ได้ขออนุญาตเข้าไปทำการอนุรักษ์ รวบรวม จัดหมวดหมู่ ทำบัญชีไว้เรียบร้อยแล้ว4 ในเวลาต่อมาจึงทำให้ได้พบจารึกคัมภีร์ ธมฺมกายาทิและได้พบอีกครั้งหนึ่งจากการไปศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมจากหอสมุดแห่งชาติ พระนคร ในพระไตรปิฎกฉบับรองทรง ซึ่งสร้างขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ ทั้งนี้การค้นพบหลักฐานชิ้นสำคัญข้างต้นจึงเป็นเสมือนการค้นพบฐานความรู้และประวัติศาสตร์ที่สำคัญครั้งหนึ่งของพระพุทธศาสนาในประเทศไทยเลยทีเดียว เพราะในด้านหนึ่งย่อมจะเป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดีว่า บรรพบุรุษไทยทุกยุคทุกสมัยต่างก็ทราบและรู้จักเรื่องราวของ ธรรมกายมาเป็นเวลานานแล้ว และที่สำคัญที่สุดก็คือ การพบเรื่องราวหลักฐานธรรมกายนี้ เป็นการพบในสถานที่ซึ่งเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันกับพระเดชพระคุณหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายโดยตรง ทั้งในแง่ของบุคคล หลักฐานเอกสาร และประวัติศาสตร์ ซึ่งก็เป็นดังที่ผู้เขียนได้เกริ่นนำไว้ตั้งแต่เบื้องต้นว่า ล้วนเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่งจริง ๆ

4สถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) ได้ดำเนินการในการร่วมอนุรักษ์คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา คือพระไตรปิฎก ฉบับหลวง และพระไตรปิฎกฉบับเทพชุมนุมตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๕๖ แล้วเสร็จเมื่อเดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ มีการนำสำเนาคัมภีร์พระไตรปิฎกฉบับเทพชุมนุมฉบับดิจิทัลนี้ไปจัดแสดงในนิทรรศการสัปดาห ์ วันภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยแห่งชาติ วันเสาร์ที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงาน

ในท้ายที่สุดนี้ ผู้เขียนขอน้อมนำบุญที่ได้กระทำมาแล้วด้วยดีตลอดปีพุทธศักราช ๒๕๕๙ ไม่ว่าจะเป็นบุญใดก็ตาม ขอให้ทุกท่านได้มีส่วนในทุก ๆ บุญที่ผู้เขียนและคณะทำงานสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัยได้สร้างสมมาแล้วทุกประการ โดยเฉพาะล่าสุดที่ผู้เขียนได้ร่วมก่อตั้งกองทุนสำคัญ ๒ ทุน คือ กองทุนการเผยแผ่และปกป้องพระพุทธศาสนาจังหวัดน่าน และ กองทุนการวิจัยวิทยาลัยสงฆ์นครน่าน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อันมี พระเดชพระคุณพระสุนทรมุนี ผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์นครน่านเฉลิมพระเกียรติพระเดชพระคุณพระชยานันทมุนี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์นครน่าน เจ้าอาวาสวัดพระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง มาร่วมเป็นสักขีพยาน

ด้วยความตั้งใจสร้างบารมีกันมาด้วยดีของนักสร้างบารมีทุกท่าน ผู้เขียนขออวยพรให้ผู้อ่านทุกท่านมีความสุขสันติ มีความปลื้มปีติในบุญทุกบุญที่ร่วมกันสั่งสมมาแล้วด้วยดีตลอดปีพุทธศักราช ๒๕๕๙ มีความเข้มแข็ง และพร้อมสมบูรณ์ในทุก ๆ ด้าน ที่จะสั่งสมบุญสร้างบารมีให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไปอีกในปี ๒๕๖๐ ที่จะมาถึงนี้ พร้อมกันนี้ก็ขออนุโมทนาในความพร้อมเพรียงของสาธุชนพุทธบริษัททุกคนที่ได้มาร่วมกันสวดมนต์บทธัมมจักกัปปวัตนสูตรจนครบ ๑๑,๑๑๑,๑๑๑ จบ ในวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนอ้าย (หรือตรงกับวันพุธที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙) ที่ผ่านมา และขอให้เป้าหมายต่อไปของการสวดมนต์บทธัมมจักกัปปวัตนสูตร ตลอดจนการร่วมกันปกป้องพระพุทธศาสนาของลูกหลานพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) จงสำเร็จเป็นอัศจรรย์ทุกประการเทอญฯ

Cr. พระสุธรรมญาณวิเทศ วิ. (สุธรรม สุธมฺโม)
และคณะนักวิจัย DIRI
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๗๑ เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๖๐





หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๒๐) หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๒๐) Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 02:40 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.