การทอดผ้าป่า อานิสงส์ใหญ่ที่คาดไม่ถึง


การทำบุญทอดผ้าป่า เป็นบุญที่มีอานิสงส์อันไม่มีประมาณ เพราะเป็น มหาสังฆทาน คือ เป็นทานที่ถวายแบบไม่เฉพาะเจาะจงแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า มีอานิสงส์มากกว่าการถวายทานแด่พระองค์เองแบบจำเพาะเจาะจงเสียอีก

หากย้อนศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับการทอดผ้าป่า ก็จะพบว่า เดิมทีเดียว การทอดผ้าป่า เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นเลย เพราะในยุคต้นๆ ของสมัยพุทธกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ทรงมีพระบรมพุทธานุญาตให้พระภิกษุรับ คฤหบดีจีวร หรือ จีวรที่มีผู้ถวายโดยตรง

ดังนั้น พระภิกษุที่บวชอยู่ในพระพุทธศาสนาจึงต้องเที่ยวเก็บผ้าที่พวกชาวบ้านทิ้งแล้วจากที่ต่างๆ เช่น ป่าบ้าง กองหยากเยื่อบ้าง กองขยะบ้าง หรือเอามาจากผ้าห่อศพบ้าง และเมื่อรวบรวมเอาผ้าชิ้นเล็กชิ้นน้อยได้พอแก่ความต้องการแล้ว ท่านก็จะนำมาซักทำความสะอาด แล้วนำมาตัด เย็บ ย้อม เพื่อทำเป็นจีวร สบง หรือสังฆาฏิ ซึ่งเราจะเห็นว่ากว่าจะได้ผ้ามาทำเป็นจีวรนั้นลำบากมากๆ


จุดกำเนิดของการทอดผ้าป่า

ผู้ที่เป็นต้นกำเนิดของการทอดผ้าป่าท่านแรก คือ เทพธิดาที่อยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งมีนามว่า เทพธิดาชาลินี

เรื่องมีอยู่ว่า ในวันหนึ่งพระอนุรุทธเถระผู้มีจีวรเก่ากำลังเที่ยวแสวงหาเศษผ้าจากกองหยากเยื่อ เพื่อเอาไปทำจีวร พอเทพธิดาชาลินีเห็นเข้า จึงเกิดกุศลจิต แล้วตั้งใจว่าจะเอาผ้าทิพย์ 3 ผืน ยาว 13 ศอก กว้าง 4 ศอก น้อมถวายแด่ท่าน แต่แล้วเธอก็กลับฉุกคิดได้ว่า ถ้าเราจะถวายโดยตรง พระเถระก็จะไม่รับ เนื่องจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ทรงมีพระบรมพุทธานุญาตให้รับ ดังนั้น เธอจึงน้อมนำเอาผ้าทิพย์ไปวางไว้ในกองหยากเยื่อ ตรงบริเวณที่พระอนุรุทธเถระท่านจะต้องเดินผ่าน โดยวางให้ชายผ้าทิพย์โผล่พ้นกองหยากเยื่อออกมาเพื่อให้เห็นง่ายๆ จากนั้นพอพระอนุรุทธเถระได้เห็นผ้านั้นจริงๆ ท่านก็จับชายผ้าดึงออกมาเพื่อนำกลับไปทำจีวร

เหตุการณ์นี้ จึงกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้ใจบุญในสมัยพุทธกาลเกิดวิสัยทัศน์ตามแบบเทพธิดาชาลินี โดยจงใจนำผ้าไปไว้ตามที่ต่างๆ บ้าง เช่น ตามต้นไม้ ตามกองขยะ ในป่า หรือตามข้างทาง โดยทำทีเป็นเหมือนว่าผ้านี้ได้ทิ้งแล้ว

จากนั้น เมื่อมีพระภิกษุเดินไปพบเข้า ท่านก็จะนำผ้าดังกล่าวไปทำจีวร เพราะถือว่าเป็นผ้าที่ไม่มีเจ้าของ ซึ่งเราเรียกผ้าชนิดนี้กันว่า ผ้าป่า เพราะเอามาจากป่า หรือ ผ้าบังสุกุล ที่แปลว่า ผ้าเปื้อนฝุ่น


ผู้บรรลุพระโสดาบันหลังจากถวายผ้าป่าครั้งแรก

ต่อมา หมอชีวกโกมารภัจจ์ ซึ่งเป็นแพทย์ประจำพระพุทธองค์ ผู้ได้ถวายการรักษาอาการต่างๆ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นถึงความยากลำบากของพระภิกษุสงฆ์ที่ต้องไปแสวงหาผ้าที่พวกชาวบ้านทิ้งไว้ตามกองขยะ จึงไปกราบทูลขอพรจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า..ขอให้พระภิกษุสามารถรับคฤหบดีจีวรได้

ด้วยเหตุนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงทรงมีพระบรมพุทธานุญาตให้ใช้ผ้าได้ทั้ง 2 แบบ คือ พระภิกษุจะไปหาผ้าบังสุกุลมาทำเป็นจีวรก็ได้ หรือจะรับผ้าจีวรที่มีคนถวายโดยตรงก็ได้

ในขณะเดียวกันนั้นเอง หมอชีวกโกมารภัจจ์ก็ได้น้อมถวายคฤหบดีจีวรเป็นคนแรกและครั้งแรก โดยนำผ้าเนื้อดีที่สุดที่ได้รับพระราชทานเป็นรางวัลจากการรักษาพระเจ้าจัณฑปัชโชต มาน้อมถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า

หลังจากถวายเสร็จแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนาและกล่าวอนุโมทนาคาถาแก่หมอชีวกโกมารภัจจ์ เมื่อพระองค์ตรัสพระธรรมเทศนาจบลง หมอชีวกโกมารภัจจ์ก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันในทันที


จากเรื่องราวที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า หมอชีวกโกมารภัจจ์เป็นผู้สถาปนาการทอดผ้าป่าเป็นคนแรก ซึ่งบุญจากการถวายผ้าของหมอชีวกโกมารภัจจ์นั้นเป็นบุญที่มีอานิสงส์มาก เพราะเป็นบุญที่ทำให้หมอชีวกโกมารภัจจ์มีบุญบารมีเพิ่มจนเต็มเปี่ยม กระทั่งสามารถบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันได้เป็นอัศจรรย์

เรียบเรียงจาก :
1. พระไตรปิฎก เล่มที่ 5 พระวินัยปิฎก เล่มที่ 5 มหาวรรค ภาค 2
เรื่องพระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงประชวรโรคผอมเหลือง
2. พระไตรปิฎก เล่มที่ 5 พระวินัยปิฎก เล่มที่ 5 มหาวรรค ภาค 2
พระผู้มีพระภาคเสวยพระโอสถถ่าย
3. อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท อรหันตวรรคที่ 7
เรื่องพระอนุรุทธเถระ

Cr. ร. ลิ่วเฉลิมวงศ์ สำนักสื่อธรรมะ
การทอดผ้าป่า อานิสงส์ใหญ่ที่คาดไม่ถึง การทอดผ้าป่า อานิสงส์ใหญ่ที่คาดไม่ถึง Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 00:46 Rating: 5

2 ความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.