พระไตรปิฎก มรดก ๙ แผ่นดินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์


นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ทรงสถาปนา กรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงของราชธานี จวบจนปัจจุบันนับเป็นเวลา ๒๐๐ กว่าปี ที่ปวงชนชาวไทยอยู่เย็นเป็นสุขภายใต้พระบรมโพธิสมภารของสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าผู้ครองแผ่นดินทั้ง ๙ พระองค์ พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ทรงเป็นพุทธศาสนิกชน และองค์เอกอัครศาสนูปถัมภกผู้ยอยกให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง ทรงใช้หลักธรรมในการบริหารปกครองประเทศให้ก้าวหน้าและรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ทั้งหลาย และทรงสนับสนุนให้มีการสร้างคัมภีร์พระไตรปิฎกอันเป็นเป็นคัมภีร์หลักของพระพุทธศาสนามาอย่างตลอดต่อเนื่อง เพื่อหยั่งรากพระธรรมคำสอนให้แผ่นดินไทยเป็นแผ่นดินธรรม

พระไตรปิฎกฉบับทองใหญ่สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๓๓๑ หลังเสร็จสิ้นการสังคายนา

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีมาฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้สานต่องานรวบรวมคัดลอกคัมภีร์พระไตรปิฎกที่พระเจ้าตากสินมหาราชทรงริเริ่มไว้แต่ครั้งกรุงธนบุรี แต่สิ้นรัชกาลก่อนที่คัมภีร์พระไตรปิฎกฉบับหอหลวงเสร็จสมบูรณ์ แต่กระนั้นข้อความในพระไตรปิฎกฉบับหลวงที่รวบรวมขึ้นใหม่นี้ยังคลาดเคลื่อนอยู่มาก จึงโปรดเกล้าฯ ให้กระทำการสังคายนาพระไตรปิฎกเป็นครั้งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ ณ วัดนิพพานาราม โดยนำคัมภีร์พระไตรปิฎกฉบับหอหลวง ที่ทรงให้สร้างขึ้นก่อนหน้านั้นมาตรวจสอบ พระไตรปิฎกชุดนี้จึงเรียกว่า ฉบับสังคายนา หรือ ฉบับครูเดิม และเรียกฉบับที่จารจารึกหลังการสังคายนาว่า ฉบับทองใหญ่

คัมภีร์ขนฺธวารวคฺคปาลิ สํยุตฺตนิกาย ฉบับรดน้ำแดง ไม้ประกับลายทองจีน
มีสัญลักษณ์ประจำรัชกาลอยู่ที่ริมขวาและซ้ายของลานที่ใบปกรองและใบปกหลังของคัมภีร์แต่ละผูก

ต่อมา ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ รับสั่งให้สำรวจตรวจสอบคัมภีร์พระไตรปิฎกที่ประดิษฐาน ณ หอพระมณเฑียรธรรม ทำให้พบว่าคัมภีร์พระไตรปิฎกหลวงบางชุดสูญหายไป จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างคัมภีร์พระไตรปิฎกหลวงขึ้น ซ่อมแซมฉบับที่สูญหายไปจนครบบริบูรณ์ และได้สร้างคัมภีร์ใหม่ขึ้นอีกฉบับ เรียกว่า ฉบับรดน้ำแดง

ฉบับรดน้ำเอกมีการตกแต่งหรือเขียนด้วยลวดลายรดน้ำบนพื้นรักดำ
ที่ใบลานปกหน้าและปกหลังด้วยความพิถีพิถันและเป็นคัมภีร์ที่ประณีตงดงาม

มาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เป็นยุคที่มีการสร้างพระไตรปิฎกจำนวนมากและมีความประณีตงดงามยิ่งกว่าฉบับที่สร้างในรัชกาลก่อนๆ อีกทั้งอักขระก็มีความถูกต้องครบถ้วน เพราะเหตุที่ทรงให้การสนับสนุนทั้งการศึกษาภาษาบาลีและอักขระอื่นๆ ได้แก่ อักษรสิงหลและอักษรมอญไปควบคู่กัน เพื่อประโยชน์ในการปริวรรตถ่ายถอดภาษาบาลีที่จารลงในใบลานด้วยอักษรมอญและสิงหลให้เป็นอักษรขอมอย่างถูกต้องแม่นยำ

พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในคัมภีร์ทุกเล่มของพระไตรปิฎก
จุลจอมเกล้าบรมธรรมิกมหาราช ร.ศ. ๑๑๒ และตัวอย่างหน้าแรกจากคัมภีร์พระสุตตันตปิฎก

เมื่อล่วงเข้าสู่ยุครัตนโกสินทร์ตอนกลาง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงมีบทบาทในการสร้างพระไตรปิฎกตั้งแต่สมัยดำรงอยู่ในสมณเพศตลอดรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงศึกษาพระไตรปิฎกอย่างละเอียดถี่ถ้วน ทรงรับเป็นธุระตรวจสอบคัมภีร์พระไตรปิฎกที่มีในแผ่นดิน และโปรดเกล้าฯ ให้เสาะหาคัมภีร์จากต่างประเทศมาเทียบเคียงและเสริมส่วนที่ขาดหายให้สมบูรณ์ โปรดเกล้าฯ ให้สมณทูตไปอัญเชิญคัมภีร์พระไตรปิฎกจากลังกามาสู่สยาม ขณะเดียวกัน หากคัมภีร์ใดไม่มีในลังกาก็ทรงให้พระภิกษุสงฆ์ชาวสิงหลแลกเปลี่ยนไปคัดลอกได้ เป็นการค้นคว้าแลกเปลี่ยนความรู้ทางพระพุทธศาสนาและเจริญสัมพันธไมตรีระหว่าง ๒ ประเทศให้แน่นแฟ้นขึ้น

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างคัมภีร์ใบลานหลวงด้วยอักษรขอมตามธรรมเนียมปฏิบัติแห่งพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรี และมีพระบรมราชโองการให้พิมพ์พระไตรปิฎกจุลจอมเกล้าบรมธรรมิกมหาราช ร.ศ. ๑๑๒ จำนวน ๑,๐๐๐ ชุด ชุดละ ๓๙ เล่ม พระราชทานไปยังวัดต่าง ๆ ในประเทศไทย และสถาบันการศึกษาทั่วโลก การเปลี่ยนวิธีการบันทึกพระไตรปิฎกจากการจารจารึกลงในใบลานเป็นการพิมพ์ด้วยกระดาษเย็บเข้าเล่มเป็นหนังสือ และเปลี่ยนอักษรที่บันทึกเนื้อความจากอักษรขอม ซึ่งถือเป็นอักษรศักดิ์สิทธิ์มาแต่โบราณกาลมาเป็นอักษรสยาม นับว่ามีนัยสำคัญในการแสดงอำนาจทางอารยธรรมและภูมิปัญญาของชาวสยามให้เป็นที่ประจักษ์และได้รับการยอมรับจากนานาอารยประเทศ เนื่องจากขณะนั้นสยามประเทศกำลังประสบปัญหาการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก ดังนั้นพระไตรปิฎกฉบับพิมพ์จึงทรงคุณค่าแห่งการสืบทอดพระพุทธศาสนาและเป็นส่วนหนึ่งแห่งการรักษาอธิปไตยของชาติอย่างเต็มภาคภูมิ

ต่อมา สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงอาราธนาสมเด็จพระสังฆราชเจ้าให้ทรงเป็นแม่กองชำระคัมภีร์อรรถกถา แล้วทรงบริจาคพระราชทรัพย์ให้จัดพิมพ์อรรถกถาพระไตรปิฎกเป็นเล่มสมุดพระราชทานในราชอาณาจักร ๒๐๐ จบ และพระราชทานในนานาประเทศ ๔๐๐ จบ ทั้งทรงสนับสนุนการศึกษาของพระภิกษุ-สามเณร และรับสั่งให้เปลี่ยนระบบการสอบบาลีสนามหลวงจากการสอบปากเปล่ามาเป็นการสอบด้วยวิธีเขียน ตั้งแต่ประโยค ๑-๙ ซึ่งเป็นระบบที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน


ซ้าย พระไตรปิฎกบาฬี ฉบับมหาสังคายนาสากลนานาชาติ พ.ศ. ๒๕๐๐ อักษรโรมัน
ขวา พระไตรปิฎก ฉบับสำหรับประชาชน มหามกุฏราชวิทยาลัย
ยุครัตนโกสินทร์ตอนปลาย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐสืบต่องานซึ่งพระบรมชนกนาถ รัชกาลที่ ๕ ทรงริเริ่มไว้ ๓๙ เล่ม ให้สมบูรณ์ครบทั้ง ๔๕ เล่ม เพื่อบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมเชษฐาธิราช ทรงกราบอาราธนาพระภิกษุสงฆ์และโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชบริพารและประชาชนทั่วไปมีส่วนในการสถาปนา ตราสัญลักษณ์หน้าปกรูปช้างจึงสื่อความหมายว่าพระไตรปิฎกฉบับนี้เป็นของชาวไทยทุกคน

ต่อมา รัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ เริ่มมีการแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทย มีทั้งพระไตรปิฎกแปลโดยอรรถและพระไตรปิฎกแปลโดยสำนวนเทศนา แต่กระทำได้ไม่เสร็จสมบูรณ์ก็สิ้นรัชกาลเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ จึงทรงสืบสานดำเนินงานแปลพระไตรปิฎกที่ค้างมาตั้งแต่สมัยพระบรมเชษฐาจนเสร็จสมบูรณ์ ฉบับแรก คือ พระไตรปิฎกภาษาไทย เป็นพระไตรปิฎกแปลโดยอรรถ และพระไตรปิฎกฉบับหลวงแปลโดยสำนวนเทศนา พิมพ์ใบลาน นอกจากนี้ ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ มีหลายหน่วยงานจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับต่างๆ ขึ้น เนื่องในวาระต่างๆ อาทิ พระไตรปิฎกบาฬี ฉบับมหาสังคายนาสากลนานาชาติ พ.ศ. ๒๕๐๐ อักษรโรมัน พระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พระไตรปิฎกบาลีไทย ฉบับภูมิพโลภิกขุ และพระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน มหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นต้น

พระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทุกพระองค์ทรงนำชาติให้พัฒนาและก้าวผ่านภยันตรายต่างๆ ด้วยพระปรีชาสามารถ ทรงนำหลักการทางพระพุทธศาสนามาบริหารแผ่นดินให้พสกนิกรชาวไทยอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข ทั้งยังทรงปฏิบัติพระองค์เป็นแบบอย่างของพุทธศาสนิกชนที่ดี นอกจากนี้ยังทรงมอบสมบัติล้ำค่า คือ พระไตรปิฎกที่บรรจุคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ให้ลูกหลานได้ศึกษาเรียนรู้ เป็นตำรานำทางชีวิตที่มีทั้งความสวยงามเชิงศิลป์ แสดงถึงอารยธรรมของประเทศและเป็นประจักษ์พยานที่แสดงให้ทั่วโลกเห็นว่า แผ่นดินแหลมทองของไทยนั้นงดงามด้วยความเป็นไทยและแสงแห่งธรรม

อ้างอิง :

ก่องแก้ว วีระประจักษ์ และวิรัตน์ อุนนาทรวรางกูร. คัมภีร์ใบลานฉบับหลวงในสมัยรัตนโกสินทร์. กรุงเทพ : กรมศิลปากร, ๒๕๔๖.
พระไตรปิฎกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว / แม่ชีวิมุตติยา (สุภาพรรณ ณ บางช้าง). กรุงเทพ : บริษัท คราฟแมนเพรส จำกัด, ๒๕๕๗.
สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร. พัฒนาการของอักษรไทย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พระพุทธศาสนา, ๒๕๕๖.
สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร. วิวัฒน์การอ่านไทย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, ๒๕๕๖.

Cr. Tipitaka (DTP)
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๗๐ เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙

ผ้าห่อถักทอเชื่อมสายบุญ (ปีถัดไป)







คลิกอ่านพระไตรปิฎก (DTP) ของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๙ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ…พระไตรปิฎกของชาวไทย (ปีก่อนหน้า)
สองพระมหากษัตริย์...ร่มฉัตรปกแผ่นดิน
รองรับพระธรรม น้อมนำถวาย
ตู้พระไตรปิฎก มรดกประณีตศิลป์
ลายรดน้ำ วิถีธรรม วิถีไทย
อักษรธรรมล้านนา อักษราจารพุทธธรรม
อนุรักษ์คัมภีร์ใบลานไทย รักษาไว้ให้แผ่นดิน
ใบลานเถรวาท... จารพระศาสน์สืบสายคัมภีร์
ศรัทธาธรรม ย้ำคำอธิษฐาน จารพระคัมภีร์
วิถีใบลาน แห่งน่านนคร
ย้อนรอยกาล ตามรอยธรรมแห่งพระพุทธโฆษาจารย์
สมุดไทย...ทรงไว้ซึ่งสรรพศาสตร์ และอัจฉริยภาพเชิงศิลป์
ผ้าห่อถักทอเชื่อมสายบุญ (ปีถัดไป)
พระไตรปิฎก มรดก ๙ แผ่นดินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระไตรปิฎก มรดก ๙ แผ่นดินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 19:24 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.