สองพระมหากษัตริย์...ร่มฉัตรปกแผ่นดิน
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล
พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ ๘ ทรงเป็น พระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติในระบอบประชาธิปไตย การขึ้นครองราชย์ของพระองค์เป็นผลสืบเนื่องจากการที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๗ ทรงสละราชสมบัติ
รัฐบาลและผู้แทนราษฎรจึงลงมติเห็นชอบกราบทูลเชิญพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล
เชื้อพระวงศ์อันดับหนึ่งตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ ขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่
๘ แห่งราชวงศ์จักรี ซึ่งขณะนั้นพระองค์มีพระชันษาได้เพียง ๙
ปีเท่านั้น และกำลังทรงศึกษาอยู่ ณ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
พร้อมด้วยพระเชษฐภคินี (สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา
กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์) และพระอนุชา
(พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช)
เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลยังทรงพระเยาว์
ไม่สามารถปฏิบัติพระราชภารกิจได้ จึงมีการแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
เพื่อทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินจนกว่าพระองค์จะทรงบรรลุนิติภาวะ
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย |
พระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จนิวัติกลับประเทศไทยครั้งแรกในปี
พ.ศ. ๒๔๘๑ และเสด็จนิวัติกลับประเทศไทยเป็นครั้งที่ ๒ เมื่อสงครามโลกสงบลง
ในครั้งหลังนี้พระองค์ทรงบรรลุนิติภาวะและสามารถว่าราชการแผ่นดินได้โดยไม่ต้องมีผู้สำเร็จราชการ
แม้ว่าพระองค์จะทรงเจริญวัยในต่างแดน
แต่ก็ทรงมีพระปรีชาสามารถบริหารประเทศชาติได้เป็นอย่างดี
ทั้งยังมีพระราชหฤทัยเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา
ในรัชสมัยของพระองค์เริ่มมีการแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทย แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ
พระไตรปิฎกแปลโดยอรรถและพระไตรปิฎกแปลโดยสำนวนเทศนา แต่กระทำได้ไม่เสร็จสมบูรณ์ก็สิ้นรัชกาลเสียก่อน
ในส่วนพระองค์เองได้ทรงแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะท่ามกลางมณฑลสงฆ์ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ตั้งแต่คราวเสด็จนิวัติพระนครครั้งแรก เมื่อเจริญพระชันษา
ทรงใช้เวลาว่างศึกษาพระธรรมคำสอนต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ และโปรดเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรวัดสำคัญในกรุงเทพฯ
และจังหวัดใกล้เคียง
และมีพระราชศรัทธาที่จะเสด็จออกผนวชในพระพุทธศาสนาหลังสำเร็จปริญญาเอกด้วยดังสำเนาพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระสังฆราชเจ้า
กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
สมเด็จพระสังฆราชจึงทรงนิพนธ์เรื่อง “บวช”
ถวาย แต่เพียงไม่กี่วันก่อนหมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อปริญญาเอกที่ค้างอยู่ให้แล้วเสร็จพระองค์ก็เสด็จสวรรคตขณะที่มีพระชนมพรรษาได้เพียง
๒๑ พรรษา ณ พระที่นั่งบรมพิมานในพระบรมมหาราชวัง
ยังความเศร้าโศกเสียใจแก่คนไทยทั้งแผ่นดิน
เมื่อสิ้นพระเจ้าอยู่หัวอันเป็นที่รักของปวงชนชาวไทยอย่างกะทันหัน
ในคืนวันเดียวกันรัฐสภามีมติเป็นเอกฉันท์กราบบังคมทูลเชิญเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช
สมเด็จพระอนุชาขึ้นครองราชย์สืบต่อเป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๙
และเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร”
นับแต่วันที่พระองค์เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติจวบจนปัจจุบันเป็นเวลา
๖๙ ปี ที่ทรงทุ่มเทพระวรกายมุ่งมั่นตรากตรำแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพสกนิกร
ให้ปวงชนชาวไทยอยู่เย็นเป็นสุขสมดั่งพระปฐมบรมราชโองการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกว่า
“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้เสวยราชย์นานที่สุดในประเทศไทย
และทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้เสวยราชย์นานที่สุดในโลกที่ยังมีพระชนม์ชีพอยู่
และที่สำคัญทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๔ นับแต่สมัยสุโขทัย ที่ทรงพระผนวชขณะครองราชย์สมบัติ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแสดงพระองค์ เป็นพุทธมามกะก่อนเสด็จไปศึกษาต่อ |
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระผนวช ท่ามกลางที่ประชุมสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๙๙ |
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกผนวช
ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
เป็นพระราชอุปัธยาจารย์ ทรงได้รับพระสมณฉายาว่า “ภูมิพโลภิกขุ”
ระหว่างที่ทรงดำรงสมณเพศ
ทรงปฏิบัติพระราชกิจเช่นเดียวกับพระภิกษุทั้งหลายอย่างเคร่งครัด เช่น เสด็จลงพระอุโบสถทำวัตรเช้า-เย็น
ทรงสดับพระปาฏิโมกข์ ทรงทำอุโบสถสังฆกรรม ทรงสดับพระธรรมและพระวินัย
และเสด็จออกบิณฑบาต เป็นต้น
ในรัชสมัยของพระองค์เป็นยุคที่การเผยแผ่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเจริญรุ่งเรือง งานแปลพระไตรปิฎกที่ค้างมาตั้งแต่สมัยพระบรมเชษฐาได้รับการสืบสานดำเนินการต่อจนเสร็จสมบูรณ์
ฉบับแรก คือพระไตรปิฎกภาษาไทย เป็นพระไตรปิฎกแปลโดยอรรถ พิมพ์เป็นเล่มสมุดจำนวน ๘๐
เล่มเสร็จสมบูรณ์เมื่องานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษในปี พ.ศ. ๒๕๐๐
และพระไตรปิฎกฉบับหลวงเป็นพระไตรปิฎกแปลโดยสำนวนเทศนา พิมพ์ใบลาน แบ่งเป็น ๑,๒๕๐
กัณฑ์ เสร็จสมบูรณ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๒
การสังคายนาครั้งที่ ๖ หรือฉัฏฐสังคายนา ณ กรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมาร์ วันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๗ จนถึง วันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ |
เมื่อคราวกระทำฉัฏฐสังคายนา ณ
มหาปาสาณคูหา กรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมาร์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถเสด็จไปทรงอนุโมทนาการสังคายนาที่ถือว่าเป็นการสังคายนาระดับนานาชาติครั้งแรกและครั้งเดียวของโลกที่พระภิกษุสงฆ์และนักปราชญ์ผู้ทรงความรู้พระไตรปิฎกบาลีจากประเทศพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาททุกประเทศมาประชุมกัน
และพระไตรปิฎกฉบับฉัฏฐสังคีติ อักษรพม่า
ก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นพระไตรปิฎกที่เป็นมาตรฐานนานาชาติของพระพุทธศาสนาเถรวาททั่วโลก
ในเวลาต่อมากองทุนสนทนาธรรมนำสุขท่านผู้หญิง
ม.ล. มณีรัตน์ บุนนาค ในพระสังฆราชูปถัมภ์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช
สกลมหาสังฆปริณายก
ได้ริเริ่มจัดพิมพ์พระไตรปิฎกภาษาบาลีจากการสังคายนาสากลนานาชาติ พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นอักษรโรมันเป็นครั้งแรกของโลก
เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชได้ประทานชื่อเป็นภาษาบาลีว่า มหาสงฺคีติ ติปิฏก พุทฺธวสฺเส
๒๕๐๐ และเป็นภาษาไทยว่า พระไตรปิฎกบาฬี ฉบับมหาสังคายนาสากลนานาชาติ พ.ศ. ๒๕๐๐
อักษรโรมัน โดยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาทรงพระกรุณารับเป็นประธานกิตติมศักดิ์การประดิษฐานพระไตรปิฎกสากลอักษรโรมันในนานาประเทศตามรอยพระไตรปิฎกบาฬี
ฉบับ “จุลจอมเกล้าบรมธรรมิกมหาราช ร.ศ. ๑๑๒” อักษรสยาม
ซึ่งเป็นพระไตรปิฎกอักษรไทยฉบับพิมพ์ชุดแรกของโลก
ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้จัดพิมพ์และพระราชทานไปยังสถาบันสำคัญทั่วโลกเมื่อร้อยกว่าปีก่อน
พระไตรปิฎกบาฬี ฉบับมหาสังคายนาสากลนานาชาติ พ.ศ. ๒๕๐๐ อักษรโรมัน |
พระไตรปิฎก ฉบับสำหรับประชาชน มหามกุฏราชวิทยาลัย |
นอกจากนี้ยังมีพระไตรปิฎกอีกหลายชุดที่จัดทำขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติพระมหากษัตริย์ไทย
ผู้ทรงเป็นมิ่งขวัญของปวงประชาชน อาทิ พระไตรปิฎก บาลีไทย ฉบับภูมิพโลภิกขุ
พระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และพระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย
เป็นต้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๒ พระองค์
ทรงเป็นหลักใจและหลักชัยแก่ปวงชนชาวไทยในยามประเทศก้าวสู่ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย
อำนาจการเมืองและความไม่สงบทั้งภายในและภายนอกทำให้ผู้คนในชาติประสบความขัดเคือง
ไร้ซึ่งความสงบสุข แต่ด้วยพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพ
กอปรกับพระราชศรัทธาที่ทั้ง ๒ พระองค์ทรงมีต่อพระพุทธศาสนา
จึงทรงปกครองแผ่นดินด้วยทศพิธราชธรรม
นำพาชาติบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุขภายใต้พระบารมีปกกระหม่อม
เปรียบประหนึ่งร่มฉัตรปกป้องคุ้มครองพสกนิกรอย่างหาที่สุดมิได้
ยังความภาคภูมิใจในดวงใจแห่งทวยราษฎร์
ที่ได้เกิดภายใต้พระบรมโพธิสมภารในดินแดนแห่งศาสนาอันเรืองรองแห่งพระมหากษัตริย์ผู้ทรงครองแผ่นดินโดยธรรม
--------------------------------------------
คณะกรรมการโครงการสืบสานมรดกวัฒนธรรมไทย.
(๒๕๔๒). ทรงพระผนวช. กรุงเทพมหานคร : บริษัทสตาร์ปริ๊นท์ จำกัด (มหาชน).
วัดเทวราชกุญชร วรวิหาร. (๒๕๕๓).
พ่อหลวงกับพระพุทธศาสนา. กรุงเทพมหานคร : บานาน่า สตูดิโอ จำกัด.
สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ.
คู่มือบทโทรทัศน์สารคดีเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล
พระอัฐมรามาธิบดินทร. กรุงเทพมหานคร.
Cr. Tipitaka (DTP)
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๕๙ เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๕๙
คลิกอ่านพระไตรปิฎก (DTP) ของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๙ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ |
|
คลิกอ่านพระไตรปิฎก (DTP) ของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๙ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ…พระไตรปิฎกของชาวไทย (ปีก่อนหน้า)
รองรับพระธรรม น้อมนำถวาย
รองรับพระธรรม น้อมนำถวาย
ผ้าห่อถักทอเชื่อมสายบุญ (ปีถัดไป)
สองพระมหากษัตริย์...ร่มฉัตรปกแผ่นดิน
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
00:28
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: