พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ…พระไตรปิฎกของชาวไทย
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๗ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ทรงเอาพระทัยใส่การพระศาสนาอย่างจริงจังมาตลอดต่อเนื่อง ตั้งแต่ยังทรงผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
เมื่อยังทรงเป็นเจ้าฟ้ากรมขุนศุโขทัยธรรมราชา โดยมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า
กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นพระอุปัชฌาย์ ทรงได้รับฉายาว่า “ปชาธิโป” เมื่อผนวชแล้วเสด็จประทับจำพรรษา ณ
พระตำหนักปั้นหย่า วัดบวรนิเวศวิหาร
ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต
เจ้าฟ้ากรมขุนศุโขทัยธรรมราชา สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ
จึงเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๗ แห่งราชวงศ์จักรี ช่วงระยะเวลาที่ทรงครองราชย์สมบัตินั้น
ฐานะการคลังของสยามประเทศและเศรษฐกิจทั่วโลกอยู่ในภาวะตกต่ำอย่างมาก
ถึงกระนั้นพระองค์ก็ยังทรงให้การสนับสนุนงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ
สืบต่องานซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมชนกนาถทรงริเริ่มไว้
“พระไตรปิฎกจุลจอมเกล้าบรมธัมมิกมหาราช ร.ศ. ๑๑๒”
ถือเป็นพระไตรปิฎกบาลีฉบับพิมพ์ชุดแรกของโลก
ที่พระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์ขึ้น
เพื่อพระราชทานไปยังพระอารามทั่วทุกภาคของประเทศไทย
รวมทั้งสถาบันการศึกษาและห้องสมุดในทวีปต่าง ๆ ทั่วโลก
ถือเป็นการเปลี่ยนรูปแบบการบันทึกพระธรรมจากการจารลงในใบลานมาเป็นการพิมพ์
บนกระดาษเป็นครั้งแรก
อย่างไรก็ตามพระไตรปิฎกชุดนี้ยังมีเนื้อหาบางส่วนที่ไม่ได้จัดพิมพ์และบางส่วนยังไม่สมบูรณ์
พระไตรปิฎกฉบับรัชกาลที่ ๕ หนึ่งชุดมี ๓๙ เล่ม
ประกอบด้วย
-
พระวินัยปิฎกครบชุด
-
พระสุตตันตปิฎก ๔ นิกายแรก คือ ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย
อังคุตตรนิกาย ครบชุด
ส่วนนิกายสุดท้าย คือ ขุททกนิกาย มีส่วนที่ยังไม่ได้จัดพิมพ์ จำนวน ๘
คัมภีร์ ได้แก่
๑)
วิมานวัตถุ ๒) เปตวัตถุ ๓) เถรคาถา ๔) เถรีคาถา
๕)
ชาดก ๖) อปทาน ๗) พุทธวงศ์ ๘) จริยาปิฎก
-
พระอภิธัมมปิฎกปรากฏชื่อครบทั้ง ๗ คัมภีร์ คือ ธัมมสังคณี วิภังคปกรณ์
ธาตุกถา ปุคคลปัญญัติ กถาวัตถุ ยมก ปัฏฐาน แต่เนื้อหาตอนท้ายของคัมภีร์มหาปัฏฐาน
พระอภิธรรมปิฎกไม่สมบูรณ์
ด้วยเหตุดังกล่าว
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ
ให้จัดพิมพ์เนื้อหาส่วนที่ขาดให้สมบูรณ์ครบถ้วนเพิ่มเติมอีก ๖ เล่ม รวมหนึ่งชุดมี
๔๕ เล่ม เพื่อบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบรมเชษฐาธิราช โดยทรงอาราธนาสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
ให้ทรงเป็นประธานในการปริวรรตพระไตรปิฎกจากอักษรขอมเป็นอักษรไทย
และทรงมอบหมายให้สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ
เป็นประธานในการจัดพิมพ์ โดยทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อใช้ในการดำเนินงาน
พร้อมมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าพี่ยาเธอ
กรมพระจันทบุรีนฤนาถประกาศกระแสพระบรมราชโองการ “ทูลเชิญพระบรมวงศานุวงศ์
ชักชวนบรรดาข้าราชการทุกกระทรวงทบวงการ
ตลอดจนประชาราษฎรให้บริจาคทรัพย์โดยเสด็จพระราชกุศลสร้างพระไตรปิฎกตามศรัทธา
และเพื่อช่วยเหลือในการนี้ ฝ่ายทางอาณาจักร
เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยได้สั่งสมุหเทศาภิบาล ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ
ให้ช่วยจัดการป่าวประกาศฝ่ายทางพุทธจักร
สมเด็จพระสังฆราชเจ้ามีรับสั่งให้เจ้าคณะตลอดจนพระครู เจ้าอาวาสบอกบุญทั่วไป”
พระไตรปิฎกฉบับ “สฺยามรฏฐสฺสเตปิฏกํ” หรือ “พระไตรปิฎกสยามรัฐ” จึงเป็นพระไตรปิฎกที่พระมหากษัตริย์
ตลอดจนข้าราชบริพารภายใต้พระบรมโพธิสมภารทั้งฝ่ายบรรพชิตและฆราวาสร่วมแรงร่วมใจกันสถาปนาตราสัญลักษณ์หน้าปกรูปช้าง
แสดงความหมายว่า พระไตรปิฎกฉบับนี้เป็นของชาวไทยทุกคน
ทั้งนี้รายละเอียดการตั้งกองทุน การบริหารกองทุนที่ได้รับบริจาคมา
รวมทั้งรายละเอียดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดพิมพ์พระไตรปิฎก
มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน
และประกาศให้ทราบทั่วกันในหนังสือราชกิจจานุเบกษาอาทิเช่น
เรื่องการแบ่งค่าใช้จ่ายเงินที่ได้รับบริจาคมาเป็น ๓ ประเภท พร้อมระบุจำนวนชัดเจน
ดังประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๔๔ หน้า ๓๙๓๒ วันที่ ๔ มีนาคม ๒๔๗๐
การตรวจชำระเริ่มขึ้นในเดือนธันวาคม
พ.ศ. ๒๔๖๘ และเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ.๒๔๗๓ หลังงานฉลองทรงพระราชทานพระไตรปิฎกจำนวน ๑,๕๐๐ ชุด
ไปยังสถานที่ต่าง ๆ คือ ๒๐๐ ชุดพระราชทานในราชอาณาจักร อีก ๔๐๐ ชุด
พระราชทานแก่ห้องสมุดและสถาบันการศึกษานานาประเทศส่วนที่เหลือพระราชทานแก่ผู้บริจาคทรัพย์ขอรับหนังสือพระไตรปิฎก
ในอัตราชุดละ ๔๕๐ บาท
เมื่อหักค่าใช้จ่ายจากรายรับทั้งหมดแล้วปรากฏมียอดเงินคงเหลืออยู่จำนวนหนึ่งสมเด็จพระสังฆราชเจ้า
พระเถรานุเถระ และกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
มีมติให้เก็บเงินจำนวนนี้ไว้ใช้เป็นทุนสำหรับปรับปรุงการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกครั้งต่อไป
และเพื่อใช้จัดพิมพ์อรรถกถาฎีกาหรือหนังสือที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาพระปริยัติธรรมที่ยังไม่เคยมีการจัดพิมพ์มาก่อน
เพื่อให้สอดคล้องกับกุศลศรัทธาของผู้บริจาคทรัพย์จัดทำพระไตรปิฎกพิมพ์ด้วยอักษรไทยฉบับสมบูรณ์เพื่อเผยแผ่คำสอนของพระพุทธศาสนา
ในส่วนการอนุรักษ์คัมภีร์พระไตรปิฎกใบลาน
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ
ให้แยกหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครออกเป็น ๒ หอ คือ
หอสมุดวชิราวุธสำหรับใช้เป็นที่เก็บหนังสือฉบับพิมพ์
และหอพระสมุดวชิรญาณให้ใช้เป็นที่เก็บหนังสือตัวเขียนและตู้พระธรรม ซึ่งปัจจุบัน
คือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (ปัจจุบัน
คัมภีร์พระไตรปิฎกฉบับหลวงทั้งหมดเก็บรักษาไว้ ณ
หอมณเฑียรธรรมและหอสมุดแห่งชาติท่าวาสุกรี ภายใต้การดูแลของหอสมุดแห่งชาติ)
แม้ระยะเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำรงสิริราชสมบัติเป็นระยะเวลาสั้น
ๆ แต่พระองค์ได้พระราชทานพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐอันล้ำค่าไว้ให้แก่แผ่นดิน
อีกทั้งได้พระราชทานรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรสยาม ฉบับถาวร
ไว้เป็นหลักในการปกครองประเทศแก่ประชาชนชาวไทยนับเป็นคุณูปการอันยิ่งใหญ่ต่อพระพุทธศาสนาและประชาธิปไตย
ก่อนทรงประกาศสละราชสมบัติ ณ เมืองแครนลี ประเทศอังกฤษในวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗
(ตามปฏิทินปัจจุบันตรงกับ พ.ศ. ๒๔๗๘) รวมเวลาที่ทรงดำรงสิริราชสมบัติเป็นเวลา ๙ ปี
อ้างอิง : พระไตรปิฎกฉบับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว.
แม่ชีวิมุตติยา (สุภาพรรณ ณ บางช้าง).กรุงเทพฯ : บริษัท คราฟแมน เพรส จำกัด, ๒๕๕๗.
สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว
กรุงเทพมหานคร. วิวัฒน์การอ่านไทย. กรุงเทพฯ :
โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, ๒๕๕๖.
อภิวันทน์ อดุลยพิเชฏฐ์. ลายรดน้ำ. กรุงเทพ :
เมืองโบราณ, ๒๕๕๕.
หอสมุดวชิรญาณ |
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงฉายพระรูปร่วมกับ คณะกรรมการหอพระสมุดสำหรับพระนคร พ.ศ. ๒๔๖๙ |
พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศสละราชสมบัติ และพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕
Cr. Tipitaka (DTP)
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๕๘ เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘
คลิกอ่านพระไตรปิฎก (DTP) ของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
หีดธัมม์ งานศิลป์ ถิ่นเหนือ กากะเยีย ขั้นกะเยีย... ผสานศิลป์ ถิ่นอีสาน บูรพกษัตริย์ไทยกับพระไตรปิฎก พระมหากษัตริย์ไทยกับพระไตรปิฎก ตอน ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย… รัชสมัยแห่งการฟื้นฟู พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว... ยุคทองแห่งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว... ก้าวสู่รัตนโกสินทร์ตอนกลาง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระไตรปิฎกพิมพ์อักษรไทย อธิปไตยของแผ่นดิน สืบทอดพุทธธรรม... จากพุทธกาลสู่โลกปัจจุบัน ศึกษาหลักฐานพุทธศิลป์...ย้อนแดนดิน ถิ่นอารยธรรม ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ พระมหาธีรราชเจ้าของชาวสยาม สองพระมหากษัตริย์...ร่มฉัตรปกแผ่นดิน (ปีถัดไป) |
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ…พระไตรปิฎกของชาวไทย
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
03:06
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: