สืบทอดพุทธธรรม... จากพุทธกาลสู่โลกปัจจุบัน


ณ ดินแดนชมพูทวีป ย้อนไปเมื่อ ๒,๖๐๐ กว่าปีก่อน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ธรรมและทรงเผยแผ่พระสัทธรรมคำสอนโปรดเหล่าเวไนยสัตว์ แม้พระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว แต่แสงแห่งธรรมยังคงสืบทอดและปักหลักในดินแดนต่าง ๆ จวบจนปัจจุบัน โดยเหล่าพุทธบริษัท ๔ ได้สืบทอดและเผยแผ่คำสอนของพระพุทธองค์ด้วยรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา จากวิธีสืบทรงจำแบบมุขปาฐะในสมัยพุทธกาลสู่การจารจารึกเป็นลายลักษณ์อักษรและก้าวสู่ยุคเทคโนโลยีในปัจจุบัน

คัมภีร์พระไตรปิฎกอักษรบาลีถือเป็นข้อมูลชั้นปฐมภูมิที่สืบทอดคำสอนเป็นลายลักษณ์อักษร โดยมีมาตั้งแต่ราว ๆ พ.ศ. ๔๐๐ เศษ ณ ประเทศศรีลังกา และถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนในยุคต่อมา ที่สร้างคัมภีร์ใบลานด้วยความเคารพศรัทธา เพื่อเผยแผ่หรือทดแทนของเดิมที่สูญหายหรือถูกทำลาย


ด้วยความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้ปัจจุบันคัมภีร์พระไตรปิฎกใบลานส่วนใหญ่ถูกแทนที่ด้วยการพิมพ์เป็นรูปเล่มหนังสือ หรือเก็บเป็นคลังข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ส่งต่อได้ฉับไวไร้พรมแดนเพียงปลายนิ้วสัมผัส การศึกษาค้นคว้าคำสอนทางพระพุทธศาสนาจึงขยายวงกว้างจากโลกตะวันออกไปรุ่งเรืองยังดินแดนอื่นที่ห่างไกล ไม่ว่าจะเป็นทวีปยุโรป อเมริกา หรือออสเตรเลีย นักวิชาการต่างประเทศต่างให้ความสนใจในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มุ่งเรียนรู้และค้นคว้าเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง แต่ด้วยมุมมองวัฒนธรรมและความเข้าใจที่แตกต่างกันก่อให้เกิดการศึกษาวิจัยค้นคว้าที่น่าสนใจในหลากหลายแง่มุม เป็นการเปิดโลกทัศน์จากยุคพุทธกาลสู่ปัจจุบันในแง่วิชาการที่อิงอยู่บนพื้นฐานของคำสอนดั้งเดิม เป็นการผสานความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ากับหลักฐานปฐมภูมิอายุหลายร้อยปี เพื่อต่อยอดไปสู่อนาคต ก่อให้เกิดโครงการวิจัยต่าง ๆ มากมาย ด้วยเล็งเห็นคุณค่าของอักษรโบราณทุกตัวอักขระและเห็นถึงความสำคัญของประวัติศาสตร์ทุกช่วงตอน

โครงการพระไตรปิฎก ฉบับวิชาการ” (DTP) จัดตั้งขึ้นโดยดำริของ พม.ดร.สมชาย ฐานวุฑฺโฒ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๓ เพื่ออนุรักษ์และศึกษาคัมภีร์พระไตรปิฎกใบลานของ ๔ สายจารีตหลักในพุทธศาสนาแบบเถรวาท ได้แก่ คัมภีร์ใบลานอักษรพม่า อักษรสิงหล อักษรขอม และ  อักษรธรรม โดยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในการสำรวจรวบรวมและศึกษาค้นคว้า  โดยมีเจ้าหน้าที่ทั้งภายในและต่างประเทศ ที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจเสาะแสวงหาคัมภีร์พระไตรปิฎกบาลีเพื่ออนุรักษ์และศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง ขณะเดียวกันก็พัฒนาศักยภาพบุคลากรและเทคนิคต่าง ๆ จนผลงานเริ่มเป็นที่รู้จักและประจักษ์แก่สายตานักวิชาการและผู้สนใจ

การอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานโดยโครงการพระไตรปิฎก ฉบับวิชาการ
เริ่มจากการสำรวจ  ทำความสะอาดและถ่ายภาพเก็บเป็นไฟล์ดิจิทัล
ซึ่งการทำงานจะได้มาตรฐานและสามารถสร้างผลงานที่มีประสิทธิภาพเป็นที่ยอมรับในระดับเวทีโลกได้ จำเป็นจะต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ ที่มีความรู้และประสบการณ์อันเป็นที่ยอมรับในระดับแนวหน้าของวงการวิชาการพระไตรปิฎกบาลี ซึ่งโครงการฯ ได้รับความเมตตาจากนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในประเทศและต่างประเทศคอยให้คำปรึกษาชี้แนะแนวทางในการดำเนินงานเรื่อยมา หนึ่งในคณะที่ปรึกษาจากต่างประเทศผู้มีความรู้ความสามารถระดับแนวหน้าของวงการวิชาการบาลีโลก คือ Prof. Dr. Oscar von Hinüber ศาสตราจารย์ชาวเยอรมัน ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นปรมาจารย์ด้านภาษาบาลีและคัมภีร์ใบลาน เป็นบุคคลหนึ่งที่คอยให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์และมีคุณค่ายิ่งต่อโครงการฯ มาโดยตลอด และในโอกาสที่โครงการฯ จัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (Intensive Workshop) เกี่ยวกับการศึกษาพระไตรปิฎกบาลีขึ้น ท่านได้ให้เกียรติเดินทางมาเป็นที่ปรึกษาหลักให้แก่นักวิชาการของโครงการฯ ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสที่หาไม่ได้ง่ายนักที่จะมีนักวิชาการระดับโลก ซึ่งมีผลงานเป็นที่รู้จักในวงการบาลีอย่างกว้างขวางเดินทางมาเข้าร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่องกับคณะนักวิชาการประจำของโครงการฯ ได้เช่นนี้

งานสัมมนาเชิงปฏิบัติการจัดขึ้น ณ ศูนย์บริการข้อมูลวิจัยพระไตรปิฎก ตั้งแต่วันที่ ๘-๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ รวมระยะเวลา ๑๐ วัน ซึ่งตลอดการสัมมนา นักวิชาการชาวอังกฤษ  เมียนมา  ศรีลังกา และไทย ได้รายงานความคืบหน้าการทำงานในแต่ละส่วนงาน เริ่มจากการบรรยายภาพรวมกว้าง ๆ จากนั้นจึงเจาะลึกในเนื้องานเป็นลำดับ ๆ อาทิเช่น การวิเคราะห์การจัดสายคัมภีร์ใบลานพระไตรปิฎกบาลีในแต่ละสายอักษร ได้แก่ อักษรสิงหล พม่า ธรรมล้านนา ธรรมอีสาน และอักษรมอญ โดยการศึกษาจากคัมภีร์พระไตรปิฎกใบลานอันถือเป็นข้อมูลปฐมภูมิ ประกอบกับความรู้ทางประวัติศาสตร์ภูมิหลังของอาณาจักรโบราณที่ใช้อักษรนั้น ๆ ด้วย


ในช่วงวันท้าย ๆ ได้ลงลึกถึงประเด็นทางวิชาการและการวิเคราะห์ในระดับคำที่มีประเด็นถกกันในแง่สัทศาสตร์และอักษรศาสตร์บาลีไวยากรณ์ สันสกฤต ที่พบต่างกันในคัมภีร์ใบลานต่างจารีตกัน ซึ่งความเชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์ของ Prof. Dr. Oscar von Hinüber และความรู้ที่ท่านสั่งสมในวงการเป็นเวลาหลายสิบปี รวมทั้งประสบการณ์การสอนในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง และการลงมือปฏิบัติภาคสนามในหลายประเทศ ทำให้นักวิชาการได้รับคำอธิบายที่กระจ่างชัดจากท่าน และสามารถนำไปปรับใช้กับการทำงานด้านวิชาการในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี 

ตัวอย่างการวิเคราะห์ระดับคำที่ปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฎกใบลานอักษรสิงหล
คัมภีร์ใบลานอักษรพม่า
ตัวอย่างการศึกษาวิวัฒนาการอักษรพม่าโดยใช้อักขระบนจารึกมาศึกษาประกอบ
เจ้าหน้าที่โครงการพระไตรปิฎก ฉบับวิชาการ จะนำความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดจากงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ไปพัฒนาวิธีการอนุรักษ์และศึกษาคัมภีร์พระไตรปิฎกใบลาน เพื่อเผยแผ่พระสัทธรรมแห่งยุคพุทธกาลสู่โลกปัจจุบัน ให้หยั่งรากลึกต่อไปในอนาคต เพื่อยังประโยชน์ให้แก่วงการวิชาการพระพุทธศาสนาสืบไป

ขณะนี้โครงการพระไตรปิฎก ฉบับวิชาการ ได้จัดนิทรรศการ เล่าเรื่องใบลาน สืบสานพุทธธรรมผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมได้ ณ สภาธรรมกายสากล เสา ฒ๒๔ (N24) ทุกวันอาทิตย์

สัมภาษณ์  Prof. Dr. Oscar von Hinüber

ผมมีโอกาสเดินทางมาร่วมงานกับโครงการพระไตรปิฎกเป็นครั้งที่ ๓ และได้เห็นความคืบหน้าของโครงการฯ ตั้งแต่ช่วงแรก ๆ โดยเฉพาะช่วง ๒ ปีหลังนี้  เห็นได้ชัดว่างานหลายด้านก้าวหน้าไปอย่างมาก ไม่ใช่แค่เพียงการจัดพิมพ์หนังสือพระไตรปิฎกฉบับทีฆนิกายเท่านั้น  แต่ผมได้เห็นการพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ในการจัดการกับคัมภีร์ใบลานจำนวนมาก ซึ่งออกจะเป็นเรื่องที่ยาก รวมถึงแนวทางในการคัดเลือกคัมภีร์ใบลานที่ดีที่สุดเพื่อนำมาใช้ในการวิเคราะห์  สิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษาภาษาบาลีต่อไปในอนาคต


Cr. Tipitaka (DTP)
วารสารอยู่ในบุญ  ฉบับที่ ๑๕๕  เดือนกันยายน  พ.ศ. ๒๕๕๘









คลิกอ่านพระไตรปิฎก (DTP) ของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
หีดธัมม์ งานศิลป์ ถิ่นเหนือ
กากะเยีย ขั้นกะเยีย... ผสานศิลป์ ถิ่นอีสาน
บูรพกษัตริย์ไทยกับพระไตรปิฎก
พระมหากษัตริย์ไทยกับพระไตรปิฎก ตอน ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
พระพุทธเลิศหล้านภาลัย… รัชสมัยแห่งการฟื้นฟู
พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว... ยุคทองแห่งต้นกรุงรัตนโกสินทร์
พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว... ก้าวสู่รัตนโกสินทร์ตอนกลาง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระไตรปิฎกพิมพ์อักษรไทย อธิปไตยของแผ่นดิน
ศึกษาหลักฐานพุทธศิลป์...ย้อนแดนดิน ถิ่นอารยธรรม
ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ พระมหาธีรราชเจ้าของชาวสยาม
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ…พระไตรปิฎกของชาวไทย
สืบทอดพุทธธรรม... จากพุทธกาลสู่โลกปัจจุบัน สืบทอดพุทธธรรม... จากพุทธกาลสู่โลกปัจจุบัน Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 00:10 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.