หีดธัมม์ งานศิลป์ ถิ่นเหนือ


หีดธัมม์  หรือ  หีดธรรม  เป็นคำที่ชาวเหนือใช้เรียกหีบเก็บคัมภีร์ใบลาน มีใช้สืบต่อกันมาแต่โบราณกาลในดินแดนล้านนา  ส่วนใหญ่เป็นคัมภีร์ใบลานที่จารด้วยอักษรธรรมล้านนา ซึ่งเป็นอักษรที่ใช้อย่างแพร่หลายบริเวณภาคเหนือของประเทศไทย หีบพระธรรมที่ใช้ในภูมิภาคนี้นับว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะที่แตกต่างจากหีบเก็บคัมภีร์ใบลานของภาคอื่น เพราะมีลักษณะเป็น ทรงลุ้งคือเป็นทรงสี่เหลี่ยม ด้านล่างของฐานสอบเข้า ส่วนปากหีบผายออก มีฝาครอบปิดด้านบนซึ่งมีหลายลักษณะทั้งฝาตัด ฝาคุ้ม และฝาเรือนยอด

หีดธัมม์ประกอบด้วย ๓ ส่วนหลัก คือ ตัวหีบ ส่วนฐาน และฝาปิด นิยมใช้ไม้สักเป็นวัสดุเนื่องจากเนื้อไม้ไม่เสียรูปทรงเมื่อนำมาแกะสลัก และมีความคงทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศ เป็นงานหัตถศิลป์ที่เน้นความแข็งแรงเพื่อเก็บรักษาคัมภีร์ใบลานให้อยู่รอดปลอดภัยในสภาพที่สมบูรณ์มากที่สุด


หีบพระธรรมทรงลุ้งแบบฝาตัด ฝาคุ้มและฝาเรือนยอด

การสร้างหีดธัมม์เริ่มจากการนำไม้มาซ้อนทำเป็นฐาน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการรับน้ำหนัก จากนั้นจะขึ้นโครงแล้วนำแผ่นไม้มาบุรอบ ส่วนฝาปิดจะใช้วิธีสวมเข้าเดือย ซึ่งจะต้องทำให้สวมปิดได้สนิท ไม่หลวมหรือแน่นเกินไป เมื่อจะหยิบหรือบรรจุคัมภีร์ใบลานจะใช้วิธียกฝาหีบด้านบนออก จากนั้นจะขัดผิวไม้ให้เรียบ ทาด้วยชาด รัก หรือสี เพื่อรักษาคุณภาพของเนื้อไม้  ในอดีตสีที่ใช้ได้มาจากธรรมชาติ เช่น สีดำจากเขม่าไฟ  สีแดงจากชาด  สีเหลืองจากยางไม้  และสีทองจากทองคำเปลว เป็นต้น  แล้วจึงประดับตกแต่งด้วยเทคนิคต่าง ๆ  มีการลงรักปิดทอง เขียนลายรดน้ำ หรือตกแต่งด้วยการวาดลวดลายให้สวยงาม บางครั้งมีการแกะสลักไม้เป็นลวดลายต่าง ๆ หรือนำกระจกมาประดับเพื่อเพิ่มมิติและทำให้มีความระยิบระยับสวยงาม เป็นงานศิลปะที่สร้างสรรค์ขึ้นด้วยฝีมือของช่างสมัยโบราณ

เนื่องจากหีดธัมม์ถูกสร้างขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเก็บรักษาคัมภีร์ใบลานที่บันทึกคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้สร้างหรือผู้บริจาคทรัพย์ต่างปรารถนาอานิสงส์ผลบุญจากการถวายหีบเก็บคัมภีร์ใบลานไว้เป็นสมบัติพระศาสนา หวังให้ตนประสบแต่ความสุข ความเจริญ และเป็นปัจจัยส่งผลให้ตนไปสู่สุคติโลกสวรรค์และเข้าถึงพระนิพพาน จึงพบว่าหลายหีบตกแต่งลวดลายบอกเล่าเรื่องราวที่เป็นคติทางพระพุทธศาสนาอย่างประณีตบรรจง มีการจารึกชื่อผู้ถวายและข้อความไว้บนฝาของหีดธัมม์ด้วย


แม้วันนี้ลวดลายและสีบนหีดธัมม์อาจซีดจางและลบเลือนไปบ้างตามกาลเวลา แต่ความศรัทธาของผู้สร้างและผู้ถวายยังปรากฏเด่นชัด  หีดธัมม์ที่หลงเหลือแต่ละใบเป็นหลักฐานยืนยันว่า พระพุทธศาสนาได้เดินทางมาสู่ดินแดนล้านนา ปักหลักมั่นคงและหยั่งรากลึกลงในจิตใจของผู้คนจนคติความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมและอานิสงส์ผลบุญที่จะได้รับจากการทำความดี ถูกปลูกฝังถ่ายทอดจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมล้านนาอย่างแยกไม่ออก  ความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยสะท้อนออกมาในรูปของงานหัตถศิลป์ที่มีลักษณะเฉพาะตัวฝากไว้เป็นสมบัติของแผ่นดิน  หีดธัมม์จึงเป็นงานพุทธศิลป์ที่สรรค์สร้างด้วยมือ ถ่ายทอดด้วยใจ และประจักษ์ด้วยสายตา เป็นตัวแทนของความศรัทธาที่ชาวถิ่นเหนือมีต่อพระพุทธศาสนา  สมควรเก็บรักษาและอนุรักษ์ให้เป็นสมบัติคู่แผ่นดินไทย  แผ่นดินธรรมต่อไป


โครงสร้างลวดลายพรรณพฤกษา  ลักษณะเป็นรูปดอกไม้ดอกใหญ่ดอกเดียวอยู่กลางแผ่น
และมีลายประดับอยู่ในรูปกรอบสามเหลี่ยมที่เรียกว่า ลายปีกค้างคาวอยู่ทั้ง ๔ ด้าน

โครงสร้างลวดลายเป็นภาพเล่าเรื่อง  มักเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เน้นภาพที่จุดศูนย์กลางแผ่น
แล้วจึงคลี่คลายออกไปด้านข้าง โดยน้ำหนักองค์ประกอบภาพ ๒ ข้างสมดุลกัน

หีบพระธรรม วัดบุญยืน จังหวัดน่าน เป็นทรงลุ้ง ฝาตัด ฐานปัทม์ สลักภาพนูนต่ำและปั้นรักประดับ
สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๘
แสดงภาพเล่าเรื่องสิริจุฑามณิชาดก เป็นหนึ่งในปัญญาสชาดก ซึ่งเป็นวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาที่พระเถระ
นักปราชญ์ล้านนารวบรวมเรื่องราวปรัมปราที่เป็นนิทานท้องถิ่นแล้วนำมารจนาเป็นชาดกไว้
ด้านหน้าฝาหีบปรากฏรอยจารึกอักษรธรรมล้านนาเขียนด้วยรักสีแดง จำนวน ๖ บรรทัดความว่า
"จุลศักราช ๑๑๕๗ พระสงฆ์นามว่าทิพพาลังการเป็นประธานแก่ศิษย์ทุกคน โดยมีมหาราชหลวงเป็นองค์อุปถัมภ์
พร้อมด้วยขุนนาง นางโนชา และชาวบ้านน้ำลัด ร่วมกันสร้างหีบพระธรรม โดยขอให้ได้พบสุข ๓ ประการ
ซึ่งมีนิพพานเป็นยอด"

ขอขอบคุณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน ที่เอื้อเฟื้อภาพถ่ายและข้อมูลหีบพระธรรม วัดบุญยืน

สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ ๑๔ : ๗๕๙๐-๗๕๙๒. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, ๒๕๔๒.

สุรสิทธิ์ ไทยรัตน์. คัมภีร์ใบลานในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๕๖.

Cr. Tipitaka (DTP)
วารสารอยู่ในบุญ  ฉบับที่ ๑๔๗  เดือนมกราคม  พ.ศ. ๒๕๕๘



คลิกอ่านพระไตรปิฎก (DTP) ของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
กากะเยีย ขั้นกะเยีย... ผสานศิลป์ ถิ่นอีสาน
บูรพกษัตริย์ไทยกับพระไตรปิฎก
พระมหากษัตริย์ไทยกับพระไตรปิฎก ตอน ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
พระพุทธเลิศหล้านภาลัย… รัชสมัยแห่งการฟื้นฟู
พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว... ยุคทองแห่งต้นกรุงรัตนโกสินทร์
พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว... ก้าวสู่รัตนโกสินทร์ตอนกลาง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระไตรปิฎกพิมพ์อักษรไทย อธิปไตยของแผ่นดิน
สืบทอดพุทธธรรม... จากพุทธกาลสู่โลกปัจจุบัน
ศึกษาหลักฐานพุทธศิลป์...ย้อนแดนดิน ถิ่นอารยธรรม
ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ พระมหาธีรราชเจ้าของชาวสยาม
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ…พระไตรปิฎกของชาวไทย
หีดธัมม์ งานศิลป์ ถิ่นเหนือ หีดธัมม์ งานศิลป์ ถิ่นเหนือ Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 00:43 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.