บูรพกษัตริย์ไทยกับพระไตรปิฎก
พระไตรปิฎก
คือ คัมภีร์ที่บันทึกคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
สันนิษฐานว่าพระไตรปิฎกภาษาบาลีเข้ามาสู่ประเทศไทยใน ๒ ช่วง คือ ประมาณปี พ.ศ.
๑๖๐๐ เมื่อพระพุทธศาสนาเถรวาทเผยแผ่จากประเทศพม่าเข้าสู่ภาคเหนือของไทย
และประมาณปี พ.ศ. ๑๘๐๐
เมื่อพระพุทธศาสนาเผยแผ่จากประเทศศรีลังกามาทางนครศรีธรรมราช
ในช่วงเวลาดังกล่าว
บูรพกษัตริย์ผู้ปกครองอาณาจักรหลายพระองค์
ได้น้อมรับเอาหลักธรรมอันดีงามที่ปรากฏในพระไตรปิฎกมาใช้เป็นแม่บทแบบแผนในการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่น
และทรงปฏิบัติพระองค์เป็นแบบอย่างพุทธศาสนิกชนที่ดี
อาณาจักรสุโขทัย พ่อขุนรามคำแหงมหาราช
พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์พระร่วง ลำดับที่ ๓ ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี
ทรงอาราธนาพระมหาเถรสังฆราช ผู้เรียนจบพระไตรปิฎกขึ้นมาจากเมืองนครศรีธรรมราชให้มาพำนักที่วัดอรัญญิก
เพื่อมาเผยแผ่พระธรรมวินัยแก่ประชาราษฎร์และตั้งคณะสงฆ์แบบลังกาวงศ์ในอาณาจักรสุโขทัย
จนพระพุทธศาสนามีความรุ่งเรืองไพศาล ดังปรากฏในศิลาจารึกหลักที่
๑ ด้านที่ ๒ ว่า
“.. คนในเมืองสุโขทัยนี้ มักทาน มักทรงศีล
มักโอยทาน พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองสุโขทัยนี้ ทั้งชาวแม่ชาวเจ้าท่วยปั่วท่วยนาง
ลูกเจ้าลูกขุน ทั้งสิ้นทั้งหลาย ทั้งผู้ชายผู้ญีง ฝูงท่วยมีศรัทธาใน *พระพุทธศาสน
ทรงศีลเมื่อพรรษาทุกคน...”
“...พ่อขุนรามคำแหงกระทำ โอยทานแก่มหาเถร
สังฆราชปราชญ์ เรียนจบปิฎกไตรหลวก กว่าปู่ครูในเมืองนี้
ทุกคนลุกแต่เมืองศรีธรรมราชมา ...”
(คำอ่านจารึกจากฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร)
ต่อมาในสมัยพระยาลิไทย
พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์พระร่วงลำดับที่ ๖ ทรงทำนุบำรุง
พระศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองจนสุโขทัยกลายเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา
พระองค์มักจะทรงเผดียงพระสงฆ์เข้าไปเรียนพระไตรปิฎกในมหาปราสาท
และทรงจัดระเบียบคณะสงฆ์ แบ่งเป็น ๒ ฝ่าย
คือ ฝ่าย “คามวาสี” และฝ่าย “อรัญวาสี” โดยให้ฝ่ายคามวาสีเน้นการสั่งสอนราษฎรในเมืองและเน้นการศึกษาพระไตรปิฎก
ส่วนฝ่ายอรัญวาสีให้เน้นการวิปัสสนาและประจำอยู่ตามป่าหรือชนบท
ตู้พระธรรมไม้จำหลักปิดทอง เขียนสีประดับกระจก เล่าเรื่องทศชาติ ศิลปะสมัยอยุธยาพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑ |
ส่วนพระองค์เองทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่เสด็จออกผนวช
ทรงมีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และปกรณ์วิเสสเป็นอย่างดี
จนทรงพระปรีชาสามารถนิพนธ์หนังสือไตรภูมิพระร่วง สอนเรื่องนรกสวรรค์ บุญบาป นับเป็นงานวรรณคดีที่เก่าแก่ที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย
ทั้งยังทรงมีบทบาทสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเถรวาท
แบบลังกาวงศ์ไปสู่แผ่นดินล้านนาอีกด้วย
อาณาจักรล้านนา ในรัชสมัยพระเจ้าติโลกราช
เป็นยุคที่มีพระภิกษุผู้เชี่ยวชาญในการรจนาคัมภีร์ภาษาบาลีและรอบรู้พระไตรปิฎกจำนวนมาก
ก่อให้เกิดการทำสังคายนาครั้งแรกของประเทศไทย ในปี พ.ศ. ๒๐๒๐
ที่วัดมหาโพธารามหรือวัดเจ็ดยอด เมืองเชียงใหม่ โปรดให้ชุมนุมพระเถรานุเถระผู้ทรงพระไตรปิฎกหลายร้อยรูป
มีพระธรรมทินเถระเป็นประธานสอบชำระพระไตรปิฎกและจารลงในใบลาน ใช้เวลา ๑ ปี
จึงแล้วเสร็จ เรียกการสังคายนาที่เชียงใหม่ครั้งนี้ว่า การสังคายนาครั้งที่ ๘ หรือ
“อัฏฐสังคายนา” เมื่อนับตั้งแต่การสังคายนาครั้งแรกในอินเดียโบราณ
สมัยพระเจ้าติโลกมหาราชแห่งอาณาจักรล้านนา การศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมได้รับการส่งเสริม พระภิกษุสงฆ์ ที่มีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎกได้รับการเคารพยกย่อง ทำให้มีกุลบุตรมาบวชเรียนเป็นจำนวนมาก |
คัมภีร์ใบลานฉบับข้างลาย ตกแต่งเป็นลายกรวยเชิงบนพื้นแดง แผ่นลานสมัยอยุธยาจารพระไตรปิฎก
ด้วยอักษรขอม
|
อาณาจักรอยุธยา พระมหากษัตริย์ที่ทรงมีบทบาทด้านการพระศาสนาอย่างยิ่งพระองค์หนึ่ง
ได้แก่ สมเด็จพระบรมราชาที่ ๑ พระมหากษัตริย์องค์ที่ ๒๑ แห่งกรุงศรีอยุธยา
ซึ่งประชาชนยกย่องถวายพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม
ก่อนขึ้นเสวยราชสมบัติ
พระองค์ทรงพระผนวชอยู่ที่วัดระฆัง ทรงรอบรู้ทางด้านพระไตรปิฎกมากจนได้รับเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระพิมลธรรมอนันตปรีชา
แม้ภายหลังลาสิกขาขึ้นเสวยราชย์แล้ว
พระองค์ก็ยังมีพระราชศรัทธาเสด็จลงพระที่นั่งจอมทองสามหลังบอกบาลีแก่พระภิกษุสามเณรอยู่เนือง
ๆ มีพระภิกษุสามเณรจากวัดต่าง ๆ ผลัดกันเข้ามาเรียนเป็นประจำ ทั้งยังโปรดเกล้าฯ
ให้ประชุมราชบัณฑิตแต่งกาพย์มหาชาติเมื่อ พ.ศ. ๒๑๗๐ และโปรดเกล้าฯ
ให้สร้างพระไตรปิฎกด้วย
อาณาจักรธนบุรี เป็นอาณาจักรสุดท้ายก่อนเข้าสู่ยุครัตนโกสินทร์
พระเจ้าตากสินมหาราชทรงเป็นพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียว ที่ทรงปกครองกรุงธนบุรีระยะสั้น ๆ เพียง ๑๕
ปี
นอกจากทรงเป็นนักรบที่แกล้วกล้านำไพร่พลตีฝ่าวงล้อมกอบกู้เอกราชคืนจากพม่าหลังเสียกรุงศรีอยุธยาแล้ว
พระองค์ยังทรงเป็นนักการศาสนาที่เคร่งครัดอีกด้วย
ทรงปฏิบัติสมถวิปัสสนากัมมัฏฐานและฟื้นฟูวัดวาอาราม
ทรงเห็นว่าช่วงสงครามคัมภีร์พระไตรปิฎกกระจัดกระจาย สูญหาย
และถูกเผาทำลายไปเป็นจำนวนมาก จึงทรงมุ่งมั่นรวบรวมต้นฉบับที่หลงเหลืออยู่
เพื่อนำมาคัดลอกสร้างเป็นพระไตรปิฎกฉบับหลวงต่อไป
และโปรดเกล้าฯ ให้ไปอัญเชิญพระไตรปิฎกจากหลายเมือง อาทิ นครศรีธรรมราช
อุตรดิตถ์ และทรงสถาปนาพระอาจารย์สี ผู้มีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎกตั้งแต่สมัยอยุธยาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช
แม้กรุงธนบุรีจะสิ้นสุดลงก่อนที่พระไตรปิฎกฉบับหลวงจะสำเร็จลุล่วง
แต่ต้นฉบับที่ได้จากเมืองนครศรีธรรมราชถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการสังคายนาพระไตรปิฎกในสมัยต่อมา
สมุดภาพไตรภูมิ ฉบับหลวง สมัยธนบุรี แสดงภาพสวรรค์ชั้นดุสิต "บุคคลจำพวกใดเป็นพหูสูต ตั้งอยู่ในทสกุศลกรรมบถ กอปรด้วยปัญญา ปรารถนาพระนิพพาน แลยินดีในคุณพระรัตนตรัย ผู้นั้นได้เกิดในดุสิตสวรรค์" |
อ้างอิง
ก่องแก้ว
วีระประจักษ์. (๒๕๔๕). สารนิเทศจากคัมภีร์ใบลานสมัยอยุธยา. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร
ณัฏฐภัทร
จันทวิช. (๒๕๕๓). วัดพนัญเชิงวรวิหาร พระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ :
อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง
บุญเตือน
ศรีวรพจน์, ประสิทธิ์ แสงทับ. (๒๕๔๒). สมุดข่อย. กรุงเทพฯ
: องค์การค้าของคุรุสภา
วัดปากน้ำ
ภาษีเจริญ. พระมหาวิหารประดิษฐานพระไตรปิฎกหินอ่อน. กรุงเทพฯ :
อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง
Cr. Tipitaka
(DTP)
คลิกอ่านพระไตรปิฎก (DTP) ของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
หีดธัมม์ งานศิลป์ ถิ่นเหนือ
กากะเยีย ขั้นกะเยีย... ผสานศิลป์ ถิ่นอีสาน
พระมหากษัตริย์ไทยกับพระไตรปิฎก ตอน ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
พระพุทธเลิศหล้านภาลัย… รัชสมัยแห่งการฟื้นฟู
พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว... ยุคทองแห่งต้นกรุงรัตนโกสินทร์
พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว... ก้าวสู่รัตนโกสินทร์ตอนกลาง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระไตรปิฎกพิมพ์อักษรไทย อธิปไตยของแผ่นดิน
สืบทอดพุทธธรรม... จากพุทธกาลสู่โลกปัจจุบัน
ศึกษาหลักฐานพุทธศิลป์...ย้อนแดนดิน ถิ่นอารยธรรม
ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ พระมหาธีรราชเจ้าของชาวสยาม
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ…พระไตรปิฎกของชาวไทย
กากะเยีย ขั้นกะเยีย... ผสานศิลป์ ถิ่นอีสาน
พระมหากษัตริย์ไทยกับพระไตรปิฎก ตอน ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
พระพุทธเลิศหล้านภาลัย… รัชสมัยแห่งการฟื้นฟู
พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว... ยุคทองแห่งต้นกรุงรัตนโกสินทร์
พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว... ก้าวสู่รัตนโกสินทร์ตอนกลาง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระไตรปิฎกพิมพ์อักษรไทย อธิปไตยของแผ่นดิน
สืบทอดพุทธธรรม... จากพุทธกาลสู่โลกปัจจุบัน
ศึกษาหลักฐานพุทธศิลป์...ย้อนแดนดิน ถิ่นอารยธรรม
ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ พระมหาธีรราชเจ้าของชาวสยาม
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ…พระไตรปิฎกของชาวไทย
สองพระมหากษัตริย์...ร่มฉัตรปกแผ่นดิน (ปีถัดไป)
บูรพกษัตริย์ไทยกับพระไตรปิฎก
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
00:47
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: