พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว... ยุคทองแห่งต้นกรุงรัตนโกสินทร์

ภาพจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม  วัดประจำรัชกาลที่ ๑
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่
จนได้รับยกย่องว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย


แผ่นดินที่ ๓ ของกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ไทยในราชวงศจักรี ถือเป็นยุคทองแห่งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยของพระองค์พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองเป็นอันมาก เนื่องด้วยทรงมีพระราชศรัทธาอย่างมั่นคงในพระพุทธศาสนา ทรงรักษาศีล บำเพ็ญทาน บำรุงคณะสงฆ์สร้างและปฏิสังขรณ์พระอารามไว้เป็นจำนวนมาก จนมีคำพังเพยกล่าวกันมาว่า ในรัชกาลที่ ๑ นั้ถ้าใครเข้มแข็งในการศึกสงคราม ก็เป็นคนโปรด ในรัชกาลที่ ๒ ถ้าใครเป็นจินตกวี ก็เป็นคนโปรดในรัชกาลที่ ๓ ถ้าใครใจบุญสร้างวัดวาอาราม ก็เป็นคนโปรด


พระราชศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนาปรากฏเด่นชัดในพระราชจริยวัตร ดังเช่น ในปี  พ.ศ. ๒๓๘๔ มีพระราชอุตสาหะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงฟังการแปลพระไตรปิฎกติดต่อกันเป็นเวลา ๒๕ วัน เมื่อทรงเห็นว่ายังไม่มีพระภิกษุสามเณรรูปใดมีความรู้พระไตรปิฎกถึงขั้นเปรียญเอก โท ตรี และจัตวา จึงทรงอาราธนาพระราชาคณะทั้งปวงด้วยความห่วงใยเกรงพระพุทธศาสนาจะเศร้าหมองว่า

กระทำซึ่งพระพุทธศาสนาให้เหมือนสระโบกขรณี มีดอกปทุมชาติเกิดคอยกันเป็น ชั้น ๆ ชั้นที่มีดอกอันบานแก่  แลชั้นมีดอกอันแก่พึงจะบาน  พึงจะแย้มกลีบแลเกสร  ที่มีดอกอ่อนพึงจะผุด พระพุทธศาสนาถ้ารุ่งเรืองไปด้วยพระภิกษุสามเณรที่รู้พระไตรปิฎกเป็นชั้น ๆ ดังนี้แล้ว  อันว่ากลีบสุคันธรส คือ คุณธรรม  ก็จะฟุ้งขจรตลบไปในที่ทวนลม  แลตามลม


ดังนี้แล้วทรงให้การสนับสนุนการเรียนพระปริยัติธรรมของพระภิกษุสามเณรเป็นพิเศษ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนสอนพระปริยัติธรรมในพระอาราม มีการสอบพระบาลีสนามหลวงอย่างเคร่งครัด พระราชทานพัดยศและถวายนิตยภัตเป็นประจำทุกเดือนแก่พระมหาเปรียญประโยคต่าง ๆ พระสงฆ์ที่สอบไล่ได้เป็นเปรียญและได้เลื่อนเป็นที่พระราชาคณะแล้ว ถ้าโยมบิดามารดาตกทุกข์หรือเป็นทาสผู้อื่น ก็จะพระราชทานพระราชทรัพย์ไถ่ตัวให้เป็นอิสระ ด้วยเหตุที่พระองค์ทรงให้การสนับสนุนพระภิกษุสามเณรผู้ทรงความรู้นี้เอง ทำให้พระสงฆ์สามเณรทั้งในกรุงและตามหัวเมืองตั้งใจเล่าเรียนพระไตรปิฎกมากยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน

ในรัชสมัยของพระองค์มีการสร้างพระไตรปิฎกมากฉบับกว่าที่ผ่านมา และได้รับการยกย่องว่าอักขระมีความถูกต้องครบถ้วนยิ่งกว่าฉบับที่สร้างในรัชกาลก่อน ๆ เพราะเหตุที่ทรงให้การสนับสนุนทั้งการศึกษาภาษาบาลีและอักขระอื่น ๆ ได้แก่ อักษรสิงหล และอักษรมอญ ควบคู่กันไปเพื่อประโยชน์ในการปริวรรตถ่ายถอดภาษาบาลีที่จารลงในใบลานด้วยอักษรมอญและสิงหลให้เป็นอักษรขอมอย่างถูกต้องแม่นยำ และยังโปรดเกล้าฯ ให้แปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทยอีกด้วย

ตัวอย่างการปริวรรตถ่ายถอดภาษาบาลี จารคำว่า เอวมฺเม สุตํ เอกํ สมยํ ภควา
แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า

เอวมฺเม สุตํ  ข้าพเจ้า ( คือพระอานนท์ ) ได้ฟังมาแล้วอย่างนี้
เอกํ สมยํ ภควา สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้า …..


เหตุผลอีกประการหนึ่งคือ ขณะนั้นเจ้าฟ้ามงกุฎ (รัชกาลที่ ๔) ทรงผนวชอยู่ ทรงรับเป็นธุระตรวจสอบคัมภีร์พระไตรปิฎกที่มีในแผ่นดิน เมื่อทรงทราบว่าคัมภีร์ใดมีเนื้อความผิดแปลกหรือไม่ครบบริบูรณ์ ก็ทรงให้เสาะหาคัมภีร์จากต่างประเทศมาเทียบเคียงและเสริมส่วนที่ขาดหายให้สมบูรณ์



โปรดเกล้าฯ ให้สมณทูตไปอัญเชิญคัมภีร์พระไตรปิฎกจากลังกามาสู่สยามถึง ๒ คราว ครั้งแรกไปกับเรือกำปั่นหลวงชื่อจินดาแก้ว ขอยืมคัมภีร์พระไตรปิฎกกลับมา ๔๐ คัมภีร์ ใช้เวลาคัดลอก ๑ ปี จึงแล้วเสร็จ และครั้งที่ ๒ เป็นการเดินทางเพื่อนำคัมภีร์ชุดแรกไปส่งคืน พร้อมขอยืมคัมภีร์กลับมาจากลังกาอีก ๓๐ คัมภีร์ ขณะเดียวกันหากคัมภีร์ใดไม่มีในลังกา ก็ทรงให้พระภิกษุสงฆ์ชาวสิงหลแลกเปลี่ยนไปคัดลอกได้ เป็นการค้นคว้าแลกเปลี่ยนความรู้ทางพระพุทธศาสนาและเจริญสัมพันธไมตรีระหว่าง ๒ ประเทศให้แน่นแฟ้นขึ้น ทั้งยังโปรดเกล้าฯ ให้พระสงฆ์มอญช่วยเสาะหาและนำคัมภีร์พระไตรปิฎกฉบับรามัญเข้ามาร่วมตรวจสอบอีกทางหนึ่งด้วย  จึงเป็นเหตุให้มีคัมภีร์พระไตรปิฎกจากต่างประเทศเข้ามาสู่แผ่นดินสยามมากขึ้น

คัมภีร์ใบลานที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ นี้ นอกจากถูกต้องสมบูรณ์แล้ว ยังถือว่ามีความประณีตงดงามอย่างยิ่ง

ฉบับรดน้ำเอกมีการตกแต่งหรือเขียนด้วยลวดลายรดน้ำบนพื้นรักดำที่ใบลานปกหน้าและปกหลังด้วยความพิถีพิถัน
เป็นคัมภีร์ที่งดงามประณีต ยิ่งกว่าคัมภีร์ใด ๆ ตั้งแต่การเลือกใบลานที่เนื้อเนียนอ่อน ช่างจารที่มีฝีมือเป็นเลิศ
ตลอดจนผ้าห่อคัมภีร์  ล้วนเป็นของที่บรรจงทำด้วยฝีมืออันวิจิตรทั้งสิ้น

นอกจากนี้ยังทรงสร้างพระไตรปิฎกสำหรับหอหลวง ๕ ฉบับ คือ ฉบับรดน้ำเอก ฉบับรดน้ำโท ฉบับทองน้อย ฉบับชุบย่อ ฉบับอักษรรามัญ และทรงสร้างพระไตรปิฎกจบใหญ่สำหรับพระราชทานพระอารามหลวงอีก ๒ ฉบับ คือ ฉบับเทพชุมนุม พระราชทานไว้ ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และฉบับลายกำมะลอ พระราชทานไว้ ณ วัดราชโอรส

คัมภีร์ใบลานหลวงฉบับเทพชุมนุม ฉบับทองทึบ จารด้วยอักษรขอม ปกหน้าตกแต่งลายรดน้ำบนพื้นรักดำ
เขียนเป็นภาพเทวดามาประชุมกันในท่านั่งพนมหัตถ์ มีพัดรูปพุ่มข้าวบิณฑ์คั่นสับหว่าง
พื้นหลังเป็นลายดอกพุดตานใบเทศ กึ่งกลางปกมีอักษรขอมบอกชื่อคัมภีร์
 "พระปาฬีทิฆนิกาย สีลขนฺธวคฺค ผูก ๑" อยู่ภายในกรอบ

คัมภีร์ใบลานหลวงฉบับเทพชุมนุม     ฉบับทองทึบ จารด้วยอักษรขอม ปกหน้าตกแต่งลายรดน้ำบนพื้นรักดำ เขียนเป็นภาพเทวดา    มาประชุมกันในท่านั่งพนมหัตถ์ มีพัดรูป           พุ่มข้าวบิณฑ์คั่นสับหว่าง พื้นหลังเป็นลาย     ดอกพุดตานใบเทศ กึ่งกลางปกมีอักษรขอม  บอกชื่อคัมภีร์ พระปาฬีทิฆนิกาย สีลขนฺธวคฺค ผูก ๑อยู่ภายในกรอบ

ในแผ่นดินรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ การค้าขายเจริญรุ่งเรือง บ้านเมืองปราศจากสงคราม ถือเป็นยุคทองที่จะทำนุบำรุงบ้านเมืองให้กลับมาสวยงามเหมือนเมื่อครั้งกรุงเก่า ศาสนสถานเป็นสถาปัตยกรรมหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเจริญนั้น ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๓ ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามเมื่อครั้งต้นแผ่นดินรัชกาลแรก และทรงสร้างวัดขึ้นใหม่ที่วิจิตรงดงามเลอค่าสมกับเป็นศรีแห่งแผ่นดิน  อีกทั้งไม่ละเลยคัมภีร์ในพระพุทธศาสนา พระไตรปิฎกหลากหลายอักษรถูกนำมาปริวรรตถ่ายทอดเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ และจัดรวบรวมไว้อย่างเป็นระเบียบสวยงาม  ถือเป็นคุณูปการอย่างยิ่งต่อวงการการศึกษาพระบาลีและคณะสงฆ์ไทย สมกับที่ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก เจริญตามรอยบาทของพระมหากษัตริย์ไทยแต่ครั้งโบราณกาล

อ้างอิง

กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม. กรมการศาสนา. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตร                 แห่งประเทศไทย, ๒๕๕๑.

ก่องแก้ว วีระประจักษ์ และวิรัตน์ อุนนาทรวรางกูร. คัมภีร์ใบลานฉบับหลวงในสมัยรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ :  กรมศิลปากร, ๒๕๔๖.

สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ. คู่มือบทโทรทัศน์ สารคดีเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จ          พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ.

Cr. Tipitaka (DTP)
วารสารอยู่ในบุญ  ฉบับที่ ๑๕๒  เดือนมิถุนายน  พ.ศ. ๒๕๕๘








คลิกอ่านพระไตรปิฎก (DTP) ของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
หีดธัมม์ งานศิลป์ ถิ่นเหนือ
กากะเยีย ขั้นกะเยีย... ผสานศิลป์ ถิ่นอีสาน
บูรพกษัตริย์ไทยกับพระไตรปิฎก
พระมหากษัตริย์ไทยกับพระไตรปิฎก ตอน ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
พระพุทธเลิศหล้านภาลัย… รัชสมัยแห่งการฟื้นฟู
พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว... ก้าวสู่รัตนโกสินทร์ตอนกลาง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระไตรปิฎกพิมพ์อักษรไทย อธิปไตยของแผ่นดิน
สืบทอดพุทธธรรม... จากพุทธกาลสู่โลกปัจจุบัน
ศึกษาหลักฐานพุทธศิลป์...ย้อนแดนดิน ถิ่นอารยธรรม
ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ พระมหาธีรราชเจ้าของชาวสยาม
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ…พระไตรปิฎกของชาวไทย
พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว... ยุคทองแห่งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว... ยุคทองแห่งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 20:16 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.