พระมหากษัตริย์ไทยกับพระไตรปิฎก ตอน ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์




“ตั้งใจจะอุปถัมภก ยอยกพระพุทธศาสนา
จะป้องกันขอบขัณฑสีมา
รักษาประชาชนและมนตรี

ปฐมบรมราชโองการแสดงพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

ราชอาณาจักรรัตนโกสินทร์สถาปนาขึ้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี รัชกาลที่ ๑ ทรงย้ายราชธานีจากฝั่งกรุงธนบุรีมาฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา  และพระราชทานนามราชธานีแห่งใหม่ว่า กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ฯแผ่นดินไทยขณะนั้นเพิ่งผ่านความคุกรุ่นของสงครามเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่า หรือแม้ในรัชสมัยพระองค์เองก็ยังปรากฏมีศึกสงครามอย่างต่อเนื่อง บ้านเมืองถูกข้าศึกทำลายย่อยยับ จิตใจของผู้คนในชาติบอบช้ำ     จากการสูญเสีย พระองค์จึงทรงมีพระราชปณิธานอันแน่วแน่ที่จะปกป้องเอกราชของบ้านเมือง ควบคู่ไปกับการเร่งฟื้นฟูขวัญและกำลังใจของพสกนิกรในชาติ ด้วยการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้กลับมายิ่งใหญ่ไพศาลเฉกเช่นอดีตราชธานีให้จงได้

ในด้านศาสนสถาน  มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามขึ้นในเขตพระบรมมหาราชวัง เจริญรอยตามพระราชประเพณีสร้างพระอารามหลวงในเขตพระบรมมหาราชวังตามแบบกรุงศรีอยุธยา พร้อมทั้งสร้างหอพระไตรปิฎก พระราชทานนามว่า หอพระมณเฑียรธรรม ไว้เป็นสถานที่เก็บคัมภีร์พระไตรปิฎกของหลวง

หอพระมณเฑียรธรรมเป็นหอสมุดพระพุทธศาสนาของหลวงหลังแรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ในด้านพระธรรม  มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สานต่องานรวบรวมคัดลอกคัมภีร์พระไตรปิฎกที่พระเจ้าตากสินมหาราชทรงริเริ่มไว้แต่ครั้งกรุงธนบุรี แต่สิ้นรัชกาลก่อนที่คัมภีร์พระไตรปิฎกฉบับหอหลวงจะเสร็จสมบูรณ์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงมาดำเนินการต่อ พระองค์มีพระราชวินิจฉัยว่า ข้อความในพระไตรปิฎกฉบับหลวงยังมีความคลาดเคลื่อนอยู่มาก เนื่องจากคัดลอกจากต้นฉบับจากหัวเมืองน้อยใหญ่ที่ไม่ครบถ้วน พระองค์พร้อมด้วยสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทจึงทรงอาราธนาสมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) และพระราชาคณะฐานานุกรมเปรียญจำนวน ๑๐๐ รูป มาสอบถาม  ครั้นทรงสดับว่า  พระไตรปิฎกที่มีอยู่ผิดเพี้ยนจริง และฝ่ายคณะสงฆ์ก็ประสงค์จะทำนุบำรุงให้สมบูรณ์ถูกต้อง แต่มีกำลังไม่พอจะกระทำให้สำเร็จได้ จึงทรงอาราธนาให้คณะสงฆ์จัดทำสังคายนาพระไตรปิฎกขึ้น  นับเป็นการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๒ ของราชอาณาจักรไทย โดยมีพระสงฆ์ ๒๑๘ รูป ราชบัณฑิตยาจารย์ ๓๒ ท่าน มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน ทำการสังคายนา ณ วัดนิพพานาราม (วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร)  โดยนำคัมภีร์พระไตรปิฎกฉบับหอหลวงมาตรวจสอบ ใช้เวลา ๕ เดือน จึงเสร็จสมบูรณ์



ในบันทึกพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์   รัชกาลที่ ๑ บันทึกไว้ว่า ตลอดระยะเวลา ๕ เดือน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและพระอนุชาเสด็จไปพระอารามทุกวัน วันละ ๒ ครั้ง เวลาเช้าทรงประเคนสำรับอาหาร  ส่วนเวลาเย็นทรงถวายน้ำอัฐบาน (น้ำผลไม้คั้น) และธูปเทียนทุกวัน แสดงให้เห็นพระอุตสาหะและพระราชจริยวัตรอันงดงาม ที่พระองค์ทรงทุ่มเทในฐานะที่เป็นองค์ศาสนูปถัมภกเพื่อสนับสนุนให้การกระทำสังคายนาครั้งนี้เสร็จสมบูรณ์ให้จงได้ เพื่อยังคำสอนอันบริสุทธิ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้คืนกลับมาสู่แผ่นดินไทย  ดังพระราชดำรัสว่า




ครั้งนี้ ขออาราธนาพระผู้เป็นเจ้าทั้งปวง จงมีอุตสาหะในฝ่ายพระพุทธจักรให้พระไตรปิฎกบริบูรณ์เกิดขึ้นจงได้ ฝ่ายข้างอาณาจักรที่จะเป็นศาสนูปถัมภกนั้น เป็นพนักงานโยม โยมจะสู้เสียสละชีวิตบูชาพระรัตนตรัย สุดแต่จะให้ปริยัติสมบูรณ์เป็นมูลที่ตั้งพระพุทธศาสนาจงได้

ครั้นเมื่อการสังคายนาเสร็จสมบูรณ์เมื่อกลางเดือน ๕ ปีระกา พ.ศ. ๒๓๓๒ ทรงสละพระราชทรัพย์จ้างช่างจารจารึกลงในใบลานด้วยอักษรขอม ปิดทองแท่งทับทั้งใบปกหน้าหลังและกรอบทั้งสิ้น ห่อด้วย   ผ้ายก เชือกรัดถักด้วยไหมแพรเบญจพรรณ มีฉลากงาแกะเขียนอักษรด้วยหมึก และฉลากทอเป็นตัวอักษร บอกชื่อพระคัมภีร์ทุกคัมภีร์ เรียกคัมภีร์พระไตรปิฎกฉบับหลวงนี้ว่า  ฉบับทองทึบ  และเรียกฉบับหอหลวงว่า ฉบับสังคายนา  หรือที่นิยมเรียกว่า  ฉบับครูเดิม   ต่อมาพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลอื่นก็มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระไตรปิฎกฉบับทองทึบขึ้นอีก จึงเรียกฉบับเดิมที่สร้างสมัยรัชกาลที่ ๑ ว่า ฉบับทองใหญ่  ประดิษฐานในตู้ประดับมุก รักษาไว้ที่หอพระมณเฑียรธรรม วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

คัมภีร์ใบลานฉบับทองใหญ่ ไม้ประกับทองทึบ ฉลากทอ

ตู้พระไตรปิฎกประดับมุกสมัยรัชกาลที่  ๑

ต่อมายังทรงสร้างพระไตรปิฎกขึ้นอีก ๒ ชุด เพื่อใช้ในการสอบพระปริยัติธรรมในกรมราชบัณฑิต เรียกว่า ฉบับรองทรงและฉบับทองชุบ  นอกจากนี้เพื่อให้พระภิกษุสามเณรทั่วแว่นแคว้นมีพระไตรปิฎกฉบับถูกต้องสมบูรณ์ไว้เล่าเรียนศึกษา พระองค์จึงทรงสร้างพระไตรปิฎกพระราชทานทุกพระอารามหลวง และพระราชทานอนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์สามารถยืมพระไตรปิฎกฉบับหลวงไปคัดลอกเองได้

                     คัมภีร์ใบลานฉบับรองทรง                                                           คัมภีร์ใบลานฉบับทองชุบ

นอกเหนือจากหน้าที่ปกป้องบ้านเมืองจากศัตรูผู้รุกรานในฐานะกษัตริย์ชาตินักรบ          พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงมีพระราชจริยวัตรที่งดงามเป็นต้นแบบแก่ พระมหากษัตริย์พระองค์อื่น ๆ ในรัชกาลต่อมา ทั้งงานสืบสานราชประเพณีด้านสถาปัตยกรรมทางศาสนา งานรวบรวมคัมภีร์พระไตรปิฎกต่อจากบูรพกษัตริย์ จารจารึกจัดเก็บอย่างประณีตงดงามทรงคุณค่า และงานสนันสนุนส่งเสริมพระภิกษุสามเณรให้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย   ส่งผลให้พระพุทธศาสนากลับมารุ่งเรืองทัดเทียมอาณาจักรไทยโบราณในกาลก่อน ยังขวัญและกำลังใจให้เกิดแก่อาณาประชาราษฎร์ นับว่าพระองค์ทรงเป็นปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่ควรแก่การเคารพยกย่อง สมกับที่ปวงชนชาวไทยเฉลิมพระนามพระองค์ว่า  มหาราช” 



อ้างอิง

ก่องแก้ว วีระประจักษ์ และวิรัตน์ อุนนาทรวรางกูร. คัมภีร์ใบลานฉบับหลวงในสมัยรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๔๖.

ดินาร์ บุญธรรม. พระมหากษัตริย์ไทยกับพระพุทธศาสนา. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, ๒๕๕๕.

แน่งน้อย ศักดิ์ศรี, หม่อมราชวงศ์. สถาปัตยกรรมพระบรมมหาราชวัง. กรุงเทพฯ : สำนักราชเลขาธิการ, ๒๕๓๑.

Cr. Tipitaka (DTP)
วารสารอยู่ในบุญ  ฉบับที่ ๑๕๐  เดือนเมษายน  พ.ศ. ๒๕๕๘








คลิกอ่านพระไตรปิฎก (DTP) ของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
หีดธัมม์ งานศิลป์ ถิ่นเหนือ
กากะเยีย ขั้นกะเยีย... ผสานศิลป์ ถิ่นอีสาน
บูรพกษัตริย์ไทยกับพระไตรปิฎก
พระพุทธเลิศหล้านภาลัย… รัชสมัยแห่งการฟื้นฟู
พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว... ยุคทองแห่งต้นกรุงรัตนโกสินทร์
พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว... ก้าวสู่รัตนโกสินทร์ตอนกลาง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระไตรปิฎกพิมพ์อักษรไทย อธิปไตยของแผ่นดิน
สืบทอดพุทธธรรม... จากพุทธกาลสู่โลกปัจจุบัน
ศึกษาหลักฐานพุทธศิลป์...ย้อนแดนดิน ถิ่นอารยธรรม
ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ พระมหาธีรราชเจ้าของชาวสยาม
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ…พระไตรปิฎกของชาวไทย
พระมหากษัตริย์ไทยกับพระไตรปิฎก ตอน ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระมหากษัตริย์ไทยกับพระไตรปิฎก ตอน ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 00:12 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.