กากะเยีย ขั้นกะเยีย... ผสานศิลป์ ถิ่นอีสาน


ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๒ ดินแดนลุ่มแม่น้ำโขงแถบประเทศลาว ตลอดจนภาคอีสานของไทยเคยเป็นที่ตั้งของอาณาจักรล้านช้างที่มีความรุ่งเรืองด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ และศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแห่งล้านช้างเป็นยุคที่มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกั[อาณาจักรล้านนา จึงได้น้อมรับเอาอิทธิพลทางพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมการจารคัมภีร์ใบลานด้วยอักษรธรรมตามแบบฉบับล้านนามาพัฒนาจนเป็นอักษรธรรมอีสานหรืออักษรธรรมลาวเพื่อใช้จารจารึกคัมภีร์ในอาณาจักรล้านช้าง


อักษรธรรมอีสาน  (บน)
อักษรธรรมล้านนา  (ล่าง)
ความคล้ายคลึงกันระหว่างอักษรธรรมอีสานและอักษรธรรมล้านนา
ในข้อความว่า นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมา สมฺพุทฺธสฺส
ปัจจุบันในแดนดินถิ่นอีสานยังปรากฏคัมภีร์ใบลานเป็นหลักฐานความรุ่งเรืองเมื่อครั้งอดีต  มีทั้งหนังสือก้อมหรือลานก้อม คือ หนังสือใบลานขนาดเล็ก ความยาวประมาณ ๑ ฟุต จารึก  คดีทางโลก เช่น คาถาอาคม ตำรายา หรือพิธีกรรม เป็นหนังสือส่วนบุคคลที่นิยมเก็บไว้ตามบ้าน และหนังสือผูกหรือลานผูก ซึ่งจารจารึกคดีทางธรรม เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา จัดเก็บรักษาตามวัดวาอาราม ลักษณะการวางและการเก็บรักษาหนังสือใบลานก่อให้เกิดวัฒนธรรมท้องถิ่นรวมทั้งวัตถุศิลป์รูปแบบหลากหลายที่คนสมัยก่อนประดิษฐ์ขึ้นเพื่อรองรับคัมภีร์ใบลานให้เหมาะกับประโยชน์ใช้สอยอีกด้วย

ภาพเปรียบเทียบขนาดลานผูกและลานก้อม

กากะเยีย เป็นอุปกรณ์สำหรับวางเพื่ออ่านคัมภีร์ เป็นเสมือนโต๊ะอ่านใบลาน ทำด้วยไม้ ๘ ชิ้น ร้อยเป็นโครงไขว้กันด้วยเชือก สามารถกางออกและพับเก็บได้ง่าย สะดวกในการพกพา การออกแบบสอดคล้องกับวัฒนธรรมการนั่งบนพื้นเรือน ให้เอื้อต่อการเล่าเรียนเขียนอ่าน เพราะสามารถเปิดหน้าลานวางบนกากะเยียให้แผ่นคัมภีร์อยู่สูงจากพื้น  โดยไม่ต้องประคองไว้ให้หนักมือ เป็นการถนอมรักษาคัมภีร์ใบลานไปในตัว เพราะการถือใบลานนาน ๆ เหงื่อและน้ำมันจากมือจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ใบลานเสื่อมสภาพ ทั้งยังเป็นการแสดงออกถึงความเคารพโดยยกแผ่นลานให้สูง ไม่วางราบไปกับพื้นเรือน ในแถบอีสานพบกากะเยียที่มีฐานไขว้กันเหมือนโต๊ะพับ และตกแต่งด้วยศิลปะกลุ่มวัฒนธรรมลาวชาวอีสาน

ในอดีตพระภิกษุนำความรู้ที่จารจารึกไว้ในคัมภีร์ใบลานมาอบรมสั่งสอนกุลบุตร
กากะเยียพุทธหัตถศิลป์ของอุบลราชธานี
โครงสร้างส่วนขาไขว้กันเหมือนโต๊ะพับ  ด้านล่างสลักลายกลีบบัว
ส่วนโค้งด้านบนรองรับคัมภีร์ใบลาน  อายุราวต้นพุทธศตวรรษที่  ๒๕

อุปกรณ์วางคัมภีร์ใบลานอีกประเภทหนึ่งที่พบในถิ่นอีสาน  บางตำราเรียก  ขั้นกะเยียแบบขั้นบันได  มีลักษณะคล้ายแผงขั้นบันได ใช้จัดเก็บวางคัมภีร์เพื่อเตรียมใช้งาน ไม่ใช่เพื่อการอ่าน โดยห่อผ้าหรือกล่องคัมภีร์จะวางอยู่บนโครงสร้างไม้ที่ยื่นออกมา รับน้ำหนัก มีจำนวนขั้นเป็นเลขคี่ ซึ่งเชื่อมโยงกับการสร้างบันไดตามคติโบราณว่า เลขคู่บันไดผี เลขคี่บันไดคน  ขั้นกะเยียแบบขั้นบันไดวางคัมภีร์ได้  ๓-๙ มัดและมีการแกะสลักลวดลายหรือประดับด้วยกระจกสีเพื่อตกแต่งส่วนยอดและส่วนฐานเพื่อความงดงาม

ขั้นกะเยีย  แบบอย่างขั้นบันได
ณ  วัดเกษมสำราญ  จ.อุบลราชธานี
สำหรับวางใบลาน  ๕  มัด

นอกจากนี้ยังมีขั้นกะเยียขนาดใหญ่เป็นอุปกรณ์วางคัมภีร์ใบลานเพื่อการจัดเก็บ เป็นเสมือนตู้เก็บคัมภีร์ใบลาน มีลักษณะเป็นชั้นวางคัมภีร์โปร่ง ๆ สร้างไว้ภายในห้องโถงกลางหอไตร สามารถวางคัมภีร์ได้เป็นจำนวนมาก ความสูงของชั้นขึ้นอยู่กับความสูงของหลังคาหอไตร ซึ่งสัมพันธ์กับระบบระบายอากาศ ที่ช่วยควบคุมอุณหภูมิความชื้นจากสระน้ำโดยรอบที่นิยมขุดไว้รอบหอไตร ช่วยให้ใบลานไม่แห้งกรอบเนื่องจากความร้อนของสภาพอากาศ

ขั้นกะเยียสายสกุลช่างพื้นเมืองแบบช่างลาวหลวง  ณ  วัดมหาธาตุ  จ.ยโสธร
เป็นหนึ่งในวัตถุศิลป์ ถิ่นอีสาน  ที่มีความงดงามสมบูรณ์ที่สุดชิ้นหนึ่ง  มีสิงห์กะโล่เทินแผงขั้นกะเยียไว้บนหลัง
และส่วนยอดประดับด้วยลวดลายแกะสลักแบบศิลปะล้านช้าง

กากะเยียและขั้นกะเยีย...วัตถุศิลป์รูปแบบของวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสานตามสมัยนิยม มีแนวคิดโดดเด่นเฉพาะตนในการดูแล เก็บรักษา และวิธีการนำคัมภีร์มาเล่าเรียนอ่านเขียน เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ย้อนไปไกลถึงสมัยล้านช้าง สืบทอดต่อมาให้ลูกหลานแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ได้เห็นถึงความเคารพศรัทธาที่เปี่ยมล้นในพระพุทธศาสนา และไม่ว่าพระพุทธศาสนาจะไปปักหลักอยู่ ณ ถิ่นใด การทุ่มเทสติปัญญาสร้างรูปแบบในการธำรงไว้ซึ่งคำสอนของพระพุทธองค์ให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมพื้นถิ่นแต่ละแห่ง เป็นกระจกสะท้อนให้นำคำสอนที่จารจารึกในคัมภีร์ใบลานมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต และมองศิลปวัตถุเป็นมรดกศิลป์ แบบอย่างแห่งศรัทธาที่มอบไว้ให้ด้วยความเมตตาของบรรพบุรุษ

อ้างอิง

ติ๊ก  แสนบุญ, พุทธหัตถศิลป์อีสาน เนื่องในวัฒนธรรมทางภาษาของ คัมภีร์ใบลาน”, ๒๕๕๒.

Cr. Tipitaka (DTP)
วารสารอยู่ในบุญ  ฉบับที่ ๑๔๘  เดือนกุมภาพันธ์  พ.ศ. ๒๕๕๘









คลิกอ่านพระไตรปิฎก (DTP) ของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
หีดธัมม์ งานศิลป์ ถิ่นเหนือ
บูรพกษัตริย์ไทยกับพระไตรปิฎก
พระมหากษัตริย์ไทยกับพระไตรปิฎก ตอน ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
พระพุทธเลิศหล้านภาลัย… รัชสมัยแห่งการฟื้นฟู
พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว... ยุคทองแห่งต้นกรุงรัตนโกสินทร์
พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว... ก้าวสู่รัตนโกสินทร์ตอนกลาง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระไตรปิฎกพิมพ์อักษรไทย อธิปไตยของแผ่นดิน
สืบทอดพุทธธรรม... จากพุทธกาลสู่โลกปัจจุบัน
ศึกษาหลักฐานพุทธศิลป์...ย้อนแดนดิน ถิ่นอารยธรรม
ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ พระมหาธีรราชเจ้าของชาวสยาม
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ…พระไตรปิฎกของชาวไทย
กากะเยีย ขั้นกะเยีย... ผสานศิลป์ ถิ่นอีสาน กากะเยีย ขั้นกะเยีย... ผสานศิลป์ ถิ่นอีสาน Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 00:23 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.