พระพุทธเลิศหล้านภาลัย… รัชสมัยแห่งการฟื้นฟู

ภาพประกอบโคลงพระราชพงศาวดารเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงผนวช
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ เป็นสามเณร เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๐ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๒ แห่งราชวงศ์จักรี ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ ทรงฝากตัวเป็นศิษย์กับพระวันรัต (ทองอยู่) เพื่อเข้ารับการศึกษาเบื้องต้น ณ  สำนักวัดระฆังโฆสิตาราม   เดิมเรียกว่า   วัดบางหว้าใหญ่   ครั้นเมื่อพระชันษาครบกำหนด  สมเด็จพระบรมชนกนาถจึงโปรดเกล้าฯ  ให้ทรงผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  ขณะนั้นยังทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร นับเป็นนาคหลวงองค์แรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ และถือเป็นราชประเพณีการผนวชพระบรมราชวงศ์ เป็นนาคหลวงในพระบรมราชานุเคราะห์ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สืบมา 



ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๔๙ พระองค์ทรงได้รับการสถาปนาเลื่อนยศขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ที่พระมหาอุปราช มีฐานะเป็นองค์รัชทายาทสืบราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ลำดับต่อไป ซึ่งในพระราชพิธีอุปราชาภิเษกนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชพระราชทานพระแสงดาบฝักทองเกลี้ยง พร้อมมีพระราชดำรัสฝากพระพุทธศาสนา และพระราชทานพรให้พระองค์ทรงตั้งอยู่ในสุจริตธรรม ด้วยทรงหวังว่า  พระราชโอรสจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินผู้ปกครองบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุข และยังพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นไปในภายภาคหน้า

พระแสงดาบฝักทองเกลี้ยง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงตีขึ้นด้วยฝีพระหัตถ์
เดิมทรงทำเป็นพระแสงฝักไม้ ทารักสีดำ  เคยทรงใช้เป็นพระแสงคู่พระหัตถ์ และพระราชทานแด่
สมเด็จเจ้าฟ้าบรมราชโอรส  สืบเนื่องกันมาหลายรัชกาล  ถือเป็นพระแสงสำคัญของแผ่นดินองค์หนึ่ง

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จสวรรคต สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ที่พระมหาอุปราช จึงได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ และได้สืบทอด พระราชดำรัสของสมเด็จพระบรมชนกนาถในการปกครองบ้านเมืองด้วยความเป็นธรรม ธำรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา และให้ราษฎรในแผ่นดินตั้งอยู่ในศีลธรรม โดยนับแต่ปีแรกของรัชกาล โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติเรื่องห้ามเลี้ยงไก่ นก ปลากัด เพื่อการพนัน และออกพระราชกำหนด  ห้ามสูบ ขาย หรือซื้อฝิ่น พร้อมกำหนดบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนอย่างเด็ดขาด เพื่อให้พสกนิกรงดเว้นจากอบายมุขและสิ่งเสพติดให้โทษ

ในขณะเดียวกันทรงส่งเสริมให้ไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ทุกชนชั้นหมั่นบำเพ็ญกุศลเป็นอาจิณ โดยพระองค์ทรงประพฤติตนเป็นแบบอย่างในการให้ทาน รักษาศีล และไถ่ชีวิตสัตว์เป็นทานอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะเมื่อคราวฟื้นฟูการประกอบพระราชพิธีวันวิสาขบูชา  ซึ่งเลือนหายไปตั้งแต่สมัยอยุธยา โปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีตามอย่างประเพณีที่ถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยเริ่ม ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ถึงแรม ๑ ค่ำ เดือน ๖ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงรักษาอุโบสถศีล และปรนนิบัติพระสงฆ์ ปล่อยนก ปล่อยปลา ห้ามเสพสุรา ห้ามฆ่าสัตว์ เวลาเพลให้มีพระธรรมเทศนาในวัดราษฎร์และพระอารามหลวง เวลาค่ำให้ถวายประทีป ตั้งโคม แขวนเครื่องสักการะ และเวียนเทียนบูชาพระรัตนตรัย

เวียนเทียนวันวิสาขบูชา จิตรกรรมฝาผนัง
วิหารพระศรีศาสดา  วัดบวรนิเวศวิหาร

เมื่อครั้งบ้านเมืองประสบภัยพิบัติครั้งใหญ่จากอหิวาตกโรค ผู้คนล้มตายหลายหมื่นคน พสกนิกรต่างหวาดกลัวต่อมรณภัยที่ระบาดไปทั่วแว่นแคว้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการด้านการรักษาพยาบาลเพื่อเยียวยาโรคทางกาย และนำพิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนามาเป็นเครื่องเยียวยาสภาพจิตใจ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง  พระราชพิธีอาพาธพินาศ อัญเชิญพระบรมธาตุและพระแก้วมรกตออกแห่ พระราชาคณะประพรมน้ำพระปริตรทั้งทางบกและทางน้ำเพื่อขับไล่โรคร้าย ให้สวดพระพุทธมนต์ทั่วพระนคร ส่วนพระองค์ก็ทรงรักษาอุโบสถศีล และให้ชีวิตสัตว์เป็นพระราชกุศล เพียงระยะเวลา ๑๕ วัน โรคระบาดที่คร่าชีวิตผู้คนไปจำนวนมากก็หายไปจากพระนครอย่างอัศจรรย์

การบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นธรรมทานในครั้งนี้ยังเป็นที่มาของการสังคายนาบทสวดมนต์แปลเป็นภาษาไทยเป็นครั้งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดเกล้าฯ ให้แปลบทสวดมนต์เป็นภาษาไทย และให้เจ้านายรวมทั้งข้าราชการฝ่ายในฝึกสวดมนต์ที่หอพระและพระที่นั่งไพศาลทักษิณทุกวันจนชำนาญ ถูกต้องทั้งอักขระและท่วงทำนอง กล่าวกันว่า ช่วงเวลากลางวันเจ้านายและข้าราชการฝ่ายในแบ่งหัดซ้อมสวดกันเป็นหมู่เป็นพวก ส่วนในเวลากลางคืนพร้อมกันไปสวดถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยในท้องพระโรงในเป็นประจำทุกคืน โดยมุ่งให้เกิดบุญกุศลมาคุ้มบ้านคุ้มเมืองให้ปลอดภัยจากอุปัทวันตรายต่าง ๆ และเพื่อรักษาประเพณีอันดีงามของพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ ประเพณีการสวดมนต์ทั้งคำบาลีและคำแปลเป็นภาษาไทยนี้ยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน



ในด้านการคณะสงฆ์ ทรงปรารถนาให้คณะพระภิกษุสามเณรมีความงามพร้อมทั้งด้านปฏิบัติและปริยัติ เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาของมหาชน จึงทรงอาราธนาสมเด็จพระสังฆราชให้แต่งหนังสือโอวาทานุสาสนีแจกจ่ายไปตามพระอารามให้คณะสงฆ์ทั่วพระนครรับทราบข้อวัตรปฏิบัติอันสมควรแก่สมณะ และทรงยกมาตรฐานความรู้ของพระภิกษุสามเณรเพื่อให้แตกฉานในภาษาบาลีและพระไตรปิฎก โดยจัดระเบียบการสอนและการสอบพระปริยัติธรรมใหม่ จากเดิมในสมัยกรุงศรีอยุธยากำหนดหลักสูตรเป็นเปรียญ ๓ ขั้น คือ เปรียญตรี เปรียญโท และเปรียญเอก มาเป็นระบบเปรียญ ๙ ประโยค กำหนดหลักสูตรให้ยากขึ้นตามลำดับ และพระราชทานพระราชทรัพย์เป็นทุนสร้างคัมภีร์ใบลานเพื่อเป็นอุปกรณ์ช่วยในการศึกษา นับว่าหลักสูตรการเล่าเรียนบาลีที่ปรับปรุงใหม่นี้ทำให้การศึกษาพระไตรปิฎกได้มาตรฐานและเจริญขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก

พระไตรปิฎกฉบับทองใหญ่ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๓๓๑
หลังเสร็จสิ้นการสังคายนา

ทั้งยังมีรับสั่งให้สำรวจตรวจสอบคัมภีร์พระไตรปิฎกใบลานหลวงที่ประดิษฐาน ณ หอพระมณเฑียรธรรมภายในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งสร้างขึ้นหลังการสังคายนาพระไตรปิฎกในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทำให้พบว่าคัมภีร์พระไตรปิฎกหลวงบางชุดได้สูญหายไป เนื่องจากในรัชกาลก่อนทรงอนุญาตให้พระภิกษุสามเณรขอยืมคัมภีร์พระไตรปิฎกไปคัดลอกตามพระอารามต่าง ๆ ได้ แต่ภายหลังก็ไม่นำต้นฉบับส่งคืน และทางฝ่ายเจ้าพนักงานที่มีหน้าที่ดูแลก็มิได้ติดตามเรียกคืนมาให้ครบ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างคัมภีร์พระไตรปิฎกหลวงขึ้นซ่อมแซมฉบับที่สูญหายไปจนครบบริบูรณ์ และสร้างคัมภีร์ใหม่ขึ้นอีกฉบับ เรียกว่า ฉบับรดน้ำแดง มีลักษณะเด่น คือ ใบลานปกหน้าและปกหลังตกแต่งด้วยลายรดน้ำบนพื้นรักแดง ขอบลานทั้ง  ๔ ด้าน ปิดทองทึบ กึ่งกลางขอบลานด้านยาวมีชาดล่องกลาง ที่รอยต่อของทองกับชาดมีเส้นดำคั่นเป็นขอบคิ้วทั้งสองข้าง 

คัมภีร์ขนฺธวารวคฺคปาลิ  สํยุตฺตนิกาย  ฉบับรดน้ำแดง  ไม้ประกับลายทองจีนมีรูปสัญลักษณ์ประจำ
รัชกาลเป็นรูปวงรี  ตรงกลางเป็นภาพครุฑยุดนาค  ขนาบด้วยฉัตร  ๕  ชั้น  พื้นที่ว่างเป็นลาย
ช่อกนกเปลวอยู่ที่ริมขวาและซ้ายของลานที่ใบปกรองและใบปกหลังของคัมภีร์แต่ละผูก

ตลอดรัชสมัย ๑๖ ปี ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงสืบทอดพระราชปณิธานและพระราชภารกิจน้อยใหญ่จากพระบรมชนกนาถ ทั้งในยามบ้านเมืองปกติสุขและประสบเภทภัย ทรงนำคำสอนในพระพุทธศาสนามาเป็นแนวทางในการบริหารแผ่นดิน ปลูกฝังให้ประชาชนทุกระดับชั้นมีพื้นฐานศีลธรรมในใจ โดยทรงลงมือปฏิบัติเป็นแบบอย่างแก่ข้าราชบริพาร และจัดระเบียบการคณะสงฆ์ให้เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส ราชธานีในยุคของพระองค์จึงมั่นคงร่มเย็น เป็นยุคแห่งการฟื้นฟูด้านศิลปวัฒนธรรมทุกสาขาให้วิจิตรตระการตาเป็นเกียรติยศยิ่งของพระนครดั่งร่ายเฉลิมพระเกียรติว่า

พระบาทบรมพงศ์  ลงทั่วท้าวถวายมือ  ฦๅพระยศฟุ้งฟ้า  หล้าศิระสยบ  ลบสุรมลาย   หายเศิกเสี้ยนเสียราบ  ทาบทุกทิศทั่วด้าว   น้าวนครดาลเดช    เขตขัณฑกว่ากว้าง   ช้างเผือกผู้มากมี    พระนครศรีอยุธยิ่งแล้ว   ฤๅทิพยรัตนกรุงแก้ว   เกียรติล้ำใดเสมอแลฤๅฯ




อ้างอิง

ก่องแก้ว วีระประจักษ์ และวิรัตน์ อุนนาทรวรางกูร. คัมภีร์ใบลานฉบับหลวงในสมัยรัตนโกสินทร์. กรุงเทพ :     กรมศิลปากร, ๒๕๔๖.

สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์. มกุฎกษัตริยานุสรณ์. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, ๒๕๕๓.

สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร. วิวัฒน์การอ่านไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงาน         พระพุทธศาสนาแห่งชาติ, ๒๕๕๖.

Cr. Tipitaka (DTP)
วารสารอยู่ในบุญ  ฉบับที่ ๑๕๑  เดือนพฤษภาคม  พ.ศ. ๒๕๕๘








คลิกอ่านพระไตรปิฎก (DTP) ของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
หีดธัมม์ งานศิลป์ ถิ่นเหนือ
กากะเยีย ขั้นกะเยีย... ผสานศิลป์ ถิ่นอีสาน
บูรพกษัตริย์ไทยกับพระไตรปิฎก
พระมหากษัตริย์ไทยกับพระไตรปิฎก ตอน ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว... ยุคทองแห่งต้นกรุงรัตนโกสินทร์
พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว... ก้าวสู่รัตนโกสินทร์ตอนกลาง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระไตรปิฎกพิมพ์อักษรไทย อธิปไตยของแผ่นดิน
สืบทอดพุทธธรรม... จากพุทธกาลสู่โลกปัจจุบัน
ศึกษาหลักฐานพุทธศิลป์...ย้อนแดนดิน ถิ่นอารยธรรม
ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ พระมหาธีรราชเจ้าของชาวสยาม
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ…พระไตรปิฎกของชาวไทย
พระพุทธเลิศหล้านภาลัย… รัชสมัยแห่งการฟื้นฟู พระพุทธเลิศหล้านภาลัย… รัชสมัยแห่งการฟื้นฟู Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 01:23 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.