พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระไตรปิฎกพิมพ์อักษรไทย อธิปไตยของแผ่นดิน

พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคัมภีร์ทุกเล่ม
ของพระไตรปิฎกฉบับจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.ศ. ๑๑๒
และตัวอย่างหน้าแรกจากคัมภีร์พระสุตตันตปิฎก
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราชหรือพระพุทธเจ้าหลวงผู้เป็นที่รักเทิดทูนของประชาชนชาวไทย ทรงขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๕ แห่งราชวงศ์จักรีเมื่อพระชนมายุได้เพียง ๑๕ พรรษา หลังจากครองราชสมบัติได้ ๕ ปี มีพระราชดำรัสต่อที่ประชุม ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยว่า บัดนี้เราได้ดำรงราชสมบัติ มีชนมายุครบถ้วน ๒๐ ปีบริบูรณ์ควรจะรับอุปสมบทได้ ขอลาพระบรมวงศานุวงศ์แลท่านเสนาบดีออกผนวชในบวรพระพุทธศาสนาเพื่อปฏิบัติการสนองพระเดชพระคุณสมดังพระราชประสงค์ในสมเด็จพระบรมชนกนาถและในวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๑๖ ได้เสด็จออกผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นเวลา ๑๕ วัน นับเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่เสด็จออกผนวชขณะครองราชสมบัติ

นัยว่าการออกผนวชในครั้งนี้นอกจากเพื่อทรงอุทิศถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมชนกนาถ และเพื่อการสืบทอดพระราชประเพณีแล้ว ยังเป็นกุศโลบายรวบอำนาจการปกครองประเทศที่ตกอยู่ในมือผู้สำเร็จราชการขณะนั้นคืนมาเป็นของพระองค์ เพราะเมื่อทรงลาสิกขาแล้วได้มีการประกอบพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นเป็นครั้งที่ ๒ เท่ากับเป็นการประกาศอย่างชัดเจนว่า พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้มีอำนาจในการปกครองแผ่นดินสูงสุด


ตลอดระยะเวลา ๔๐ กว่าปีแห่งการครองราชสมบัติ เป็นช่วงที่ประเทศสยามต้องเผชิญกับอิทธิพลของชาติมหาอำนาจที่เข้ามาล่าอาณานิคมในทวีปเอเชีย ประเทศต่าง ๆ ที่นับถือพระพุทธศาสนาในภูมิภาคนี้ ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย ลังกา พม่าหรือเขมร ต่างตกเป็นเมืองขึ้นของชาติยุโรปทั้งสิ้น เหลือเพียงสยามประเทศเท่านั้นที่ยังคงรักษาเอกราชไว้ได้ รัชกาลที่ ๕ ทรงเล็งเห็นภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นกับพระพุทธศาสนา และทรงถือเป็นหน้าที่สำคัญของพุทธศาสนิกชนทุกคนในชาติที่จะร่วมแรงร่วมใจกันรักษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีบันทึกไว้ในพระไตรปิฎกให้จงได้

แม้ในรัชสมัยของพระองค์ได้มีการสร้างคัมภีร์ใบลานหลวงฉบับทองทึบ จารจารึกพระไตรปิฎกบาลีด้วยอักษรขอม ตามธรรมเนียมปฏิบัติแห่งพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรีแล้วก็ตาม แต่ด้วยวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลทรงเห็นประโยชน์ของการนำเทคโนโลยีการพิมพ์มาใช้ในการเผยแผ่พระศาสนาด้วย

ตัวอย่างคัมภีร์ใบลานหลวงสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จารจารึกพระไตรปิฎกด้วยอักษรขอม

รูปสัญลักษณ์ในสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแบบต่าง ๆ ที่ปรากฏในคัมภีร์ใบลานฉบับหลวง

ในปี พ.ศ. ๒๔๓๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงอาราธนาพระเถระและทรงเชิญพระบรมวงศานุวงศ์รวมทั้งข้าราชการทุกฝ่ายเข้ามาประชุมกัน ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อประกาศพระราชประสงค์ที่จะจัดพิมพ์พระไตรปิฎกด้วยอักษรสยามเผยแพร่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้ทันงานเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ ๒๕ ปี (ร.ศ. ๑๑๒หรือ พ.ศ. ๒๔๓๖) โดยโปรดเกล้าฯ อาราธนาฝ่ายคณะสงฆ์อันประกอบด้วยพระสงฆ์ทั้งในเมืองและหัวเมืองรับผิดชอบการตรวจแก้เนื้อความภาษาบาลี และให้ฝ่ายคฤหัสถ์รับผิดชอบเรื่องการจัดพิมพ์ การประชุม และการจัดการอื่น ๆ ให้สำเร็จลุล่วงด้วยดี ซึ่งหากการดำเนินงานและการจัดพิมพ์เป็นไปตามที่พระองค์ทรงวางไว้ หมายความว่า ในอีก ๗ ปีข้างหน้า สยามประเทศจะสามารถรอดพ้นเงื้อมมือต่างชาติ และยังคงรักษาเอกราชควบคู่ความไพศาลแห่งบวรพระพุทธศาสนาได้สำเร็จ

พระราชโองการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกด้วยอักษรสยามดังกล่าว แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงวิธีการบันทึกพระไตรปิฎกจากการจารจารึกลงในใบลานเป็นการพิมพ์ด้วยกระดาษเย็บเข้าเล่มเป็นหนังสือ ส่วนการเปลี่ยนแปลงอักษรที่บันทึกเนื้อความจากอักษรขอมซึ่งถือเป็นอักษรศักดิ์สิทธิ์มาแต่โบราณกาลมาเป็นอักษรสยามนั้น ยังถือเป็นการแสดงอารยธรรมของชาติอีกด้วย

๑                    ๒                             ๓                                                               ๔                         ๕

๑. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  เมื่อครั้งทรงผนวช
๒. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร  แม่กองตรวจพระสุตตันตปิฎกกอง ๑
๓. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ พระราชอุปัธยาจารย์  ประธานตรวจแบบฉบับ
พระไตรปิฎก
๔. พระอริยมุนี (พระพรหมมุนี  เหมือน  สุมิตฺโต)  แม่กองตรวจพระสุตตันตปิฎกกอง ๑
๕. พระสาสนโสภณ (สมเด็จพระสังฆราชสา  ปุสฺสเทโว) พระกรรมวาจาจารย์  รองอธิบดีจัดการทั้งปวง  องค์ที่ ๒ 

ในที่สุดพระไตรปิฎกชุดแรกในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาโลก คือ พระไตรปิฎกจุลจอมเกล้าบรมธรรมิกมหาราช ร.ศ. ๑๑๒ จำนวน ๑,๐๐๐ ชุด ชุดละ ๓๙ เล่ม ได้เสร็จสมบูรณ์ทันการเฉลิมฉลองพระราชพิธีรัชดาภิเษกที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๒๕ ปี หลังจากพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลสวดมนต์ฉลองพระไตรปิฎกเสร็จสิ้น โปรดเกล้าฯ ให้พระราชทานพระไตรปิฎกและตู้บรรจุไปยังพระอารามหลวงและวัดราษฎร์ทั้งในกรุงและหัวเมือง บางวัดตัวแทนคณะสงฆ์ก็เดินทางมารับพระราชทานพระไตรปิฎกเอง ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม บางวัดพระองค์โปรดเกล้าฯ ให้จัดกระบวนแห่หลวงอัญเชิญพระไตรปิฎกไปที่วัดซึ่งมีทั้งกระบวนแห่ทางบกและทางน้ำ โดยแต่ละวัดได้จัดกระบวนแห่เข้าสมทบประกอบด้วยคณะสงฆ์และสาธุชนจำนวนมาก เมื่อประดิษฐานพระไตรปิฎกภายในวัดเรียบร้อยแล้ว วันต่อมาจึงมีการฉลองสมโภชและการจัดพิธีกรรมทางศาสนา อาทิเช่น การเจริญพระพุทธมนต์ การแสดงพระธรรมเทศนา การจัดมหรสพ การสักการะ และการเวียนเทียนบูชาพระไตรปิฎก เป็นต้น

สำหรับพระไตรปิฎกอีกส่วนโปรดเกล้าฯ ให้พระราชทานแก่สถาบันการศึกษากว่า ๒๖๐ สถาบัน ใน ๓๐ ประเทศทั่วโลกทั้งทวีปยุโรป ออสเตรเลีย อเมริกาและเอเชีย พระไตรปิฎกทุกเล่มมีตราแผ่นดินประทับบนปกหน้า ภายในเล่มมีพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในวโรกาสเฉลิมฉลองครองราชย์ครบ ๒๕ ปี และหน้าแสดงการปริวรรตอักษรสยามเป็นอักษรโรมัน เป็นการประกาศให้โลกรู้ว่า ประเทศไทยเป็นดินแดนที่มีเอกราช โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขปกครองแผ่นดินมาเป็นเวลายาวนานและเป็นดินแดนที่อาณาประชาราษฎร์มีอารยธรรมและความรู้ด้านเทคโนโลยีควบคู่ไปกับศีลธรรมอันไพบูลย์แห่งบวรพระพุทธศาสนา สมดั่งพระราชดำรัสที่พระองค์ทรงให้ไว้ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ ๑ มกราคม ร.ศ. ๑๑๖ (พ.ศ. ๒๔๔๐) ว่า

“...เมื่อข้าพเจ้าไปถึงประเทศใด ซึ่งได้รับพระไตรปิฎกฉบับพิมพ์นั้น รักษาไว้ในหอสมุดใหญ่ต่าง ๆ ย่อมมากล่าวสรรเสริญการซึ่งเราได้ทำ แลได้ตั้งสมุดไว้ในที่อันงดงามมั่นคงทั่วทุกแห่ง มีนักปราชญ์ทั้งหลายได้อุตสาหะเรียนรู้พระพุทธวะจะนะมาก กิติศัพท์ความสรรเสริญธรรมของพระพุทธเจ้า ย่อมปรากฏฟุ้งไปในประเทศที่ไกลทั้งหลายมากขึ้นโดยลำดับ...

พระไตรปิฎกชุดที่พระราชทานแก่สถานศึกษาต่างประเทศมี "ใบพระราชทาน" อยู่หลังปกหน้า

เป็นที่น่าสังเกตว่าปีที่พิมพ์พระไตรปิฎกแล้วเสร็จ คือ ร.ศ. ๑๑๒ นั้น ตรงกับวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ ที่สยามประเทศเกิดกรณีพิพาทอย่างรุนแรงกับประเทศฝรั่งเศสและถูกบีบให้ต้องเซ็นสนธิสัญญาอันไม่เป็นธรรม จำต้องยอมยกดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้แก่รัฐบาลฝรั่งเศสและต้องเสียแผ่นดินอีกหลายส่วนในเวลาต่อมา

เรือรบเลอ ลูแตง (Le  Lutin) ของฝรั่งเศสจอดทอดสมออยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา
บริเวณหน้าสถานทูตฝรั่งเศส  ช่วงเหตุการณ์  ร.ศ. ๑๑๒

ความมั่นคงของสยามประเทศอยู่ในภาวะสั่นคลอนและเสี่ยงต่อการตกเป็นเมืองขึ้น การพระราชทานพระไตรปิฎกอันล้ำค่านี้ไปทั่วโลกจึงเป็นการประกาศความเข้มแข็งของชาวสยามให้โลกได้รู้ แม้ไม่ใช่การแสดงแสนยานุภาพทางการทหารหรืออำนาจด้านกำลังรบ แต่พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์เป็นการแสดงอำนาจทางอารยธรรมและภูมิปัญญาของคนในชาติ จนเป็นที่ประจักษ์ได้รับการยอมรับและการสนับสนุนจากนานาอารยประเทศ พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์จึงทรงคุณค่าแห่งการสืบทอดพระพุทธศาสนาและเป็นส่วนหนึ่งแห่งการรักษาอธิปไตยของชาติอย่างเต็มภาคภูมิ

ภาพประกอบพระไตรปิฎกจุลจอมเกล้าบรมธรรมิกมหาราช ร.ศ. ๑๑๒
จาก https://standrewsrarebooks.wordpress.com

 บารมีพระมากพ้น                        รำพัน
 พระพิทักษ์ยุติธรรม์                    ถ่องแท้
 บริสุทธิดุจดวงตะวัน                   ส่องโลก ไซร้แฮ
 ทวยราษฎร์รักบาทแม้                ยิ่งด้วยบิตุรงค์

ลิลิตนิทราชาคริต บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

อ้างอิง :

ก่องแก้ว วีระประจักษ์ และวิรัตน์ อุนนาทรวรางกูร. คัมภีร์ใบลานฉบับหลวงในสมัยรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๔๖.

คณะกรรมการจัดทำหนังสือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้ากรุงสยาม. (๒๕๓๔).
สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้ากรุงสยาม. กรุงเทพฯ : แสงศิลป์การพิมพ์.

พระไตรปิฎกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว / แม่ชีวิมุตติยา (สุภาพรรณ ณ บางช้าง). กรุงเทพฯ : บริษัท คราฟแมนเพรส จำกัด, ๒๕๕๗.

สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ. คู่มือบทโทรทัศน์ สารคดีเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จ
พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ.

Cr. Tipitaka (DTP)
วารสารอยู่ในบุญ  ฉบับที่  ๑๕๔  เดือนสิงหาคม  พ.ศ. ๒๕๕๘









คลิกอ่านพระไตรปิฎก (DTP) ของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
หีดธัมม์ งานศิลป์ ถิ่นเหนือ
กากะเยีย ขั้นกะเยีย... ผสานศิลป์ ถิ่นอีสาน
บูรพกษัตริย์ไทยกับพระไตรปิฎก
พระมหากษัตริย์ไทยกับพระไตรปิฎก ตอน ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
พระพุทธเลิศหล้านภาลัย… รัชสมัยแห่งการฟื้นฟู
พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว... ยุคทองแห่งต้นกรุงรัตนโกสินทร์
พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว... ก้าวสู่รัตนโกสินทร์ตอนกลาง
สืบทอดพุทธธรรม... จากพุทธกาลสู่โลกปัจจุบัน
ศึกษาหลักฐานพุทธศิลป์...ย้อนแดนดิน ถิ่นอารยธรรม
ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ พระมหาธีรราชเจ้าของชาวสยาม
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ…พระไตรปิฎกของชาวไทย
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระไตรปิฎกพิมพ์อักษรไทย อธิปไตยของแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระไตรปิฎกพิมพ์อักษรไทย อธิปไตยของแผ่นดิน Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 20:19 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.