ศึกษาหลักฐานพุทธศิลป์...ย้อนแดนดิน ถิ่นอารยธรรม


ณ  ริมฝั่งแม่น้ำภีมะ ห่างจากหมู่บ้าน  Sannati  ไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๓ กิโลเมตร  ในเขตรัฐกรณาฏกะ ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย  องค์การสำรวจโบราณคดีอินเดีย หรือ  ASI (Archaeological Survey of India) ได้ขุดค้นพบแหล่งโบราณคดี กนคนหลฺลิ (Kanaganahalli) ที่เชื่อว่าเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาสมัยราชวงศ์ศาตวาหนะ  Dr. Christian  Luczanits  นักประวัติศาสตร์ศิลป์ ระบุว่ามีอายุในช่วงราว ๑๐๐ ปี ก่อนคริสต์ศักราชถึงคริสต์ศักราชที่  ๓๐๐  ถือเป็นหลักฐานโบราณสถานที่สำคัญอย่างยิ่งแห่งหนึ่งของพระพุทธศาสนายุคต้นในประเทศอินเดีย  การขุดค้นพบคลังจารึกที่พระมหาสถูปเผยให้เห็นประติมากรรมอันงดงาม  แสดงถึงความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนายุคต้นในประเทศอินเดีย  เป็นหลักฐานใหม่ที่กระตุ้นนักวิชาการสาขาวิชาบาลีและพุทธศาสนศึกษาให้กลับมาทบทวนทฤษฎีต่าง ๆ ที่เคยเชื่อถือกันมานาน


และเมื่อวันที่  ๑๗ กรกฎาคม ที่ผ่านมา โครงการพระไตรปิฎกฉบับวิชาการได้มีโอกาสต้อนรับ Prof. Oskar von Hinüber ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาบาลีและปรากฤต ที่ให้เกียรติเดินทางมาบรรยายในหัวข้อเรื่อง “Buddhist  Text  and  Images  New  Evidence from   Kanaganahalli” (คัมภีร์พระพุทธศาสนาและพระพุทธรูป : หลักฐานใหม่จากกนคนหลฺลิ) ณ ห้อง SPD18  สภาธรรมกายสากล





Prof. Oskar von Hinüber  กล่าวถึงภาพรวมการค้นคว้าอ้างอิงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่า เราจะเข้าใจเรื่องราวของหลักฐานใหม่ที่ค้นพบได้นั้น ต้องโยงกลับไปที่ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในอินเดียยุคโบราณก่อน เราจะเห็นได้ว่าอินเดียซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดพระพุทธศาสนา เป็นศูนย์กลางความรุ่งเรืองมาหลายร้อยปี  แต่เมื่อเวลาผ่านไปอิทธิพลทั้งจากภายนอกและภายในทำให้พระพุทธศาสนาสูญหายไปจากแดนกำเนิด  แต่สิ่งที่ยังหลงเหลือ คือ ศาสนสถานและศาสนวัตถุที่บอกเล่าเรื่องความรุ่งเรืองแห่งพระธรรมคำสอนในอดีตได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้หลักฐานบางชิ้นก็อยู่ในสภาพทรุดโทรมเกินกว่าจะสามารถนำมาศึกษาได้  บางชิ้นอยู่ในสภาพชำรุดเพียงบางส่วนที่ผู้เชี่ยวชาญพยายามนำมาปะติดปะต่อถอดความ ในกรณีเช่นนี้มีหลายครั้งที่การถอดความในครั้งแรกอาจมีเนื้อความที่ดูเหมือนถูกต้อง  แต่ต่อมาเมื่อมีการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมโดยนำหลักฐานจากแหล่งอื่นมาเทียบเคียง จึงได้เนื้อความที่ถูกต้องสมบูรณ์ในภายหลัง  จึงเห็นได้ว่าสิ่งที่เคยมีการศึกษามาแล้วควรนำมาศึกษาซ้ำอีกเพื่อความถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้น แต่หลักฐานบางแหล่งก็ถูกเก็บรักษาอย่างดีจึงอยู่ในสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์ และสามารถบอกเล่าเรื่องราวในตัวเองได้อย่างกระจ่างชัด  อาทิเช่น  ภาพสลักหินจากสถูปภารหุตซึ่งอยู่ค่อนไปทางทิศเหนือของอินเดีย


ภาพบน  คือจารึก  Kesanapalli  มีอักษร ๒-๓ ตัวที่คลุมเครือ  ทำให้การตีความในครั้งแรกยังคลาดเคลื่อน ต่อมาเมื่อนักวิชาการมาศึกษาเพิ่มเติมในภายหลังจึงได้ข้อความที่ครบถ้วนสมบูรณ์  ในขณะที่ ภาพล่าง  เป็นภาพสลักหินจากสถูปภารหุต  แสดงเรื่องราวท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างพระเชตวันมหาวิหารถวายแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ด้านล่างปรากฏอักษรพราหมีจารึกอย่างชัดเจนว่า เชตวน อานาธปิฑโก  เทติ  โกฎีสํถเตน  เกตาภาพนี้มีเนื้อหาครบถ้วนและอยู่ในสภาพที่ชัดเจนสมบูรณ์  ทั้งยังเป็นเรื่องราวในพระพุทธศาสนาที่รู้จักกันอย่างดี  การตีความจึงทำได้ง่าย


สำหรับมหาสถูปอายุเก่าแก่กว่า ๒,๐๐๐ ปี ที่ค้นพบแถบหมู่บ้านกนคนหลฺลินั้น  ปรากฏเรื่องราวพุทธประวัติชาดกและพระพุทธรูปมากมาย  แม้สภาพบางส่วนจะเป็นซากปรักหักพัง  แต่การค้นพบจารึกอักษรพราหมีและส่วนประกอบทางสถาปัตยกรรมและศิลปะ ณ  แหล่งโบราณคดีนี้  ก็มีนัยสำคัญที่เปิดโลกทัศน์การค้นคว้าวิจัยภาษาศาสตร์  โบราณคดี  และสะท้อนรูปแบบการเมือง เศรษฐกิจ กรอบวัฒนธรรม รวมทั้งความคิดของผู้คนในยุคพระพุทธศาสนาตอนต้น ที่แสดงออกเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ ณ ที่แห่งนี้มีเรื่องราวที่น่าสนใจ มีประเด็นใหม่ ๆ ที่ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการเองก็ยังหาข้อสรุปชี้ชัดไม่ได้ เพียงลงความเห็นและความเป็นไปได้อ้างอิงตามหลักวิชาการไว้เพื่อการศึกษาต่อในอนาคต  อาทิเช่น  องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมของพระมหาสถูปจารึกคำว่า  ปุผคหนิ  (Puphagahani) กลายเป็นคำนิยามใหม่ทางโบราณคดี  ซึ่งยังไม่สามารถระบุชี้ชัดว่า ปุผคหนินั้นหมายถึงอะไร  มีความสำคัญอย่างไรในด้านสถาปัตยกรรม  แม้นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญจะนำไปเทียบเคียงกับคำว่า ปุปฺผาธานในคัมภีร์มหาวังสะ  ก็ยังตีความออกได้เป็นสองนัย คือ  หมายถึงดอกไม้ที่ใช้ประดับตกแต่ง  หรือภาชนะสำหรับใส่ดอกไม้บูชา ซึ่งยังไม่ทราบแน่ชัด

บนปุผคหนิปรากฏจารึกอ่านได้ว่า
"มนิกา รส มหามริตโน
สภาริยส สปุตกส สทุหุตกส
สชามาตุกส ทาน เจติยปุผคหนิ"
เมื่อสันนิษฐานจากขนาดของพระสถูปแล้วคาดว่าน่าจะมีประมาณ ๑๐๐ ปุผคหนิ  แต่ยังไม่สามารถสรุปจำนวนที่แน่นอนได้  แม้จะพบจารึกบนปุผคหนิที่มีตัวเลขเข้ามาเกี่ยวข้อง ได้แก่  ทสหิ, วิสยิ  และปนาส ซึ่งแปลว่า ๑๐, ๒๐ และ ๕๐ ตามลำดับ  แต่ไม่มีข้อมูลอธิบายความหมายของตัวเลขเหล่านี้อย่างชัดเจน จึงตีความได้แตกต่างกันออกไป  บ้างสันนิษฐานว่าอาจหมายถึงจำนวนเงินที่ผู้บริจาคถวาย  บ้างสันนิษฐานว่าอาจเป็นเลขลำดับบอกตำแหน่งของปุผคหนิ ทุก ๆ ช่วง ๑๐  ปุผคหนิก็เป็นได้






จุดที่น่าสนใจคือข้อความจารึกที่พบ ณ มหาสถูปแห่งนี้ระบุรายละเอียดผู้บริจาคและจุดประสงค์ของการถวายสิ่งก่อสร้างอยู่ด้วย  ทำให้ทราบว่านอกจากผู้บริจาคเป็นชาวเมืองในเขตศาตวาหนะแล้ว  ยังปรากฏรายนามผู้มีจิตศรัทธาจากเมืองอมราวดีด้วย จึงน่าคิดวิเคราะห์ว่า  เหตุใดจึงมีผู้เลื่อมใสจากเมืองอมราวดีมาร่วมสร้างมหาสถูปแห่งกนคนหลฺลิด้วย  ทั้งที่เมืองอมราวดีมีสถูปใหญ่อยู่แล้ว  ซึ่งอาจสันนิษฐานได้ว่า มหาสถูปที่สร้างในเวลานั้นต้องมีความสำคัญไม่น้อย  พุทธศาสนิกชนไม่ว่าอยู่แห่งหนตำบลใดจึงต่างเดินทางมายังหมู่บ้านกนคนหลฺลิเพื่อร่วมก่อสร้าง  ด้วยรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ครั้งหนึ่งในชีวิตได้มีส่วนในการสถาปนามหาสถูปที่มีความสำคัญเช่นนี้


การบรรยายของ Prof. Oskar von Hinüber  ตลอด ๒ ชั่วโมง ครอบคลุมประเด็นอื่น ๆ อีกมากมายที่เป็นประโยชน์ทั้งในด้านประวัติศาสตร์  อักษรศาสตร์  โบราณคดี และด้านอื่น ๆ  แต่นอกเหนือจากความรู้ทางวิชาการแล้ว ทำให้เกิดความตระหนักว่า มหาสถูปที่ครั้งหนึ่งเคยตระหง่านตระการตา คลาคล่ำไปด้วยพุทธศาสนิกชน  มาบัดนี้หลงเหลือเพียงซากแห่งความทรงจำในอดีตที่เคยรุ่งเรือง  รอเวลาให้คนรุ่นหลังย้อนกลับไปศึกษาเพื่อกระตุ้นเตือนให้หันมามองดูว่า  สิ่งที่เราทำอย่างเต็มที่ในวันนี้  เมื่อเวลาผ่านไปก็จะกลายเป็นภาพสะท้อนอดีตให้คนรุ่นหลังมาศึกษาต่อไปด้วยความชื่นชม





ขอขอบคุณภาพประกอบจาก  Dr. Christian  Luczanits  ที่เอื้อเฟื้อให้ใช้เพื่อการศึกษา


Cr. Tipitaka (DTP)
วารสารอยู่ในบุญ  ฉบับที่  ๑๕๖  เดือนตุลาคม  พ.ศ. ๒๕๕๘









คลิกอ่านพระไตรปิฎก (DTP) ของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
หีดธัมม์ งานศิลป์ ถิ่นเหนือ
กากะเยีย ขั้นกะเยีย... ผสานศิลป์ ถิ่นอีสาน
บูรพกษัตริย์ไทยกับพระไตรปิฎก
พระมหากษัตริย์ไทยกับพระไตรปิฎก ตอน ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
พระพุทธเลิศหล้านภาลัย… รัชสมัยแห่งการฟื้นฟู
พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว... ยุคทองแห่งต้นกรุงรัตนโกสินทร์
พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว... ก้าวสู่รัตนโกสินทร์ตอนกลาง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระไตรปิฎกพิมพ์อักษรไทย อธิปไตยของแผ่นดิน
สืบทอดพุทธธรรม... จากพุทธกาลสู่โลกปัจจุบัน
ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ พระมหาธีรราชเจ้าของชาวสยาม
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ…พระไตรปิฎกของชาวไทย
ศึกษาหลักฐานพุทธศิลป์...ย้อนแดนดิน ถิ่นอารยธรรม ศึกษาหลักฐานพุทธศิลป์...ย้อนแดนดิน  ถิ่นอารยธรรม Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 20:18 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.