ข่าวพระพุทธศาสนา



พระอาจารย์มีความคิดเห็นเกี่ยวกับข่าวของพระสงฆ์ที่ออกมาในแง่ไม่ดีอย่างไรบ้างครับ?

ถ้าเราศึกษาเรื่องราวครั้งพุทธกาลซึ่งบันทึกไว้ในพระไตรปิฎก จะพบว่าเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมีพระชนม์ชีพอยู่ ก็มีพระภิกษุที่ประพฤติผิดพระธรรมวินัย แล้วชาวบ้านก็ติฉินนินทา โจษจันกัน พระพุทธเจ้าจึงทรงเรียกประชุมสงฆ์ทั้งหมดเพื่อสอบถามเรื่องราว เมื่อทราบแล้วก็ทรงบัญญัติพระวินัยขึ้น พระวินัยทั้ง ๒๒๗ ข้อ จึงมีที่มาจากการกระทำผิดและเสียงติฉินนินทานั่นเอง ไม่ใช่อยู่ ๆ พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติขึ้น ดังนั้นจะเห็นได้ว่ายุคสมัยใดก็แล้วแต่ พระสงฆ์ที่ยังไม่หมดกิเลสยังมีโอกาสที่จะทำความผิดอยู่ โดยเฉพาะเมื่อพระพุทธศาสนาปักหลักมั่นคง แม้เดิมทีอาจมีความตั้งใจดี แต่ต่อมาเมื่อลาภสักการะมากขึ้น ความตั้งใจอาจจะแปรผัน อันนี้เป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้

จุดแตกต่างระหว่างครั้งพระพุทธกาลกับปัจจุบันที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ ในครั้งพุทธกาล  เสียงโจษจันเกิดขึ้นในวงสังคมรอบ ๆ พระภิกษุรูปนั้น เพราะยังไม่มีวิทยุ ทีวี หนังสือพิมพ์ อินเทอร์เน็ต หรือโซเชียลเน็ตเวิร์ก แต่ปัจจุบันการสื่อสารเป็นไปอย่างกว้างขวาง เรื่องราวสามารถขยายออกไปอย่างรวดเร็ว พอเป็นอย่างนี้ก็ปรากฏว่า ถ้ามีพระอยู่ ๑๐๐ แล้วพระที่ทำสิ่งดี ๆ แต่ไม่เป็นข่าวมี ๙๙ เปอร์เซ็นต์ แค่ ๑ เปอร์เซ็นต์ ทำเรื่องไม่ดี ถ้าลงหนังสือพิมพ์ที่พิมพ์ขายแสนฉบับ เรื่องนั้นก็ถูกทำให้แรงขึ้นแสนเท่าแล้ว ถ้าล้านฉบับก็แรงขึ้นล้านเท่า ถ้าออกทีวีอีก ลงในโซเชียลเน็ตเวิร์กอีก ช่วยกันรุมกระหน่ำเข้าไป ผลก็คือ เรื่องของพระที่ทำไม่เหมาะสมเพียง ๑ เปอร์เซ็นต์ ถูกขยายด้วยแว่นขยายที่มีอานุภาพมาก คือ สื่อสารมวลชนยุคใหม่ จากมดก็กลายเป็นช้าง กลายเป็นว่ามีพลังมากกว่าพระที่ทำความดีอีก ๙๙ เปอร์เซ็นต์ ทำให้สังคมมองภาพของสงฆ์ผิดไป เหมือนกับว่า  เดี๋ยวนี้มีแต่พระไม่ดีทั้งนั้น พระพุทธศาสนาแย่แล้ว ความเข้าใจก็เลยบิดเบี้ยวไป

อาตมาไม่ได้บอกว่า ถ้ามีเรื่องไม่ดีจะต้องไม่นำเสนอข่าวเลย ที่จริงน่าจะนำเสนอทั้ง ๒ ด้าน สื่อมวลชนเองจะต้องตระหนักในเรื่องนี้เป็นพิเศษ ว่าเราอยู่ในสถานะสื่อมวลชน ซึ่งมีผลอย่างมากต่อความเป็นไปของสังคม หากจะนำเสนอเรื่องพระที่ไม่ดีก็ไม่ว่า แต่ขอความเป็นธรรมให้พระพุทธศาสนาสักนิดหนึ่งได้ไหม ขอให้นำเสนอเรื่องที่ดีด้วย ให้ได้สัดส่วนกัน ไม่ใช่ว่าเรื่องดี ๆ ไม่เป็นข่าว แต่พอมีเรื่องไม่ดีรุมถล่มกันใหญ่ และถ้าจะนำเสนอเรื่องไม่ดีออกไป ขอให้นำเสนอเนื้อหารอบด้าน อย่าใส่อารมณ์บวกเข้าไปชี้นำสังคมในทางที่ไม่ดี แล้วขณะเดียวกันต้องสอดส่ายสายตา  ดูว่ามีพระที่ท่านประพฤติดีปฏิบัติชอบ มีสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นกับคณะสงฆ์ กับพระพุทธศาสนาอย่างไรบ้าง แล้วช่วยนำเสนอให้ได้สัดส่วนกัน สังคมก็จะได้ข้อมูลที่ถูกต้องตามความเป็นจริง ไม่เข้าใจผิด ไม่เกิดความรู้สึกว่าวงการสงฆ์มีแต่เรื่องไม่ดีทั้งนั้น

ในฐานะผู้บริโภคที่เสพสื่อ เราจะใช้วิจารณญาณเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร?

เราต้องเข้าใจว่าแนวโน้มของสื่อทั่วไปชอบเสนอเรื่องทางลบมากกว่าเรื่องทางบวก เพราะฉะนั้นเมื่อเราจะเสพสื่อ ก็ต้องตระหนักตรงนี้ จะได้ไม่ถูกกระแสสื่อดึงไปในทางที่ผิด แล้วช่วยหาสื่อดี ๆ ที่ทำให้เกิดสมดุลในแง่ข้อมูลข่าวสารของเรา เมื่อกี้บอกไปแล้วว่า สื่อน่าจะให้ความยุติธรรมกับคณะสงฆ์ กับพระพุทธศาสนาด้วย นั้นคือหลักการ  แต่ไม่ทราบว่าเขาจะทำแค่ไหน เรายังไม่สามารถเปลี่ยนสื่อให้นำเสนออย่างสมดุลทั้งด้านบวกด้านลบทั้งหมดในทีเดียว ได้แต่หวังว่าจะค่อย ๆ ดีขึ้น แต่ในแง่ของผู้เสพสื่อ เราต้องฉลาดในการเสพ เพื่อไม่ให้ถูกบิดเบือนข้อมูล เราต้องเลือกหาสื่อที่ดี ๆ เพื่อเพิ่มข้อมูลทางบวกให้เกิดความสมดุล ถ้าหาไม่ค่อยเจอ ดู DMC ก็ได้ จะช่วยสร้างสมดุลในใจให้เราได้ดี เราจะได้ชื่นใจว่า พระที่ท่านตั้งใจประพฤติดีปฏิบัติชอบยังมีอีกมาก จะเข้าเว็บไซต์ dmc.tv ก็ได้ หรือ facebook ของหลวงพี่ก็พอได้ ถือว่าเป็นข่าวทางบวกที่มาทำให้เกิดสมดุล  ถ้าเราเสพข่าวทางบวก ใจเราจะสบาย มีความสุข และได้ข้อคิดดี ๆ มาเป็นหลักในการดำเนินชีวิตด้วย

คนที่ได้ชมสื่อในทางลบของคณะสงฆ์แล้วด่าว่าต่าง ๆ นานา จะมีวิบากกรรมอย่างไรบ้าง?

อันนี้น่ากลัวมาก เวลาเกิดกรณีขึ้น บางทีอาจดูเหมือนว่าน่าจะจริง แต่อาจจะมีข้อมูลบางอย่างที่เรายังไม่รู้ สื่อนำเสนอครบหมดหรือเปล่า เราก็ไม่ทราบ ดีที่สุดอย่าไปผสมโรง ถ้าผสมโรงแล้วมันไม่จริงขึ้นมา เราแบกวิบากกรรมไปเพียบเลย และถึงแม้ว่าจริงก็ตาม การกล่าวคำตำหนิติเตียน ด่าว่าคนอื่น อย่างไรก็เป็นวจีทุจริต เวลาเจอคนทำไม่ดีแล้วเราไปด่าเขา พอด่าปั๊บ จิตเราเศร้าหมองเลย พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงยกเว้นว่า ถ้าใครทำไม่ดีด่าได้ เพราะฉะนั้นเพียงแต่รับรู้รับทราบ แล้วทำใจให้นิ่ง ๆ กลาง ๆ อย่าไปผสมโรงด้วยเด็ดขาดไม่คุ้มคุณยายอาจารย์ฯ เวลาท่านจะแนะนำพระเณร ท่านยังบอกก่อนว่า สาธุ ขออย่าให้ยายบาปนะท่านบอกว่าพระมีศีล ๒๒๗ ข้อ ญาติโยมมีศีล ๕ ข้อบ้าง ๘ ข้อบ้าง น้อยกว่าพระตั้งเยอะ ท่านถือว่าเพศสมณะเป็นของสูง การจะวิพากษ์วิจารณ์อันตรายมาก เหมือนจับงูเห่าที่เขี้ยว เสี่ยงมาก ๆ ดีที่สุดอย่าไปผสมโรงด้วย แม้แนวโน้มน่าเชื่อก็ตาม แม้แต่ความคิดก็ให้พยายามทำใจนิ่ง ๆ กลาง ๆ ความคิดก็เป็นมโนกรรมอย่างหนึ่งเหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าจะรับสื่อทางลบแล้วละก็ ต้องตั้งสติดี ๆ ให้ใจเราผ่องใสจริง ๆ รับรู้  รับทราบ แต่อย่าเอาอารมณ์ร่วมใส่เข้าไป อย่าร่วมวิพากษ์วิจารณ์ อย่าร่วมพิมพ์ comment ผสมโรงด่าเข้าไป อันตราย 

พระภิกษุจะทำตัวอย่างไรให้เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของสาธุชน?

วิธีที่ดีที่สุดคือทำตามพระธรรมวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติเอาไว้ ภิกษุที่บวชใหม่ ๕ พรรษาแรก เรียกว่า นวกะอยู่เดี่ยว ๆ ยังไม่ได้ จะต้องถือนิสัย คือ อยู่กับอุปัชฌาย์อาจารย์ ให้ท่านช่วยฝึกอบรม พอพ้น ๕ ปี เรียกว่า มัชฌิมพอครบ ๑๐ ปี ถึงจะเป็นพระเถระ ครบ ๒๐ ปี เป็นพระมหาเถระ พระองค์ทรงวางหลักการไว้เพราะทรงรู้ว่าการแก้นิสัยคนไม่ใช่ของง่าย ศัพท์ทางพระมีการพูดกันว่า กว่าจะให้มะม่วงลืมต้นต้องใช้เวลา เพิ่งบวชมาแค่ ๓ ปี ๕ ปี บางทีเรื่องราวสมัยเป็นคฤหัสถ์ยังตามมากวนใจอยู่ นิสัยเดิม ๆ สมัยเป็นฆราวาสยังทิ้งไม่ขาด เพราะฉะนั้น ๕ ปีแรกประมาทไม่ได้ อยู่เดี่ยวยังไม่ได้ ต้องอยู่กับครูบาอาจารย์ ให้ท่านกล่อมเกลานิสัย เรียกว่า  ถือนิสัย ถ้าตั้งใจฝึกเป็นลำดับมาตลอด ๒๐ ปี พอใช้ได้ แต่ถ้าอยู่ถึง ๒๐ ปี ไม่ได้ฝึกตัวเองก็ยังไม่ได้นะ ถ้าฝึกตามแนวพระพุทธเจ้าถึงจะใช้ได้

ในยุคนี้หรือยุคใดก็ตาม ถ้าทำตามหลักพระพุทธเจ้าจะได้ผลดี คือเมื่อบวชแล้วต้องมีการ    ฝึกอบรม แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะดี ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ขนาดครั้งพุทธกาลพระพุทธเจ้ายังมีพระชนม์ชีพอยู่ และทรงวางหลักเกณฑ์ไว้อย่างดี อบรมบ่มนิสัยอย่างดี พระอรหันต์ก็เต็มแผ่นดินเป็นหมื่น  เป็นแสนรูป ก็ยังมีพระที่ไปทำอะไรไม่ถูกต้อง แล้วมีเสียงโจษจันนินทา จนกระทั่งทรงบัญญัติพระวินัยเพิ่มขึ้นทีละข้อ ๆ แม้ภาพรวมคณะสงฆ์โอเค แต่ไม่ใช่ว่าดีพร้อม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ พระสงฆ์เดิมก็เป็นลูกชาวบ้าน พอมาบวชปุ๊บ ครองผ้าเหลืองแล้วกลายเป็นผู้วิเศษ ดี ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์  จะเป็นไปได้อย่างไร ต้องค่อย ๆ ฝึกไป มีข้อบกพร่อง ผิดพลาด ก็ต้องตักเตือนแก้ไข อบรม  กล่อมเกลาฝึกกันไป ทำตามหลักที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้ดีที่สุด

มีข้อคิดอย่างไรเกี่ยวกับสถานการณ์พระพุทธศาสนาในยุคปัจจุบัน?

ก่อนจะลงรายละเอียดเรื่องนี้ อยากให้เราเห็นภาพใหญ่ ที่มาที่ไป สถานการณ์ การเปลี่ยนแปลงของคณะสงฆ์ที่ส่งผลเนื่องกัน ถ้าเห็นภาพใหญ่แล้ว เราจะมองออกว่าปัญหาเกิดขึ้นเพราะอะไร คือเวลามองปัญหาต้องมอง ๒ แบบ

๑.  มองเฉพาะจุดว่าเรื่องเกิดขึ้นเพราะตัวบุคคล เพราะพระรูปนี้ไปทำอย่างนี้ถึงเกิดเรื่อง
๒. มองแบบภาพใหญ่ คือมองว่าสถานการณ์รวมของคณะสงฆ์เป็นอย่างไร สังคมเป็นอย่างไร แล้วเราจะพบว่าเหตุที่เกิดอาจเป็นแค่ปลายเหตุ พอมองภาพใหญ่เราจะเห็นความเป็นไปทั้งหมด เห็นรากของปัญหา เวลาแก้ไขจะได้มองได้ชัดและตรง ไม่ใช่แก้เป็นจุด ๆ แต่แก้ภาพรวมเลย

สังคมสมัยก่อนเป็นสังคมเกษตร ในยุคเกษตรกรรมนั้น ปัจจัยการผลิตสำคัญที่สุดก็คือที่ดิน จะปลูกข้าว ทำไร่ ทำสวน เลี้ยงสัตว์ ต้องใช้ที่ดินทั้งนั้น เพราะฉะนั้นสังคมจึงมีลักษณะอยู่ประจำถิ่น ในยุคนั้นวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน เรียกว่าเป็นเกือบทุกสิ่งทุกอย่างของชุมชนเลย ใครจะเรียนหนังสือก็ไปเรียนที่วัด ให้หลวงพ่อท่านสอน สมัยนั้นพระเป็นผู้ที่ทรงภูมิปัญญาสูงสุดของสังคม ขนาดลูกเจ้าฟ้ามหากษัตริย์ยังต้องไปบวชเรียนเลย ได้ทั้งความรู้และคุณธรรม คนไหนยังไม่ผ่านการบวชเรียน สมัยก่อนอยากจะรับราชการเขาก็ไม่รับนะ คุณสมบัติไม่ครบ จะไปขอลูกสาวใคร ถ้ายังไม่เคยบวช เขาไม่ยกให้ เพราะเขาไม่มั่นใจว่าจะดูแลลูกสาวเขาได้ สังคมวางเกณฑ์มาตรฐานไว้อย่างนี้   พระภิกษุอยู่ในฐานะเป็นผู้นำทางความคิดของสังคม เวลามีเรื่องทะเลาะกัน อัยการก็ไม่มี ตำรวจก็ไม่มี ศาลก็ยังไม่มี ให้หลวงพ่อตัดสินหมด คนต่างถิ่นเดินทางมาไม่รู้จักใครก็ไปพักที่วัด วัดเป็นที่อำนวยความสะดวกให้ทุกอย่าง จะจัดงานเทศกาล งานรื่นเริง ก็จัดที่วัด เพราะฉะนั้นวัดเป็นเกือบทุกสิ่งทุกอย่างของสังคม หน้าที่ของพระก็คือ ปักหลักอยู่ที่วัดคอยตั้งรับญาติโยมให้ดี แค่ดูแลคอยบริหารจัดการวัดให้เรียบร้อย สะอาดสะอ้าน ญาติโยมมาบำเพ็ญบุญแล้วสะดวก แค่นั้น

แต่พอเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมกับยุคข้อมูลข่าวสาร เกิดสถาบันโรงเรียนขึ้นมา ดึงหน้าที่สำคัญออกจากวัดแล้ว ไม่ได้เรียนกับหลวงพ่อแล้ว เวลาคนไปต่างถิ่นก็ไปพักโรงแรม ไม่ค่อยมีใครไปพักศาลาวัดแล้ว เวลาจะไปพักผ่อนหย่อนใจ เขาก็ไปคาราโอเกะ ไปโรงหนัง ไปบาร์ ไปผับ ไปสวนสนุก มีอะไรเยอะแยะมากมายที่ดึงหน้าที่นี้ออกไปจากวัดอีก เวลามีเรื่องกัน ก็ไปแจ้งความ ฟ้องตำรวจ ฟ้องศาล หน้าที่ต่าง ๆ ค่อย ๆ ถูกดึงไปจากวัดทีละอย่าง ๆ เมื่อคนห่างเหินวัด คนที่มาบวชก็น้อยลง สมัยก่อนลูกเจ้าฟ้ามหากษัตริย์มาบวชแล้วมีศรัทธาไม่สึกก็มี สมเด็จพระสังฆราชหลายองค์ก็เป็นโอรสกษัตริย์ ท่านมาบวชแล้วไม่สึก สุดท้ายเป็นผู้บริหารคณะสงฆ์ แต่ปัจจุบัน กลายเป็นว่า ผู้ที่มาบวชเป็นผู้ขาดโอกาสทางการศึกษา ครอบครัวยากจนจึงมาบวชเรียน เพื่อเป็นช่องทางในการศึกษา จบแล้วมีศรัทธาก็อยู่ต่อ ส่วนหนึ่งก็สึกไป อีกส่วนหนึ่งเป็นผู้ที่สูงอายุ เกษียณอายุ ๖๐-๗๐ ปี ไม่มีงานทำก็เลยมาบวชเป็นหลวงตาเฝ้าวัด โอกาสศึกษาธรรมะไม่ค่อยมีแล้ว เพราะอายุมากแล้ว สุขภาพสังขารไม่ค่อยให้ แต่ว่าบวชเพื่อรักษาวัด คุณภาพสงฆ์โดยรวมเลยลดลง

ถามว่าปัจจุบันคนที่มีความรู้ จะมีสักกี่คนที่ยอมรับว่า คณะสงฆ์คือผู้นำทางความคิด พระประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ รูป มีสักกี่รูปที่พูดแล้วปัญญาชนในสังคมฟังและถือเป็นเข็มทิศนำทางชีวิต คนไม่น้อยเลยรู้สึกว่าตัวเองรู้ดีกว่าพระ พระไม่ค่อยรู้เรื่องอะไร ไหว้พระก็ไหว้ผ้าเหลืองตามประเพณี จะไปวัดก็ไปตามประเพณี คนที่ไปวัดเพื่อฟังเทศน์ฟังธรรม ถือศีล สวดมนต์ นั่งสมาธิ เหลือน้อยลงทุกที นี้คือภาวะที่เป็นจริงในปัจจุบัน แต่ขนาดคณะสงฆ์อ่อนแอลงอย่างนี้ ก็ยังมีส่วนช่วยสังคมอย่างมาก ทำหน้าที่เหมือนสถาบันสังคมสงเคราะห์ขนาดใหญ่ มีเครือข่ายถึง ๓๐,๐๐๐ แห่ง ทั้งประเทศ คอยรองรับผู้ที่ด้อยโอกาสในสังคมให้มีที่ไป มีโอกาสพัฒนาตัวเอง เด็กทุกคนในเมืองไทยถ้ารักดีก็มีโอกาสจะพัฒนาตัวเอง หรือผู้สูงวัยมาบวช คณะสงฆ์ก็โอบอุ้ม สังคมก็โอบอุ้ม แต่ว่าคุณภาพของสงฆ์โดยรวมอ่อนลง มีวัดบางส่วนหาทางแก้ปัญหาคนมาวัดน้อยลง โดยหากลยุทธ์ดึงคน เช่น จัดงานมหรสพช่วงสงกรานต์และช่วงตรุษจีนที่คนกลับบ้านกัน หรือถ้าโยมชอบอะไรก็เอาใจโยม เช่น ดูหมอให้ ใบ้หวยให้ พิธีกรรมแปลก ๆ ก็มี โยมชอบไสยเวท ไสยศาสตร์ พระก็ไปศึกษาสิ่งเหล่านี้เพื่อเอาใจโยม ไม่ได้เอาธรรมะดึงคนเข้าวัด แต่ตามใจกิเลสโยม แทนที่พระจะจูงโยมเข้าวัด กลายเป็นโยมจูงพระ อันนี้ก็ไปผิดทางไปหน่อย

นี้คือภาวะที่เกิดขึ้นจริง ๆ ในคณะสงฆ์ สาเหตุมาจากวิถีชีวิตคนเปลี่ยน บทบาทหน้าที่ของวัดเปลี่ยน ในยุคนี้นั่งเฉย ๆ คนไม่เข้าวัด จะแก้ปัญหาต้องเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุก เอาธรรมะไปสู่ประชาชน แล้วปลุกกระแสความตื่นตัวในพระพุทธศาสนาให้ฟื้นกลับมา สิ่งที่หลวงพ่อทำ เช่น จัดตักบาตรพระสองล้านรูป เดินธุดงค์กลางกรุง (ที่จริงเดินทั้งประเทศ ต่างจังหวัดก็เดิน ในกรุงเทพฯก็เดิน แต่เดินต่างจังหวัดคนไม่เห็น) เพื่อกระตุ้นฟื้นฟูศรัทธาประชาชนที่มีต่อพระพุทธศาสนาให้ตื่นขึ้นมา มีการจัดบวชพระแสนรูปเพื่อแก้ปัญหาวัดร้าง เป็นการเผยแผ่เชิงรุก ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนามาก เป็นสิ่งที่สังคมไทยกำลังขาดอยู่พอดี แต่เผอิญว่าอะไรที่เป็นของใหม่ก็จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นธรรมดา พอมาบวกกับการสื่อสารในยุคปัจจุบันที่เร็วแรงมาก การวิพากษ์วิจารณ์ก็เลยขยายไปในวงกว้าง กลายเป็นการบั่นทอน ที่จริงกว่าจะสร้างกิจกรรมสร้างสรรค์พระพุทธศาสนาได้ ต้องออกเรี่ยวออกแรงและทุ่มเทญาติโยมมาช่วยกันเยอะมาก ถ้าสื่อช่วยกันโหมกระแสก็จะเป็นการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาได้อย่างดี แต่ถ้าบั่นทอนโจมตี สิ่งที่ควรจะเป็นคุณกับพระพุทธศาสนาก็เลยอยู่แค่ในแวดวงจำกัด นี้คือสิ่งที่น่าเสียดาย ถ้าชาวพุทธตระหนักถึงปัญหาโดยภาพรวมของพระพุทธศาสนา แล้วมาร่วมแรงร่วมใจช่วยกันฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ประเทศไทยจะไปได้ดี เพราะรากฐานคำสอนในพระพุทธศาสนาที่สอดแทรกในวัฒนธรรมไทย ในวิถีชีวิตชาวไทยยังมีอยู่มาก แม้คนจะห่างวัดไปมากแล้ว แต่รากทางวัฒนธรรมยังมีเยอะ ถ้าช่วยกันฟื้นฟูยังพอไหว แต่ถ้าทิ้งช้าไปกว่านี้อีก ๕ ปี ๑๐ ปี อาจจะกู่ไม่กลับก็ได้ ต้องมาช่วยกันคนละไม้คนละมือ แล้วขอให้มั่นใจเถิดว่า พระพุทธศาสนาจะกลับคืนมาสู่สังคมไทยอย่างเข้มแข็งได้ ถ้าพุทธบริษัททั้งสี่  เป็นหนึ่งเดียวกันเหมือนดวงตะวันที่มีดวงเดียว

Cr. พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ
ข่าวพระพุทธศาสนา ข่าวพระพุทธศาสนา Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 01:53 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.