ข้อคิดจากบทสวดมนต์
การสวดมนต์ในพระพุทธศาสนามีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล
เป็นการสวดสิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนไว้
โดยสรุปเอาประเด็นสําคัญมาสวดเพื่อกันลืมเพื่อทบทวนและเพื่อเป็นการท่องจำ
ที่บอกว่าเพื่อกันลืมก็เพราะในครั้งพุทธกาลไม่มีพระไตรปิฎกเป็นเล่ม ๆ อย่างนี้
จึงต้องใช้วิธีท่องจำคำสอนของพระพุทธเจ้า
แม้หลังจากพุทธปรินิพพานมีการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๑
เรียบเรียงคำสอนทั้งหมดเป็นพระไตรปิฎกแล้วก็ตาม
ก็ยังใช้การท่องจำสืบทอดต่อกันมาเป็นเวลา
๔๐๐ กว่าปี ที่เรียกว่า “มุขปาฐะ”
ภายหลังจึงเริ่มจารึกด้วยตัวอักษร เพราะฉะนั้นคําสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทั้งหมดต้องอาศัยการท่องจําทั้งนั้นและมีการคัดเอาคําสอนที่สําคัญ ๆ
มาสวดสาธยายอยู่เป็นเนืองนิตย์ เป็นบทสวดมนต์สืบทอดต่อกันมา ทั้งนี้เพื่อตอกย้ําตัวเอง
เหมือนกับที่คนทางโลกท่องสโลแกนบางอย่าง
เราจะเห็นว่าในครั้งพุทธกาล บางคราวที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอาพาธ
ยังมีพระภิกษุมาสาธยายพุทธมนต์ให้ฟัง เช่น บทโพชฌงค์
และด้วยอานุภาพแห่งบทโพชฌงค์ที่ฟังแล้วทําให้สบายใจ อาการอาพาธก็คลายและทุเลาลง แล้วเวลามีพระภิกษุอาพาธ พระพุทธเจ้าก็ทรงสาธยายพระพุทธมนต์ให้ฟังเหมือนกัน
บทสวดมนต์เป็นสิ่งที่มีอานุภาพ อย่าดูเบา
และชาวพุทธเราก็สวดกันเรื่อยมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล ทั้งพระภิกษุ ทั้งญาติโยม เพื่อเป็นการทบทวนพุทธคุณและคําสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เราจะแยกระหว่างบทสวดมนต์กับคาถาอาคมได้อย่างไร?
บทสวดมนต์เป็นการรวมคําสอนที่สําคัญเอาไว้
ซึ่งคําสอนนั้นมีอานุภาพ ส่วนคําว่า คาถา ความหมายที่แท้จริงแปลว่า ร้อยกรอง คําสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นมีทั้งที่เป็นบทร้อยกรองและร้อยแก้ว
ร้อยแก้วก็คือ คําบอกเล่าทั่ว ๆ ไป ส่วนร้อยกรองก็คล้าย
ๆ กับโคลงฉันท์กาพย์กลอนที่เราใช้ในภาษาไทย แต่ในภาษาบาลีนั้น คาถา ๑ คาถา มีอยู่
๒ บรรทัด ๔ วรรค ตัวอย่างเช่น วรรคที่ ๑ “อัตตา หิ อัตตะโน นาโถ” ต่อไปวรรคที่ ๒ “โกหินาโถปะโรสิยา”... พอครบ๔วรรคก็เป็น ๑ คาถา นี้คือบทร้อยกรองในพระพุทธศาสนา แต่เรามาใช้คําว่า คาถาอาคม
ซึ่งความเข้าใจของคนทั่วไปในปัจจุบันรู้สึกว่าเป็นคาถาศักดิ์สิทธิ์
ส่วนคําว่า อาคมที่จริงศัพท์เดิมหมายถึง พระสูตร พระไตรปิฎกประกอบด้วยพระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม พระสูตรบางที
ใช้คําว่าอาคมแทน แต่ในยุคหลังเรายืมคําเก่ามาใช้แล้วความหมายแปลงไปนิดหน่อย คําว่า คาถาอาคม
เรารู้สึกเหมือนเป็นเรื่องที่ต้องห้อยลูกประคํา มีการล้อมสายสิญจน์
มีการเสกคาถาเรียกวิญญาณลงหม้อ ฯลฯ ส่วนคําว่า คาถา แต่เดิมเขาก็ใช้กัน เช่น คาถาทําคลอด สมัยโบราณถ้าผู้หญิงท้องแก่จะคลอด
แล้วคลอดยาก ต้องไปนิมนต์พระมาสวดคาถาพระปริตร
เหตุที่มามีอยู่ว่า เมื่อครั้งพุทธกาลองคุลิมาลฆ่าคนมาเยอะ
เพราะท่านเป็นโจรมาก่อน ภายหลังกลับใจมาบวช พอบวชแล้วคนก็ไม่ค่อยใส่บาตร หนีกันหมด
บางคนเอาหินขว้างปา เพราะโกรธที่ท่านเคยฆ่าญาติของตน
คราวหนึ่งพระองคุลิมาลเจอหญิงท้องแก่เจ็บท้องจะคลอด
แต่ไม่ยอมคลอด ปวดมาก ท่านก็เลยเข้าไปโปรด
โดยการตั้งสัตยาธิษฐานว่า ตั้งแต่ข้าพเจ้าออกบวชในอริยวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้
ไม่เคยเลยที่จะปลงชีวิตสัตว์แม้ด้วยความคิด
ด้วยอานุภาพแห่งสัจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่น้องหญิงและทารกในครรภ์เทอญ
สิ้นเสียงพระองคุลิมาลเท่านั้น
เด็กคลอดออกมาได้อย่างสบาย ดังนั้นในยุคหลังผู้หญิงท้องแก่ที่คลอดยาก
ก็เลยเอาคําของท่านมาเป็นคาถาให้คลอดง่าย
คาถาแต่ละคาถาล้วนมีที่มาที่ไป
อิงอาศัยอานุภาพของพระรัตนตรัยทั้งนั้น อย่างเวลาเข้าป่า
ถ้ากลัวงูก็ต้องใช้คาถากันงู “วิรูปักเขหิ เม เมตตัง” แผ่เมตตาให้พญานาคตระกูลใหญ่ ๆ ทั้ง ๔ ตระกูล ซึ่งเป็นเจ้าแห่งงู แล้วงูเล็กงูน้อยทั้งหลายซึ่งอยู่ในอํานาจจะไม่มารบกวน
เลยถือเป็นคาถากันงู
เวลาจะขึ้นบ้านใหม่ นิยมนิมนต์พระมาเจริญพุทธมนต์ ๗ ตํานาน ๑๒
ตํานาน ในนั้นจะต้องมีบทกันไฟไหม้ด้วย คือบท “อัตถิ
โลเก สีละคุโณ”คาถานี้มีที่มาจากชาดก ตอนที่พระพุทธเจ้าทรงระลึกชาติไป
แล้วทรงเล่าอดีตชาติให้ฟังว่า
มีพระชาติหนึ่งพระองค์เกิดเป็นลูกนกคุ่มอาศัยอยู่ในรัง พ่อนกแม่นก
ออกไปหากินเกิดไฟไหม้ป่า
ไหม้จะมาถึงรังแล้ว ลูกนกก็ยังบินไม่ได้ก็เลยตั้งสัตยาธิษฐานและด้วยอานุภาพแห่งสัตยาธิษฐานนี้
ไฟจึงหยุดไหม้ แล้วที่ตรงนั้นไฟจะไม่ไหม้ตลอดกัป
ด้วยอานุภาพแห่งสัตยาธิษฐานของพระบรมโพธิสัตว์ เราก็เลยเอาคาถาบทนี้เป็นคาถากันไฟไหม้
ถ้าไปเยี่ยมคนเจ็บก็จะสวดคาถาบทที่เรียกว่าโพชฌงคสูตร
ซึ่งฟังแล้วทําให้ใจสบาย อาการป่วยก็จะคลี่คลาย ทุเลาเบาบางลง เป็นต้น ซึ่งต่อมาหลัง ๆ คนไม่ค่อยรู้เรื่อง
ก็เลยถือว่าเป็นคาถาอาคม บางครั้งไม่ได้เกี่ยวกับบทสรรเสริญพระรัตนตรัยโดยตรง
แต่ว่าเป็นของที่แต่งขึ้นในยุคหลัง คาถาที่ศักดิ์สิทธิ์ จริง ๆ แล้ว
จะต้องมาจากบทสวดมนต์ในพระพุทธศาสนา ซึ่งมีที่มาที่ไป อ้างอิงถึงคุณของพระรัตนตรัย
สวดแล้วมีอานุภาพ แต่อานุภาพจะแรงมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับว่าผู้สวดมีศีลบริบูรณ์แค่ไหน แล้วก็มีความศรัทธามั่นคงในพระรัตนตรัยแค่ไหน
ถ้าหากสวดแบบไม่รู้อีโหน่อีเหน่ อานุภาพก็ระดับหนึ่ง
แต่ถ้าสวดด้วยความเลื่อมใสศรัทธาจริง ๆ ใจดิ่งปักมั่นในพระรัตนตรัยจริง ๆ
อานุภาพไม่มีประมาณ
ทําไมบางวัดมีการสวดพรมน้ํามนต์
มีสายสิญจน์ บางวัดไม่มี จะมีผลแตกต่างกันหรือไม่?
แก่นของการสวดมนต์จริง ๆ คือ
สวดออกไปถูกต้องด้วยใจที่เลื่อมใสศรัทธามั่นคง ส่วนพิธีกรรมอื่นที่มาประกอบ เช่น มีสายสิญจน์ระโยงระยางเหนือศีรษะหรือเป็นสายย้อยลงมาให้คนถือเพื่อความสบายใจ
เป็นเปลือกกระพี้ เป็นส่วนเสริมคือเสริมความศรัทธาให้เต็มที่ขึ้น ซึ่งอาจมีความแตกต่างกันในแต่ละที่
แต่ถ้าสาระสําคัญหรือแก่นยังคงเดิม ก็ถือว่าใช้ได้
ถ้าไม่ได้สวดมนต์ด้วยความศรัทธา
แต่สวดเพราะความกลัว เช่น กลัวผี จะได้พุทธคุณหรือป้องกันภูตผีปีศาจได้หรือไม่?
ถ้าใครกลัวผีแล้วสวดมนต์ระลึกถึงพระรัตนตรัย
ก็แสดงว่ามีความศรัทธา ถ้าไม่ศรัทธาคงไม่สวดถามว่ามีอานุภาพไหม มีแน่ ถ้าใครกลัวผีก็มีคาถาไล่ผี คือ
บทยังกิญจิ
สมัยพุทธกาล ครั้งหนึ่งเมืองเวสาลีมีอมนุษย์มากมาย
ตอนนั้นชาวเมืองล้มตายกันมากจากโรคระบาด ชาวเมืองจึงไปอาราธนาพระพุทธเจ้ามาโปรด พระพุทธเจ้าเสด็จไปแล้วทรงเจริญพระพุทธมนต์บทนี้
แล้วรับสั่งให้พระอานนท์อุ้มบาตรน้ํามนต์พรมทั่วทั้งเมือง อมนุษย์ ภูต ผี ปีศาจ หนีหมดเลย โรคภัยไข้เจ็บก็หาย บ้านเมืองก็กลับสู่ภาวะปกตินี้คือที่มา
เราจึงใช้บทนี้มาเป็นบทไล่ผี แต่บางคนบอกว่ายาวไป กําลังตกใจกลัวผีนึกไม่ทัน บทสั้น ๆ ก็มี “พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ, ธัมมัง สะระณัง คัจจามิ, สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ” หรือ “นะโม ตัสสะ”
ก็ได้ “อะระหังสัมมา...” ก็ได้ “อิติปิโส...” ก็ได้ เอาบทใดบทหนึ่งที่เราคล่องปากขึ้นใจ
ยิ่งถ้าได้ฝึกสวดจนกระทั่งคล่องยิ่งดีใหญ่ จะได้จําบทพระพุทธมนต์ได้มากขึ้น
ซึ่งจะมีอานุภาพนําสิ่งไม่ดีให้หายไปจากตัวเรา แล้วเอาสิ่งดี ๆ เอาสิริมงคลเข้ามาอย่างเป็นอัศจรรย์
การสวดมนต์เป็นสิ่งที่เราจะต้องทําหรือเป็นหน้าที่เฉพาะของพระภิกษุ?
จริง ๆ
แล้วการสวดมนต์เป็นหน้าที่ของชาวพุทธทุกคน
เดิมเนื้อหาการสวดมนต์แต่ละท้องถิ่นมีความหลากหลาย ต่อมารัชกาลที่ ๔ ซึ่งเคยผนวชมา ๒๗ พรรษา
ทรงวางรูปแบบการสวดมนต์ทําวัตรเช้า-เย็นทั้งประเทศให้เป็นแบบแผนเดียวกัน รวมทั้งการอาราธนาศีล พิธีกรรมสงฆ์ต่าง ๆ เช่น การถวายสังฆทาน การเจริญพระพุทธมนต์ ๗ ตํานาน ๑๒ ตํานาน เป็นต้น ทรงปรับให้มีมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ
ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อความเป็นเอกภาพของพระพุทธศาสนา
เพราะฉะนั้นให้รู้เถิดว่าไม่ใช่เป็นหน้าที่พระอย่างเดียว โยมเองอย่างน้อยควรทําวัตรเช้า-เย็น
ซึ่งใช้เวลาไม่นานวัตรเช้าประมาณ ๑๕นาที วัตรเย็นประมาณ ๑๗-๑๘ นาที จะเป็นประโยชน์กับตัวเรามาก
การสวดมนต์โดยเข้าใจกับไม่เข้าใจความหมายมีอานิสงส์ต่างกันอย่างไร?
แม้เราสวดมนต์โดยไม่รู้ความหมาย ก็มีประโยชน์ อย่างน้อยเราก็รู้รวม ๆ
ว่าเป็นการสวดสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย สวดไปก็ตอกย้ำความเลื่อมใสศรัทธาในพระรัตนตรัยไป ซึ่งเป็นประโยชน์มาก ๆ
เพราะศรัทธาเป็นยอดทรัพย์ พอมีศรัทธาในพระรัตนตรัยแล้ว จะทำให้เรามีโอกาสสร้างบุญสร้างกุศลอย่างอื่นมากมาย
ในอดีตมีพระภิกษุรูปหนึ่งสาธยายพุทธมนต์ ขณะนั้นค้างคาวฟังอยู่ ไม่รู้เรื่องว่าพระสวดอะไร
แต่ฟังเสียงสวดมนต์แล้วสบายอกสบายใจ ด้วยใจที่เลื่อมใสในเสียงสวดมนต์ จดจ่อกับเสียงสวดมนต์
ตายปุ๊บเลื่อนชั้นจากสัตว์เดียรัจฉานไปเกิดเป็นเทวดาเลย
ขนาดฟังไม่รู้เรื่องยังมีบุญขนาดนี้ แล้วเราเป็นคน เรารู้เรื่องมากกว่าค้างคาว รู้ว่ากําลังสรรเสริญพระรัตนตรัยอยู่
ยิ่งถ้าสวดเองบุญยิ่งมากกว่าฟังอีก
แล้วเราก็หาเวลาเอาหนังสือสวดมนต์ที่มีคําแปลมาเปิดดู แต่เวลาสวดไม่ต้องสวดบาลีคําไทยคํา
เพราะระบบไวยากรณ์ไม่เหมือนกัน ภาษาไทยมีสระเยอะแยะ
แต่ภาษาบาลีมีสระแค่ ๘ ตัว คือ อะ อา อิ อี อุ อู เอ โอ
เวลาสวดบาลีจังหวะเป็นแบบหนึ่ง สวดคําไทยอีกจังหวะหนึ่ง ถ้าเราสวดสลับไปสลับมายาว
ๆ จะทําให้ขาดผลไปนิดหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องสมาธิ
ถ้าเป็นบทสั้น ๆ ที่ต้องการย้ำ เช่น
“ชะรา
ธัมโมหิ ชะรัง อะนะตีโต เรามีความแก่เป็นธรรมดา ยังไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้” ถ้าอย่างนี้ไม่เป็นไร เป็นการตอกย้ำให้ไม่ประมาทในชีวิต
ให้ระลึกนึกถึงกฎแห่งกรรม แต่ถ้าเป็นบทยาว ๆ ก็สวดบาลีไปเลย มาเปิดดูคําแปลทีหลัง
เสียงสวดมนต์จะได้ลื่นไหล การสวดมนต์ถือเป็นการเจริญภาวนาอย่างหนึ่ง ถ้าตั้งใจจริง
ๆ บรรลุธรรมได้ เพราะเป็นสมาธิแบบหนึ่ง ใจจดจ่อ นิ่ง ดิ่งเข้าไป เข้าถึงธรรมได้เลย แต่ถึงแม้ว่ายังไม่บรรลุธรรม
การสวดมนต์ก็เป็นการเคลียร์ใจของเราให้เกลี้ยงในระดับหนึ่ง เป็นพื้นฐานอย่างดีต่อการทําสมาธิ
เพราะฉะนั้นโดยทั่วไปจะนิยมสวดมนต์ก่อน แล้วนั่งสมาธิ
จะช่วยให้นั่งได้ดี การสวดมนต์ให้ประโยชน์แน่นอน
แม้ไม่รู้ความหมาย แค่ฟังสวดมนต์ก็ได้บุญ ยิ่งสวดเองบุญยิ่งมาก ถ้ารู้ความหมายด้วย บุญก็ยิ่งทบทวี รู้ความหมายแล้วสวดมนต์ไปด้วย
ทําสมาธิภาวนาไปด้วยถูกหลักวิชชา ได้บุญมหาศาล
Cr. พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๕๗
เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๘
คลิกอ่านข้อคิดรอบตัวของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
เริ่มปีใหม่ในแบบชาวพุทธ
ข้อคิดจากคำว่า “รัก”
ข่าวพระพุทธศาสนา
บาปที่ทำ กรรมที่รับไว้
วิสาขบูชา วันสำคัญของชาวโลก
พระพี่เลี้ยง
ไขทุกปัญหาก่อนบวช โครงการอุปสมบทหมู่ ๑๐๐,๐๐๐ รูป ทุกหมู่บ้านทั่วไทย
แม่..พระในบ้าน
นักสร้างบารมีกับเทคโนโลยีสมัยใหม่
ความลึกลับ : สิ่งที่วิทยาศาสตร์คาดไม่ถึง
ทำไมต้องสั่งสมบุญบ่อย ๆ
"ปลื้ม" หัวใจของการสร้างบุญ (ปีถัดไป)
ทำไมต้องสั่งสมบุญบ่อย ๆ |
คลิกอ่านข้อคิดรอบตัวของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
เริ่มปีใหม่ในแบบชาวพุทธ
ข้อคิดจากคำว่า “รัก”
ข่าวพระพุทธศาสนา
บาปที่ทำ กรรมที่รับไว้
วิสาขบูชา วันสำคัญของชาวโลก
พระพี่เลี้ยง
ไขทุกปัญหาก่อนบวช โครงการอุปสมบทหมู่ ๑๐๐,๐๐๐ รูป ทุกหมู่บ้านทั่วไทย
แม่..พระในบ้าน
นักสร้างบารมีกับเทคโนโลยีสมัยใหม่
ความลึกลับ : สิ่งที่วิทยาศาสตร์คาดไม่ถึง
ทำไมต้องสั่งสมบุญบ่อย ๆ
"ปลื้ม" หัวใจของการสร้างบุญ (ปีถัดไป)
ข้อคิดจากบทสวดมนต์
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
01:16
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: