ไขทุกปัญหาก่อนบวช โครงการอุปสมบทหมู่ ๑๐๐,๐๐๐ รูป ทุกหมู่บ้านทั่วไทย
ใครเป็นผู้ดำริโครงการนี้? ทำเพื่ออะไร? หวังเงินค่าสมัครก็คงไม่ใช่
เพราะว่าบวชฟรี
ที่มาของโครงการบวชแสนรูปเกิดจากหลวงพ่อธัมมชโย
วัดพระธรรมกาย ที่ทราบข่าวว่า ปัจจุบันนี้พระบวชเข้าพรรษาลดลงมาก
พระอารามหลวงขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ บางวัดมีพระบวช ๑ รูป บางวัดไม่มีเลย ขณะที่เมื่อ
๑๐ กว่าปีที่แล้ว บางวัดพระบวชเต็มเลย ใครจะไปบวชต้องรีบไปจองแต่เนิ่น ๆ แต่ตอนนี้กุฏิว่างเป็นแถว
หลวงพ่อท่านรำพึงว่า “นี่เป็นสัญญาณอันตรายแล้ว” เพราะว่าพระที่อยู่รักษาพระพุทธศาสนาในปัจจุบันโดยทั่วไปมาจาก
๒ เส้นทาง คือ
๑.
มาจากเด็กน้อยที่จบ ป.๖ แล้วก็มาบวชเป็นสามเณรเพื่อเป็นช่องทางในการร่ำเรียน เขียนอ่าน โตขึ้นก็บวชเป็นพระ
พอศึกษาจบแล้วบางส่วนก็ลาสิกขาออกไป แต่ปัจจุบันการศึกษาภาคบังคับขยายไปถึงจบ
ม.ต้น แล้วให้เรียนฟรีไปถึง ม.ปลาย บางที่ยังมีแจกเสื้อผ้า สมุด หนังสือ พอเรียนจบ
ม.ต้น อายุประมาณ ๑๕ ปี ถ้าทางบ้านฐานะไม่ดีจะไปทำงานโรงงานก็ได้
หรือจะเรียนต่อก็มีเงินกู้ยืมเรียน คนที่มาบวชเป็นสามเณรจึงลดลงอย่างฮวบฮาบ
เห็นชัด ๆ ว่าในอนาคตเส้นทางนี้จะมีเณรมาบวชพระน้อยลง
๒.
มาจากคนที่บวชเข้าพรรษาตามธรรมเนียมไทยแต่โบราณ ออกพรรษาแล้วบางส่วนก็ลาสิกขาไป
บางส่วนมีศรัทธาก็ไม่สึก แต่ตอนนี้บวชเข้าพรรษาหายไปเกือบหมดทั้งในกรุงเทพฯ
และเมืองใหญ่ ๆ ยังพอมีเหลือบ้างในชนบท ซึ่งอีกหน่อยก็คงจะตามอย่างกรุงเทพฯ
และเมืองใหญ่
เมื่อเป็นอย่างนี้เส้นทางหลักที่มาของพระภิกษุที่อยู่รักษาพระพุทธศาสนาจึงตีบตันลง
ทั้ง
เส้นทางสามเณรและเส้นทางบวชเข้าพรรษา แล้วอะไรจะเกิดขึ้นในประเทศไทย
ถ้าเราไปดูสถิติวัดร้าง ปัจจุบันมีวัดที่ร้างอย่างเป็นทางการถึง ๕,๙๐๐ วัด
มีสถิติรวบรวมอยู่ที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
ส่วนวัดที่ยังไม่ร้างแต่ใกล้จะร้าง คือ เหลือพระอยู่แค่รูปสองรูป มีเป็นหมื่น ๆ
วัด
ปกติหลวงพ่อท่านสอนว่า
เรื่องส่วนตัวให้วางอุเบกขา
แต่ถ้าเป็นเรื่องพระศาสนาท่านบอกว่าต้องเอาอุเบกขาวางแล้วลุยเลย ท่านคิดง่าย ๆ ว่า
ในเมื่อวัดร้างเยอะ จะแก้วัดร้างก็ต้องบวชพระ
แล้วคนมาบวชพระช่วงเข้าพรรษาน้อยจะทำอย่างไร ก็บวชพระเข้าพรรษาให้เยอะ ๆ แก้ตรง ๆ แค่นี้แหละ
แล้วทำอย่างไรจะให้เขาบวชเยอะ ๆ
ก็ไปกราบขอความร่วมมือจากคณะสงฆ์ทั้งแผ่นดินในจังหวัดและในอำเภอต่าง ๆ
ถ้าวัดไหนมีพื้นที่เพียงพอ มีที่พักอาศัยให้พระอยู่จำพรรษาได้ มีศาลาอบรมได้ เสนาสนะไม่อึกทึกจอแจจนเกินไป
ก็ไปกราบขออนุญาตท่านเจ้าอาวาส แล้วก็ร่วมมือกันทำงานกับคณะสงฆ์ทั้งแผ่นดิน
และประสานกับสมาคมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก เป็นต้น
ทุกคนทุกฝ่ายเห็นว่าโครงการดีมากก็ร่วมแรงร่วมใจกัน
พวกเราญาติโยมทั้งหลายก็ลุกขึ้นมาชวนบวช แต่การพลิกกระแสไม่ใช่ของง่าย อยู่ ๆ
จะให้เขามาบวช ๔ เดือน อาศัยว่าทุกคนตั้งใจจริง
หลวงพ่อท่านเป็นผู้ให้นโยบายและเป้าหมาย ทุกคนก็ไปลุยชวนกันจริง ๆ
ปรากฏว่าความสำเร็จเกิดขึ้น ภาพของชายไทยที่มาบวชเป็นหมื่นเป็นแสนบังเกิดขึ้นจริง
ๆ ก็เลยจัดปีละ ๒ ครั้ง คือ ภาคฤดูร้อน ๒
เดือน ภาคเข้าพรรษา ๔ เดือน (ปัจจุบันจัดเป็นครั้งที่ ๑๒ แล้ว)
ซึ่งเราพบว่ามีพระที่อยู่จนจบโครงการแล้วมีศรัทธาอยู่ต่อเป็นกำลังของพระพุทธ-ศาสนาประมาณ
๕,๐๐๐ รูป
ทั้งที่วัดพระธรรมกายและวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ
ไปช่วยกันฟื้นฟูวัดร้างให้เป็นวัดรุ่ง น่าชื่นใจทีเดียว
การบวชระยะสั้น บวชตามประเพณี
ต่างกับการบวชเข้าพรรษาอย่างไร?
ในครั้งพุทธกาลไม่มีประเพณีบวชหน้าไฟ
บวช ๒-๓ วันก็ไม่มี มีแต่ตั้งใจบวชเพื่อมุ่งพระนิพพาน
แต่เนื่องจากเป็นที่ทราบกันว่าบวชแล้วได้บุญมหาศาล ฉะนั้นจึงเป็นธรรมเนียมว่า
เวลาพ่อแม่เสีย ถ้าอยากให้พ่อแม่ได้บุญมาก ๆ ลูกชายหรือหลานชายก็ต้องบวชให้ เด็ก ๆ
บวชเณร ผู้ใหญ่บวชพระ บวชหน้าไฟเพื่อเอาบุญให้พ่อแม่ญาติผู้ใหญ่เป็นพิเศษ
ก็เลยเกิดเป็นกึ่ง ๆ ธรรมเนียมขึ้นมาในยุคหลัง
แต่ถ้ามองไปที่วัตถุประสงค์ของการบวช
ถ้าบวชแค่ ๒-๓ วัน ก็ต้องดูว่าในระหว่างบวชได้บำเพ็ญสมณธรรมขนาดไหน ถ้ามีแต่เปลือก
คือ ได้บวช บุญก็เกิดระดับหนึ่ง แต่ถ้าได้ศึกษาพระธรรมวินัย ได้ปฏิบัติธรรมด้วย
บุญจะมากขึ้น แต่การบวชเข้าพรรษาประมาณ ๔ เดือน แล้วตั้งใจศึกษาธรรมะ
ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม มีครูบาอาจารย์ และมีการจัดระบบการดูแลอย่างดี
เช้าตื่นตีสี่ครึ่ง สวดมนต์ นั่งสมาธิ ออกบิณฑบาต เวลาฉันก็มีการสอนมารยาทบ้าง
ฟังธรรมไปด้วยบ้าง และยังมีการอบรมเพิ่มเติม พระวินัยมีอะไรบ้าง เสขิยวัตรต่าง ๆ
มีอย่างไรบ้าง สอนกระทั่งการซัก การตาก การพับจีวร การนั่ง การกราบ การลุก การไหว้
ฝึกกิริยามารยาท สีลาจารวัตรของสงฆ์ทุกอย่าง เพราะฉะนั้นการบวชแสนรูปจะได้ประโยชน์มาก
และยังช่วยเสริมภาพลักษณ์ที่ดีงามของสงฆ์ที่แท้จริงให้สังคมได้เห็น
พระปฏิบัติธรรมรูปเดียวเวลาคนเห็นอาจจะเฉย ๆ แต่พอปฏิบัติธรรมเป็นร้อย เป็นพัน
เป็นหมื่น เป็นแสน จะมีพลัง จะช่วยเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่พระพุทธศาสนาด้วย
การบวชพระครั้งละเป็นแสนรูปมีการตั้งรับหรือจัดระบบอย่างไร?
เราทำมาหลายครั้งแล้ว
ทุกอย่างเข้าที่พอสมควร มีการจัดศูนย์อบรมตามจังหวัดและอำเภอต่าง ๆ ทั่วประเทศ
มีหลักสูตรเป็นระบบระเบียบ ทำสื่อการสอนไว้ตลอด ๔ เดือน เช้า สาย บ่าย ค่ำ
มีทั้งสื่อวิดีโอ ซีดี หนังสือ มีทุกอย่างครบเครื่อง พระอาจารย์บางรูปใช้สื่อสอน
บางรูปสอนเอง และยังมีการถ่ายทอดสดผ่านดาวเทียมอีก โดยอาราธนาพระผู้ใหญ่มาให้โอวาทออกโทรทัศน์ ศูนย์อบรมทุกศูนย์ก็เปิดฟังโอวาทจากพระผู้ใหญ่พร้อม
ๆ กัน ถือว่าทุกอย่างเป็นระบบระเบียบมาก
คนมาบวชมาก ๆ ไม่วุ่นวายหรือ?
นักเรียนไปเรียนหนังสือที่โรงเรียน
คนเรียนเยอะ ๆ วุ่นวายไหม ไม่วุ่นวาย เพราะเขามีการแบ่งเป็นชั้น เป็นห้อง
ถึงเวลาก็เข้าแถวหน้าเสาธง แล้วเข้าเรียน ช่วงพักก็ไปทานข้าว ทุกอย่างวางระบบไว้ดี
แม้คนเยอะก็เป็นระบบระเบียบ แล้วพลังหมู่จะเสริมพลังเดี่ยว ตอนเด็ก ๆ
ถ้าเราไม่เข้าโรงเรียน นั่งดูหนังสือเองที่บ้าน ตั้งตารางสอนเลย ๘ โมงดูหนังสือวิชานี้
๙ โมงดูวิชานั้น ไล่ไปวันละ ๗ ชั่วโมง
สุดท้ายวันหนึ่งจะได้ดูถึงชั่วโมงสองชั่วโมงหรือเปล่า แต่พอเข้าโรงเรียนแล้ว
เราก็สามารถเรียนได้ เพราะมีพลังหมู่ช่วย มีระเบียบของโรงเรียนกำกับไว้
มีอาจารย์มาสอน ความรู้เราก็เพิ่มขึ้น ๆ การมาบวชแสนรูปก็เหมือนกัน
ถึงเวลาก็ตื่นพร้อมกัน สวดมนต์ด้วยกัน ออกบิณฑบาตด้วยกัน นั่งฉันด้วยกัน
ช่วยกันล้างบาตร ล้างภาชนะ เช็ดถูทำความสะอาดเสนาสนะ แล้วก็มาสวดมนต์ นั่งสมาธิ
ฟังเทศน์ฟังธรรมตามหลักสูตร พอเห็นใคร ๆ เขาทำกัน เราก็ทำได้
ถ้าบวชคนเดียวใครจะมาสอนเรา จะมีครูบาอาจารย์มาสอนเราตั้งแต่ตี ๔ ครึ่งจนถึงเข้านอนไหม
จะมีพระอาจารย์สลับกัน ๓-๔ รูปมาดูแลเราคนเดียวไหม แต่พอมาบวชพร้อม ๆ
กันก็จะเป็นระบบ
ทุกอย่างก็จะได้ผลและเป็นประโยชน์มาก ๆ
การบวชมีความสำคัญขนาดไหน? ถ้าเราเป็นคนดี เราไม่บวชได้หรือไม่?
การบวชเป็นการยกฐานะของเราจากผู้นับถือพระรัตนตรัยขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของพระรัตนตรัย
เป็นการก้าวออกจากภาวะฆราวาสผู้ครองเรือนไปสู่ความเป็นพระภิกษุผู้ไม่ครองเรือน
แล้วมุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพาน ซึ่งถือว่าเป็นช่วงแห่งการสร้างความดีแบบเข้มข้น
เพราะมีกรอบของพระธรรมวินัยเป็นเครื่องร้อยรัดในการปฏิบัติเดินหน้าต่อไป
ถ้าเทียบทางโลกก็เหมือนหลักสูตรเร่งรัด ที่บางคนบอกว่า ผมเป็นคนดีอยู่แล้ว
ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน กินเหล้าบ้าง สูบบุหรี่บ้าง เงินก็เงินผม แต่ว่าในแง่กฎแห่งกรรมเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ที่คิดว่าเราดี บางทียังดีไม่จริง ศีลเราครบหรือเปล่า ธรรมะเราดีหรือเปล่า
แต่ถ้าได้มาบวชในกรอบวินัยของพระพุทธเจ้าแล้วตั้งใจปฏิบัติจริง ๆ
ประโยชน์จะเกิดขึ้นอย่างมหาศาล
บางคนหน้าที่การงานกำลังรุ่งเรือง
จะทิ้งตรงนั้นไปบวชได้อย่างไร?
อย่างนี้ต้องวางแผนล่วงหน้า
ถ้าเราทำงานดีจริง ๆ จนกระทั่งเป็นที่ยอมรับ ถึงคราวจะลาบวชเดี๋ยวจะมีลู่ทางตามมา
เคยเจอผู้บริหารระดับสูงของธนาคารลามาบวช ความที่ทำงานดีมาก หัวหน้าก็ยอม พอบวชแล้วเกิดศรัทธาอยู่ต่อจนถึง ๘
เดือน หัวหน้าก็ยังสงวนตำแหน่งไว้ให้ สุดท้าย ๘ เดือนจึงลาสิกขาไป
นอกจากได้ทำงานเหมือนเดิมแล้ว ยังได้รับการสนับสนุนจนกระทั่งเป็นรองประธานธนาคารเลย
เพราะฉะนั้นขอให้เราเตรียมตัวล่วงหน้า ตั้งอกตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่
ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการบวชจริง ๆ แม้ต้องอาศัยเวลาบ้าง แต่เมื่อได้บวชแล้ว
นอกจากการงานไม่กระทบกระเทือน ยังได้ผลแห่งการบวชเต็มที่
เพราะมีการเตรียมตัวเตรียมใจมาล่วงหน้านานแล้ว
คนที่เป็นเสาหลักของครอบครัว
ต้องหาเลี้ยงคนในบ้าน จะทำอย่างไร?
ต้องมีการวางแผนไว้ล่วงหน้าเช่นเดียวกัน
เราจะบวชเราต้องมีความรับผิดชอบ ตั้งใจทำงาน หางานพิเศษทำ
จนกระทั่งภาวะเศรษฐกิจของครอบครัวไม่เดือดร้อน พอพร้อมแล้วก็บวช
ทุกอย่างต้องมีการเตรียมตัวล่วงหน้า แต่จะให้สมบูรณ์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ อย่าพึงคิด
เอาเป็นว่าหลัก ๆ เรื่องเศรษฐกิจต้องอยู่ได้ ไม่เดือดร้อน
แล้วอีกแง่มุมหนึ่งให้เราคิดว่า ถ้าเราปุบปับเดินไปถูกรถชนเสียชีวิต
ครอบครัวจะอยู่ได้ไหม จริง ๆ ทุกคนอยู่ได้ แต่อาจจะลำบากหน่อย
การไปครั้งนี้เราไม่ได้ไปบวชเอาสบาย แต่ไปบวชฝึกตัวเองอย่างจริงจัง
กลับมาแล้วจะเป็นสามีที่ดีขึ้น เป็นพ่อที่ดีของลูก เป็นลูกที่ดีขึ้นของพ่อแม่
เป็นพนักงานที่ดีของบริษัท
ทางโลกเวลาข้าราชการจะขึ้นตำแหน่งสูง
ๆ เขาก็มีการอบรม เช่น รองผู้ว่าฯ จะขึ้นเป็นผู้ว่าฯ รองอธิบดีจะขึ้นเป็นอธิบดี
ต้องมีการอบรมหลักสูตร นบส. นักบริหารระดับสูง อบรม ๔ เดือน วางงานหมดเลย
ลองคิดดูสิคนที่รับผิดชอบขนาดเป็นรองผู้ว่าฯ เป็นรองอธิบดี
บางกรมคุมลูกน้องเป็นหมื่น ๆ คน ยังมาอบรมตั้ง ๔ เดือน แสดงว่าเวลา ๔
เดือนที่ใช้ไปในการอบรม
ต้องเป็นประโยชน์คุ้มค่า คนเราขึ้นมาถึงซี ๙ อายุเฉลี่ยก็ ๕๐ ปีไปแล้ว
ทำงานอีกไม่กี่ปีก็เกษียณ เขายังคิดว่าอบรมแล้วคุ้ม
แล้วประโยชน์จากการบวชไม่ได้ใช้แค่ ๖๐ ปี แต่ใช้ตลอดชาติ ข้ามภพข้ามชาติด้วย
คุ้มไหม?
ถ้าใครคิดว่าทำไมต้องบวช
ปกติก็เป็นคนดีอยู่แล้ว ลองดูก็แล้วกันว่า ทำไมข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ต้องไปอบรม
นบส. ทำไมต้องไปเข้าหลักสูตร วปอ. เพราะเขาพิสูจน์แล้วว่าคนที่ไปอบรมจะมีความพร้อมมากกว่า
เพราะฉะนั้นจะเป็นทางโลกหรือทางธรรมก็ตาม หลักการไม่ต่างกัน
จัดการตัวเองให้เรียบร้อยเถิด วางแผนให้ดีแล้วจะทำได้
หลายคนติดแฟน ถ้าไปบวชจะสงบหรือ?
การบวชเป็นการละฆราวาสวิสัย
ถึงแม้บวชชั่วคราวก็เป็นการฝึกตัดใจจากสิ่งเหล่านี้ ระหว่างบวชไม่ต้องนึกถึงเลยดีที่สุด
ถึงคราวสึกกลับไปจะรู้สึกว่า เราเป็นหลักของครอบครัวได้ดีขึ้น
คนที่ยังยึดมั่นถือมั่นอยู่จะเป็นหลักจริง ๆ ไม่ได้ คนที่เป็นหลักได้จริง ๆ
ใจต้องนิ่ง ต้องเป็นกลาง จึงจะเป็นหลักให้คนอื่นมาพึ่งพิงอาศัยได้
อย่างที่โบราณเรียกผู้หลักผู้ใหญ่ คือ เป็นผู้ใหญ่ที่มีหลักในการดำเนินชีวิต
ถามว่าหลักอะไร? ก็คือหลักคำสอนของพระพุทธเจ้านั่นเอง
ถ้ามานั่งนึกแบบเด็ก ๆ ว่า เดี๋ยวคิดถึงแย่ คิดห่วงสารพัด ถ้าอย่างนี้เกิดเราจากโลกนี้ไป
เราไม่ห่วงหรือว่าเขาจะเป็นอย่างไร ตัดใจตั้งแต่ตอนนี้เลยจะได้รู้กัน
แล้วถ้าจะให้ดี เวลาเรามาบวช
คู่ชีวิตก็ควรมาใส่บาตรด้วย แล้วตั้งใจสวดมนต์นั่งสมาธิทุกวัน เปิด DMC ดู อย่างนี้พ่อบ้านบวชกาย แม่บ้านบวชใจ
ถ้าชวนกันอย่างนี้ ถึงคราวลาสิกขาออกไปเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ทั้งพ่อบ้านแม่บ้าน
บ้านนั้นสงบร่มเย็น แล้วจะมีแต่ความเจริญก้าวหน้า
คำว่า “ชายสามโบสถ์” ดูเหมือนไม่ค่อยดี ถ้าใครเคยบวชแล้ว
เราจะพูดอย่างไรให้เขามาบวชอีก?
ชายสามโบสถ์คบไม่ได้ที่โบราณบอกเป็นลักษณะที่ว่าตั้งใจจะบวช
แต่บวชแล้วอดทนต่อคำสั่งสอนไม่ได้
อยู่ที่วัดนั้นไม่ได้ก็เลยสึกแล้วไปบวชที่วัดใหม่ บวชแล้วก็สึกอีก
แล้วก็หาวัดอื่นบวชอีก ร่อนเร่ไปอย่างนี้ เขาบอกว่าคนอย่างนี้คบไม่ได้
เอาแต่ใจตัวเอง ไม่อยู่ในกรอบพระธรรมวินัย ไม่อยู่ในกรอบของหมู่คณะ
แต่ถ้ามาบวชระยะสั้นด้วยภารกิจของครอบครัว ของการงาน พอครบกำหนดก็ลาสิกขา
ตอนหลังจัดเวลาได้ก็มาบวชอีก อย่างนี้อย่าว่าแต่ ๓ ครั้งเลย จะเป็น ๕ ครั้ง ๗ ครั้ง ๑๐ ครั้ง ยิ่งมากครั้งยิ่งดี
เป็นการเสริมบุญเสริมบารมีให้มากยิ่ง ๆ ขึ้นไป
เคยได้ยินข่าวด้านลบของวัดพระธรรมกาย จะให้มั่นใจกับการบวชครั้งนี้ได้อย่างไร?
มีสุภาษิตว่า “ไม้ใหญ่ต้องลมแรง” เมื่อทำงานใหญ่ก็ต้องมีทั้งคนชอบคนไม่ชอบเป็นธรรมดา และคนที่ชอบก็มักจะอยู่เฉย ๆ
ไม่ไปต่อล้อต่อเถียงกับใคร แต่คนที่ไม่ชอบหรือได้รับข้อมูลมาผิด ๆ
ก็วิจารณ์กันไปเรื่อยเปื่อย และไม่มีใครไปแก้ความเห็นที่ไม่ถูกต้อง จริง ๆ
แล้วบางคนไม่ได้มีอะไร แต่ได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องมา
เลยเกิดเป็นภาพที่ยังไม่ใช่อยู่ในใจเท่านั้นเอง
แต่ถ้าได้มาสัมผัสแล้วทุกคนจะพบว่าโครงการนี้ดีมาก เป็นประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนามาก
เพราะฉะนั้นถ้าใครอยากรู้ว่าเป็นอย่างไร ต้องมาพิสูจน์
บวชพระต้องรักษาศีลถึง ๒๒๗ ข้อ บางคนก่อนมาบวช
ศีล ๕ ยังไม่ครบเลย จะรักษาได้ไหม?
ไม่มีปัญหา ในครั้งพุทธกาลเคยมีพระภิกษุมาบวชแล้วกังวลมาก
พระวินัยมีเป็นร้อย ๆ ข้อ ต้องคอยระวังว่าจะผิดศีลข้อไหนหรือเปล่า
รู้สึกเครียดไปหมด เลยไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า จะขอสึก พระพุทธเจ้าตรัสว่า
ถ้าให้เธอรักษาอย่างเดียวจะรักษาได้ไหม ท่านตอบว่า ได้
พระพุทธเจ้าทรงบอกให้รักษาอย่างเดียวก็คือรักษาใจ รักษาใจนิ่ง ๆ อยู่ในตัว
อยู่ที่ศูนย์กลางกาย พระรูปนี้ก็ตั้งใจปฏิบัติ สุดท้ายเป็นพระอรหันต์
เพราะฉะนั้นอย่าไปกังวล ทุกท่านสามารถปฏิบัติได้ ขอให้คลายกังวลแล้วมาบวชเถิด
ก่อนบวชทำไมถึงต้องมีการฝึกตัวก่อน
บวชเลยไม่ได้หรือ?
อย่างที่บอกตอนต้น การบวช คือ
การยกฐานะจากผู้นับถือพระรัตนตรัยขึ้นไปเป็นส่วนหนึ่งของพระรัตนตรัย
เป็นการยกที่สูงส่งมาก เราจะเห็นว่าก่อนบวชเรากราบพ่อแม่ แต่พอบวชแล้ว พ่อแม่และญาติผู้ใหญ่กราบเรา
เพราะฉะนั้นถ้ามาถึงก็โกนหัวแล้วบวชเลยก็มีแต่เปลือก บางทียังขานนาคไม่เป็น
เปล่งวาจาขอบวชยังไม่รู้เรื่องเลย ไม่ค่อยได้อะไร ได้แต่เปลือกไป
บวชทั้งทีต้องเอาแก่นไปด้วย เราต้องเตรียมตัวให้พร้อม
เมื่อบวชครองผ้าเหลืองแล้วพ่อแม่ท่านกราบเรา เราต้องไม่แหนงใจ
ฉะนั้นจึงต้องมีช่วงเตรียมตัว รักษาศีล ๘ ฝึกสวดมนต์ ทำวัตร นั่งสมาธิ
ฝึกกิริยามารยาท ฝึกท่องคำขานนาค ศึกษาพระวินัยข้อสำคัญ ๆ
การบวชไม่ใช่แค่ก้าวขึ้นบันไดแค่ขั้นสองขั้นจากคนทั่วไปขึ้นมาเป็นพระสงฆ์
มาเป็นส่วนหนึ่งของพระรัตนตรัย แต่ก้าวขึ้นสูงลิ่วเลย ฉะนั้นถ้ากระโดดจากพื้นขึ้นชั้นสองเลยอาจจะกระโดดไม่ถึง
ต้องมีขั้นบันไดมาเสริม การเตรียมตัวก่อนบวชก็เหมือนกับว่ามีบันไดให้เราค่อย ๆ ไต่
จะได้พร้อมเข้าไปสู่ภาวะของความเป็นพระภิกษุ ทั้งกาย ทั้งใจ ในเบื้องต้น
ตอนมาบวชจะได้ฝึกอะไรบ้าง? ถ้าลาสิกขาออกไปจะได้อะไรติดตัวไปบ้าง?
ถ้าหากกล่าวโดยย่อ จะได้ฝึกเรื่องศีล
สมาธิ และปัญญา ฝึกศีล ก็คือ ตอนก่อนบวชก็รักษาศีล
พระอาจารย์จะสอนให้เข้าใจทั้งหมดว่าศีล ๘ มีรายละเอียดแต่ละข้ออย่างไร
ต้องปฏิบัติอย่างไรถึงจะถูกต้อง แล้วขยับขึ้นไปถึงศีล ๒๒๗ ข้อ
มีการศึกษาพระธรรมวินัยทั้ง ๒๒๗ ข้ออย่างละเอียด ฝึกสมาธิ ก็คือ
ได้สวดมนต์นั่งสมาธิสม่ำเสมอ เช้า สาย บ่าย ค่ำ ในด้าน ปัญญา ก็ได้ตั้งแต่รู้จำ คือ จำธรรมะต่าง ๆ
ได้ แล้วก็รู้คิด คือ จำได้แล้วต้องเข้าใจด้วย สามารถเชื่อมโยงหลักธรรมมาปฏิบัติให้เป็น
แล้วมุ่งไปสู่รู้แจ้ง คือ การปฏิบัติเพื่อให้เกิดญาณทัสนะ ดังที่หลวงพ่อย้ำว่า “ให้บวช ๒ ชั้นนะลูก” คือ บวชภายนอกครองผ้าเหลืองแล้ว กายภายในก็ให้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายในด้วย
อย่างนี้ก็คือการบวช ๒ ชั้น ผู้บวชได้บุญมหาศาล โยมพ่อ โยมแม่ ญาติพี่น้อง
ผู้อนุโมทนาทั้งหลายก็ได้บุญมหาศาล หลวงพ่อท่านมุ่งหวังให้ไปถึงจุดนี้
ถึงจุดนี้เมื่อไรเราจะเกิดความรู้แจ้งขึ้น และจะได้อานิสงส์ในการบวชอย่างเต็มที่
ผู้บวชเข้าวัดปฏิบัติธรรม ฝึกฝนอบรมตนเอง
บุญส่งถึงพ่อแม่อย่างไรบ้าง?
ต้องถามว่า ตัวเรามาจากไหน เราจะพบว่า
ชีวิตของเราได้มาจากท่าน เลือดก็มาจากท่าน เนื้อก็มาจากท่าน
เพราะฉะนั้นท่านเป็นผู้ลงทุนในตัวเรา ให้กำเนิดเรามา เมื่อเราไปบวชบุญจึงถึงพ่อแม่ครึ่งหนึ่งของที่เราได้รับ
คือ ผู้บวชได้รับ ๖๔ กัป พ่อแม่ได้รับ ๓๒ กัป เปรียบเหมือนใครตั้งบริษัทขึ้นมา
ตัวเองเป็นผู้ถือหุ้น แล้วให้นักบริหารมืออาชีพมาบริหาร พอบริษัทมีกำไร
ผู้ถือหุ้นก็ได้กำไรทั้งที่ไม่ได้ไปบริหารงาน นั่งอยู่เฉย ๆ ก็ได้กำไร
เพราะว่าเขาเป็นผู้ให้กำเนิดบริษัทนั้นมา เป็นผู้ถือหุ้นอยู่
เวลามีกำไรเกิดขึ้นเขาก็ต้องมีส่วนได้ด้วย พ่อแม่ก็ได้บุญด้วยทำนองนี้
บุญที่ได้รับจากการบวชแสนรูปกับบวชทีละรูปสองรูปต่างกันอย่างไร?
มีความแตกต่างอย่างที่บอกไปแล้วว่า
ถ้าเราบวชเป็นหมู่คณะจะมีพลังหมู่มาเสริมพลังเดี่ยว
และมั่นใจได้ว่าจะได้รับการดูแลอบรมอย่างดี ถ้าบวชรูปเดียวส่วนใหญ่ก็มีพระมาเป็นพี่เลี้ยง ทำตัวอย่างให้ดูสักวันสองวัน
มาแนะนำการครองจีวร การบิณฑบาต บอกให้ลงไปสวดมนต์ตอนนั้นตอนนี้ เช้าทำวัตร
เย็นไปทำวัตรอีกที กลางวันอาจจะว่าง บางคนเลยพาลเข้าใจผิดว่า บวชแล้วไม่เห็นได้อะไร
ถ้ามาบวชแสนรูปรับรองมีกิจวัตรกิจกรรมแน่น ใช้เวลาอย่างคุ้มค่า
คล้ายกับการบวชในครั้งพุทธกาล ที่ออกบวชตั้งใจปฏิบัติธรรมมุ่งนิพพาน
ในแง่ของผู้ที่มาอนุโมทนาในการบวช
ถ้าเราไปร่วมงานบวชของญาติพี่น้อง คนรู้จัก อย่างที่มีการแห่นาคกัน เราก็ได้บุญ
ยกเว้นใครที่แห่นาคไป ถือขวดเหล้าอยู่ในมือไปด้วย เผลอ ๆ
ส่งขวดเหล้าให้นาคฉลองปิดท้าย พอเข้าโบสถ์เมาแอ๋เลย อย่างนี้ได้บาป
แต่คนที่ไปอนุโมทนาถูกต้องก็ได้บุญ แต่ถ้ามาอนุโมทนาบวชแสนรูป
มีผู้มาบวชเป็นหมื่นเป็นแสนคน จากครองผ้าขาวเป็นนาคเต็มลานธรรม
เสร็จแล้วเวียนประทักษิณบูชาเจดีย์ แล้วมารับศีลจากพระอุปัชฌาย์
แล้วก็ครองผ้าเหลือง ถ้าเราเห็นเราจะปลื้มไหม ภาพที่เห็นนี้เป็นทัสนานุตริยะ
แปลว่า การเห็นอันประเสริฐ ภาพนี้จะติดตาตรึงใจ
ถึงคราวหลับตาลาโลกภาพนี้จะปรากฏขึ้น ทำให้ปลื้มใจ พอใจปลื้ม ใจก็ใส
ใจใสก็ไปสวรรค์เลย ถ้าไปนึกถึงภาพกินเหล้าเมายา ใจก็หมอง ใจหมองก็ต้องไปอบาย
เพราะฉะนั้น การมาอนุโมทนาการบวชจำนวนมากอย่างนี้
บุญเราทับทวี แล้วอนุโมทนาผู้บวชไม่ใช่คนเดียว บวชหมื่นคนแสนคนบุญมหาศาล
โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราไปทำหน้าที่ชวนคนมาบวชอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน
ลุยตากแดดตากฝน เหงื่อไหลไคลย้อย ตั้งใจทำอย่างเต็มที่ ถ้าอย่างนี้ตอนมาร่วมพิธีบวชจะปลื้มกว่าปกติ
เพราะเราเป็นคนที่สร้างสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นด้วยน้ำพักน้ำแรง เราคือเจ้าของงาน
เจ้าของบุญ ความปลื้มจะทับทวี ตอนนี้ให้รีบไปชวนคนมาบวชก่อน แล้วมาอนุโมทนาความสำเร็จในวันบวชกัน
โครงการอุปสมบทหมู่ ๑๐๐,๐๐๐ รูป ทุกหมู่บ้านทั่วไทย บวชฟรี
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
โทร. ๐๒-๘๓๑-๑๒๓๔ หรือ www.dmycenter.com
Cr. พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่
๑๕๓ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๘
คลิกอ่านข้อคิดรอบตัวของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
เริ่มปีใหม่ในแบบชาวพุทธ
ข้อคิดจากคำว่า “รัก”
ข่าวพระพุทธศาสนา
บาปที่ทำ กรรมที่รับไว้
วิสาขบูชา วันสำคัญของชาวโลก
พระพี่เลี้ยง
แม่..พระในบ้าน
นักสร้างบารมีกับเทคโนโลยีสมัยใหม่
ความลึกลับ : สิ่งที่วิทยาศาสตร์คาดไม่ถึง
ข้อคิดจากบทสวดมนต์
ทำไมต้องสั่งสมบุญบ่อย ๆ
"ปลื้ม" หัวใจของการสร้างบุญ (ปีถัดไป)
|
คลิกอ่านข้อคิดรอบตัวของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
เริ่มปีใหม่ในแบบชาวพุทธ
ข้อคิดจากคำว่า “รัก”
ข่าวพระพุทธศาสนา
บาปที่ทำ กรรมที่รับไว้
วิสาขบูชา วันสำคัญของชาวโลก
พระพี่เลี้ยง
แม่..พระในบ้าน
นักสร้างบารมีกับเทคโนโลยีสมัยใหม่
ความลึกลับ : สิ่งที่วิทยาศาสตร์คาดไม่ถึง
ข้อคิดจากบทสวดมนต์
ทำไมต้องสั่งสมบุญบ่อย ๆ
"ปลื้ม" หัวใจของการสร้างบุญ (ปีถัดไป)
ไขทุกปัญหาก่อนบวช โครงการอุปสมบทหมู่ ๑๐๐,๐๐๐ รูป ทุกหมู่บ้านทั่วไทย
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
20:39
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: