"ปลื้ม" หัวใจของการสร้างบุญ
อยากทราบให้มากกว่าเดิมว่า “ปลื้ม”
คืออะไร?
คำว่าปลื้มเป็นคำทั่วไปที่เราใช้กันคุ้นเคยแต่ศัพท์ในพระพุทธศาสนาที่มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่าปลื้มก็คงเป็นคำว่า
“ปีติ”(ไม่ใช่ปิติ)
ปีติมี ๕ ประการ
ประการแรก ขุททกาปีติ หมายถึง
ปีติเล็กน้อย ปีติชั่วครั้งชั่วคราว บางทีมีอาการขนลุกชูชัน น้ำตาซึมด้วยความยินดี
ประการที่สอง ขณิกาปีติ หมายถึง
ปีติชั่วขณะ เช่น มีความรู้สึกซู่ซ่าขึ้นมาเหมือนฟ้าแลบแปลบปลาบ
ประการที่สาม โอกกันติกาปีติ หมายถึง ปีติชั่วขณะ เป็นระลอก ๆ
มีระยะความปีติยาวออกมาอีกนิดหนึ่ง เปรียบเสมือนคลื่นกระทบฝั่งเป็นระลอก ๆ
ประการที่สี่ อุพเพงคาปีติ
หมายถึง ปีติ แบบโลดโผน คือ ปีติจนกระทั่งทำบางอย่างที่ไม่คาดฝันมาก่อน เช่น
อุทานออกมาด้วยความปีติ บางท่านเคยเห็นคนนั่งสมาธิตัวสั่น
นั่นก็เป็นอาการของอุพเพงคาปีติ
ประการที่ห้า ผรณาปีติ หมายถึง ปีติซาบซ่าน เป็นปีติที่เกิดแล้วทำให้รู้สึกชุ่มชื่นใจและซาบซ่านไปทั้งตัว
เป็นปีติที่น้อมนำใจให้สงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ
บางครั้งปีติก็เป็นแบบผสมผสาน คืออาจจะรู้สึกซาบซ่านด้วย อุทานด้วย
ขนลุกชูชันด้วย นี้ก็คืออาการของความปีติหรือความปลื้มนั่นเอง
“ความปีติ” หรือ
“ความปลื้ม” มีผลต่อบุญในตัวเราอย่างไร?
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า เวลาทำบุญ
ถ้าจะได้บุญมากต้องประกอบด้วยองค์ ๓ ดังนี้
๑. วัตถุบริสุทธิ์ หมายถึง
วัตถุที่ถวายเป็นทานต้องได้มาด้วยความถูกต้องชอบธรรม ถ้าเป็นของที่ขโมยมา
บุญก็ลดลงไปตามส่วน
๒. เจตนาบริสุทธิ์ คำว่า
เจตนาบริสุทธิ์จะสัมพันธ์กับคำว่าปลื้ม จะขอขยายความทีหลัง
๓. บุคคลบริสุทธิ์ หมายถึง
ผู้รับทานของเราเป็นผู้บริสุทธิ์ ยิ่งบริสุทธิ์มาก มีคุณธรรมมาก
บุญก็มากขึ้นไปตามส่วน รวมทั้งตัวเราเองในฐานะผู้ให้ทาน
ถ้ามีศีลและใจเป็นสมาธิตั้งมั่นมากเท่าไร บุญก็ยิ่งมากตามส่วนไปด้วย
ดังนั้นทำบุญกับบุคคลที่มีศีล ย่อมได้บุญมากกว่าทำกับคนไม่มีศีล ทำบุญกับพระโสดาบันได้บุญมากกว่าทำกับบุคคลธรรมดาทั่วไป
ทำบุญกับพระอรหันต์บุญยิ่งมากขึ้น
ย้อนกลับมาข้อ ๒ เจตนาบริสุทธิ์ก็คือตั้งแต่ก่อนให้ทานก็มีจิตเลื่อมใส
ขณะให้ก็ให้ด้วยความตั้งใจ มีความเลื่อมใสเต็มเปี่ยม เมื่อให้ทานไปแล้ว
ความเลื่อมใสก็ยังเกิดอย่างต่อเนื่อง มีปีติเกิดขึ้นทั้งก่อนให้ ขณะให้ และหลังให้
บางคนมีศรัทธา แต่พอทำบุญเสร็จแล้วนึกว่าทำเยอะไปหรือเปล่า ชักเสียดาย ผลก็คือ บุญเกิดไม่เต็มที่
ผลบุญที่ให้ทานแม้ทำให้เกิดมาเป็นเศรษฐี
แต่เพราะความตระหนี่ทำให้เสียดายไม่ยอมใช้ทรัพย์ บางคนมีเงินมากมาย
แต่เวลาซื้อผลไม้ต้องซื้อชนิดที่เกือบจะเน่า แล้วมาตัดที่เน่า ๆ ออก มีเสื้อผ้าดี
ๆ ก็เก็บไว้ในตู้ แล้วหาเสื้อขาด ๆ มาใส่ เพราะว่าเสียดาย
นี่เป็นเพราะว่าถวายทานแล้วนึกเสียดายทีหลัง
คนที่รู้หลักจะต้องรักษาใจให้ปลื้มทั้งก่อนทำ ขณะทำ และทำไปแล้ว
ให้ใจใสเป็นแก้ว และมีความปีติเบิกบาน นึกครั้งใดก็ปลื้มอกปลื้มใจ
อย่างนี้ได้บุญมาก
มีคนบอกว่าที่วัดพระธรรมกายสอนว่า
ทำมากได้บุญมาก ความจริงก็คือ ถ้าเงื่อนไขอื่นเท่ากัน วัตถุบริสุทธิ์เหมือนกัน
ทุกอย่างเหมือนกันหมด คนทำมากกว่าก็ต้องได้บุญมากกว่าเป็นธรรมดา
แต่คนที่มีอคติยากที่จะเข้าใจหรือยอมรับได้
ให้เรามาปรับวิธีอธิบายให้เขาฟังใหม่ว่า ใครมีใจเลื่อมใสมาก ก็จะได้บุญมาก ถ้าพูดอย่างนี้เขาจะยอมรับได้
และความจริงก็เป็นอย่างนี้
สำหรับคนยากจน เขาทำบุญ ๕
บาท ซึ่งอาจจะเป็นข้าวมื้อต่อไปของเขาก็ได้ เขาทำเต็มที่ของเขาแล้ว เขาก็ได้บุญมาก แต่คนที่มีทรัพย์มาก
ถ้าเขามีจิตเลื่อมใส เขาจะทำ ๕ บาทไหม ไม่หรอก เขาต้องทำเต็มที่ เต็มกำลังศรัทธา
เต็มความพร้อมของเขา
ดังนั้น คนที่มีทรัพย์น้อยก็มีโอกาสได้บุญใหญ่ ถ้าตั้งใจสร้างบุญเต็มที่
พอใจเลื่อมใสอย่างเต็มเปี่ยม บุญก็มหาศาล แม้ว่าทรัพย์ไม่มาก
แต่ก็ทำเต็มที่เท่าที่เขามีอยู่ในขณะนั้น เพราะฉะนั้นทำให้ถูกหลักวิชา
ปลื้มทั้งก่อนทำขณะทำ และหลังทำ
ถ้าเราทำบุญเดิม ๆ
ซ้ำกันทุกวันจนรู้สึกไม่ปลื้มเท่ากับทำครั้งแรก จะมีวิธีแก้ไขอย่างไร?
เราต้องรู้จักปรับใจให้ดี
ถ้าเราทำบุญจนกระทั่งรู้สึกว่าเป็นหน้าที่อย่างหนึ่ง ถึงเวลาเช้าก็ตักบาตร
ไม่ได้คิดอะไร อย่างนี้ความปลื้มอาจจะลดลงได้ เพราะเกิดเป็นความเคยชินขึ้นมาแทน
แต่ถ้าเรามีความตื่นตัว เอาหลักอิทธิบาท ๔ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา มาใช้เราจะรู้สึกใหม่อยู่เสมอ
ฉันทะ คือ เห็นประโยชน์ถึงทำ
ไม่ใช่ทำเพราะหน้าที่
วิริยะ คือ ทำแบบมีความใส่ใจเป็นพิเศษ
จิตตะ คือ มีความตั้งใจทำ ไม่ใช่ทำไปเรื่อย ๆ เหมือนหน้าที่
ถ้าอย่างนั้นความปีติจะหย่อนลง แต่ถ้าเราใส่ใจ เดิมเคยถวายทานวันนี้จะทำให้พิเศษมากขึ้น
ประณีตขึ้นใส่ใจยิ่งขึ้นทุกครั้ง ก็จะนำไปสู่ วิมังสา
มีความเข้าใจในการถวายทานมากขึ้น ๆ ถ้าอย่างนี้ถวายทานไปร้อยครั้ง พันครั้ง
ครั้งที่หนึ่งร้อยและครั้งที่หนึ่งพันจะปลื้มมากกว่าครั้งแรกอีกเพราะเราตระหนักถึงคุณค่าและมีความตื่นตัว ใจเราก็ใหม่เสมอ
ทำครั้งที่ร้อยมีความชำนาญมากขึ้น ปีติก็พร้อมจะเกิดมากขึ้น เหมือนกับคนนั่งสมาธิ
ถ้าหากนั่งแบบตื่นตัว ตั้งใจนั่ง นั่งครั้งที่ร้อยจะก้าวหน้ามากขึ้น
แต่คนไหนนั่งแบบทำหน้าที่ ถึงเวลาก็นั่ง พอเริ่มนั่งก็เตรียมหลับ
อย่างนี้นั่งครั้งที่ร้อยอาจจะก้าวหน้าไปนิดเดียว
บางคนทำถูกหลัก นั่งสมาธิครั้งแรกได้ผลดีกว่าคนนั่งตั้งร้อยครั้ง
เพราะมีความตื่นตัวมีฉันทะ วิริยะ จิตตะ มีใจจดจ่อทำให้เกิด วิมังสา เข้าใจทำ
เพราะฉะนั้นจะสร้างบุญด้วยการถวายทานก็ตาม
ด้วยการปฏิบัติธรรมก็ตาม ถ้าครบองค์ประกอบอิทธิบาท ๔ ได้บุญเยอะ ปีติไม่มีลด
มีแต่เพิ่มตลอดเวลา
ทำทานน้อยแต่ปลื้มมาก จะได้บุญมากกว่าทำมากปลื้มน้อยไหม?
คำถามนี้น่าสนใจ พอตอบว่าปลื้มมากได้บุญมาก ปลื้มน้อยได้บุญน้อย
บางคนก็คิดเลยว่า ถ้าอย่างนี้เราทำบุญนิดเดียว แล้วปลื้มมาก ๆ ก็ได้บุญมากสิ
ในความเป็นจริงถ้าเราปลื้มมากได้จริง ๆ ก็ได้บุญเยอะ
แต่ว่าโดยธรรมชาติของคนเรา ถ้ามีจิตเลื่อมใสและมีทรัพย์มากคงจะไม่ทำนิดเดียว
คนที่ไม่ค่อยมีเงินทำบุญนิดเดียวคือเต็มที่ของเขาแล้ว
แต่คนที่มีทรัพย์มากเขาก็จะทำเต็มที่ไปตามส่วนของเขา บุญก็ยิ่งเกิดทับทวี
เมื่อเจตนาบริสุทธิ์แล้ว และทรัพย์มีอยู่ ไทยธรรมมีอยู่
ก็จะถวายเต็มกำลังศรัทธา
ดังที่พระนางมัลลิกากับพระเจ้าปเสนทิโกศลถวายอสทิสทานหรือทานที่ไม่มีผู้ใดเสมอเหมือน หรือที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างพระเชตวันมหาวิหาร
แค่ซื้อที่ดินก็ยอมเอาเงินมาปูเรียงเคียงกันเพื่อซื้อแผ่นดิน เพราะว่าเกิดปีติศรัทธา
ถ้าเรามีทรัพย์ล้านหนึ่ง แล้วทำบุญบาทหนึ่งและคิดว่าจะมาปีติเยอะ ๆ
แบบนี้ปีติไม่มีทางเกิดหรอก
เพราะว่าความตระหนี่ครอบงำใจอยู่ปีติจะเกิดขึ้นเมื่อสามารถขจัดความตระหนี่ได้เหมือนที่มหาทุคตะตัดใจถวายผ้าเก่า
ๆ ที่มีอยู่ผืนเดียวแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วเกิดปีติซาบซ่าน
เพราะว่าจิตที่ประกอบด้วยศรัทธาเต็มเปี่ยมมีกำลังครอบงำความตระหนี่ให้สยบลงไปได้
แต่ถ้ามีเงินล้าน ทำบุญบาทหนึ่ง สลึงหนึ่ง แล้วบอกว่าเราจะมีปีติเยอะ ๆ
มันได้แต่คำพูด
ในความเป็นจริงไม่มีโอกาสเกิดขึ้นเลยเพราะฉะนั้นขอให้ทำเต็มกำลังศรัทธา ทำแล้วปลื้มปีติเถิด
ถ้าเราทำบุญอะไรแล้วปลื้มมาก ๆ
จะช่วยให้เราจำบุญนั้นได้ไม่ลืมเลยใช่ไหม?
ใช่ เคยเจอบางคนบอกว่าทำบุญไปมาก มากจนกระทั่งลืม ซึ่งแต่ละบุญก็ไม่ใช่น้อย
ๆ บางทีต้องบอกผู้ประสานงานว่าช่วยรวมภาพที่ผมทำบุญให้หน่อยได้ไหม
จะได้เอามาทบทวนดูว่าทำอะไรไปบ้าง แต่บุญที่ทำแล้วไม่ลืมจริง ๆ ก็คือ บุญที่ทำด้วยชีวิต
อันนั้นจะปลื้มมาก ๆ และติดอยู่ในใจ เช่น คุณอนันต์ อัศวโภคิน ตอนที่มีเงินเยอะ ๆ
ทำบุญไปแล้วก็เฉย ๆ จำไม่ค่อยได้ เพราะว่าใจมุ่งไปข้างหน้า คิดว่าสิ่งนี้เป็นประโยชน์ต่องานพระศาสนาก็ทำ ๆ
ไป แต่บุญที่ไม่ลืมเลยก็คือ บุญที่ทำตอนเกิดวิกฤต IMF เงินที่จะเดินไปถวายหลวงพ่อก็คือ
เงินก้อนสุดท้ายในชีวิต ถวายเสร็จแล้วจะเอาเงินที่ไหนไปทำงานต่อยังนึกไม่ออกเลย
พอถวายขาดจากใจปรากฏว่าไม่ลืมบุญนั้นเลย แค่นึกก็ปลื้ม
เวลาเล่าให้คนอื่นฟังความปีติความปลื้มก็จะขึ้นมาเลย เพราะทำด้วยชีวิต
ใครเคยทำอย่างนี้จะเข้าใจ มหาทุคตะสองสามีภรรยามีผ้านุ่งแค่ผืนเดียวเอาไว้คลุมตัวตอนออกจากบ้าน
สองคนมีผ้าผืนเดียว จะออกจากบ้านก็ต้องสลับกันออกไป
ถ้าถวายผ้าผืนนี้แด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว
ไม่เฉพาะตัวเองเท่านั้นว่าจะออกจากบ้านอย่างไร แต่แม่บ้านก็ออกไม่ได้ด้วย ผ้าเก่า
ๆ ผืนนี้คือสมบัติที่มีทั้งชีวิตเลย แต่พอตัดใจถวายได้ ปีติเกิดขึ้นอย่างมหาศาล
ถ้าหากเรายังไม่มีบุญที่ไม่ลืมตลอดชีวิตแสดงว่ายังปลื้มไม่ถึงจุด
แต่ถ้าหากเรามีบุญแบบนี้ บุญนี้จะคุ้มตัวเราไปตลอด และจะให้ผลชัดตอนศึกชิงภพ
ทุกขเวทนาก็กันไม่อยู่ ถ้าบุญเล็กบุญน้อย
เวลาเจ็บปวดมาก ๆ บางทีนึกไม่ออก แต่บุญที่ปลื้มมาก ๆ นึกออก พอนึกได้ใจก็ใสสว่าง
เมื่อจิตผ่องใส ไม่เศร้าหมอง สุคติเป็นที่ไป
เพราะฉะนั้นพึงหาโอกาสสร้างบุญใหญ่ที่ปลื้มสุด ๆ
ชนิดที่ลืมไม่ลงไปตลอดชาติเอาให้ได้ขนาดนั้นเลย
มีเรื่องหนึ่งเป็นข้อคิดที่ดีมาก
เรื่องราชเทวธิดา ราชเทวธิดานี้ตอนเป็นมนุษย์เป็นหญิงชาวบ้าน
วันหนึ่งนางกำลังเดินถือขันใส่ข้าวตอกไปท้องนา
ขณะนั้นพระมหากัสสปะออกจากนิโรธสมาบัติ ท่านเห็นนางในญาณก็เลยไปโปรด พอนางเห็นพระมหากัสสปะก็เกิดจิตศรัทธา
เอาข้าวตอกที่อยู่ในขันถวายท่านเลย เสร็จแล้วก็เดินกลับบ้าน
พอดีวิบากกรรมในอดีตตามมาทัน งูกัดตาย พอตายปุ๊บไปเกิดเป็นเทพธิดาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
มีวิมานทองสวยงาม ประตูวิมานเป็นรูปขันทองคำ มีข้าวตอกทองคำระโยงระยางอยู่สวยงามมาก
ผลบุญส่งทันตาเห็นเลย
เรื่องทำนองนี้มีมากมายในพระไตรปิฎกในอรรถกถา
เพราะฉะนั้นที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อถ่ายทอดอานิสงส์ของการทำบุญอะไรต่าง ๆ
ออกมาเป็นภาพให้เราเห็น ก็สอดคล้องกับที่มีในพระไตรปิฎก ในอรรถกถา
เพียงแต่ในพระไตรปิฎกเราเห็นเป็นตัวหนังสือ
แต่ที่หลวงพ่อถ่ายทอดออกมาเป็นภาพเหตุการณ์
เพราะฉะนั้นพวกเราชาวพุทธทุก ๆ
คนขอให้เดินตามหลักที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายอบรมสั่งสอนเอาไว้
แล้วชีวิตเราจะมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง ก้าวหน้า ไม่มีเสื่อมเลย
ทำบุญครั้งใดก็ให้ปลื้มใจทุกครั้ง
Cr. พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑฺโฒ) จากรายการข้อคิดรอบตัว ออกอากาศทางช่อง DMC
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๕๙ เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๕๙
คลิกอ่านข้อคิดรอบตัวของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๙ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
ทำไมต้องสั่งสมบุญบ่อย ๆ (ปีก่อนหน้า)
|
|
คลิกอ่านข้อคิดรอบตัวของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๙ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
ทำไมต้องสั่งสมบุญบ่อย ๆ (ปีก่อนหน้า)
ชาตินี้ ชาติหน้า (ปีถัดไป)
"ปลื้ม" หัวใจของการสร้างบุญ
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
01:57
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: