มิตรแท้ มิตรเทียม


เพื่อนหรือมิตรมีกี่ประเภท มีลักษณะอย่างไรบ้าง ?

เรื่องของมิตรหรือเพื่อนเป็นเรื่องที่สำคัญมากกับชีวิตของคนเรา จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ มิตรมีส่วนมาก เพราะว่าเรายังไม่หมดกิเลส ในใจของเรามีทั้งเชื้อดีและไม่ค่อยดี ถ้าเราคบมิตรที่ดีก็เหมือนเขามาช่วยรดน้ำพรวนดินให้พลังใจในตัวเราเติบโตงอกงามขึ้น นำเราไปสู่ความสุขความสำเร็จ ในทางกลับกันถ้าเราไปคบกับมิตรเทียมหรือเพื่อนที่ไม่ดี ผลก็คือเขาจะมาช่วยรดน้ำพรวนดินให้กิเลสที่ยังเหลือในใจเราเฟื้องฟูงอกงามขึ้น แล้วเราก็จะพบกับความเสื่อม ความทุกข์ ทั้งชาตินี้และชาติหน้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า มงคลชีวิตข้อแรกก็คือ ไม่คบคนพาลหรือมิตรเทียม ข้อที่สองคือ คบบัณฑิต คบกับมิตรแท้

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นมิตรแท้ มิตรเทียม ?

พระองค์ทรงแจงไว้อย่างละเอียดเป็นพิเศษว่า มิตรเทียมมีอยู่ ๔ ประเภท มิตรแท้ก็มี ๔ ประเภท แต่ละประเภทมีลักษณะอย่างไร พระองค์ก็ทรงแจงไว้ละเอียดลงไปอีก โดยเอาคุณสมบัติเด่น ๆ ออกมาให้ดูว่ามีอย่างไรบ้าง มิตรเทียมมีอยู่ ๔ ประเภท ประเภทแรก คือ คนปอกลอก ประเภทที่ ๒ คือ คนดีแต่พูด ประเภทที่ ๓ คือ คนหัวประจบ และประเภทที่ ๔ คือ คนชวนฉิบหาย ท่านทรงแบ่งไว้ ๔ ข้อ ถ้าเราอยากรู้ว่าเพื่อนเราเป็นมิตรประเภทไหนก็ดูว่าใครเข้าข่ายข้อไหน เราก็จะรู้ทันที

คนปอกลอก มีลักษณะ ๔ อย่าง คือ ๑. คิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว คนประเภทนี้เป็นคนเห็นแก่ตัว คิดเอาแต่ได้ ๒. ยอมเสียน้อย หวังจะเอามาก พวกนี้ปกติเห็นแก่ตัว แต่พอเห็นช่องว่าจะได้ก็ทำเป็นสปอร์ต แหย่เชื้อไว้หน่อยเพราะหวังว่าจะเอาประโยชน์ใหญ่ ปกติไม่ยอมให้อะไรใคร ขี้เหนียว เห็นแก่ตัว แต่เมื่อไรอยากได้ประโยชน์ถึงจะยอมให้ ๓. ตัวมีภัยจึงมาช่วยทำกิจของเพื่อน อยู่ดี ๆ ไม่ค่อยช่วยใครเพราะว่าเห็นแก่ตัว เอาแต่ตัวเองอย่างเดียว แต่เมื่อไรจะมีภัยมาถึงตัว หวังจะให้เขามาช่วยตัวเอง ก็จะทำเป็นกุลีกุจอไปเอาอกเอาใจเขา ไปช่วยเขา ๔. คบเพื่อนเพราะเห็นแก่ผลประโยชน์ เพื่อนคนนี้รวย เพื่อนคนนี้พ่อเขาใหญ่ มีเส้นมีสาย มีทางที่จะสนับสนุนให้ตนก้าวหน้า ก็ไปคบกับเขา เพราะเห็นแก่ประโยชน์ ไม่ได้มีความรักใคร่จริงใจ

ทั้ง ๔ อย่างนี้ คือ ลักษณะของคนปอกลอก แล้วเวลาตรวจสอบอย่าไปมัวแต่ตรวจสอบคนอื่น ต้องตรวจสอบตัวเราด้วยว่าเราเข้าข่ายตรงไหนบ้างหรือเปล่า คนส่วนใหญ่จะมีบางข้อมากบางข้อน้อยผสมกัน แม้แต่ตัวเราก็เช่นเดียวกัน ให้ดูว่าเรามีข้อไหนบ้าง ดีกรีแก่อ่อนอย่างไร จะได้เอามาปรับปรุงตัวเราให้สมบูรณ์ขึ้น

คนดีแต่พูด มีลักษณะ ๔ อย่าง คือ

๑. ดีแต่ยกเรื่องที่ผ่านไปแล้วมาปราศรัย ผ่านไปแล้ว ๓ เดือน ๖ เดือน บางที ๑๐ ปี เอามาพูดอยู่นั่น แล้วก็มักจะคุยแบบบิดไปนิด ๆ เช่น เคยช่วยใครนิดหน่อยสัก ๕ เปอร์เซ็นต์เอามาพูดเสียอย่างกับช่วย ๙๙ เปอร์เซ็นต์ เลยคุยซ้ำแล้วซ้ำเล่า ยกแต่เรื่องในอดีตมาคุย ๒. ดีแต่อ้างเรื่องที่ยังไม่มีมาปราศรัย เรื่องยังมาไม่ถึงเอามาคุยว่าต่อไปจะอย่างนั้นอย่างนี้ เช่น ถ้าเรารวยเราจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ให้เธอ คือ คุยเรื่องข้างหน้า เรื่องอนาคตที่เลื่อนลอย ๓. สงเคราะห์ในสิ่งที่หาประโยชน์ไม่ได้ จะให้อะไรใครก็เอาของที่ไม่มีประโยชน์มาให้ ทำเหมือนใจกว้าง เอามาแบ่งให้ คนรับไปก็ไม่รู้จะเอาไปทำอะไรเหมือนกัน ๔. เมื่อเพื่อนมีกิจอ้างแต่เหตุขัดข้อง ถึงคราวเพื่อนจำเป็นจริง ๆ ต้องการความช่วยเหลือ ก็จะเผอิญท้องไม่ดี เผอิญพ่อป่วย เผอิญติดงานนั้นงานนี้ เผอิญมีเหตุจำเป็นที่ช่วยไม่ได้ อ้างสารพัดอย่างสุดท้ายคือไม่ช่วย

คนหัวประจบ มีลักษณะ ๔ อย่าง คือ

๑. จะทำชั่วก็คล้อยตาม เราจะไปทำอะไรไม่ดีก็ไม่ขัดคอเลย ยอตะบัน ๒. จะทำดีก็คล้อยตาม เราจะทำดีก็เออออห่อหมก ไม่ขัดคอเลย ประจบอย่างเดียว ๓. ต่อหน้าสรรเสริญ ๔. ลับหลังนินทา

คนหัวประจบต่อหน้าดีทุกอย่าง ไม่มีขัดคอเลย เรียกว่าผสมกลมกลืนทุกอย่าง แต่พอลับหลังไปพูดอย่างนั้นอย่างนี้ นี้แหละเพื่อนที่มีลักษณะหัวประจบ เอาเป็นหลักเป็นฐานอะไรไม่ได้ และจะทำให้เราพลาดไปในทางที่เสียหายได้

คนชวนฉิบหาย มีลักษณะ ๔ อย่าง คือ

๑. คอยเป็นเพื่อนดื่มน้ำเมา เพื่อนพวกนี้เฮไหนเฮนั่น ๒. คอยเป็นเพื่อนเที่ยวกลางคืน จะไปบาร์ ผับ คาราโอเกะ ไปด้วย ๓. คอยเป็นเพื่อนเที่ยวดูการละเล่น จะไปคอนเสิร์ต จะไปเล่นเกมอะไรอย่างไรไปด้วย เรียกว่าถึงไหนถึงกัน ๔. คอยเป็นเพื่อนไปเล่นการพนัน จะไปพนันบอล พนันม้า พนันอะไรก็ตาม ไปด้วยตลอด พวกนี้พูดง่าย ๆ ว่าชวนไปยุ่งกับอบายมุข ถ้าเพื่อนเราคนไหนมีลักษณะชวนไปยุ่งกับพวกอบายมุข ทั้งดื่มน้ำเมา เที่ยวกลางคืน ดูการละเล่นเป็นนิจ แล้วก็เล่นการพนัน ให้รู้ไว้ว่านั้นคือ เพื่อนชวนฉิบหาย

ทั้งหมดนี้เป็นมิตรเทียม ๔ ประเภท ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเอาไว้

มิตรแท้ก็มี ๔ ประเภท ประเภทแรก คือ มิตรมีอุปการะ ประเภทที่ ๒ คือ มิตรร่วมทุกข์ร่วมสุข ประเภทที่ ๓ คือ มิตรแนะประโยชน์ ประเภทที่ ๔ คือ มิตรมีน้ำใจ ทั้ง ๔ ประเภทนี้คือเพื่อนแท้ที่ใคร ๆ ก็ต้องการ ถ้ามีแล้วให้รักษาหวงแหนไว้ให้ดี คนเราถ้าไม่มีพรรคไม่มีพวก ความสะดวกก็ไม่มี มีพรรคมีพวกโดยเฉพาะมิตรแท้ ความสะดวกก็จะเกิด

มิตรมีอุปการะ มีลักษณะ ๔ อย่าง คือ

๑. ป้องกันเพื่อนผู้มีความประมาท ถ้าเห็นเพื่อนประมาทจะไปทำเรื่องไม่ดีก็จะช่วยรักษาเพื่อนไว้ ไม่ยอมให้ไปทำเรื่องไม่ดี พยายามทุกวิถีทางที่จะรักษาเพื่อนเอาไว้ให้ได้ เช่น ทำอย่างไรจะชวนเพื่อนไปวัดได้ ทำอย่างไรจะชวนเพื่อนทำความดีได้  ๒. เมื่อเพื่อนประมาทช่วยรักษาทรัพย์สินของเพื่อน ถ้าเพื่อนประมาทแล้วจะเกิดความเสียหาย ก็จะช่วยทั้งความคิด ช่วยทุกอย่าง เพื่อรักษาทรัพย์สินของเพื่อนเอาไว้ให้ได้ ๓. เมื่อเพื่อนมีภัยเป็นที่พึ่งได้ เวลาเพื่อนลำบากเดือดร้อนมา คนที่ไม่ใช่เพื่อนแท้ ถ้าตัวเองมีความเสี่ยงนิดเดียวก็ไม่เอา แต่มิตรมีอุปการะถึงแม้จะเสี่ยงบ้าง ก็เป็นที่พึ่งให้อย่างนี้เป็นต้น  ๔. เมื่อมีกิจธุระจำเป็นช่วยออกทรัพย์ให้เกินกว่าที่ออกปาก เพื่อนออกปากอย่างไรให้มากกว่านั้น เช่น เขาขอยืมเงินแค่หนึ่งร้อย เพราะว่าเขาเกรงใจ ถ้าเราพอไหวให้สองร้อยเลย ให้เขาพอจะนำไปแก้ไขสถานการณ์ได้ เขาเอ่ยเท่าไรให้เกินกว่าที่เอ่ยด้วยซ้ำไป

มิตรร่วมทุกข์ร่วมสุข มีลักษณะ ๔ อย่าง

คือ ๑. บอกความลับให้เพื่อน ตัวเองมีความลับอย่างไรก็เปิดเผยความลับกับเพื่อนในเรื่องที่จะมีผลเกี่ยวข้องถึงกันแม้เป็นเรื่องส่วนตัว ถ้าบอกให้รู้จะได้ช่วยกันแก้ไข แม้บางอย่างอาจจะกระทบเครดิตของเราในสายตาเพื่อน แต่มองประโยชน์ของเพื่อนว่าเขาควรจะรู้เรื่องนี้ก็จะบอกความลับให้  ๒. ปิดความลับของเพื่อน ถึงคราวเพื่อนมาบอกความลับให้เราทราบ ก็ไม่เปิดเผยถึงบุคคลที่สาม เป็นแค่คู่คิด เขามาปรึกษาหารือเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องส่วนรวมพอทราบแล้วไม่เอาไปขยายต่อ  ๓. มีอันตรายไม่ละทิ้ง ถึงคราวลำบากยากแค้นก็ต้องหอบหิ้วกันไป สังเกตทหารออกรบถึงคราวต้องสู้ข้าศึกหนักอย่างไรก็ตาม หากเพื่อนลำบากเดือดร้อนต้องหาทุกวิถีทางไปช่วยให้ได้ บางทีเป็นศพไปแล้วยังต้องไปเอามาให้ได้ เพราะว่าสิ่งที่ทำไม่ได้หมายถึงคนคนเดียว แต่หมายถึงขวัญกำลังใจทั้งกองทัพ ความรู้สึกอุ่นใจมันเกิดขึ้นมาว่ามีภัยอันตรายก็ไม่ทิ้งกัน  ๔. แม้ชีวิตก็อาจสละแทนได้

ถ้าเรามีมิตรหนึ่งคนมีลักษณะเป็นมิตรแท้ แต่บางทีก็เหมือนมิตรเทียม เราควรคบหามิตรประเภทนี้อย่างไร ?

ในชีวิตจริงคนที่สมบูรณ์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ หายาก มักมีลักษณะผสม เราต้องมอง ๒ ทาง คือมองตัวเราด้วย แล้วแยกแยะเขาให้ออก เขามีความจริงใจก็ดีแล้ว แต่การชวนไปยุ่งกับอบายมุขไม่ดี แบบนี้ต้องแยกให้ออก แล้วเราต้องทำหน้าที่มิตรแท้ด้วย ถ้าเขาจะไปทางอบายมุขเราต้องยับยั้ง ต้องกล้าที่จะพูดให้เขาห่างจากทางไม่ดีและชวนเขามาในทางที่ดี ไม่ใช่คิดว่าชวนแล้วไม่ทำ ช่วยไม่ได้ ต้องเอาใจจดจ่อแล้วหาวิธีการว่าจะชวนอย่างไรจนกระทั่งสำเร็จ แต่ถ้าไม่ไหวเราก็ต้องรักษาระยะไว้ให้ดี

ถ้าหากการรักษาระยะทำได้ยาก เพราะเป็นคนใกล้ตัว จะต้องทำอย่างไรบ้าง ?

คำถามนี้ก็เป็นคำถามในชีวิตจริงอีกเหมือนกัน เพราะเราจะเจอคนอย่างนี้อยู่รอบ ๆ ตัวเรา เราต้องแยกแยะให้ออกแล้วก็รักษาระยะให้ดี ขณะเดียวกันเราก็ต้องใช้สติและปัญญาของเราทำหน้าที่มิตรแท้ด้วย ดูว่ามีทางใดที่สามารถช่วยแก้ไขให้คนรอบตัวเรากลายเป็นคนดีขึ้นมาได้ ถ้าแต่ละคนพยายามทำตัวเองให้เป็นมิตรแท้กับทุกคน จะเป็นวงจรบวกที่เสริมกัน เพราะถ้าคนแต่ละคนพยายามปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น แล้วคอยแนะคนอื่นในทางที่ดี ประเทศไทยจะสว่างไสว โลกทั้งโลกก็จะสว่างไสว แล้วสิ่งดี ๆ จะเกิดขึ้นตามมา

ถ้าหากเรายังเป็นมิตรแท้ หรือแนะประโยชน์ให้เขาได้ไม่ดี เราจะต้องทำอย่างไร มีตัวช่วยอย่างไรบ้าง ?

เราต้องประเมินตัวเองให้ออก ถ้าเขาเป็นมิตรเทียมที่มีข้อบกพร่องระดับเฮฟวีเวท เราอยากจะเป็นมิตรแท้ให้เขา แต่น้ำหนักความดีในตัวเราเป็นระดับไลต์ฟลายเวท คือ เหมือนมดกับยักษ์ สู้กันยังไม่ได้ ขืนไปเป็นกัลยาณมิตรเดี๋ยวเขาจะพาเราเสียแน่ ๆ อย่างนี้ก็ต้องมีตัวช่วย ต้องพาไปหากัลยาณมิตร เช่น ครูบาอาจารย์ ผู้หลักผู้ใหญ่ พระภิกษุสงฆ์ ที่มีภูมิรู้ภูมิธรรมสามารถแนะนำเขาให้ไปในทางที่ดีได้แล้วเราคอยช่วยเสริม อย่างนี้พอไหว

วิธีรักษามิตรแท้ให้อยู่กับเรานาน ๆ ต้องทำอย่างไร ?

วิธีการที่ดีที่สุด คือ ทำตัวเราให้เป็นมิตรแท้และต้องตระหนักในคุณค่าของเขาอย่างอเนกอนันต์เลย เพราะคนเรามีโอกาสพลาด เรายังไม่หมดกิเลส ขนาดนิยตโพธิสัตว์ยังมีโอกาสพลาดได้ (นิยตโพธิสัตว์ แปลว่าพระโพธิสัตว์ที่สร้างบารมีมายาวนานจนบุญเต็มเปี่ยม และได้รับพุทธพยากรณ์จากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งว่าจะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตอย่างแน่นอน เมื่อเป็นนิยตโพธิสัตว์แล้วจะไม่ตกอยู่ในฐานะแห่งความอาภัพ ๑๘ ประการ เช่น ใบ้ บ้า ปัญญาอ่อน ฯลฯ ไม่ตกมหานรกขุมลึก ๆ อย่างอเวจีมหานรก แต่ขุมตื้น ๆ ยังตกได้) ดังนั้นคนธรรมดาสามัญทั่วไปไม่ต้องพูดถึง ฉะนั้นการที่เรามีมิตรแท้จึงมีส่วนช่วยเราอย่างมาก เช่น เราเดินลุยน้ำในลำธารโดยไม่รู้ว่ามีหลุมมีบ่อ หากเราพลาดท่าเสียทีเหยียบหินสะดุดล้มเข้า อาจจะถูกน้ำที่ไหลเชี่ยวพาไป แต่ถ้ามีมิตรแท้ แม้เราพลาดเขาจะช่วยดึงประคองไว้ เราก็รอด เพราะฉะนั้น มิตรแท้จึงมีคุณค่าอย่างมหาศาล เราต้องตระหนักตรงนี้

ขณะเดียวกันวิธีที่จะรักษามิตรแท้ดีที่สุดก็คือ เราต้องเป็นมิตรแท้ด้วย ต้องแสวงหามิตรแท้รอบตัวแล้วฝึกตัวเองให้เป็นมิตรแท้ดูอย่างเหล็กกับเหล็กอายตนะจะดึงดูดกัน ถ้าเราเป็นมิตรแท้ เราก็จะดึงดูดคนดี ๆ เข้ามาหาตัวเรา แล้วเสริมส่งซึ่งกันและกัน เป็นเพื่อนแท้บนเส้นทางในวัฏสงสารอันยาวนาน

Cr. พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑฺโฒ) จากรายการข้อคิดรอบตัว ออกอากาศทางช่อง DMC
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๖๙ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๙









  คลิกอ่านข้อคิดรอบตัวของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๙ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
ทำไมต้องสั่งสมบุญบ่อย ๆ (ปีก่อนหน้า)
"ปลื้ม" หัวใจของการสร้างบุญ
สงครามคีย์บอร์ด
กฎหมายกับกฎแห่งกรรม
อากาศร้อน ใจร้อน
การอนุโมทนาและมุทิตาจิต
จุดเริ่มต้นบุญที่ยิ่งใหญ่
ข้อสงสัยเกี่ยวกับวัดพระธรรมกาย
เลิกเหล้าเข้าพรรษา
พระพุทธศาสนาในสายตาชาวโลก
สังคมอารมณ์ร้อน
เมื่อโลกเข้าสู่ช่วงกัปไขลง
ชาตินี้ ชาติหน้า (ปีถัดไป)
มิตรแท้ มิตรเทียม มิตรแท้ มิตรเทียม Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 03:21 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.