การอนุโมทนาและมุทิตาจิต
คำว่า “อนุโมทนาบุญ”
มีความหมายอย่างไร?
“อนุโมทนา” คือ
การที่เราแสดงความรู้สึกเห็นชอบ ชื่นชม ซาบซึ้ง ในการทำความดีของคนอื่น
ไม่ว่าจะเป็นการให้ทาน รักษาศีล เจริญสมาธิภาวนา
หรือทำความดีทุกรูปแบบ พอเห็นก็ขออนุโมทนาด้วย ผลที่เกิดขึ้นกับตัวเราก็คือ
พอเราเห็นเขาทำความดีแล้วเราเห็นด้วย ใจเราจะใสขึ้นทำให้เป็นทางมาแห่งบุญที่เรียกว่า
“ปัตตานุโมทนามัย” บุญที่สำเร็จด้วยการอนุโมทนา
แค่เห็นเขาทำความดีแล้วเราอนุโมทนา เราก็ได้บุญด้วย
เพราะใจเราใสขึ้น ส่วนคนอื่นพอทำความดีแล้วมีคนมาเชียร์ก็รู้สึกว่าดีจังเลย
เกิดกำลังใจทำความดีต่อ เรียกว่าได้ประโยชน์ทั้งผู้อนุโมทนาและได้ทั้งผู้ที่ทำความดี
การที่เรามุทิตาจิตถือเป็นการอนุโมทนาบุญอย่างหนึ่งหรือไม่?
การอนุโมทนากับการมุทิตามีส่วนที่คล้ายคลึงกัน แต่รายละเอียดต่างกัน
การอนุโมทนาก็ตามที่กล่าวไปแล้ว
ส่วนมุทิตาเป็นลักษณะของการพลอยยินดีเวลาที่คนอื่นได้ดีมีสุข ประสบความสำเร็จ เช่น
ได้เลื่อนตำแหน่ง เลื่อนขั้น สอบได้ การอนุโมทนาใช้ตอนที่เขาทำความดี
แล้วเราไปชื่นชมการกระทำความดีของเขา แต่มุทิตาเน้นที่ผลลัพธ์ที่เขาได้รับมา เช่น
สอบผ่าน ได้เลื่อนสมณศักดิ์ หรือได้เลื่อนตำแหน่ง เลื่อนยศ เป็นต้น
สำหรับคนที่เราไม่ชอบ
เราจะวางใจร่วมยินดีกับเขาอย่างไร?
เราจะต้องละอคติ ๔ ให้ได้ คือ ไม่ลำเอียงด้วยความรัก ความชัง ความหลง
และความกลัว สำหรับกรณีนี้คือการลำเอียงด้วยความชัง
เห็นคนที่เราไม่ชอบใจได้ดีก็เลยไม่ค่อยอยากอนุโมทนากับเขา
อย่าไปรู้สึกอย่างนั้น เพราะการรู้สึกอย่างนั้นอันตราย จะเป็นบ่อเกิดแห่งโรคหมั่นไส้
ความอิจฉาริษยา แล้วนำไปสู่ความคิดทำลาย มันจะค่อย ๆ เกิดขึ้นไปตามลำดับ
ตัวอย่างเช่น พระเทวทัต ท่านเกิดมาเป็นโอรสกษัตริย์
เป็นรัชทายาทกรุงเทวทหะ เป็นพระเชษฐาของพระนางพิมพาพระชายาของเจ้าชายสิทธัตถะ
พอพระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมได้ ๑ พรรษา พระเทวทัตก็เสด็จออกบวชพร้อมกับชุดของพระอานนท์
พระพาหิยะ พระอนุรุทธะ สละโอกาสในการครองราชสมบัติไปบวชอยู่ในป่า แสดงว่าตั้งใจจริง
ศรัทธามาก บวชอยู่ ๓๒ ปี ปฏิบัติจนได้โลกียฌานสมาบัติ แปลงกายได้ เหาะได้
แต่ยังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล ปฏิบัติดีมา ๓๐ กว่าปี แต่ท่านขาดมุทิตาจิตเห็นญาติโยมมาวัด
ถ้าไม่มากราบพระพุทธเจ้าก็มาถามหาพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ พระอานนท์
ตลอดจนพระอุบาลี ซึ่งอดีตเคยเป็นช่างตัดผมของพระเทวทัตตอนที่ยังไม่ได้บวช
ดูสิเขามาหาคนอื่นหมดเลย ไม่เห็นมีใครมาถามว่า พระเทวทัตอยู่ไหน
ทำไมเขาไม่เห็นความดีของเราบ้าง
พอขาดมุทิตาจิต แทนที่จะดูว่าท่านอื่นเป็นพระอรหันต์แล้ว
ตัวเรายังไม่บรรลุธรรมต้องตั้งใจปฏิบัติมากขึ้น กลับคิดจากมุมของตัวเอง
พอรู้สึกไม่ชื่นชมยินดีไปด้วย ก็จะค่อย ๆ สั่งสมทีละนิด มาปะทุตอนบวชไปแล้ว ๓๒ ปี
ความคิดเริ่มเพี้ยน สงสัยว่าที่ใคร ๆ ไม่มาหาเราเป็นเพราะพระพุทธเจ้าไม่สนับสนุนเรา
พระพุทธเจ้ายกย่องพระสารีบุตรอัครสาวกเบื้องขวา
พระโมคคัลลานะอัครสาวกเบื้องซ้าย พระอานนท์พุทธอุปัฏฐาก
พระอุบาลีผู้เลิศทางด้านพระวินัย
พระมหากัสสปะก็ยกย่องว่าเป็นเลิศทางด้านถือธุดงควัตร
พระองค์ไม่เห็นยกย่องว่าพระเทวทัตเป็นเลิศอะไรเลย คนถึงไม่มาเคารพนับถือเรา ค่อย ๆ
เป๋ไปทีละนิด ไม่น่าเชื่อว่า อารมณ์น้อยใจทำให้ความคิดเพี้ยนไปแล้ว
พอเพี้ยนปั๊บมันค่อย ๆ ต่อยอดเมล็ดพันธุ์ของความดี
ถ้าทำดีก็โตเป็นไม้ใหญ่ให้ร่มเงา
แต่เมล็ดพันธุ์พืชที่เป็นพิษพอโตขึ้นมาก็ทำอันตรายได้เยอะเหมือนกัน
พอความคิดเริ่มเพี้ยนก็เริ่มวางแผนจะโปรโมตตัวเอง เริ่มจากต้องมีอำนาจ
คิดว่าเจ้าชายอชาตศัตรูยังหนุ่มอยู่น่าจะกล่อมให้มาเป็นพวกได้
เพราะจะต้องอาศัยอำนาจทางบ้านเมืองมาช่วย
ก็เลยแปลงกายเป็นงูเข้าไปหาเจ้าชายอชาตศัตรู
แล้วกลายร่างมาเป็นพระภิกษุยืนสงบเสงี่ยมอยู่ข้างหน้า เจ้าชายอชาตศัตรูคิดว่าพระรูปนี้แปลงกายได้
ไม่ธรรมดา จึงเคารพนับถือศรัทธา แล้วพระเทวทัตก็ค่อย ๆ สอนลูกให้ฆ่าพ่อ
จะอาศัยอำนาจลูกที่เป็นกษัตริย์แล้วหนุนตัวเองขึ้นมา
สุดท้ายไปทำอนันตริยกรรมซ้ำซ้อนหลายครั้งจนถูกธรณีสูบในที่สุด
คิดได้ตอนธรณีสูบจนกระทั่งถึงคอจะยกมือไหว้พระพุทธเจ้าก็ยกไม่ขึ้น
จึงเงยหน้าเอาคางบูชาพระพุทธเจ้า แล้วก็ถูกธรณีสูบมิดลงไปอเวจีมหานรกเลย
พระพุทธเจ้าพยากรณ์ว่า
ต่อไปภายหน้าพระเทวทัตจะตรัสรู้ธรรมเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง
แสดงว่าบุญต้องไม่ธรรมดา แล้วทำไมคนบุญไม่ธรรมดาขนาดได้รับพุทธพยากรณ์จะเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าในอนาคตมาทำกรรมหนักจนถูกธรณีสูบ
เป็นเพราะขาดมุทิตาจิต แล้วความคิดด้านลบเลยกำเริบ
เกิดความเสียหายร้ายแรงขนาดนี้น่ากลัวมาก ฉะนั้นพวกเราอย่าไปคิดว่าเล็ก ๆ น้อย ๆ
เห็นใครที่เราไม่ชอบหน้าได้ดี ก็รู้สึกอารมณ์ไม่ดี ไม่ได้แล้ว ต้องตั้งใจปรับปรุงแก้ไขนั่งสมาธิให้ใจใส
ๆ นึกให้เขาใส ๆ และแผ่เมตตาให้เยอะ ๆ ให้เขาสว่าง ๆ ให้เขามีความสุขความเจริญ
กัดฟันทำใจหน่อย เพราะทำแล้วดีกับตัวเราเอง นึกให้เขาใสสว่าง ส่งบุญให้เขาเยอะ ๆ
อนุโมทนาด้วย มุทิตาจิตกับความสำเร็จของเขาด้วย
การมุทิตาหรืออนุโมทนาบุญมีผลต่อสภาวะใจของเราใช่ไหม?
มีผลมาก อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า เวลาเห็นใครทำความดี
เราอนุโมทนากับการกระทำความดีของเขา ชื่นชม ซาบซึ้ง เห็นด้วย เห็นชอบ
ให้กำลังใจเขา อย่างนี้ใจเราก็จะผ่องใสไปด้วย เราก็มีส่วนแห่งบุญนั้นด้วย
แต่ถ้าเห็นใครทำความดีแล้วไม่รู้ว่าทำไปทำไม ทำบุญมากเกินไป สิ้นเปลือง หลงบุญ
อย่างนี้ใจจะขุ่นมัว ไม่ใช่ว่าไม่ได้บุญอย่างเดียว แต่ได้บาปด้วย
ถ้าคนไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ไม่ได้อนุโมทนาก็กลาง ๆ บุญก็ไม่ได้ บาปก็ไม่เกิด
แต่ถ้าไปขวางคนที่เขาทำความดี ไปบั่นทอนกำลังใจเขาตอนนั้น ใจตัวเองจะขุ่นมัว
บาปจะเกิดขึ้นมาในใจ เรียกว่าหาบาปมาใส่ตัวแท้ ๆ ไม่คุ้มเลยอย่าทำ
การมุทิตาจิตแก่กันจะทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขจริงหรือไม่?
จริงแน่นอน เราลองนึกดูง่าย ๆ ก็เห็นแล้วว่า
ถ้าในสังคมไหนเห็นคนทำความดีแล้วใคร ๆ ก็ชื่นชมยกย่อง
คนก็จะมีกำลังใจทำความดีมากขึ้นไปอีก ขณะเดียวกันคนอื่น ๆ
ในสังคมก็อยากจะเป็นอย่างนั้นบ้าง
สังคมไหนคนยกย่องชื่นชมคนทำความดีในด้านใด
เทรนด์สังคมก็จะพุ่งไปทางด้านนั้น อย่างเช่น
ถ้าสังคมไหนชื่นชมคนที่คิดค้นประดิษฐ์สิ่งของต่าง ๆ
สร้างนวัตกรรมเก่ง ผู้คนในสังคมโดยเฉพาะเยาวชนก็มีแนวโน้มว่าจะพยายามขวนขวายฝึกฝนตัวเองไปเป็นนักประดิษฐ์
นักค้นคว้า
สังคมไหนชื่นชมนักกีฬาคนก็จะมีแนวโน้มอยากเล่นกีฬาประเภทนั้น สังเกตดูในประเทศไทย
ถ้านักกีฬาประเภทไหนไปประสบความสำเร็จมาในระดับประเทศ เช่น ไปชนะแบดมินตันมา
กีฬาแบดมินตันฮิตเลย พอไปชนะวอลเลย์บอลมา เล่นวอลเลย์บอลกันใหญ่เลย
มันเป็นการปลุกกระแส เพราะว่าพอสังคมชื่นชมยกย่องด้านใด
คนอื่นก็มีแนวโน้มอยากจะทำอย่างนั้นบ้าง
ถ้าเราไปดูในประเทศที่เจริญ ๆ เช่น ญี่ปุ่น อเมริกา ยุโรป เราจะพบว่า
เขามีอนุสาวรีย์เยอะเลย ทั้งอนุสาวรีย์ ทั้งพิพิธภัณฑ์ในระดับจังหวัดก็มี
ระดับอำเภอก็มี ระดับตำบลก็มี บางหมู่บ้านยังมีอนุสาวรีย์ในหมู่บ้านด้วย
แล้วเขาจะเล่าให้ฟังว่าเป็นอนุสาวรีย์ของคนในหมู่บ้านนี้ที่ไปประสบความสำเร็จอย่างนั้น
ๆ แล้ว แต่ไปประสบความสำเร็จด้านไหนเขาเอามาชื่นชมยกย่อง
ทำให้เยาวชนในหมู่บ้านนั้นเกิดแรงบันดาลใจว่า คน ๆ นี้เกิดมาในหมู่บ้านเรา
สิ่งแวดล้อมเดียวกับเรายังทำอย่างนี้ได้
เกิดบุคคลต้นแบบว่าอนาคตเราจะต้องประสบความสำเร็จบ้าง
แต่ในประเทศไทยมีอนุสาวรีย์ในระดับประเทศอยู่ไม่กี่แห่ง ระดับตำบลและหมู่บ้านไม่มี
สาเหตุเพราะถ้าเทียบเรื่องพรหมวิหารธรรม เรื่องเมตตา คนไทยเราก็อยากให้ทุกคนมีความสุข กรุณา
ก็มีความกรุณาอยากจะช่วยให้เขาพ้นจากความทุกข์นั้น ตรงนี้คนไทยดี แต่ว่า มุทิตา
คือ เวลาเห็นใครเขาประสบความสำเร็จแล้วพลอยยินดีด้วยนั้น
คนไทยยังหย่อนไปหน่อย ถ้าเป็นคนไกล ๆ ตัวยังพอได้ เช่น เวลานักกีฬาประสบความสำเร็จ
เราก็มุทิตาชื่นชมยกย่องกัน แต่ถ้าเป็นคนใกล้ตัวบางทีก็รู้สึกว่าจะแน่สักแค่ไหน
ฉันก็แน่เหมือนกัน คือมุทิตาจิตยังหย่อน เลยเกิดคำ ๆ หนึ่งในประเทศไทย คือหมั่นไส้
เกินหน้าเรามากเลยหมั่นไส้ ผลก็คือสังคมไทยกลายเป็นสังคมทอนกำลัง เห็นใครทำอะไรดี
ๆ เด่น ๆ มากเข้า อยากจะดึงขาเขาลงมา หมั่นไส้เขา ทำให้บุคคลต้นแบบเรามีน้อยเกินไป
โดยเฉพาะถ้าเป็นสามัญชนด้วยกันแล้วใครจะไปทำอนุสาวรีย์ให้
คนก็ยากจะยอมรับตรงนี้ได้
อนุสาวรีย์จึงมีอยู่ไม่กี่แห่ง มิหนำซ้ำทำแล้วเราก็ไม่ค่อยสนใจด้วย
อย่างอนุสาวรีย์หลักสี่สร้างเพื่ออะไรรู้ไหม พูดถึงหลักสี่ใคร ๆ ก็รู้จัก แต่เราไม่ค่อยรู้เรื่องอนุสาวรีย์ว่ามีความเป็นมาอย่างไร ความจริงก็คือ
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองปีหนึ่ง เกิดกบฏบวรเดชที่ยกกำลังเข้ามาจะล้มคณะราษฎร์
แล้วทางคณะราษฎร์ก็จัดกำลังทัพไปสู้ นำโดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม
จนกระทั่งปราบกบฏบวรเดชได้ รบกันบริเวณบางเขนไล่ไปถึงหลักสี่
เขาจึงสร้างอนุสาวรีย์ที่หลักสี่ไว้เป็นอนุสรณ์ ระลึกถึงวีรกรรมในการปราบกบฏบวรเดช
ขนาดอนุสาวรีย์ใหญ่ ๆ เรายังไม่ค่อยรู้ความเป็นมา
อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิสร้างทำไม อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็มีพานรัฐธรรมนูญอยู่แต่ความหมายไม่ค่อยรู้เท่าไร
เพราะว่าเราไม่ค่อยใส่ใจในสิ่งเหล่านี้มากนัก คนไทยยังหย่อนมุทิตาไปนิดหนึ่ง
ถ้าคนไทยเติมพรหมวิหารธรรมให้ครบละก็
เราจะพัฒนาประเทศได้อย่างรวดเร็ว เพราะคนไทยเรามีหลักธรรมในพระพุทธศาสนายึดเหนี่ยวใจแต่โบราณมา
ทำให้คนไทยมีใจที่ประณีต ถ้าตั้งใจจะทำอะไรดีจริง ๆ แล้วเราทำได้ดีไม่แพ้ชาติไหนในโลก
แต่ว่าเรายังสบาย ๆ ไปหน่อย ความทุ่มเทวิริยอุตสาหะยังหย่อนไปนิด
ปรับบางจุดหน่อยเดียวเราจะไปฉิวเลย เริ่มต้นจากมุทิตาจิตให้ได้ก่อน
แล้วประเทศก็จะเจริญก้าวหน้า เราเองก็จะอยู่ดีมีสุขด้วย ใจผ่องใส ได้บุญได้กุศลด้วย
อนุโมทนาบุญในใจกับได้พูดคุยอนุโมทนาสาธุ
อานิสงส์ต่างกันอย่างไร?
เวลาเห็นใครเขาทำความดี เห็นข่าวในหนังสือพิมพ์ ในทีวี วิทยุ
หรือเว็บไซต์ก็ตาม แล้วเรานึกชื่นชมยินดีกับเขาไปด้วย
เราก็ได้บุญ แค่นึกด้วยใจก็เป็นมโนกรรม บุญเกิดแล้ว ยิ่งเป็นคนรู้จัก
เจอกันก็ยกมือสาธุขออนุโมทนาด้วยนะ อย่างนี้ถือเป็นวจีกรรม บุญจะเกิดเพิ่มขึ้น
เพราะว่าเมื่อเอ่ยปากออกมาจะมีความตั้งใจมากกว่าอยู่ในใจเฉย ๆ
แล้วผู้ที่ทำความดีก็จะเกิดกำลังใจที่จะทำความดีมากขึ้นไปอีก
เพราะฉะนั้นถ้าเราได้เจอตัวและได้เอ่ยปากอนุโมทนาด้วย
บุญที่เกิดขึ้นกับเราก็จะมากกว่าอนุโมทนาในใจ แล้วถ้าได้แสดงด้วยการกระทำ เช่น
หาอะไรไปแสดงความยินดีในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ช่อดอกไม้ การ์ด ฯลฯ
แบบนี้ถือว่าเป็นกายกรรม
ยิ่งไดบุ้ญมากขึ้นอีกเพราะว่าการจะลงมือทำอะไรบางอย่างให้เขาเราก็ต้องตั้งใจมากกว่าการเอ่ยปากธรรมดาบุญก็จะได้มากขึ้นตามส่วน
คนที่ทำความดีก็มีกำลังใจทำความดีต่อไป เราเองก็ได้บุญแล้วในแง่สังคมโดยภาพรวม
เมื่อทุกคนมีมุทิตาจิตยกย่องการทำความดี เทรนด์สังคมจะหันไปในทางที่ถูกต้องดีงาม
แล้วสังคมเราก็จะพัฒนาก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นไป
Cr. พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑฺโฒ) จากรายการข้อคิดรอบตัว ออกอากาศทางช่อง DMC
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๖๓ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๙
คลิกอ่านข้อคิดรอบตัวของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๙ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
|
คลิกอ่านข้อคิดรอบตัวของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๙ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
ทำไมต้องสั่งสมบุญบ่อย ๆ (ปีก่อนหน้า)
ชาตินี้ ชาติหน้า (ปีถัดไป)
การอนุโมทนาและมุทิตาจิต
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
03:10
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: