สังคมอารมณ์ร้อน
ต้องบอกว่าอารมณ์ที่ลบ ๆ มักเกิดจากสาเหตุหลัก ๓ อย่าง คือ ๑. การประสบกับสิ่งที่ไม่รัก ไม่ชอบใจ ๒. การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักที่ชอบใจ ๓. ปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้อย่างนั้น พอเจอ ๓ เรื่องนี้อารมณ์ขึ้นเลย เช่น เจอสิ่งที่ไม่รักไม่ชอบใจ ทำกับเราอย่างนี้ได้อย่างไร หรือมาทำให้เราหงุดหงิดโกรธ อย่างนี้เป็นต้น หรือปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้อย่างใจเรา บางทีก็ทั้งเสียใจด้วย ทั้งแค้นด้วย ชอบเขาแล้วเขาไม่ชอบตอบ แทนที่จะมองว่าตัวเองบกพร่องอะไร กลับไปโกรธแค้นคนนั้นแล้วจัดการเสียเลย หรือว่าปรารถนาสิ่งต่าง ๆ แล้วไม่ได้อย่างใจ ก็เกิดอาการขัดใจ หงุดหงิดขึ้นมา และถ้าคุมไม่ดีอารมณ์ก็จะพลุ่งพล่านขึ้นมา แล้วเกิดเรื่องเสียหายร้ายแรงตามมาได้เหมือนกัน
เวลาอารมณ์ร้อน ทะเลาะเบาะแว้งกันทุกคนจะอ้างว่าตัวเองมีเหตุผล จะแยกแยะได้อย่างไรว่าที่เราพูดออกไปเป็นเหตุผลหรืออารมณ์ ?
ให้รู้ไว้อย่างหนึ่งว่า เวลาคนกำลังโกรธกัน ทะเลาะกัน เราเคยเห็นไหมว่า พอคนหนึ่งยกเหตุผลขึ้นมา อีกฝ่ายบอกว่า “เออจริง ผมผิดไปแล้ว ขอโทษด้วย” อย่างนี้ไม่เคยเจอ มีแต่เถียงว่าไม่ใช่อย่างนั้นอย่างนี้สารพัดอย่างต่อให้อีกฝ่ายมีเหตุผลดีเท่าไร อีกฝ่ายจะหาทางแฉลบไปแฉลบมาจนได้ เพราะฉะนั้นให้เรามองให้ตลอดสาย อย่าไปมองแค่วิธีการอย่างเดียว ให้มองถึงผลลัพธ์ด้วย เราอยากจะเอาชนะเขาแล้วเอาเหตุผลไปอ้างก็ไม่ชนะหรอก เราว่าเราถูก เขาก็มีมุมคิดของเขาว่าเขาถูก สุดท้ายไม่จบ เพราะฉะนั้นให้มองที่ผลลัพธ์ว่า ถ้าเราต้องการให้เรื่องจบ จะต้องทำอย่างไรให้จบให้ได้ อย่าไปเอาวิธีที่ว่าฉันจะต้องให้เหตุผลยืนยันว่าฉันถูก อย่างนั้นไม่จบ จะจบได้โบราณท่านบอกว่า แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร บางคนฟังแล้วหงุดหงิดไม่ถูกใจ อย่างนี้ก็ต้องยอมแพ้เขาหมด ก็แย่สิ ไม่ยอมหรอก จะต้องเอาชนะให้ได้ ก็เพราะคิดอย่างนี้เรื่องเล็กถึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ บางทีน้ำผึ้งหยดเดียวก็ลุกลามได้
มีกรณีหนึ่งเป็นเรื่องของคนเติมแก๊สที่ปั๊มอายุ ๓๐ เศษแล้ว มีคนขับรถมาเติมแก๊ส บอกว่าขอเติม ๖๐๐ บาท เขาก็เติมให้ เผอิญมันเลยไป ๑.๘๐ บาท เขาก็เลยบอกคนขับรถว่าเกินไป ๑.๘๐ บาท ขอให้ช่วยจ่ายหน่อยก็แล้วกัน คนขับรถไม่ยอม ยืนยันว่าเขาบอก ๖๐๐ บาทในเมื่อเกินมาคุณต้องรับผิดชอบเอง
เถียงกันไปแล้วหงุดหงิดพลุ่งพล่านขึ้นมา ประเด็นนิดเดียวใช่ไหม แค่เงิน ๑.๘๐ บาท ใครจะเป็นคนจ่าย อีกคนบอกว่าเกินไปนิดหน่อยจ่ายหน่อยไม่ได้หรือต่าง ๆ นานา อีกคนก็ไม่ยอมกลายเป็นอารมณ์ไม่ดีแล้ว เงิน ๑.๘๐ บาท เดี๋ยวนี้ซื้อน้ำแก้วเดียวยังไม่ได้เลย แต่มาเถียงกัน ถามว่าอารมณ์เสียคุ้มกับเงิน ๑.๘๐ บาทไหม ไม่คุ้ม แล้วไม่ใช่แค่อารมณ์เสียไม่คุ้ม ๑.๘๐ บาท สุดท้ายคนเติมแก๊สไปคว้าปืนพกที่เจ้าของปั๊มเตรียมไว้ให้ เพราะบางทีกลางคืนอาจมีโจรเข้ามา ต้องมีปืนไว้ป้องกันตัว เขาคว้าปืนนั้นยิงหัวคนขับรถตายเลย คนขับรถคนนั้นตายด้วยมูลค่า ๑.๘๐ บาท เพราะคิดว่าตัวเองถูก มีเหตุผล ก็สั่งให้เติม ๖๐๐ บาท คุณเติมเกิน คุณต้องรับผิดชอบ นี้คือมุมของคนขับรถ
ส่วนเหตุผลของคนเติมแก๊สเขาก็บอกว่ามันเกินมาแล้ว ไหน ๆ คุณก็ได้แก๊สไปแล้ว คุณช่วยจ่ายหน่อยจะเป็นไร เพราะอย่างไรพอแก๊สหมด คุณก็ต้องเติมอีก นี้ก็เหมือนกับเติมก่อนล่วงหน้านิดหน่อยแค่นั้นเอง แก๊สก็เข้าไปในรถคุณแล้ว คุณจ่ายมาหน่อยไม่ได้หรือ เขาก็มีเหตุผลของเขา ต่างฝ่ายต่างมีเหตุผล เมื่อต่างยืนยันเหตุผลของตัวเองว่า ฉันต้องชนะเท่านั้น ชนะคือความสุดยอด ชนะเท่านั้นเป็นความโดดเด่น สะใจว่า เราเก่ง เราเยี่ยม สุดท้ายลูกกระสุนเลยเข้าไปอยู่ในหัว ถูกยิงตาย
ตายตอนอารมณ์โกรธ กำลังทะเลาะกันจิตหมอง มีทุคติเป็นที่ไป แล้วคนยิงก็ไม่ใช่ว่าชนะ ยิงปั๊บก็ติดคุกเลย อนาคตดับวูบเพราะเงิน ๑.๘๐ บาท ถ้าเกิดถอยเวลาได้ และฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยอมแพ้ คุ้มไหม ถ้าคนเติมแก๊สบอกว่า “ผมพลาดไปแล้ว ยอด ๑.๘๐ บาท ผมออกให้พี่ก็แล้วกัน ผมได้เงินวันหนึ่ง ๓๐๐ บาท วันนี้ยอมขาดไป ๑.๘๐ บาท” แบบนี้เรื่องก็จบยอมแพ้ให้คนขับรถชนะ แต่แพ้อย่างนี้ไม่ต้องติดคุก ไม่ต้องมีวิบากกรรมข้ามชาติ ฆ่าเขาตายพอติดคุกแล้ว ตายไปยังต้องไปรับวิบากกรรมตกนรกอีก เกิดมาถูกคนฆ่าอีกไม่รู้กี่ชาติ เพราะเงิน ๑.๘๐ บาท ชนะตรงนี้คุ้มหรือ โบราณถึงบอกว่า แพ้เป็นพระ ยอมแพ้เป็นพระใจสบาย
ถ้ามองจากมุมของคนขับรถ “ผมยอมแพ้” ก็คือยอมจ่าย ๑.๘๐ บาท ไม่ได้จ่ายฟรีนะ แก๊สมาอยู่ในรถแล้ว และไม่ต้องถูกฆ่า ใจไม่หมอง ไม่ต้องไปอบาย คุ้มไหม คุ้ม ตกลงสุดท้ายเอาชนะเขากับยอมแพ้อันไหนดีกว่ากัน ยอมดีกว่ามันจบง่าย
แล้วดูเถิดเรื่องในสังคมที่ทะเลาะกันส่วนใหญ่ร้อยละ ๘๐-๙๐ มาจากประเด็นเล็ก ๆ เท่านั้น จุดเริ่มต้นเหมือนไม้ขีดก้านเดียว แต่มันเผาเมืองได้ เพราะมันตามมาด้วยทิฐิมานะ ขืนไปยอมเขาก็เสียความอหังการ เราต้องเจ๋งต้องแน่ คุณต้องยอมผม ไม่ยอมหรือ อย่าลืมว่าผมมีปืน ผมตัวใหญ่ เป็นผู้ชาย คุณเป็นผู้หญิงสู้ผมไม่ได้หรอก เดี๋ยวผมลงไม้ลงมือนะ คุณรู้หรือเปล่าว่าผมเป็นใคร ผมไม่ไหวพ่อผมก็ยังมีนะ คราวนี้ก็ไปแบกไปยกอะไรสารพัดอย่างขึ้นมาเพื่อข่มเขาให้ได้ สุดท้ายเป็นเรื่องเป็นราว แล้วคุ้มไหม ถ้าถอยเวลาไปได้ทุกคนไม่อยากทำ แต่เฉพาะหน้าบันดาลโทสะ คุมสติไม่อยู่ ลงไม้ลงมือไปแล้วก็มานึกเสียใจทีหลังทั้งสองฝ่าย แพ้ทั้งคู่เพราะว่าจะเอาชนะกัน โบราณถึงได้ย้ำว่า แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมารนี้คือหลักที่ใช้ได้เลย ใครเกิดเหตุแล้วยอมได้คนนั้นเก่ง
ดังเรื่องของฮั่นสิน แม่ทัพใหญ่ของฮั่นโกโจผู้สถาปนาราชวงศ์ฮั่น เขาเป็นผู้ที่ช่วยฮั่นโกโจสถาปนาแผ่นดินให้เป็นหนึ่งเดียวได้สำเร็จ คุมทัพรบถึงไหนชนะถึงนั่น ฮั่นสินตอนเป็นหนุ่มเคยเจอนักเลงใหญ่ในเมืองกางขาแล้วบอกให้เขาลอดหว่างขา ขอถามหนุ่ม ๆ ทั้งหลายว่า ถ้าใครมาบังคับให้เราลอดหว่างขาจะทำอย่างไร สุภาษิตจีนบอกไว้ว่า “หัวเข่าลูกผู้ชายล้ำค่ากว่าพันตำลึงทอง” ให้ไปคุกเข่าต่อหน้าใครก็แย่แล้ว แต่นี่ให้คลานลอดหว่างขาเลย มันทำลายศักดิ์ศรีลูกผู้ชายอย่างร้ายแรงแล้วฮั่นสินก็เป็นคนมีฝีมือดีด้วย แต่เมื่อดูสถานการณ์ตอนนั้นแล้วยังไม่ใช่จังหวะที่จะปะทะกัน ฮั่นสินยอมมุดลอดหว่างขา ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่าย ๆ เลย
ต่อมา เขาขึ้นมาเป็นแม่ทัพใหญ่คุมทัพปราบทั้งแผ่นดิน เสร็จแล้วก็กลับมาเมืองเดิมและให้คนไปตามอันธพาลคนนี้มา อันธพาลยืนขาสั่น งวดนี้จะเจออะไรหนอ ปรากฏว่าฮั่นสินให้คนเอารางวัลให้และขอบใจ “ถ้าไม่มีแกวันนั้นอาจจะไม่มีข้าวันนี้” วันนั้นเขาถูกหยามศักดิ์ศรีลูกผู้ชายอย่างร้ายแรง แต่เขาเป็นคนที่มีสติปัญญา คุมอารมณ์ตัวเองได้ ไม่อาละวาดขึ้นมาทั้งที่ตัวเองก็มีฝีมือ เพราะว่าอันธพาลมีพวกเป็นร้อย สู้ตอนนั้นไม่เป็นผลดีต่อตัวเอง เขาไม่เอาอารมณ์เฉพาะหน้า ตอนนี้ยอมได้ก็ยอม เพราะใจมุ่งการใหญ่ข้างหน้า ยอมมุดลอดหว่างขานักเลงเพราะหวังจะไปคุมทัพปราบแผ่นดิน พอลอดหว่างขานั้นได้ก็เหมือนกับทลายกำแพงในใจตัวเองไปได้ เอาชนะใจตัวเองได้แล้ว จากนี้ไปจะทำการสิ่งใดก็มองสถานการณ์รวมเป็นหลัก แล้วยังเอาชนะอารมณ์โกรธจนกระทั่งมีอำนาจ กระดิกนิ้วทีเดียวอันธพาลร้อยคนตายหมด เพราะตัวเองมีทหารเป็นล้านในมือ ยังไม่ทำอะไรเลย กลับให้รางวัล พลิกมุมมองนิดเดียวว่า เขาช่วยเรา
พวกเราใครไปเจออะไรร้าย ๆ อย่าไปโกรธ อย่าคิดว่า เขามาเหยียดหยามศักดิ์ศรีเราอย่างนั้นอย่างนี้ ให้พลิกมุมมองว่าเป็นบททดสอบ ถ้าเรารักจะก้าวหน้า เราต้องชนะใจตัวเองให้ได้ คนนี้คือบททดสอบของเรา ถ้าเราผ่านได้แสดงว่าเราแน่ เราคุมใจตัวเองได้ คุมอารมณ์ตัวเองได้ ไม่ไปสุมฟืนใส่ไฟ แต่ว่าถอนฟืนออกมาด้วยการเปลี่ยนมุมมอง แล้วเอาน้ำรดเข้าไป มันอยู่ที่ความคิด ถ้าเราคิดในทางลบเท่ากับไปกระพืออารมณ์โกรธ แต่ถ้าเกิดเราคิดทางบวกก็เหมือนกับดับอารมณ์ร้อนแล้วเปลี่ยนไปสู่ทางที่ดี ทุกอย่างอยู่ที่ตัวของเรา เหตุการณ์ข้างนอกเป็นแค่องค์ประกอบเสริม ถ้าเราต้องการความสุขความสำเร็จในชีวิตแล้วละก็จะต้องควบคุมอารมณ์ตัวเองให้ได้ อย่าไปบันดาลโทสะ ศัพท์นี้ต้องไม่มี จะพุ่งขึ้นมาเมื่อไรต้องรีบหยุดเลย แล้วเปลี่ยนมุมมองใหม่อย่าไปคิดในทางที่จะเสริมในเรื่องนั้นต่อไป
โบราณบอกไว้ว่า “สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม คนหนึ่งตาแหลมคมมองเห็นดาวอยู่พราวพราย” คนสองคนมองช่องเดียวกัน อีกคนมองเห็นท้องฟ้าสวย ดาวสวย อะไรก็ดูดี อีกคนมามองช่องเดียวกัน กลับมองลงไปที่พื้น เห็นน้ำครำ ขี้โคลนเลอะเทอะมองแล้วใจหมอง ช่องเดียวกันแท้ ๆ แต่มองแล้วอารมณ์ความรู้สึกต่างกัน
คนเราก็เหมือนกัน เจอเหตุการณ์แบบเดียวกันถ้ามุมมองถูกจะไม่เกิดอารมณ์ร้อน แต่จะเกิดความคิดดี ๆ เกิดความคิดสร้างสรรค์ตามมา แต่อีกคนไปเจอเรื่องเหมือนกัน ถ้าคิดไปอีกทางจะหงุดหงิด โกรธ แล้วถ้าไปทำอะไรเสียหายขึ้นมา ก็มานึกเสียใจทีหลัง ไม่คุ้มเลย
เพราะฉะนั้น ให้พวกเราทุกคนตั้งหลักให้ดี เชิดอารมณ์ให้สูง ถ้าจะคิดก็คิดไปในทางสร้างสรรค์ อย่าคิดลบ เพราะจะทำให้อารมณ์เราร้อน และอาจก่อเรื่องเสียหายขึ้นมา
เวลาที่เจอใครบางคนแล้วอารมณ์พลุ่งพล่าน คิดว่าน่าจะเป็นคู่เวรกันมาแต่อดีต เรื่องนี้เป็นไปได้แค่ไหน และจะป้องกันอย่างไรไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้น ?
กรณีนี้มีโอกาสเป็นไปได้เหมือนกันว่าใครที่เคยมีเรื่องมีราวในอดีตกันมาแล้วก็จองเวรกัน เคยแค้นมากเลยผูกอาฆาตว่า ขอแก้แค้นชาติหน้า หรือเกิดมากี่ภพกี่ชาติขอให้ได้เอาคืน พอคิดอย่างนี้ปั๊บผูกเวรเลย พอเจอกันจะมีเหตุให้มีเรื่องมีราวกันอีก แล้วก็รังแกเบียดเบียนกันไปมาไม่รู้จักจบ เพราะฉะนั้นถึงบอกว่า อารมณ์ร้อนพอเกิดขึ้นก็ก่อเรื่องกันแล้วผูกเวรกัน ไม่คุ้มเลย
อย่างคนเติมแก๊สที่ไปยิงลูกค้าตาย ก่อนตายลูกค้าผูกเวร เกิดชาติหน้าพอเจอกันลูกค้าก็อยากจะฆ่าคืน แล้วก็ฆ่ากันไปฆ่ากันมาไม่รู้จักจบ ถามว่ากรณีนี้ให้แผ่เมตตาเยอะ ๆ อย่าไปจองเวรกับใครเด็ดขาด ทำบุญอะไรก็อธิษฐานแผ่เมตตาว่า ใครที่เคยล่วงเกินข้าพเจ้าข้าพเจ้าไม่ถือโทษ ไม่ผูกเวรด้วย หากข้าพเจ้าไปล่วงเกินใครโดยเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตามขอให้อโหสิซึ่งกันและกัน อย่าผูกเวรกันต่อไปอีกเลย ให้นึกอย่างนี้ แผ่เมตตาอย่างนี้บ่อย ๆ แล้วเราจะเป็นคนที่ไม่มีเวรไม่มีภัยกับใคร
จะจัดการสังคมอารมณ์ร้อนได้อย่างไร ?
ต้องชวนกันเข้าวัดปฏิบัติธรรม ทำความดี สร้างบุญกุศลกันเยอะ ๆ แล้วสังคมเราจะสงบร่มเย็นน่าอยู่
Cr. พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑฺโฒ) จากรายการข้อคิดรอบตัว ออกอากาศทางช่อง DMC
วารสารอยู่ในบุญ
ฉบับที่ ๑๖๘ เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙
คลิกอ่านข้อคิดรอบตัวของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๙ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
ทำไมต้องสั่งสมบุญบ่อย ๆ (ปีก่อนหน้า)
"ปลื้ม" หัวใจของการสร้างบุญ
สงครามคีย์บอร์ด
กฎหมายกับกฎแห่งกรรม
อากาศร้อน ใจร้อน
การอนุโมทนาและมุทิตาจิต
จุดเริ่มต้นบุญที่ยิ่งใหญ่
ข้อสงสัยเกี่ยวกับวัดพระธรรมกาย
เลิกเหล้าเข้าพรรษา
พระพุทธศาสนาในสายตาชาวโลก
มิตรแท้ มิตรเทียม
เมื่อโลกเข้าสู่ช่วงกัปไขลง
ชาตินี้ ชาติหน้า (ปีถัดไป)
|
คลิกอ่านข้อคิดรอบตัวของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๙ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
ทำไมต้องสั่งสมบุญบ่อย ๆ (ปีก่อนหน้า)
"ปลื้ม" หัวใจของการสร้างบุญ
สงครามคีย์บอร์ด
กฎหมายกับกฎแห่งกรรม
อากาศร้อน ใจร้อน
การอนุโมทนาและมุทิตาจิต
จุดเริ่มต้นบุญที่ยิ่งใหญ่
ข้อสงสัยเกี่ยวกับวัดพระธรรมกาย
เลิกเหล้าเข้าพรรษา
พระพุทธศาสนาในสายตาชาวโลก
มิตรแท้ มิตรเทียม
เมื่อโลกเข้าสู่ช่วงกัปไขลง
ชาตินี้ ชาติหน้า (ปีถัดไป)
สังคมอารมณ์ร้อน
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
22:06
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: