กฎหมายกับกฎแห่งกรรม


กฎหมายกับกฎแห่งกรรมแตกต่างกันอย่างไร?

กฎหมายเป็นสิ่งที่มนุษย์ในสังคมหนึ่ง ๆ ตกลงกันและกำหนดขึ้นเป็นระเบียบปฏิบัติของคนในสังคม เช่น กฎหมายประเทศไทยก็เป็นเรื่องที่คนไทยตราขึ้นมา โดยมีการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาไปร่วมกันร่างกฎหมายหรือพระราชบัญญัติ แต่กฎหมายบางอย่าง เช่น พระราชกฤษฎีกา หรือพระราชกำหนดร่างโดยคณะรัฐมนตรีนอกจากนี้ก็มีระเบียบบางอย่างที่ออกโดยกระทรวงหรือหน่วยงาน ซึ่งกฎหมาย พระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา พระราชกำหนดหรือระเบียบปฏิบัติของแต่ละหน่วยงานก็มีศักดิ์และสิทธิ์ต่างกันไป นอกจากนี้กฎหมายของแต่ละประเทศก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน แต่ละสังคมต่างก็มีกฎของตัวเอง นี้คือเรื่องของกฎหมายโดยย่อ ส่วนกฎแห่งกรรมนั้นไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์แต่ละคนหรือชนแต่ละกลุ่มกำหนดขึ้น แต่เป็นกฎที่คอยควบคุมความเป็นไปของพฤติกรรมมนุษย์ว่า ถ้าทำอย่างนี้แล้วจะเกิดผลอย่างไร ซึ่งความจริงกฎแห่งกรรมไม่ได้มีผลเฉพาะมนุษย์เท่านั้น แต่ยังควบคุมพฤติกรรมสรรพสัตว์ทั้งหลายด้วย ไม่ว่าเทวดา พรหม หรือสัตว์ต่าง ๆ ถ้าใครทำสิ่งที่ดีก็เป็นกรรมดี และจะได้รับผลดีตอบสนอง ถ้าทำสิ่งไม่ดีก็เป็นกรรมชั่ว จะมีวิบากที่ร้ายแรงตอบสนอง มนุษย์ก็เช่นกัน ไม่ว่าเป็นคนชาติไหน นับถือศาสนาอะไร มีความเชื่ออย่างไร ล้วนอยู่ใต้กฎแห่งกรรมเหมือนกันทั้งสิ้น

กฎแห่งกรรมไม่ใช่เรื่องของความเชื่อ แต่เป็นความจริงที่มีผลกับคนทุกศาสนา แม้คนนั้นไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ ก็ต้องตกอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรมเหมือนกัน เพราะกฎแห่งกรรมนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเจนว่า พระองค์ไม่ใช่ผู้บัญญัติขึ้น แต่เมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้วก็ทรงไปรู้ไปเห็นความจริงว่ากฎแห่งกรรมมีอยู่และเมื่อทรงได้เห็นความจริงแล้วว่าทำอย่างไรเป็นบุญ ทำอย่างไรเป็นบาป ก็ทรงนำมาสั่งสอนมนุษย์ เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงไม่ทำความชั่ว และจะได้ตั้งใจทำความดี ทำใจให้ผ่องใส สุดท้ายจะได้พ้นจากกิเลสอาสวะ แล้วเข้าพระนิพพาน เพราะฉะนั้นกฎแห่งกรรมก็คือกฎแห่งความจริงที่ไม่ขึ้นกับความเชื่อ ใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ต้องเจอ และที่สำคัญก็คือ เราจะเชื่อตอนเป็นหรือจะไปเห็นตอนตาย ถ้าเชื่อตอนยังมีชีวิตอยู่เราจะได้ไม่ทำบาปแล้วตั้งใจทำบุญ แม้อาจยังไม่เชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะยังไม่เห็นว่านรกเป็นอย่างไร ก็เชื่อเผื่อเหนียวไว้ก่อนแล้วกัน เพราะถ้าเราเชื่อตอนเป็น เรายังมีทางแก้ไขได้ อะไรที่ไม่ดีก็อย่าไปทำ ที่เคยทำมาแล้วก็ลืม ๆ ไปเสีย แล้วตั้งใจทำความดีไปชดเชย แต่ถ้าตอนมีชีวิตอยู่ไม่เชื่อ พอตายแล้วตกนรกไปเจอพญายมราช ถึงตอนนั้นจะกลับตัวก็ไม่ทันแล้ว ดังนั้นเราต้องเลือกแล้วว่า จะเชื่อตอนเป็นหรือว่าจะไปเห็นตอนตาย ถ้าให้แนะนำขอบอกว่าเชื่อดีกว่า แล้วบาปกรรมก็อย่าไปทำเลยทำความดีเยอะ ๆ จะได้ไม่ตกนรก ไม่ต้องไปอบาย จะได้ไปสวรรค์กัน ถ้าบุญเราเต็มที่เมื่อไรหมดกิเลสเมื่อไร จะได้ไปนิพพานกัน

ผู้คนส่วนใหญ่เกรงกลัวกฎหมายหรือกฎแห่งกรรมมากกว่ากัน?

ถ้าในหมู่คนที่ยังไม่ค่อยรู้เรื่อง เขาก็ยังไม่เชื่อว่ากฎแห่งกรรมมีจริง แต่ในเรื่องของกฎหมายเขาสัมผัสได้ ถ้าทำผิดกฎหมายเดี๋ยวถูกปรับ บางทีก็ติดคุก เขาจะเกรงกลัวกฎหมายมากกว่า แต่ถ้าเป็นคนที่เข้าใจความเป็นจริงเขาจะกลัวกฎแห่งกรรมมากกว่า ถ้าจะถามว่าพระอาทิตย์กับไฟในเตา คนกลัวความร้อนของอันไหนมากกว่ากัน คนทั่วไปจะรู้สึกว่าไฟในเตาน่ากลัว เอามือแหย่เข้าไปเดี๋ยวจะไหม้และรู้สึกว่าไฟในเตาร้อนกว่าดวงอาทิตย์อีก แต่ที่จริงดวงอาทิตย์ร้อนกว่ามาก กฎแห่งกรรมก็เหมือนความร้อนจากดวงอาทิตย์ ที่ร้อนมากกว่าเยอะ แต่อาจจะไกลตัว ยังสัมผัสไม่ได้ทันที ส่วนไฟในเตาใกล้ตัวกว่า ถ้าเอามือแหย่เข้าไปพองทันที

กฎหมายกับกฎแห่งกรรมก็คล้าย ๆ กัน แต่ว่าเราชาวพุทธทุกคนรู้หลักนี้แล้ว ก็ต้องไม่ทำผิดทั้งกฎหมายและกฎแห่งกรรม และให้ตระหนักไว้ลึก ๆ ว่า กฎแห่งกรรมน่ากลัวกว่ากฎหมายเยอะ เพราะกฎหมายลงโทษได้หนักที่สุด คือ ประหารชีวิต รองลงมาก็จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตามระยะเวลาที่ได้รับโทษ หรือจ่ายค่าปรับ ซึ่งโทษหนักที่สุด คือ ประหารชีวิตนั้น โดนประหารแค่ครั้งเดียวเมื่อตายก็จบกัน แต่ถ้าโดนลงโทษตามกฎแห่งกรรม พอตายแล้วก็จะมีชีวิตขึ้นมาใหม่ด้วยอำนาจของกรรม แล้วโดนลงทัณฑ์ทรมานต่อ ตายเกิดตายเกิดอย่างนี้วันละหลายล้านหน เทียบกับกฎแห่งกรรมกฎหมายเหมือนกับของเด็กเล่นไปเลย ถึงได้ถามว่าจะเชื่อตอนเป็นหรือว่าจะไปเห็นตอนตาย จะปรับปรุงแก้ไขในขณะมีชีวิตอยู่หรือว่าจะดื้อถือดีไม่เชื่อเรื่องนรก สวรรค์ แล้วก็ทำสิ่งที่ผิด ๆ สุดท้ายพอตายแล้วตกนรก ตอนนั้นจะบอกว่าเชื่อ จะไม่ทำอีกแล้ว ก็สายเกินไป

กฎแห่งกรรมมีการลดโทษให้คนที่ทำบาปบ้างไหม?

กฎแห่งกรรมไม่มีการลดโทษ แต่ถ้าเราทำผิดแล้วสำนึกผิด และพยายามทำความดีมาชดเชย วิบากกรรมนั้นก็จะลดหย่อนลง ถ้าจะเปรียบสิ่งไม่ดีที่เราทำลงไปเหมือนกับการที่เราเติมเกลือลงไปในน้ำ แล้วเราสำนึกผิด หยุดการทำบาป ไม่เติมเกลือ แต่สร้างบุญเยอะ ๆ ก็เหมือนกับเติมน้ำลงไปเยอะ ๆ น้ำเกลือก็จะเจือจางลง ความเค็มจะลดลง วิบากกรรมที่ตามมาก็จะทุเลาลง แต่บาปที่ทำไปแล้วยังมีอยู่แต่ฤทธิ์อ่อนลง ถ้าเราสร้างบุญเยอะ ๆ จะรอให้คนอื่นมาอภัยโทษไม่มีหรอก มีแต่ต้องสร้างบุญด้วยตัวของเราเองเยอะ ๆ แล้วหยุดสร้างบาปให้บุญไปเจือจางให้บาปอ่อนลง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึง ตรัสว่า อตฺตา หิ อตตฺ โน นาโถคือเราต้องพึ่งตนเอง คนอื่นช่วยเราไม่ได้ เราต้องละชั่ว ทำดี แล้วทำใจให้ผ่องใส อย่างนี้พอจะแก้ไขได้

ดังตัวอย่างเรื่องของพระเจ้าอชาตศัตรูที่ไปคบกับพระเทวทัต จนสุดท้ายจากเจ้าชายที่เป็นคนดีก็ฆ่าพ่อ คือ พระเจ้าพิมพิสารเพื่อหวังจะขึ้นครองบัลลังก์ พอฆ่าพ่อก็เท่ากับว่าทำอนันตริยกรรม ซึ่งเป็นกรรมที่หนักมาก อนันตริยกรรมมีทั้งหมด ๕ อย่าง คือ ๑. ฆ่าพ่อ ๒. ฆ่าแม่ ๓. ฆ่าพระอรหันต์ ๔. ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนห้อเลือด ๕. ทำสังฆเภท คือ ยุให้พระทะเลาะกัน ให้สงฆ์แตกกัน

กรรม ๕ อย่างนี้อย่าไปทำเด็ดขาด อย่าทำทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อม การที่เราไปโจมตีพระสงฆ์รูปนั้นรูปนี้ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ พูดไปพูดมาจนพระท่านเข้าใจผิด แตกกันขึ้นมา เราเสร็จเลย เป็นอนันตริยกรรม ถึงแม้ท่านจะไม่ถึงกับแตกกัน แค่บาดหมางกันไม่ค่อยชอบใจกัน เราก็เริ่มมีความเสี่ยงแล้วอย่าทำเด็ดขาด

พระเจ้าอชาตศัตรูฆ่าพ่อตามแรงเชียร์ของพระเทวทัต เท่ากับทำอนันตริยกรรม นั่นคือ ปิดสวรรค์ ปิดนิพพานเลย ชาตินั้นจะทำดีเท่าไรก็ตาม ตกนรกแน่นอน ไม่มีทางที่จะขึ้นสวรรค์ได้ ไม่มีทางบรรลุธรรมหรือนิพพานได้ แต่ชาติต่อไปยังมีสิทธิ์ ชาตินั้นตายแล้วต้องตกนรกก่อน ตามปกติพระเจ้าอชาตศัตรูต้องไปอเวจีมหานรก แต่เนื่องจากพระองค์คิดได้ภายหลัง เพราะได้กัลยาณมิตร คือ หมอชีวกโกมารภัจจ์ มาแนะนำให้พระองค์ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า เมื่อได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์ก็เกิดความเลื่อมใสศรัทธา ถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พระองค์ได้เป็นเอกอัครศาสนูปถัมภกในการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๑ ทำบุญใหญ่ขนาดนั้น แต่ตายไปแล้วก็ยังตกนรกอยู่ดีแต่บุญนี้ช่วยให้ไม่ต้องไปอเวจีมหานรก ไปแค่โลหกุมภีนรก ซึ่งก็น่ากลัวมาก แต่เทียบกับอเวจีมหานรกแล้วดีกว่ากันเยอะ ดังนั้นคนที่ทำผิดแล้ว ถ้ากลับตัวกลับใจ ตั้งใจทำความดีก็จะทำให้วิบากกรรมหนักอ่อนกำลังลง เป็นการลดหย่อนโทษโดยการทำความดีด้วยตัวของเราเอง

เมื่อผ่านยุคสมัยไป กฎหมายอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ กฎแห่งกรรมมีการเปลี่ยนแปลงไหม?

กฎแห่งกรรมไม่มีทางเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้เลย คงตัวอยู่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าทรงไปเห็นกฎแห่งกรรม และทรงบอกเราว่า อกุศลกรรมบถ ๑๐ ทำแล้วจะเกิดอกุศล เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดคำหยาบ ส่อเสียด เพ้อเจ้อ เป็นต้น ปัจจุบันผ่านมาสองพันกว่าปีแล้วก็ยังคงเป็นอย่างนั้นอีกสองหมื่นปี สองแสนปี หรือสองล้านปี ก็ยังคงเป็นอย่างนั้น แม้ในยุคพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อน ๆ ก็เหมือนกัน กฎแห่งกรรมก็เป็นกฎเดียวกันไม่เคยเปลี่ยนแปลง

กฎแห่งกรรมแต่ละประเทศต่างกันไหม?

กฎแห่งกรรมของคนทุกชาติทุกศาสนาก็คือ กฎแห่งกรรมเดียวกัน เพราะเป็นกฎที่ควบคุมสิ่งมีชีวิตทั้งปวง ไม่ได้เกี่ยวเลยว่าคนละชาติคนละภาษาแล้วจะมีกฎแห่งกรรมที่ต่างออกไป อย่าว่าแต่คนเลย ขนาดสัตว์เดรัจฉานก็ยังต้องอยู่ใต้กฎแห่งกรรมอันเดียวกัน ต่อให้มันพูดไม่ได้ ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ไม่ว่าจะเป็นมด แมลงวัน ยุง หรือตัวอะไรก็ตาม มีสติปัญญามากน้อยแค่ไหนก็ตาม ก็ต้องตกอยู่ใต้กฎแห่งกรรมเช่นเดียวกัน กฎแห่งกรรมจึงเป็นกฎสากลที่ครอบคลุมความเป็นไปของสิ่งมีชีวิตทั้งมวล

กฎแห่งกรรมมีการลดหย่อนผ่อนโทษให้เด็กที่กระทำความผิดโดยไม่รู้ตัวไหม?

กฎแห่งกรรมไม่ได้มองที่อายุ แต่มองที่เจตนา ถ้าทำไปด้วยเจตนาที่แรงกล้า ถ้าเป็นกรรมดีบุญก็เยอะ ถ้ากรรมชั่วบาปก็เยอะ แต่ถ้าเจตนาเบาบาง ทำแบบไม่ค่อยตั้งใจ ถ้าทำกรรมชั่วบาปก็จะน้อย ทำความดีแบบไม่ได้ตั้งใจ ทำแบบเสียไม่ได้ บุญก็ได้นิดหน่อย สรุปแล้วอยู่ที่ความตั้งใจ อยู่ที่เจตนา

เพราะฉะนั้น ถ้าเด็กทำตามเพื่อนแบบไม่ค่อยตั้งใจเท่าไร อันนี้กรรมก็เบาหน่อย แต่ถ้าเป็นเด็กที่ร้ายกาจมาก วางแผนทำชั่วโดยเจตนา อันนี้กรรมหนักไม่แพ้ผู้ใหญ่เหมือนกัน ต้องดูที่เจตนา ไม่ได้ดูที่อายุ

ทำอย่างไรถึงจะรอดพ้นจากการลงโทษของกฎแห่งกรรม?

โดยย่อก็คือ ละชั่ว ถามว่าละชั่วต้องทำอย่างไร อย่างน้อยที่สุดก็คือ ให้รักษาศีล ๕
๑. ไม่ฆ่า ไม่ทรมานสัตว์
๒. ไม่ลักทรัพย์ ไม่ฉ้อโกง
๓. ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่ล่วงละเมิดลูกเมียคนอื่น
๔. ไม่พูดปด ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ
๕. ไม่ดื่มสุราทุกชนิด ไม่ใช้ยาเสพติดทุกอย่าง

นอกจากนี้ก็จะต้องไม่ข้องเกี่ยวกับอบายมุขทั้ง ๖ อย่าง คือ
๑. ไม่ดื่มน้ำเมา
๒. ไม่เที่ยวกลางคืน
๓. ไม่ดูการละเล่นเป็นนิจ จนเสียการเสียงาน
๔. ไม่เล่นการพนัน
๕. ไม่คบคนชั่วเป็นมิตร
๖. ไม่เกียจคร้านการทำงาน

รวมทั้งต้องตั้งใจให้ทาน มีเมตตากรุณาต่อทุก ๆ คน มีน้ำใจเอื้อเฟื้อ ช่วยเหลือทุกคนอย่างดี แล้วทำสมาธิภาวนาให้ใจผ่องใส ถ้าปฏิบัติอย่างนี้แล้วก็สบายใจได้ในเรื่องกฎแห่งกรรม ส่วนวิธีการตรวจสอบว่าสิ่งไหนทำแล้วดีสิ่งไหนไม่ดี ให้ดูว่าถ้าทำแล้วใจเราผ่องใสนั่นคือกรรมดี ถ้าทำแล้วใจขุ่นมัว เศร้าหมองแสดงว่าไม่ดี และถ้าใครใจใสก็จะไปสวรรค์ถ้าใครใจหมองก็จะต้องไปอบาย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสรุปไว้อย่างนี้

ถ้าเราตั้งใจละชั่ว ใจเราก็จะไม่หมองแล้วพอทำความดี ใจเราก็จะเริ่มสว่างขึ้น ถ้าจะทำใจให้ผ่องใสโดยตรงเลยก็ต้องทำสมาธิภาวนาให้ใจใสสว่าง ถ้าอย่างนี้ไปดีแน่นอนสบายใจได้

Cr. พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑฺโฒ) จากรายการข้อคิดรอบตัว ออกอากาศทางช่อง DMC
กฎหมายกับกฎแห่งกรรม กฎหมายกับกฎแห่งกรรม Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 02:38 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.